เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

[ GARBAGE + IDEA + DESIGN = OUR FUTURE ]

osisu01

“ถ้าเราปลูกข้าวโพดกินพื้นที่เท่ากับภูเขาสามลูก ปรกติลูกหนึ่งจะปลูกเพื่อทิ้งไปเฉย ๆ ทำอย่างไรเราจะเอาผลผลิตนั้นกลับมาใช้ หรือทำอย่างไรเราจะเอาของเหลือจากการผลิตเก้าอี้สักตัวหนึ่งกลับมาใช้โดยไม่ต้องทิ้งไปอย่างเปล่าประโยชน์”

ดร.สิงห์ อินทรชูโต

สายวันปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ที่ Scrap Lab (ศูนย์ปฏิบัติการออกแบบจากวัสดุเหลือใช้) คณะสถาปัตยกรรม-ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผศ. ดร. สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีทางอาคาร อธิบายงานของเขาด้วยการยกตัวอย่างง่าย ๆ พร้อมกับชี้ให้ดูเฟอร์นิเจอร์รูปร่างแปลกตาที่มีอยู่ทั่วห้อง แต่ละชิ้นล้วนมี “เรื่องราว” (story) และสวยเก๋จนแทบมองไม่ออกว่าเคยเป็น “ขยะ” อาทิ ชั้นหนังสือที่ประกอบขึ้นจากแผ่นไม้อัดจากเศษไม้ปาร์เกต์ โต๊ะกลางจากแผ่นวัสดุอัดจากกล่องนมใช้แล้ว เก้าอี้จากเศษอะลูมิเนียม โคมไฟสวยงามจากถุงพลาสติกเหลือใช้

แปดปีแล้วที่อาจารย์สิงห์กับเพื่อนบริหารงาน OSISU บริษัทเอกชนที่คิดค้นวิจัยนำขยะมาออกแบบและผลิตเป็นงานเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์เก๋ ๆ ส่งขายไปทั่วโลก  อาจารย์สิงห์บอกว่าจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อเขาจบดอกเตอร์กลับมาเมืองไทยช่วงปลายทศวรรษ ๒๕๔๐ “จบด้านการสร้างนวัตกรรมประหยัดพลังงานในอาคาร  ผมไม่ได้จบด้านการนำของมา Reuse โดยตรงด้วยซ้ำ แต่ผมเห็นว่าตอนนั้นคนไปเข้าใจว่าอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกับอาคารประหยัดพลังงานเป็นเรื่องเดียวกัน ทุกคนเลยพูดกันแต่เรื่องประหยัดพลังงาน ทั้งที่จริง ๆ แล้วเรื่องนี้เกี่ยวพันถึงวัสดุที่ใช้สร้างอาคาร การออกแบบให้แสงและอากาศผ่านอาคาร การออกแบบไม่ให้เกิดมลภาวะภายในตัวอาคาร ฯลฯ คือมันครอบคลุมทั้งหมด  ผมจึงตัดสินใจพูดเรื่องวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย”

อาจารย์สิงห์อธิบายว่า หลักการคือก่อนจะเน้น Recycle ควรเน้น Reuse เสียก่อน เพราะ Recycle หรือการแปลงสภาพของใช้แล้ว แม้จะใช้พลังงานเพียงหนึ่งในสี่ของการผลิตสินค้าจากวัตถุดิบดั้งเดิม (virgin resources)  แต่เมื่อคิดทั้งกระบวนการอาจใช้พลังงานและสิ้นเปลืองมาก อาทิ การคืนชีวิตให้ขวดพลาสติกด้วยการแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติกนั้น กว่าขวดจะถูกรวบรวมเข้าสู่โรงงานแปรรูป ต้องใช้พลังงานและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากมายในขั้นตอนการขนส่งและการแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติก  แต่ถ้าหากนำมา Reuse ทันที อาจแทบไม่ต้องใช้พลังงานในการแปรรูปและลดการทำลายขยะด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่ทำให้ต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้นเลย

อาจารย์สิงห์ยืนยันหลักการนี้ด้วยการเริ่มต้นกับงานของเขา โดยนำเศษวัสดุที่เหลือจากการก่อสร้างมาเป็นส่วนผสมของวัสดุสร้างเฟอร์นิเจอร์  เฟอร์นิเจอร์ Reuse รุ่นแรกคือเก้าอี้จากเศษไม้สักและไม้ประดู่  อย่างไรก็ตามคำถามใหญ่ที่เจอคือใครจะซื้อของเหล่านี้ “สมัยที่ผมเริ่มทำนั้นคือปี ๒๕๔๙ ไม่มีกระแสเรื่องโลกร้อนหรือการใช้ของแบบนี้เลย ปรากฏว่าเพื่อนผม วีรนุช ตันชูเกียรติ (จ๋า) บอกว่ามันสวยดีน่าจะทำเป็นธุรกิจได้ แต่ผมเป็นอาจารย์สอนหนังสือไม่มีหัวทางธุรกิจเลย ก็ตกลงกันว่าจะเริ่มลงมือด้วยทุนตั้งต้นไม่กี่แสนบาท”

เฟอร์นิเจอร์ทำจากเศษวัสดุเหลือใช้ที่ผ่านกระบวนการแปรรูปเป็นวัสดุใหม่ อาทิ กากกาแฟ เปลือกไข่ เศษข้าวบาร์เลย์(ล่าง) ตัวอย่างแผ่นโลหะที่หลอมโลหะเชื่อมกับไม้ที่นำมาใช้พัฒนาเฟอร์นิเจอร์ใหม่ ๆ 

เฟอร์นิเจอร์ทำจากเศษวัสดุเหลือใช้ที่ผ่านกระบวนการแปรรูปเป็นวัสดุใหม่ อาทิ กากกาแฟ เปลือกไข่ เศษข้าวบาร์เลย์(ล่าง) ตัวอย่างแผ่นโลหะที่หลอมโลหะเชื่อมกับไม้ที่นำมาใช้พัฒนาเฟอร์นิเจอร์ใหม่ ๆ 

osisu03

แผ่นหน้าโต๊ะ Orion เกิดจากการพัฒนาวัสดุใหม่ที่หลอมโลหะให้อยู่ด้วยกันกับไม้ โดยไม้ไม่ถูกเผาไหม้ไปเสียก่อน และไม่ต้องใช้กาวหรือตัวยึดใด

ส่วนที่มาของชื่อ OSISU เกิดจากอาจารย์สิงห์อ่านเรื่อง ยอร์น อุตซอน (JØrn Utzon) สถาปนิกชาวฟินแลนด์ที่ออกแบบโอเปร่าเฮาส์ของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งระหว่างการก่อสร้างนั้นถูกโจมตีว่าใช้งบประมาณสูงเกินไป  น้อยคนจะมองออกว่าภายหลังสิ่งนี้จะกลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ  ทว่ายอร์นไม่ยอมแพ้ เขายังคงทำงานต่อไป โดยทุกเช้าเขาบอกตัวเองว่า SISU

“นี่เป็นภาษาฟินแลนด์หมายถึง ‘ทำจากใจ จากข้างใน อย่ายอมแพ้’  ผมเติม O เป็นคำอุทานเข้าไป  เรื่องของยอร์นน่าเศร้าเพราะสุดท้ายเขาออกจากออสเตรเลียก่อนเห็นความสำเร็จ” อาจารย์สิงห์อธิบาย

ก่อนจะเล่าว่างานแรกที่ OSISU ทดลองตลาดคือออกงาน Thailand International Furniture Fair (TIFF) 2006 (๒๕๔๙) โดยบูท OSISU ได้รับความสนใจอย่างมาก “คนมาตลอด มีแต่เสียงหัวเราะขำและแปลกใจกับแนวคิดของเรา” แต่ยอดขายวันแรก ๆ นั้นไม่มี จนวันสุดท้ายอาจารย์สิงห์พบว่า “อเมริกันคนหนึ่งที่แวะมาคุยทุกวันเหมาของไปทั้งหมด”

สี่ปีต่อมา (๒๕๕๐-๒๕๕๔) OSISU เริ่มเติบโต อาทิ กำลังผลิตเก้าอี้จากเศษไม้เพิ่มจากเดือนละ ๓๐ ตัว เป็น ๓,๐๐๐ ตัว และเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ จากวัสดุเหลือใช้ประเภทต่าง ๆ ออกสู่ตลาดมากขึ้น

พุทธศักราช ๒๕๕๗ อาจารย์สิงห์เล่าว่า OSISU มีลูกค้าทั้งในและนอกประเทศ มีการคิดค้นวิจัยเพื่อหาวัสดุเหลือใช้ หรือ “เศษ” ใหม่ ๆ มาผลิตเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้รูปทรงแปลกใหม่อยู่ตลอด  บริษัทยังกลายเป็น “ห้องเรียนในชีวิตจริง” สอนการทำงานให้นิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่สนใจใช้วิชาออกแบบผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้เหล่านี้ไปทำเป็นธุรกิจในอนาคต

อาจารย์สิงห์อธิบายกระบวนการทำงานของเขาในฐานะ “หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนา” ว่าการออกแบบเฟอร์นิเจอร์จากเศษวัสดุเหลือใช้หรือคืนชีวิตให้ขยะนั้นต้อง “คิดจากเศษ” และ “ห้ามออกแบบ” หรือจินตนาการก่อน

โดยต้องเริ่มจากดูว่าได้วัสดุอะไรมา วัสดุชิ้นนั้นจะกลายเป็นอะไรได้บ้าง มีจำนวนชิ้นมากหรือน้อย และไม่จำเป็นต้องแยกตามประเภท อาจแยกด้วยการใช้หลักเกณฑ์ รูปทรง สี ที่คล้ายกันก็ได้ จากนั้นจึง “ทดลองเชิงเทคนิค” อย่างน้อยห้าวิธี อาทิ เผา หลอม อัด แล้วเลือกใช้สองวิธีที่สมเหตุผลที่สุดในการรักษาสิ่งแวดล้อม

“สมมุติเลือกการหลอม ต้องอธิบายได้ว่าปล่อยคาร์บอนเท่าไร ทำไมเลือกวิธีนี้  ตอบได้แล้วถึงเข้าสู่ขั้นตอนการออกแบบจากเทคนิคและวัสดุที่เลือก  ถึงตรงนี้จะทำโมเดล 2D 3D ในคอมพิวเตอร์แล้วทำต้นแบบ (prototype) ออกมาถึงจะรู้ว่าตอบโจทย์หรือยัง  ขั้นต่อไปคือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ก่อนจะนำออกไปทดลองตลาดและดูเสียงตอบรับจากผู้บริโภคว่าไปได้ดีหรือไม่”

สำหรับปี ๒๕๕๗ อาจารย์สิงห์นำเสนอตัวอย่างรูปธรรมของ OSISU ตัวล่าสุดที่เกิดจากกระบวนการนี้คือ Orion โต๊ะวางของข้างผนังรูปทรงทันสมัยซึ่งใช้เวลาวิจัย พัฒนาวัสดุ ค้นหาเทคนิคการสร้างก่อนวางตลาดทั้งหมด ๖ เดือน

“โอไรออนเกิดจากความคิดว่าจะพัฒนาเทคนิคใหม่ ที่ผ่านมาเวลามีเศษไม้ ผมจะเอามาบดผสมกับกาวหรือพลาสติกแล้วอัดหรือผสมกับปูนทำอิฐมวลเบา  ผมนึกถึงวัสดุใหม่ที่จะประสานกับไม้ คือโลหะที่หลอมได้  แต่โจทย์คือเมื่อจะหลอมโลหะต้องใช้ความร้อนสูง ๕๐๐-๗๐๐ องศาเซลเซียส ถ้าประสานกับไม้มันจะเผาไม้ดำเป็นตอตะโก  ผมจึงไปพบอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหะ ได้ความรู้ว่ามีช่วงสภาวะหนึ่งในการหลอมโลหะที่สามารถนำมาเชื่อมกับไม้ โดยไม่เผาทำลายไม้ ซึ่งผมทำสำเร็จเป็นรายแรกของโลก คือทำให้ไม้กับโลหะอยู่ด้วยกันได้โดยไม่ต้องใช้กาวหรือใช้สกรูวเชื่อม  จากนั้นผมคิดต่อว่าโต๊ะตัวนี้ควรสื่อถึงอนาคต จึงคำนวณทางคณิตศาสตร์ทำขาเก้าอี้เป็นห่วง ๆ วง ๆ คล้ายวงโคจรของดวงดาวในระบบสุริยะ”

อาจารย์สิงห์บอกว่าหลักการสำคัญของนักออกแบบคือต้องมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ นำเสนอตลาดอยู่ตลอด ดังนั้นเขาจะไม่หยุดอยู่กับวัสดุชนิดใดชนิดหนึ่ง  ปัจจุบัน OSISU ถือครองทรัพย์สินทางปัญญามากกว่า ๒๐๐ สิทธิบัตรแล้ว  แต่ละวันยังได้รับคำขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐและเอกชนที่มาพร้อม “ถุงวัสดุเหลือใช้” อาทิ ร้านกาแฟยี่ห้อดังส่ง “กากกาแฟ” พร้อมงบประมาณมาขอให้ช่วยหาทางจัดการ  อาจารย์สิงห์วิจัยจนพบวิธีผลิตโต๊ะ เก้าอี้ และเคาน์เตอร์จากกากกาแฟ ซึ่งกำลังจะนำไปใช้ตามร้านกาแฟสาขาต่าง ๆ เร็ว ๆ นี้

ยังไม่นับที่กำลังอยู่ระหว่างคิดค้นวิธีการแปรรูป เช่น โรงพยาบาลแห่งหนึ่งส่งสายน้ำเกลือ ปลอกเข็มฉีดยาที่ผ่านการใช้งานและทำความสะอาดใหม่แล้ว มาให้ช่วยคิดว่าจะนำไปทำอะไรได้บ้าง  บริษัทชั้นนำด้านอุตสาหกรรมเกษตรปรึกษาว่าจะจัดการเปลือกไข่ไก่ที่ต้องทิ้งวันละ ๒๐๐ ล้านฟองอย่างไร

ส่วนคำถามว่าได้ทุนวิจัยมาจากไหน  อาจารย์สิงห์ตอบว่าในช่วงแรกที่ไม่มีทุนเขาตัดสินใจควักกระเป๋าตัวเองเพื่อค้นคว้าและทดลอง ก่อนที่ระยะหลังจะเริ่มมีองค์กรเอกชนมาสนับสนุน เช่นธนาคารไทยพาณิชย์สนับสนุนการค้นคว้าเป็นโครงการในแต่ละปี

“ผมทำไปเรื่อย ๆ  ตอนนี้มีนิสิตฝึกงานของ OSISU เก่ง ๆ ก็ช่วยทำไปด้วยกัน  กระทั่งแกงกะหรี่ที่เททิ้งกันในโรงอาหาร แทนที่จะเอาไปเลี้ยงหมูอย่างเดียว เราก็นำมาสกัดสีย้อมผ้าสวย ๆ ได้  องค์ความรู้ลักษณะนี้หลายชุดเรายกให้องค์กรที่มาขอความช่วยเหลือโดยไม่คิดมูลค่าเพื่อให้เขาเอาไปขยายผล ซึ่งจะช่วยเรื่องลดขยะได้มากกว่าเราเก็บเอาไว้ และเรายังขายสิทธิบัตรผ่าน Scrab Shop ภายในมหาวิทยาลัยด้วย”

อาจารย์สิงห์บอกว่ารูปแบบการทำงานของ OSISU ปัจจุบันแบ่งได้เป็นสามแบบคือ หนึ่ง OSISU เป็นที่ปรึกษาให้องค์กรต่าง ๆ และมีรายได้จากเปอร์เซ็นต์ในการร่วมผลิตผลิตภัณฑ์นั้น  สอง เป็นที่ปรึกษาอย่างเดียว  และสาม OSISU ซื้อเศษวัสดุจากหน่วยงานนั้นมาผลิตและทำตลาดเอง

นอกจากนี้อาจารย์ยังสร้าง OSISU Network ร่วมมือกับเอกชนที่มีเครื่องจักรเฉพาะเพื่อคิดค้นพัฒนาเทคนิคการนำเศษวัสดุใหม่ ๆ กลับมาผลิตเฟอร์นิเจอร์ เพื่อประหยัดต้นทุนในการซื้อเครื่องจักรราคาแพง  ล่าสุด OSISU ได้รับความสนใจจาก British Standard Institute ที่จะนำมาตรฐานการผลิตของ OSISU ไปสร้างมาตรฐานการผลิตเฟอร์นิเจอร์จากวัสดุเหลือใช้ในระดับนานาชาติ  และร่วมกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมกำหนดนิยามคำศัพท์ “Upcycling” ซึ่งหมายถึงการนำเศษวัสดุมาแปลงสภาพเป็นวัสดุใหม่ที่มีคุณค่าสูงขึ้นทั้งในเชิงพาณิชย์และการมีส่วนในการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยจัดทำฉลากให้แก่ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ในประเทศไทย

ปัจจุบันที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ วิชา Scrap Lab ที่อาจารย์สอนเกี่ยวกับการออกแบบเศษวัสดุเหลือใช้ได้รับความสนใจอย่างมาก มีนักศึกษาต่างชาติลงทุนข้ามน้ำข้ามทะเลมาลงเรียน ด้วยมีไม่กี่แห่งในโลกที่สอนวิชานี้อย่างเป็นระบบ

อาจารย์สิงห์บอกว่าการสอนยังคงเป็นงานหลักของเขา ส่วน OSISU เป็น “งานอดิเรกที่จริงจัง” เพราะทำแล้วมีความสุข

“ยอดขายส่วนมากของ OSISU มาจากเฟอร์นิเจอร์เศษไม้ ตลาดนี้ยังมีอนาคตมาก ที่ผ่านมายอดขายเราเติบโตกว่า ๕๐๐ เปอร์เซ็นต์  ถ้ารัฐส่งเสริมการคืนภาษีจากการซื้อของแบบนี้จะช่วยให้คนสนใจมากขึ้นและช่วยสิ่งแวดล้อมได้

“ผมอยากฝากว่า Reuse ทุกคนทำได้ตั้งแต่เรื่องง่าย ๆ อย่างการนำถุงพลาสติกกลับมาใช้ แยกขยะให้ Reuse ของได้ง่ายขึ้น  เราต้องรู้ว่าทรัพยากรมีจำกัดและหมดอย่างรวดเร็ว  การบริโภคของเรามีส่วนสร้างปัญหาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง  สิ่งที่ต้องคิดก่อนเรื่องอื่น ๆ อาจเป็นรูปแบบการใช้ชีวิตของเรา เพราะนี่เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายทางเท่านั้น”

> สนใจผลิตภัณฑ์ OSISU ชมและซื้อหาได้ที่ร้าน Plato หรือ TCDC ชั้น ๖ ห้างสรรพสินค้าดิเอ็มโพเรียม หรือซื้อผ่านเว็บไซต์และดูรายละเอียดสินค้าได้ที่ www.osisu.com