เรื่องและภาพ : ชลธร วงศ์รัศมี

rootgarden01เพียงไม่ถึงปี สวนข้างสถาบันปรีดี พนมยงค์ก็เป็นที่รู้จักไปไกลทั้งในและต่างประเทศ สื่อมาทำข่าวไม่เว้นแต่ละวัน มีหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสมาขอทำสกู๊ป เฉพาะวันที่สารคดี ไปสัมภาษณ์ ผู้จัดการสวนบอกว่าก่อนทีมงานมาถึงได้ให้สัมภาษณ์สื่ออื่นไปสี่ราย

เมื่อลองถามคนขับมอเตอร์ไซค์วินแถวนั้นว่า Root Garden เป็นอย่างไรในสายตาของเขา เขาบอกว่า “ทำอะไรกันก็ไม่รู้ ผมว่ามันดัดจริตนะ” เอาละสิ…มุมมองต่อสวนที่เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์นี้ช่างมีความหลากหลายจริงหนอ

พื้นที่ ๒๓๐ ตารางวาของ Root Garden ด้านหน้ามีร้านกาแฟเล็กๆ ผนังเปิดโล่งสามด้าน แต่มีเมนูหลากหลาย ทั้งกาแฟที่คัดเมล็ดกาแฟคุณภาพมาคั่วบด น้ำมะนาวผสมน้ำผึ้ง ชาผลไม้และน้ำผลไม้หลากรส มีเมนูเคียงอย่างไข่กระทะสูตรพิเศษที่ใช้ไข่และผักออร์แกนิกหวานกรอบ แซนด์วิชขนมปังโฮลวีต เค้กแครอตรสกลมกล่อม  บางวันมีเห็ดทอดกรอบและสลัดผักที่เด็ดสดๆ จากแปลง  บางวันมีส้มตำปลาร้ารสนัว หรืออาหารทะเลปลอดสารเคมี  สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในสวนสร้างอย่างเรียบง่ายด้วยแรงงานผู้มีฝีมือจากเครือข่ายคนไร้บ้าน แม้ไม่มีเครื่องปรับอากาศเลย แต่ที่นี่ผ่านฤดูร้อนของปีนี้มาได้อย่างน่ามหัศจรรย์

เมื่อเดินทะลุร้านกาแฟมาจะพบบ่อปลา เล้าไก่ คอกแพะ แปลงผัก แปลงข้าวโพด โรงเพาะเห็ด บ่อทราย และนาข้าวย่อมๆ อยู่ด้านในสุด  แคร่ไม้ไผ่และกองฟางตั้งกระจัดกระจายใต้ร่มไม้ใหญ่  หากเดินไปแปลงข้าวโพดจะพบป้ายปักข้างๆ แปลงเขียนข้อความว่า “ข้าวโพดมาจากไหนแล้วไปไหน ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รวม ๗,๘๓๙,๘๔๓ ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าถึง ๓,๗๒๑,๘๕๘ ไร่…”  เหนือกระดานบอกเมนูกาแฟมีป้ายเขียนว่า “คุณรู้ไหม ? จากคนไทยทั่วประเทศ มีผู้ถือครองโฉนดที่ดินเพียง ๑๕ ล้านราย”  นอกจากป้ายตามมุมต่างๆ ซึ่งสอดแทรกข้อมูลเรื่องการปฏิรูปที่ดินและความเหลื่อมล้ำในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ทีมงานเกือบทุกคนยังพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวเหล่านี้กับผู้มาเยือนได้ กล่าวให้ถูกต้องเรื่องราวเหล่านี้ต่างหากคือดีเอ็นเอที่แท้จริงของ Root Garden จุดสีเขียวเล็กๆ กลางป่าตึก ซึ่งเชื้อเชิญผู้คนมาร่วมตั้งคำถามต่อหลายสิ่งที่เราอาจคุ้นเคยจนไม่สะดุดใจ เริ่มจากคำถามแรก…เมื่อมองเห็นที่ดินรกร้าง เราคิดอย่างไร ?

“การเอาผืนดินไปแม้จะเป็นเพียงแค่ชั่วคราว แล้วกีดกันไม่ให้คนอื่นใช้ประโยชน์ ผมอยากให้สังคมช่วยกันคิดว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับได้หรือเปล่า  หรือเห็นพื้นที่รกร้างตามซอยตามถนนล้อมสังกะสีเป็นที่ทิ้งขยะ ไม่ทำอะไรเป็นแรมปี คุณจะรู้สึกยังไง  ผมอยากให้คนกรุงเทพฯ คนเมือง ฉุกคิด แล้วต่อไปอาจตั้งคำถามว่าเวลาไปต่างจังหวัดเห็นที่ว่างเปล่ามากมาย ขณะเดียวกันมีคนที่เข้าไม่ถึงแม้แต่ที่ซุกหัวนอน การมองที่ดินเป็นสินทรัพย์โดยไม่มีหน้าที่อื่นเลย เพียงเก็งกำไรแค่นั้น สิ่งเหล่านี้สังคมไทยควรยอมรับหรือไม่” จักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานด้านนโยบายและการรณรงค์ องค์การอ็อกแฟม (Oxfam) ประเทศไทย ซึ่งร่วมบุกเบิกพื้นที่นี้ชวนคิด

ตามนิยามของทีมงาน Root Garden คือ “สถานีทดลองการใช้ประโยชน์จากที่ดินรกร้าง”  ปี ๒๕๒๖ หลัง ปรีดี พนมยงค์ ถึงแก่อสัญกรรม ครูองุ่น มาลิก ผู้ดำรงชีวิตด้วยหลักคิดว่า “การทำงานเพื่อช่วยบุคคลที่ตกทุกข์และมีปัญหา เป็นปัจจัยชีวิตของข้าพเจ้า” ได้ยกที่ดิน ๓๑๗ ตารางวาให้เป็นที่ตั้งสถาบันปรีดี พนมยงค์  สำหรับที่ดินผืนข้างๆ ครูองุ่นเตรียมสร้างสุสานของตนเองไว้ก่อนเสียชีวิต และระบุในพินัยกรรมว่าที่ดินผืนนี้ห้ามขาย ให้ใช้ทำประโยชน์แก่สังคมเท่านั้น  ที่ดินผืนดังกล่าวจึงอยู่ในความดูแลของมูลนิธิไชยวนาซึ่งครูองุ่นก่อตั้งขึ้น  ต่อมากลายเป็นที่รกร้างจนกระทั่งมูลนิธิฯ เปิดโอกาสให้ทีมงาน Root Garden ทดลองใช้พื้นที่เป็นเวลา ๑ ปี  สำหรับคนย่านทองหล่อ ร้านกาแฟที่ Root Garden น่าจะเป็นร้านกาแฟเพียงแห่งเดียวที่ตั้งเยื้องสุสาน ทว่าที่พักสุดท้ายของครูองุ่นไม่ได้ทำลายบรรยากาศแต่อย่างใด กลับส่งให้สวนงดงามขึ้นด้วยคุณงามความดีของผู้ที่นิทราสนิทอยู่ใต้แผ่นหินแกรนิตนั้น

rootgarden02วรุตม์ บุณฑริก ผู้จัดการสวน วัย ๒๕ ปี เล่าถึงความเป็นมาของ Root Garden ว่า “โปรเจกต์นี้มาจากเครือข่ายเอ็นจีโอ ได้แก่ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ชุมชนเครือข่ายสลัม ๔ ภาค และเครือข่ายคนไร้บ้าน เห็นคนโดนไล่ที่ มีปัญหาด้านที่ดินมากๆ  พอเห็นว่าชาวบ้านสู้ไม่ได้สักที เลยมาศึกษาร่วมกันและเสนอทางออกจนเกิดการเสนอกฎหมายสี่ฉบับเพื่อปฏิรูปที่ดิน โดยเสนอให้ตั้ง ๑. กองทุนยุติธรรม ๒. พ.ร.บ. โฉนดชุมชน ๓. ธนาคารที่ดิน ๔. ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ด้วยเชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาที่ดินแบบภาพรวมได้ทั้งระบบ  คนที่ทำงานนี้เรียกว่า ‘คณะกรรมการรณรงค์กฎหมายสี่ฉบับ’  ทีนี้คิดกันว่า ถ้ารณรงค์รูปแบบเดิมๆ ไม่มีทางจะซื้อใจคนได้แน่นอน ทั้งการยืนถือป้ายประท้วง ก่อม็อบ ปิดถนน คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะไม่ชอบ มาปิดถนนอีกแล้ว โอ๊ย ! รถติด ซึ่งสร้างความรู้สึกด้านลบ  แต่ถ้าเราทำแบบนี้ คนก็จะเห็นเด็กวิ่งเล่น ปลูกผัก ซึ่งสร้างภาพบวก  โอเค อาจใช้เวลานานในการซึมซับข้อมูล แต่ในภาพรวมเป็นผลดีกว่า”

rootgarden03หากมองจากชั้นนอกสุด นี่คือร้านกาแฟที่มีสวน  เขยิบเข้าใกล้อีกหน่อย นี่คือสวนที่มีร้านกาแฟ  ผู้ปกครองย่านทองหล่อดีใจที่ค้นพบพื้นที่นี้ บอกกันปากต่อปากและพาลูกหลานมาวิ่งเล่น ปีนต้นไม้ คลุกดินคลุกทราย สนุกกับเด็กคนอื่นและสัตว์ต่างๆ จนผู้ปกครองเหล่านี้กลายเป็นกำลังซื้อหลักของร้านกาแฟ  ขยับเข้าอีกนิดนี่คือพื้นที่สาธารณะที่เปิดโอกาสให้เกิดการสร้างสรรค์หลากหลาย มีเวทีเสวนาประเด็นการใช้พื้นที่เมือง ทรัพยากร เศรษฐกิจ สังคม การเกษตร ฯลฯ สลับการแสดงศิลปะหมุนเวียนเป็นประจำ และยังให้ใช้พื้นที่ฟรีสำหรับผู้ต้องการจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยไม่แสวงหาผลกำไร  เมื่อขยับเข้าใกล้มากขึ้นจะพบว่าที่นี่มีความเป็น co-working space (พื้นที่ทำงานที่ใช้ร่วมกัน) โดยธรรมชาติ สาวศิลปินละครใบ้ซึ่งมาซ้อมการแสดงที่สถาบันปรีดีฯ เดินสวนกับหนุ่มนักกิจกรรมทางสังคมผู้มองหาแคร่ไม้ไผ่ใต้ร่มไม้เหมาะๆ เพื่อกางโน้ตบุ๊ก ต่อ wifi และเริ่มทำงาน  เมื่อเข้าใกล้สุดนี่คือสวนซึ่งมีรากความคิดหยัดลึกและพร้อมจะผลิดอกผลทางปัญญาแก่สังคม หากสภาพแวดล้อมเปิดทางหรือผู้มาเยือนเปิดใจ

“การปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับรัฐบาลเพื่อการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งจำเป็น แต่น้ำหนักหรือสิ่งนั้นจะยั่งยืนหรือไม่อยู่ที่สังคมวงกว้างด้วยว่าเข้าใจหรือเปล่า  ถ้าคุณไม่สร้างความเข้าใจร่วม โอกาสที่รัฐบาลจะไม่ทำหรือผิดสัญญา หรือทำแต่ไม่ลุล่วงก็เป็นไปได้สูง เพราะสุดท้ายรัฐจะรู้เองจากกระแสสังคม จากประชาชนบอกว่าคิดอย่างไร  ขณะนี้ผมคิดว่าคนเมืองรู้สึกเป็นอื่นต่อการปฏิรูปที่ดิน  หน้าที่ของเราคือทำให้คนเมือง คนมีสตังค์ มองที่ดินอย่างใกล้เคียงกับคนจน ชาวบ้าน หรือคนป่า” จักรชัย นักวิชาการผู้ทำงานด้านการพัฒนาสังคมมาเกือบ ๑๘ ปี พี่ใหญ่สุดในทีมอธิบายถึงรากของ Root Garden  หลายฝ่ายอาจไม่เข้าใจว่าสวนดิบๆ กลางย่านที่ดินแพงระยับกำลังทำอะไร (อย่างมอเตอร์ไซค์วินรายนั้น) จึงนับเป็นเรื่องท้าทายที่ Root Garden ในวันนี้จะผลิดอกผลอย่างมีประสิทธิภาพตรงกับรหัสทางพันธุกรรมของรากที่ซ่อนความตั้งใจดีนานัปการไว้ได้หรือไม่

  • ขุดกันต่อให้รู้จัก Root Garden มากขึ้นที่ปากซอยทองหล่อ ซอย ๓ หรือ facebook : Root Garden At Thong Lor

หมายเหตุ : ทุกวันอาทิตย์ที่ ๒ และ ๔ ของเดือน พบตลาดนัด Root Market จำหน่ายผลิตภัณฑ์การเกษตรที่ “มีราก” เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งกิจกรรมและเสวนาต่างๆ

ขอขอบคุณ : คุณโชคชัย หลาบหนองแสง  คุณสุลาวัลย์ แจ้งจำรัส จอห์นสันห์  น้องหญิง และชาว Root Garden ทุกท่าน