เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพถ่ายปัจจุบัน : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช, ประเวช ตันตราภิรมย์

ร้อยตรี แปลก พิบูลสงคราม ขณะศึกษาวิชาทหารปืนใหญ่
๑๖ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๐๐
ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
๒๒.๐๐ น. เศษ เสียงโทรศัพท์ดังลั่นขณะที่บุรุษผมสีดอกเลารับสาย
“ทหารกำลังจะมาล้อมทำเนียบครับท่าน” เสียงปลายสายร้อนรน
เขาวางสาย รีบลงมาชั้นล่าง ฟอร์ดทันเดอร์เบิร์ดติดเครื่องรออยู่แล้วพร้อมเลขาส่วนตัว นายตำรวจติดตาม และนายทหารอีกคนหนึ่ง เขาเข้าไปนั่งในที่คนขับ บึ่งรถกลับไปที่บ้าน เก็บสัมภาระ เปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วเปลี่ยนรถเป็นซีตรอง DS19 ที่ลุยทางทุรกันดารได้ดี หลังจากนั้นแวะซอยชิดลมยืมเงินลูกเขยแล้วมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก
รุ่งขึ้น เขาไปถึงชายหาดแห่งหนึ่งของจังหวัดตราด จ้างเรือหาปลาออกทะเลมุ่งหน้าสู่ชายฝั่งกัมพูชา
“โดยเรือยนต์ลำเล็ก ๆ ลำหนึ่งเป็นระยะทาง ๒๐ ไมล์ กว่าจะถึงฝั่งกัมพูชา...ต่อจากชายแดนกัมพูชา ข้าพเจ้าได้ว่าจ้างเรือยนต์ของชาวประมงเดินทางมายังเกาะเล็ก ๆ เกาะหนึ่งอันติดกันกับเกาะกงของเขมร ณ ที่นั่น ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากเจ้าหน้าที่ของเขมร เจ้าหน้าที่ได้โทรเลขแจ้ง...ไปยังกรุงพนมเปญ...รัฐบาลกัมพูชาก็ได้จัดเรือรบไปรับข้าพเจ้า”
ใครจะคาดคิดว่า นี่คือฉากสุดท้ายทางการเมืองของ “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” หนึ่งในแกนนำคณะราษฎร “ผู้อภิวัฒน์” เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี ๒๔๗๕ “นายกรัฐมนตรี” ซึ่งดำรงตำแหน่งยาวนานถึง ๑๔ ปี ๑๑ เดือน ๑๘ วัน และเคยรอดจากการลอบสังหารมาครั้งแล้วครั้งเล่า
การตกจากอำนาจของจอมพลครานี้ยังหมายถึง “คณะราษฎร” ตกเวทีการเมืองไทยโดยสมบูรณ์ ประเทศเข้าสู่ยุคเผด็จการเต็มใบนานนับทศวรรษ ในที่สุดความทรงจำเรื่องจอมพล ป. ก็ “ขาดวิ่น” คนไทยสมัยหลังจำจอมพลว่าเป็น “เผด็จการ” “นักฉวยโอกาส” ที่ร่วมกับญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกแล้วจะเข้ากับสัมพันธมิตรในบั้นปลาย เป็นผู้ที่ “ยุ่มย่ามชีวิตพลเมือง” บังคับ “เลิกกินหมาก” “เคารพธงชาติ” “ใส่หมวก” “ใส่รองเท้า” จน “หอมภรรยาก่อนออกจากบ้าน”