เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง / ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

“เอาถ่านไหม ?” คำถามจากหมึก-คนเผาถ่าน sataporn02 sataporn03

ใครได้ชื่อว่าเป็นคนเผาถ่านก็คล้ายว่าจะมีภาพลักษณ์เกี่ยวโยงอยู่กับการตัดเผาต้นไม้ทำลายป่า

แต่อย่างน้อยที่สุดก็ต้องยกเว้นหมึกไว้คนหนึ่ง เพราะงานเผาถ่านของเธอส่งผลผกผันกลับด้านกับภาพลักษณ์ของคนเผาถ่านแต่เดิมมา

งานของเธอช่วยแปรรูปเศษสิ่งเหลือใช้ให้กลายเป็นพลังงานทดแทนที่มาช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงสิ้นเปลือง ทั้งยังได้น้ำส้มควันไม้มาใช้แทนสารเคมีกำจัดแมลง

เตาถ่านของเธอคือส่วนหนึ่งของการพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมอย่างที่ใครก็ปฏิเสธไม่ได้

“ยินดีต้อนรับคนเอาถ่าน”

ข้อความบนป้ายทางเข้าบ้านหลังเล็กของหมึก หรือ สถาพร ตะวันขึ้น ในตำบลบางพรม อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ทั่วบริเวณบ้านไม่มีอะไรสะดุดตา นอกจากเตาเผาถ่านทำจากถังแดงจำนวนสามเตาที่เป็นองค์ประกอบของการงานหลักที่เธอทำอยู่ในทุกวันนี้

“เมื่อก่อนก็เป็นคนไม่เอาถ่าน” หมึกเล่าย้อนอดีตก่อนมาเป็นคนเอาถ่าน “เรียนมหาวิทยาลัยไม่จบ ออกมาขอเงินยายกินนอนเล่น เที่ยวไปวันๆ ไม่เคยคิดว่าต้องหาเงินเองเพราะมีเงินบำนาญราชการครูของยายใช้”

จนวันหนึ่งเธอได้ไปดูงานกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ที่ก่อตั้งโดยพระอาจารย์สุบิน ปณีโต ที่จังหวัดตราด แล้วกลับมารวมตัวกับคนในชุมชนตั้งกลุ่มออมทรัพย์ โดยต่อมาเธอทำหน้าที่เป็นประธานกลุ่มและทำเตาเผาถ่านไปด้วย

“เป็นสถาปนึกอยู่เป็นอาทิตย์ว่าจะทำอะไรได้บ้าง มองไปรอบๆ บ้านเห็นเศษกิ่งไม้ที่เขาตัดแต่งไม้ผลกองสุมอยู่เยอะแยะก็ลองปั้นเตาเผาถ่าน แต่แบบตามที่ดูงานมาทำยาก เราเลยลองใช้ถังน้ำมันขนาด ๒๐๐ ลิตร เจาะรูหัวท้าย ด้านหนึ่งเป็นหน้าเตา ด้านหลังใส่ท่อใยหินเป็นปล่องควัน ลงทุนราว ๔๐๐ บาทเท่านั้น เผาทีหนึ่งได้ถ่านห้าถุงต่อเตา ขายถุงละ ๓๐ บาท”

ทดลองทำ ๒ สัปดาห์ก็ลงตัว และพัฒนาต่อมาจนกลายเป็นที่ศึกษาดูงานของคนที่สนใจซึ่งมีมาไม่ว่างเว้นทุกเดือน หรือบางทีก็สัปดาห์ละหลายคณะ

“มีคนมาดูงานก็ชักภูมิใจ ตอนแรกอธิบายไม่เป็น คนมาดูเยอะเข้าก็พูดเป็นไปเอง ใครถามตอบได้ทันทีเพราะทำเองเรียนรู้เองไม่ได้ท่องจำจากตำราที่ไหน”

ข้อความต้อนรับ “คนเอาถ่าน” บนแผ่นป้ายหน้าบ้าน จึงไม่ได้หมายเฉพาะคนมาซื้อถ่านไม้เท่านั้น แต่รวมถึงคนเอาการเอางานที่มาเพื่อการเรียนรู้ด้วย

ว่าแล้วเธอก็เล่าถึงสิ่งที่เล่าสู่ทุกคนที่มาดูงานของเธอว่า ทำเตาเผาถ่านได้สิ่งดีๆ ห้าอย่าง

หนึ่ง-ได้ถ่านไม้คุณภาพดีไว้ใช้แทนแก๊สที่มีราคาแพง และใช้ได้ดีกว่าสำหรับการปรุงอาหารบางชนิด อย่างการปิ้งย่าง ขนมครก หรือแม้กระทั่งการเผาศพ

สอง-ได้น้ำส้มควันไม้สำหรับใช้ไล่แมลง

สาม-ได้ถ่านผลไม้ไว้ใช้งานประดับและดับกลิ่นในตู้เย็น โดยใช้ผลดิบของทุเรียน สับปะรด มังคุด ส้มโอ ขนุน หรือผลไม้อื่นๆ ที่ผลมีรูปทรงสวยงาม ใส่ปี๊บแล้วสอดไว้กลางกลุ่มฟืน พอฟืนกลายเป็นถ่าน ผลไม้ดิบพวกนั้นยังคงรูปเดิมแต่กลายเป็นถ่านดำเด่นสะดุดตา เป็นการเพิ่มมูลค่าแก่ผลไม้ดิบที่ร่วงหล่นไร้ค่าให้กลับมีราคาตามแต่คนเผาจะตั้งเอา

สี่-ได้น้ำชา โดยอาศัยวางกระทะคั่วใบชาไว้บนเตาเผาถ่านนั้นเอง เธอเล่าแบบติดตลกว่าตั้งกระทะวางตะหลิวคาไว้ ใครมาดูงานก็จะบอกให้ลองคนๆ ดู คนนั้นทีคนนี้ที ครู่เดียวก็ได้ชาหอมกรุ่นพร้อมชง ใครไม่กล้าชิม เธอจะท้าว่าหากใครกินแล้วตายจะเผาศพให้ฟรีเพราะเรามีถ่าน

ห้า-ได้ขี้เถ้าไว้ทำน้ำด่างล้างผักผลไม้แทนด่างทับทิม หรือไว้ใส่โคนไม้

ด้วยพื้นที่แถบสมุทรสงครามเป็นถิ่นของสวนผลไม้ วัตถุดิบส่วนใหญ่ก็มาจากในสวนนั่นเอง

“ไม้ไม่ต้องหา สวนไหนตัดแต่งกิ่งไม้ผลเราก็ไปเก็บ ส่วนใหญ่เป็นไม้ลิ้นจี่ ปีหนึ่งเอามาเผาเป็นตัน ไม่มีวันหมดเพราะไม่ได้ตัดโคน เจ้าของเขายินดีที่เราช่วยเก็บกิ่งไม้ออกจากสวน แต่เราเอามาเผาถ่านขายก็ให้ค่าไม้เขารถละ ๑๐๐ บาท หรือบางสวนเขาก็แค่ขอถ่านไปใช้”

จากคนไม่เอาถ่านที่กลับตัวมาเอาดีได้ด้วย “ถ่าน” กระทั่งกลายเป็นผู้แบ่งปันองค์ความรู้และแรงบันดาลใจสู่ผู้คน หมึกในวัย ๔๘ ปีพูดถึงปัจจุบันของตนว่า

“คนอาจมองว่าเผาถ่านเป็นงานต่ำๆ แต่เราเห็นว่าเป็นงานสุจริตที่มีเกียรติ ไม่ได้ลักขโมยใคร ได้ให้ความรู้แก่เด็กๆ และคนที่สนใจ ไม่ได้หวังอะไรตอบแทน เขาจะเอาไปทำต่อหรือไม่ก็ไม่เป็นไรเพราะเข้าใจอยู่ว่าคนเอาถ่านจริงๆ น่ะมีน้อย ทุกวันนี้มีความสุขอยู่แบบพอเพียง เท่านี้ยายก็ดีใจแล้ว ตอนนี้ยายอายุ ๙๓ ปี อนาคตข้างหน้ายังไม่อาจล่วงรู้ แต่เราพยายามที่จะปล่อยวาง เพื่อความสุขที่แท้จริง ไม่ใช่สุกจนไหม้” •