ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน

worldriverองค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) เปิดตัวแผนที่  “สถานะแม่น้ำ” (The State of the World’s Rivers) บนเว็บไซต์  http://www.internationalrivers.org/worldsrivers นำเสนอฐานข้อมูลพื้นที่ลุ่มน้ำของแม่น้ำสายหลัก ๕๐ สายทั่วโลก  ด้วยลูกเล่นบนหน้าเพจที่โต้ตอบกับผู้ชมเว็บฯ ได้แบบอินเทอร์แอกทิฟ ช่วยให้ผู้เล่นรู้จักและเข้าใจสภาพความเป็นไปของแม่น้ำได้ง่าย อย่างเรื่องคุณภาพน้ำ ประชากรสัตว์ รวมถึงที่ตั้งและจำนวนเขื่อนบนแม่น้ำ อันหมายถึง “สุขภาพของแม่น้ำ” นั่นเอง

เมื่อคลิกช่องพื้นที่ลุ่มน้ำไทกริส-ยูเฟรทีส (The Tigris and Euphrates Basin) อาณาเขตสีฟ้าจะปรากฏขึ้นครอบคลุมพื้นที่ ๘๗๙,๗๙๐ ตารางกิโลเมตรแถบประเทศตุรกี ซีเรีย อิรัก อิหร่าน และคูเวต พร้อมแสดงตำแหน่งปัจจุบันของเขื่อนอย่างน้อย ๔๖ เขื่อนตามสายน้ำน้อยใหญ่ในลุ่มน้ำไทกริส-ยูเฟรทีส และมีอีกอย่างน้อย ๘ เขื่อนปิดซ่อมแซมหรืออยู่ระหว่างการก่อสร้าง  แผนที่ยังบอกด้วยว่าแถบลุ่มน้ำอันเป็นอู่อารยธรรมเก่าแก่ของโลกมีสถานที่ได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลกแปดแห่ง และมีสองพื้นที่ได้รับยกย่องเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญของโลกหรือแรมซาร์ไซต์ (Ramsar site)

พอเลื่อนเมาส์คลิกช่องพื้นที่ลุ่มน้ำโขงซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงเป็นอันดับ ๒ ของโลก รองจากแม่น้ำแอมะซอน  ตลอดความยาวประมาณ ๔,๙๐๙ กิโลเมตรของแม่น้ำสายหลัก มีพันธุ์พืช (ตัวเลขโดยประมาณ) ๒ หมื่นชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ๔๓๐ ชนิด นก ๑,๒๐๐ ชนิด สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ๘๐๐ ชนิด และปลา ๘๕๐ ชนิดซึ่งร้อยละ ๒๔ เป็นปลาเฉพาะถิ่น พบได้แถบลุ่มน้ำโขงเท่านั้น

ขณะเดียวกันบนลุ่มน้ำเดียวกันนี้ก็มีเขื่อนที่สร้างแล้วราว ๘๒ เขื่อน เช่น เขื่อนปากมูลบนแม่น้ำมูล เขื่อนยโสธร-พนมไพรบนลำน้ำชี และอีกประมาณ ๑๕๓ เขื่อนอยู่ระหว่างการก่อสร้างและวางแผน

แผนที่ออนไลน์บนหน้าเว็บไซต์นี้แปลกใหม่และน่าสนุก แต่จุดวงกลมอันเป็นสัญลักษณ์ของเขื่อนตามชื่อลุ่มน้ำต่างๆ รวมถึงข้อมูลผลกระทบต่อระบบนิเวศ ก็บอกว่าวันนี้แม่น้ำทั่วโลกกำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลง และไม่รู้จะพลิกโฉมไปอีกเท่าไรในอนาคต •

ที่มาภาพ
http://www.internationalrivers.org/worldsrivers/