เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

พี่-น้อง (กาญจนะวณิชย์) นักสร้างภูมิคุ้มกันให้สองเมืองใหญ่กรุงเทพฯ

พี่สาว-นักวิชาการ ชอบสังเกตเมืองและขยับคนเข้าหาสัตว์

“เราน่าจะเป็นคนเมืองรุ่นสุดท้ายที่หลังบ้านย่านสุขุมวิทมีบึงบัว นาข้าว  แม่สอนให้เราเข้าถึงธรรมชาติโดยไม่ต้องดิ้นรนเข้าป่า”

วัยเด็กของ ดร. สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว ยังสว่างในหัวใจกระทั่งยุคที่กรุงเทพฯ เปลี่ยนสีจากเขียวเป็นเทา  เมื่อมีโอกาสจึงเลือกงานที่ได้นำกลวิธีเชื่อมโยงมนุษย์ -สัตว์-พืชแบบที่แม่สอนมาประยุกต์ใช้กับคนรุ่นใหม่ผ่านกระบวนการหลากหลาย ด้วยหวังว่าวันหนึ่งกระแสอยู่ร่วมกับธรรมชาติจะกลับคืน

“เราทำกระบวนการเรียนรู้ชุด ‘นักสืบสิ่งแวดล้อม’ เพราะอยากเห็นมนุษย์อ่านธรรมชาติได้และเชื่อมโยงมันกับชีวิตตนเอง  ที่เลือกหยิบสิ่งธรรมดามาอวดความอัศจรรย์ก็เพื่อให้ประหลาดใจว่าสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ หน้าตาพิลึกใกล้ตัวช่างมีหน้าที่ยิ่งใหญ่ จะได้เป็นแรงบันดาลใจให้คนเมืองใหญ่อยากปรับตัวเข้าหาธรรมชาติด้วยความสนุก  มูลนิธิโลกสีเขียวยังเป็นหน่วยงานแรก ๆ ที่ริเริ่มรณรงค์วิถีเมืองจักรยาน เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาเมืองให้เป็นมิตรต่อชีวิตมนุษย์ และเป็นประตูสู่การเรียนรู้นอกห้องแอร์ ให้คนเมืองมีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม เห็นโครงสร้างสังคมชัดเจนขึ้น”

เธอว่า ทุกสังคมจำเป็นต้องมีหน้าที่หลากหลายเพื่อรักษาสมดุล ถึงเวลาที่หมอ นักชีวะ นักเคมี วิศวกร ดีไซเนอร์ และอีกหลาย ๆ อาชีพต้องเดินข้ามศาสตร์มาจับมือ

“ทางออกเดียวที่จะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมคือเราต้องร่วมมือกันขอความรู้จากธรรมชาติซึ่งเป็นครูโดยตรง  อาจไม่เห็นผลเปลี่ยนแปลงในยุคเรา แต่ต้องทำเพื่อให้มีโอกาสเกิดสิ่งที่ดีขึ้นในยุค
ต่อไป”

เชียงใหม่

น้องชาย-แพทย์ด้านโรคหัวใจ ชอบสังเกตป่าและเชื่อมโยงสัตว์มัดหัวใจคน

“เป็นหมอรักษาอาการป่วยไข้ของมนุษย์อย่างเดียวมันไม่ได้แก้ที่ต้นตอของปัญหา  คนป่วยเพราะโลกป่วย ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเหตุให้เกิดโรคต่าง ๆ  และที่โลกป่วยก็เพราะหัวใจมนุษย์มองไม่เห็นคุณค่าของชีวิตและธรรมชาติ  นักอนุรักษ์มักถูกมองว่าเห็นแก่สัตว์มากกว่าคน ไม่สนใจปัญหาปากท้อง  แท้จริงก็มองเรื่องเดียวกันอยู่ เพียงแต่เรามองระยะยาวไปชั่วลูกชั่วหลาน  เวลาหิวข้าวไม่มีใครออกไปยืนรับแดดกลางสนามแล้วสังเคราะห์แสงได้เอง  การจะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต้องเคารพสิทธิการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตอื่นด้วย  เด็กยุคนี้ห่างเหินธรรมชาติ รู้จักดาราเกาหลีดีกว่านกกางเขนและดอกปีบ  ถ้าพวกเขาไม่เคยมีนกมีต้นไม้เป็นเพื่อน คงยากที่จะฝากโลกนี้ไว้ให้พวกเขาปกป้องดูแล”

คือเหตุผลที่ นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ริเริ่มชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนาตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ เพื่ออุทิศเวลาส่วนตนนำเยาวชนเข้าป่าศึกษาธรรมชาติ เรียนรู้เรื่องนก

“เสียงร้องไพเราะ พฤติกรรมน่ารัก และสีสันสวยงามของนกคือทูตจับหัวใจเด็ก ๆ ให้อยากศึกษาธรรมชาติ  เมื่อพวกเขาเริ่มตื่นเต้น ค่อยเชื่อมโยงให้เห็นภาพใหญ่ว่านกสร้างสมดุลนิเวศอย่างไร เป็นนักปลูกป่าที่สุดยอดขนาดไหน จะเกิดอะไรขึ้นถ้าดอยสุเทพไม่มีนก แล้วขยายความสำคัญไปถึงสัตว์ป่าทุกชนิดทั้งที่น่ารักขนฟูจนถึงกบ เขียด งู  ปลูกฝังความเอื้ออารีต่อสิ่งมีชีวิตอย่างทัดเทียม เพราะสัตว์ที่ไม่สวยงามหลายชนิดก็ทำประโยชน์แก่โลกมหาศาล  เราไม่อาจอนุรักษ์โดยปราศจากความรู้ หรือเปี่ยมความรู้โดยปราศจากหัวใจ  นักอนุรักษ์โดยแท้มักเกิดจากการได้เห็นได้สัมผัสของจริง”

เช่นที่เขาเคยร้องว้าวให้หลายสิ่งอัศจรรย์ในวัยเยาว์ ก่อนจะเติบโต-ผลัดเป็นผู้ถ่ายทอด

“นี่เป็นวิธีที่แม่ใช้สอนเราและประสบความสำเร็จมาแล้ว”

สองเมืองใหญ่

พี่-น้องกาญจนะวณิชย์จับมือส่งต่อแนวคิดแบบแม่

บ่อยครั้งที่พี่สาวขึ้นเชียงใหม่ นำวิชาสิ่งแวดล้อมแสนสนุกสอนเด็กเมืองเหนือ

บ่อยไปที่น้องชายลงกรุงเทพฯ นำเรื่องราวของสัตว์ปีกและแมลงเล็ก ๆ บอกต่อคนเมือง

ร่วมสร้างวัคซีนคุ้มกันให้สองเมืองใหญ่เข้มแข็ง-เขียวขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น

รางวัลและผลงานด้านสิ่งแวดล้อม

ดร. สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

ปี ๒๕๕๔ รับรางวัลบุคคลเกียรติยศโกมลคีมทอง
ปี ๒๕๕๖ รับรางวัล “ผู้หญิงเก่ง” สาขาสิ่งแวดล้อม
ในวันสตรีสากล โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

นพ. รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์
ปี ๒๕๔๗ ได้รับยกย่อง ช่วยเหลือราชการดีเด่น
จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ปี ๒๕๕๑ ได้รับคัดเลือก นักอนุรักษ์ดีเด่น
จากสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย