สฤณี อาชวานันทกุล

evolutionboard1

อ้าวๆ สัตว์แถวนี้อยู่กันอย่างสงบสุขมาหลายปี จู่ๆ ก็มีไดโนเสาร์กินเนื้อตัวมหึมาโผล่มาเสียอย่างนั้น มาถึงมันก็ไล่กินพวกเราจนราบคาบ

จิ้งเหลนตัวจิ๋วกินแต่พืชอย่างฉันสู้มันไม่ได้อยู่แล้ว โชคดีที่ปีนต้นไม้หนีทัน มองดูพวกปีนไม่เป็นตายไปต่อหน้าต่อตา สูญพันธุ์กันเป็นเบือ

จำได้ว่าปู่เคยเล่าให้ฟัง ย้อนไปหลายชั่วอายุจิ้งเหลน ป่าของเราก็ถูกคุกคามคล้ายตอนนี้ สมัยโน้นหมาป่าก็ไล่ล่าบรรพบุรุษของเราจนล้มตายไปมากมาย โชคดีแปรพันธุ์ปีนต้นไม้ได้ รุ่นต่อๆ มาเลยเหลือรอด เพราะหมาป่าปีนต้นไม้ไม่เป็น สุดท้ายพอกินพวกที่หนีไม่ได้จนหมด ผู้ล่าหน้าโง่ก็ค่อยๆ อดตาย ป่าหวนคืนสู่ความสงบอีกครั้งจนกระทั่งมีนักล่าพันธุ์ใหม่

ปู่บอกว่าครั้งนี้ก็เหมือนกัน อีกหน่อยไดโนเสาร์ก็ต้องอดตายเพราะตะกายต้นไม้ตามพวกเราไม่ได้

ฉันย้อนถามปู่ว่า ขนาดจิ้งเหลนตัวจิ๋วอย่างเรายังวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ อีกหน่อยพวกที่ไล่ล่าอยากกินเรามันก็อาจปีนต้นไม้ขึ้นมาได้เหมือนกันสิ

ปู่นิ่งเงียบ ทำให้ฉันใจคอไม่ดี ได้แต่คิดปลอบใจตัวเองว่า ขอให้ฟ้าประทานความสามารถใหม่ๆ มาทันเวลาด้วยเถิด โดยเฉพาะถ้าเรารวมพลังกับสัตว์สายพันธุ์อื่นได้ยิ่งดี อย่างถ้าพวกกระรอกร้องบอกเราก่อนที่ภัยจะมาถึงตัวได้ละแจ๋วเลย

 

– – – – – – – – – – – –

evolutionboard2

บอร์ดเกมที่จำลองโลกธรรมชาติมีมากมายหลายสิบเกม แต่ที่จำลองอย่างถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ที่สุดและสนุกสนานที่สุดตั้งแต่ผู้เขียนเริ่มเล่นบอร์ดเกม คือ Evolution โดย North Star Games (ต้องบอกชื่อบริษัทผู้ผลิตป้องกันความสับสน เพราะมีเกมชื่อเดียวกันหลายเกม) แถมยังเล่นง่าย เล่ากติกาจบภายในไม่เกิน ๑๐ นาที

เป้าหมายของ Evolution อยู่ที่การวิวัฒนาการให้มีสัตว์หลายชนิดที่สุด อุดมสมบูรณ์ที่สุดก่อนเกมจบ นับคะแนนจากอาหารทั้งหมดที่กินระหว่างเกม ลักษณะเด่นตามพันธุกรรม (จำนวนไพ่ลักษณะ) จำนวนชนิด จำนวนประชากร และขนาดของสัตว์แต่ละชนิด

ทุกคนเริ่มเกมเป็นสัตว์กินพืช มีขนาดและประชากรเท่ากับ ๑ เหมือนกัน ต้องหาทางอยู่รอดโดยเพิ่มประชากร ขยายหรือลดขนาด และวิวัฒนาการลักษณะเด่น เช่น “ปีนต้นไม้ได้” “มีเซลล์ไขมัน” “กินซาก” ทั้งเกมมี ๑๗ ลักษณะ โดยแย่งชิงอาหารและเพิ่มจำนวนประชากร รวมทั้งหลบหลีกสัตว์ที่วิวัฒนาการไปเป็นสัตว์กินเนื้อ

Evolution เล่นง่ายมาก แต่ละตาเราจะจั่วไพ่ลักษณะเด่นเข้ามือ ทุกคนต้องทิ้งไพ่หนึ่งใบเป็นจำนวนอาหารรวมรอบบ่อน้ำ ถ้าเล่นสี่คนจะมีไพ่ทั้งหมดสี่ใบ แต่เราจะไม่รู้ว่าอาหารมีเท่าไรเพราะทิ้งไพ่คว่ำ จากนั้นสลับกันเล่นไพ่กี่ใบก็ได้เพื่อทำแอ็กชันต่างๆ เช่น ทิ้งไพ่เพื่อได้สัตว์พันธุ์ใหม่ เพิ่มประชากร เพิ่มขนาด หรือวางไพ่หน้าสัตว์แต่ละชนิดลงเป็นลักษณะเด่น แต่แอ็กชันนี้ต้องทิ้งไพ่คว่ำแล้วค่อยเปิดดูพร้อมกันเพื่อไม่ให้คนเล่นก่อนเสียเปรียบ เฟสสุดท้ายก่อนจบตาคือ “กินอาหาร” โดยเปิดดูไพ่อาหารที่ทิ้งตอนแรก เติมอาหารรอบบ่อตามจำนวน แล้วเวียนกันกินอาหารจนครบทุกตัว สัตว์ตัวไหนกินอาหารเท่ากับจำนวนประชากรไม่ได้ จะต้องลดประชากรลง (ขาดอาหารตาย) เช่นถ้ามีประชากรหกตัว แต่กินอาหารได้เพียงสี่ชิ้น ก็ต้องลดจำนวนประชากรลงเหลือสี่ตัวเท่านั้น

ตาแรกๆ ในเกมนี้บรรยากาศจะรื่นรมย์ เพราะอาหารมีเหลือเฟือให้สัตว์ทุกชนิดไม่อดอยาก ไม่ต้องแย่งกัน แต่ตาหลังๆ จะยากขึ้นเมื่อเริ่มมีสัตว์หลายชนิด ประชากรสัตว์แต่ละชนิดก็เพิ่มจำนวน เช่น ถ้ารอบโต๊ะมีสัตว์แปดชนิด แต่ละชนิดมีประชากรสี่ตัว เท่ากับต้องมีอาหารรอบบ่อถึง ๘x๔ = ๓๒ ชิ้น จึงจะเพียงพอ ฉะนั้นเป็นไปได้ว่าอาหารอาจมีไม่พอ ความเสี่ยงนี้บีบให้เราวิวัฒนาการลักษณะเด่นที่จะช่วยหาอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่อย่างนั้นแต่ละตาเราจะผลัดกันหยิบอาหารได้เพียงหนึ่งชิ้น เช่นถ้ามีลักษณะ “คอยาว” ทำให้หยิบอาหารได้ครั้งละสองชิ้น ลักษณะ “กินซาก” ทำให้ได้อาหารหนึ่งชิ้นโดยอัตโนมัติทุกครั้งที่สัตว์กินเนื้อได้กิน

บรรยากาศของเกมจะเปลี่ยนไปทันทีที่มีสัตว์กินพืชทิ้งไพ่ลักษณะ “กินเนื้อ” ลงมา นั่นคือแปลงตัวเองเป็นสัตว์กินเนื้อ จากนั้นสัตว์พันธุ์นี้จะต้องกินสัตว์ของผู้เล่นคนอื่นๆ รอบวง จะกลับไปกินพืชอีกไม่ได้ตลอดทั้งเกม ทุกครั้งที่สัตว์กินเนื้อกินสัตว์ตัวอื่น มันจะได้อาหารเท่ากับขนาดของเหยื่อ ฉะนั้นจึงย่อมอยากกินสัตว์ตัวใหญ่มากกว่าตัวเล็ก ส่วนเหยื่อที่ถูกกินก็จะต้องลดจำนวนประชากรลงทีละหนึ่งตัว

อาจฟังดูง่าย แต่ตัวผู้ล่าเองใช่ว่าจะมีชีวิตสุขสบาย ก่อนอื่นมันต้องมีขนาดใหญ่กว่าและมีลักษณะเด่นที่ก้าวข้ามลักษณะป้องกันตัวเองของเหยื่อด้วย จึงจะกินสำเร็จ เช่นถ้าเหยื่อ “ปีนต้นไม้” ได้ มันก็ต้องมีไพ่ “ปีนต้นไม้” จะได้ตามไปกิน ที่สนุกกว่านั้นอีกคือ ไพ่ลักษณะเด่นหลายใบกำหนดให้สัตว์ต้องร่วมมือกันข้ามสายพันธุ์ จะเป็นสายพันธุ์ของเราทั้งหมดหรือของผู้เล่นข้างเคียงก็ได้ เช่น ไพ่ “ร่วมมือ” (ทำให้สัตว์ทางขวามือได้กินพร้อมกันกับเรา) หรือ “ส่งสัญญาณเตือน” (เตือนเวลาจะถูกสัตว์กินเนื้อล่า สัตว์กินเนื้อต้องมีไพ่ “จู่โจม” เพื่อหักล้างความสามารถนี้) ส่วนสัตว์กินเนื้อก็ต้องคอยปรับตัวตามเหยื่อ เช่นลักษณะ “ฉลาด” คือทิ้งไพ่ในมือเพื่อนำไพ่ลักษณะเด่นของเหยื่อออกหนึ่งใบ แต่กฎที่บอกว่าสัตว์แต่ละชนิดมีลักษณะเด่นได้ไม่เกินสามอย่าง และการที่สุ่มไพ่เข้ามือ เลือกเองไม่ได้ ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนยุทธวิธีอยู่เสมอตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปไม่หยุดนิ่ง ไม่ต่างจากธรรมชาติของจริง

คะแนนส่วนหนึ่งในเกมนี้มาจากอาหารที่กินแต่ละตา และเกมให้เราหย่อนอาหารใส่ถุงผ้าประจำตัวทุกครั้งที่ได้กิน เล่นไปสักพักจะเริ่มไม่แน่ใจว่าใครกำลังมีคะแนนนำ อีกทั้งสัตว์ที่มีประชากรมากก็อาจล้มหายตายจากไประหว่างทางเพราะวิวัฒนาการไม่ทันหรือไม่มีอาหารพอกิน ทำให้ได้ลุ้นทุกตาจนจบเกม

Evolution ถ่ายทอดการทำงานของโลกธรรมชาติอย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน แต่ละเกมลงเอยไม่เหมือนเดิม แต่ล้วนเล่าเรื่องราวสมจริงและสะท้อนหลักการของทฤษฎีวิวัฒนาการ ดังทัศนะของ ดร. สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ นักชีววิทยาที่กล่าวถึงความพ่ายแพ้ของเพื่อนผู้เล่นเป็นสัตว์กินเนื้อในเกมนี้ว่า “เป็นการปิดเกมที่แสดงสัจธรรมการถ่ายทอดพลังงานผ่านการกินในโลกธรรมชาติได้ตรงตามหลักนิเวศวิทยาอย่างสง่างาม

“การถ่ายทอดพลังงานจากดวงอาทิตย์สู่พืช สู่สัตว์กินพืช สู่สัตว์กินสัตว์ มีข้อจำกัด พลังงานจะสูญเสียไปถึง ๙๐ เปอร์เซ็นต์ในแต่ละขั้นของการกิน โลกไม่อาจรองรับสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่ ณ ปลายทางห่วงโซ่อาหารได้มากมายหลายตัว สัตว์พวกนี้จึงมีอยู่น้อยกว่าสัตว์ประเภทอื่นในระบบนิเวศ

“เมื่อมนุษย์เพิ่มจำนวนประชากรจนล้นโลก แล้วยังหันไปกินเนื้อมากขึ้น เราจึงต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตอาหาร ยิ่งพยายามฉลาดบีบธรรมชาติ ให้ผลิตเนื้อป้อนเรา ถางป่าปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์ ขุดเชื้อเพลิงฟอสซิลมาทำปุ๋ยเพิ่มผลผลิต จนแผ่นดิน ผืนน้ำปนเปื้อน ก็ต้องพบวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เราเป็นผู้สร้างขึ้นมา”

ที่มารูป
http://boardgamegeek.com/image/2208456/evolution
http://i1.wp.com/geekdad.com/wp-content/uploads/2014/05/Evolution-cards.jpg