ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์

dwarf01

ภาพ The Dwarf Don Sebastian de Morra โดย Velazquez สัดส่วนคนแคระในภาพมีลักษณะมาตรฐานคนแคระแบบที่พบบ่อย

ตอนที่แล้วผมกล่าวถึงรากภาษาและมุมมองเกี่ยวกับคนแคระหลายแบบ รวมถึงคำอธิบายทางการแพทย์เรื่องสาเหตุที่ทำให้เป็นคนแคระซึ่งมีนับร้อยสาเหตุ ทั้งที่เป็นผลจากพันธุกรรมหรือความผิดปรกติของฮอร์โมน เป็นต้นคราวนี้มาดูเรื่องราวของ “ฮอบบิท” กันครับ

dwarf02

ปกหนังสือ The Marvellous Land of Snergs และ Babbit (หลายแบบ)

 

กว่าจะเป็น “ฮอบบิท”

ในเรื่อง The Lord of The Rings นอกจาก “คนแคระ” ยังมีมนุษย์ตัวจิ๋วที่เรียกว่า “ฮอบบิท” (hobbit) ซึ่งมีความพิเศษทั้งรูปลักษณ์ภายนอกและจิตใจ แม้ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน (J. R. R. Tolkien) สร้างคนเผ่าพันธุ์พิเศษอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาก แต่เขาเองก็อาจได้แรงบันดาลใจเรื่องนี้จากงานของนักเขียนท่านอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

โทลคีนเคยเขียนจดหมายถึง ดับเบิลยู. เอช. ออเดน (W. H. Auden) ว่า หนังสือเด็กชื่อ The Marvellous Land of Snergs ของ เอ็ดเวิร์ด ไวก์ สมิท (Edward Wyke Smith) ตีพิมพ์ ค.ศ. ๑๙๒๗ “อาจเป็นหนังสือที่อยู่ใต้จิตสำนึกซึ่งทำให้เกิดฮอบบิท”

โดยที่สเนิร์กในเรื่องนั้นเป็น “เผ่าพันธุ์มนุษย์ที่สูงกว่าโต๊ะทั่วไปเพียงเล็กน้อย แต่มีไหล่กว้างและแข็งแรงเท่าๆ กับคน ๑๐ คน”

ทว่าไม่ใช่เล่มนั้นเล่มเดียว เพราะโทลคีนเคยให้สัมภาษณ์ถึง “ฮอบบิท” ว่า คำนี้อาจจะเกี่ยวข้องกับนิยายใน ค.ศ. ๑๙๒๒ ของ ซินแคลร์ ลิวอิส (Sinclair Lewis) ชื่อ แบบบิตต์ (Babbitt) ซึ่งนอกจากออกเสียงใกล้เคียงกันแล้วตัวละคร “จอร์จ แบบบิตต์” ก็เป็นพวกอยู่ติดบ้านเช่นกัน

โทลคีนกล่าวถึงนาทีที่ ฮอบบิท ปรากฏตัวต่อหน้าเขาว่า ท่ามกลางกองข้อสอบของนักศึกษา เขาหยิบกระดาษเปล่าขึ้นมาเขียนว่า “หลุมลึกลงไปในพื้นดินเป็นที่อยู่ของฮอบบิท” ส่วนภาคผนวกของหนังสือ The Lord of The Rings เขาเขียนไว้ว่าชื่อนี้สร้างจากคำในภาษาอังกฤษสมัยโบราณ holbytla (รูปพหูพจน์ใช้ว่า holbytlan) แปลว่า “ผู้อาศัยอยู่ในหลุม (hole dweller)”

ก็แปลกดีนะครับ ตัวเอกนิยายที่อยู่ในรูอย่างกับตัวตุ่น หุหุ

dwarf03

ฮอบบิทเท้าใหญ่และมีขนยุ่บยั่บ

ตัวเล็ก หูแหลม และเท้าปุกปุย

ในมโนภาพของโทลคีน ฮอบบิทสูงราว ๒-๔ ฟุต (ประมาณ ๐.๖๑-๑.๒๒ เมตร) และมีค่าเฉลี่ยความสูง ๓ ฟุต ๖ นิ้ว (๑.๐๗ เมตร) เฉพาะแง่มุมความสูงถือว่าฮอบบิทเป็น “คนแคระ” พวกหนึ่งตามมาตรฐานกลางที่กล่าวคราวก่อนคือ สูงไม่ถึง ๑๔๗ เซนติเมตรใบหูของฮอบบิทนั้นพิเศษทีเดียว เพราะส่วนปลายแหลมเล็กน้อยคล้าย “สป๊อก” (Spock) ตัวละครสำคัญในซีรีส์ไซไฟชื่อดัง สตาร์เทรก (Star Trek) ซึ่งเป็นลูกครึ่งมนุษย์กับชาววัลแคน (ลูกครึ่งต่างดาว !)

ที่น่าประหลาดใจคือ หนังสือทั้ง The Hobbit และ The Lord of The Rings นั้นไม่ได้กล่าวถึงลักษณะแบบนี้เลย พบแต่ในจดหมายที่โทลคีนเขียนถึงชาวอเมริกันผู้ตีพิมพ์งานของเขาเท่านั้น

ลักษณะหูดังกล่าวผมยังค้นไม่พบว่ามีใครทำวิจัยไว้บ้างหรือไม่ แต่ที่ใกล้เคียงคือ ลักษณะติ่งหู (ส่วนล่างสุด) ติดหรือแยกจากส่วนใบหน้า ซึ่งรู้แน่ชัดว่ามียีนควบคุมเพียงยีนเดียว ลักษณะแปลกๆ อื่นๆ ที่ใช้แค่ยีนเดียวควบคุมมีอีกมาก เช่น การห่อลิ้น ลักษณะคางบุ๋มเป็นร่อง (ลักยิ้มที่คาง !) เป็นต้น

แต่ลักษณะต่างๆ ของคนเราส่วนใหญ่ใช้หลายยีนควบคุมร่วมกัน ลักษณะภายนอกอันโดดเด่นอีกอย่างของฮอบบิทคือ การมีขนยุ่บยั่บที่เท้า ซึ่งมีสีน้ำตาลแบบเดียวกับสีผมบนศีรษะ ที่จำได้แม่นเพราะพวกเขามักจะเดินเท้าเปล่า จึงเห็นชัดถนัดตานั่นเอง

แถมพวกฮอบบิทนี่มีเท้าใหญ่เป็นพิเศษด้วยนะครับ

พวกหนวดหรือเคราของผู้ชายนั้นควบคุมด้วยฮอร์โมนเพศชายซึ่งเริ่มทำงานช่วงเข้าสู่วัยรุ่น ผู้หญิงที่มีฮอร์โมนเพศชายมากกว่าปรกติ (ซึ่งมีเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น) จึงอาจมีไรหนวดให้เห็น ว่าไปแล้วหนวดของผู้ชายนี่ดึงดูดผู้หญิงนะครับ มีงานวิจัยชี้ว่าผู้ชายมีหนวดหน้าตาดูน่าประทับใจสำหรับสาวๆ กว่าผู้ชายหน้าเกลี้ยงเกลา

อาจเป็นได้ว่าเพราะพวกหลังนั้นดูเหมือนเด็กซึ่งยังไม่เป็นหนุ่มเต็มที่

แต่การมีหรือไม่มีหนวดเครามีผลถึงชีวิตได้นะครับ สมัยก่อนที่ต้องรบพุ่งกันบ่อยๆ ร่ำลือว่า พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชสั่งทหารในกองทัพโกนหนวดเคราออกให้หมด เพราะเป็นสาเหตุให้บาดเจ็บล้มตายกันมากด้วยโดนข้าศึกดึงทึ้งตอนต่อสู้ !

 

dwarf04

บรรดาฮอบบิตในภาพยนตร์

 

รักสนุกและอายุยืนแบบฮอบบิท

ฮอบบิทมีลักษณะนิสัยร่วมที่น่าสนใจหลายเรื่อง เช่น รักชอบการทำฟาร์ม เข้าสังคม ชอบดื่มกิน (กินอาหารวันละหกมื้อ !) รักบ้านช่อง และไม่ชอบผจญภัย แต่ก็กล้าหาญเมื่อถึงคราวคับขัน

เรื่องนิสัยใจคอคนเราบางเรื่องก็ยังไม่แจ้งชัดนักว่าเป็นผลจากการเลี้ยงดูหรือพันธุกรรม หรือผสมกันมากน้อยอย่างไร

มาดูเรื่องอายุกัน ฮอบบิทอายุยืนกว่าคนทั่วไป อายุเฉลี่ยอยู่ที่ ๑๐๐ ปีทีเดียว โดยจะถือว่าโตเป็นผู้ใหญ่เมื่อวันคล้ายวันเกิดปีที่ ๓๓ และเข้าสู่วัยกลางคนตอนอายุ ๕๐ ปี ดังนั้นฮอบบิทจึงอายุยืนกว่ามนุษย์โลก เพราะค่าอายุเฉลี่ยของมนุษย์ปัจจุบันคือ ๖๗.๘๘ ปี ผู้หญิงจะอายุยืนกว่า เฉลี่ยคือ ๗๐.๑๔ ปี เทียบกับผู้ชาย ๖๕.๗๑ ปี

ตัวเลขนี้อ้างอิงจาก World Population Prospects 2010 Revision ของ United Nations โดยคำนวณจากข้อมูลช่วง ค.ศ. ๒๐๐๕-๒๐๑๐ แต่หากถือตาม The World Factbook ของ Central Intelligence Agency สหรัฐอเมริกา ค่าเฉลี่ยรวมคือ ๖๖.๕๗ ปี (๖๔.๕๒ ปีสำหรับผู้ชาย และ ๖๘.๗๖ ปีสำหรับผู้หญิง)

นอกจากอายุเฉลี่ยมากกว่าแล้ว ฮอบบิทที่อายุยืนที่สุดดูเหมือนจะมีอายุมากกว่ามนุษย์เช่นกัน เช่น บิลโบ แบ็กกินส์ (Bilbo Baggins) และเฒ่าตุ๊ก (The Old Took) ต่างก็อายุราว ๑๓๐ ปี ขณะที่สถิติโลกของคนยังไม่เคยมีใคร (ที่มีสูติบัตรชัดเจนยืนยันได้) อายุเกินกว่า ๑๒๕ ปีเลย

แม้แต่คนเดียว !!

 

ที่อ้างว่าอายุมากกว่านั้นมักหาหลักฐานชัดเจนไม่ได้ โดยเฉพาะกรณีตัวอย่างในอดีตที่ลือว่าอายุยืนเป็น ๔๐๐-๕๐๐ ปี

เรื่อง “กำแพงอายุ” ของคนนั้นมีงานวิจัยน่าสนใจ คือนักวิทยาศาสตร์ชื่อ ลีโอนาร์ด เฮย์ฟลิก (Leonard Hayflick) ทดลองนำเซลล์มนุษย์ปรกติไปเพาะเลี้ยงในจานทดลอง ปรากฏว่าหากตั้งต้นที่เซลล์อายุน้อย มันจะแบ่งตัวได้หลายรอบมากก่อนจะหยุด แต่ถ้าเริ่มต้นด้วยเซลล์ของคนอายุมากกว่าจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนด้วยรอบที่น้อยกว่า

ราวกับมีอายุขัยที่แน่นอนจำกัด ภายหลังเรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า ข้อจำกัดเฮย์ฟลิก (Hayflick limit)

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้คือ กระบวนการสร้างโครโมโซมที่ใช้เก็บลักษณะทางพันธุกรรมของคนนั้นเสื่อมลงเมื่อเซลล์อายุมากขึ้น ส่วนปลายโครโมโซมจะสั้นลงเรื่อยๆ ทุกครั้งที่เซลล์แบ่งตัวใหม่ ในที่สุดคำสั่งที่ใช้แบ่งตัวจะเสียหายถึงขั้นแบ่งตัวไม่ได้อีก

คนจึงมีอายุจำกัด สั้นกว่าฮอบบิทหน่อย ไม่มีทางจะยืนยาวเป็นอมตะแบบเอลฟ์ หาก…ไม่นำเซลล์ใหม่ๆ ใส่เข้าไปในร่างกาย !

คราวหน้ามาดูกันเรื่องการค้นพบ “ฮอบบิท” จริงๆ มนุษย์อีกสายพันธุ์หนึ่งของนักวิทยาศาสตร์ตัวจริงเสียงจริงครับ