นนท์พิเชษฐ์ชาญ ชัยหา : เรื่อง
ธเนศ แสงทองศรีกมล : ภาพ

“ฉัน” สิ่งมีชีวิตที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งท่ามกลางตึกสูงต่ำเรียงรายเหมือนภูผาใจกลางเมือง รถราต่างขนาดสัญจรไปมาบนถนนที่เปรียบเสมือนสายน้ำของคนกรุง ขบวนรถไฟฟ้าเลื้อยเหมือนงูใหญ่อยู่เบื้องล่าง ผู้คนไม่ซ้ำหน้าเดินสวนไปมาในสถานที่แห่งนี้ “สามย่าน”

เมื่อเทียบกับสิ่งอื่น ฉันเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตจำนวนน้อยในเมืองใหญ่

ใบของฉันพลิ้วไหวตามสายลม ฉันสูงเท่าตึกห้าชั้น พอจะมองเห็นสิ่งรอบตัวเคลื่อนผ่านช้าบ้างเร็วบ้าง เห็นแม้กระทั่งคุณที่เดินเข้าไปในตึกกระจกสูงกว่าฉันหลายสิบเท่า

กระจกใหญ่บานนั้นทำให้ฉันเห็นพระอาทิตย์สองดวงขึ้นทางทิศตะวันออกวันละสองรอบ ฉันเห็นทุกอย่างไม่คลาดสายตามานานร่วม 40 ปี จนมี “ชายหนุ่มใส่แว่น” คนหนึ่งนิยามฉันและเพื่อนว่า

“ความทรงจำ”

ต้นมะม่วงกับความทรงจำที่สามย่าน
สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ (PMCU) เริ่มพัฒนาที่ดินเพื่อยกระดับเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ อย่างสามย่านมิตรทาวน์ หรืออุทยาน 100 ปี จุฬาฯ จึงต้องไล่ที่และรื้อถอนอาคารบ้านเรือน ไม่เว้นแม้กระทั่งศาสนสถานเก่าแก่

ฉัน

ฉัน “ต้นมะม่วง” เติบโตในรั้วปูนสีขาวของ “คริสตจักรเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีส สามย่าน” หรือคนแถวนี้เรียกว่า “โบสถ์จีนสามย่าน” สถานที่เก่าแก่ที่อยู่คู่พื้นที่มากว่า 80 ปี ก่อตั้งราวปี 2484 โดยคริสเตียนหรือชาวคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์

ประยุทธ์ รุ่งจิระรัศมีกุล ชายร่างเล็กใบหน้าสงบ วัย 73 ปี สมาชิกเก่าแก่ของโบสถ์ เล่าชีวิตฉันให้ชายต่างถิ่นในโบสถ์ฟังว่า ฉันมาจากเมล็ดของมะม่วงรสชาติดีที่อาจารย์ชิน กองลอย นำมาปลูก อาจารย์เป็นศาสนาจารย์ประจำโบสถ์ผู้ชื่นชอบมะม่วงเป็นชีวิตจิตใจ วันที่ฝังเมล็ดลงดินที่สามย่านน่าจะช่วงปี 2525 ถึง 2530 นับถึงตอนนี้ประมาณกว่า 40 ปีแล้ว

“ดินตรงนี้ไม่ธรรมดา” ประยุทธ์เล่าต่อว่าเมื่อก่อนตรงนี้เคยเป็นป่าช้ามุสลิม

คงจริงอย่างนั้นแหละ เพราะฉันเคยได้ยินว่าในแผนที่เก่าสมัยต้นรัชกาลที่ 6 ปี 2453 ตรงนี้เรียกว่า “ป่าช้าแขก” ทำให้ไม่มีใครกล้าอยู่ “เจ้าของต้นฉำฉา” จึงให้ชาวคริสเตียนมาเช่า เพราะคิดว่าคนกลุ่มนี้ไม่น่าจะเชื่อสิ่งอื่นใดนอกจากพระเจ้า

“เราเข้ามาครั้งแรกค่าเช่าถูก ปีหนึ่งไม่กี่ร้อยบาท พื้นที่ประมาณ 10 ไร่” ประยุทธ์พูดถึงค่าเช่าที่ดินผืนนี้ ฉันโตมากับดินป่าช้าเก่านี่เอง ต้นจึงใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ฉันภูมิใจ อย่างน้อยก็มีเรื่องไปเล่าให้ใครฟังได้ว่าเป็น “ต้นมะม่วงจากดินป่าช้า”

“โบสถ์เป็นหัวใจสำคัญของการเริ่มต้นพัฒนาสิ่งต่างๆ เพราะมาพร้อมกับคำสอนทางศาสนา แล้วตามด้วยการศึกษา ต่อมาจึงสร้างโรงเรียนขึ้น” ประยุทธ์บอกหนุ่มคนเดิม และเล่าว่าโบสถ์หลังแรกเป็นตึกครึ่งปูนครึ่งไม้

ฉันเกิดไม่ทันสิ่งที่เขาเล่า เห็นแต่โบสถ์หลังปัจจุบันที่ตั้งตระหง่านมาตั้งแต่ก่อนฉันเกิดราว 20 ปี ก่อสร้างในปี 2510 และเสร็จในปี 2512

ลืมแนะนำว่าฉันมีเพื่อนต้นไม้ที่โตมาด้วยกันอีก 4 ต้น คือ ต้นมะขามและต้นคูนที่อยู่ใกล้จนใบเราสัมผัสกัน ต้นไทรตรงประตูรั้วทางเข้าโบสถ์ และต้นตาเบบูย่าหรือชมพูพันธุ์ทิพย์ที่อยู่ติดกับตัวโบสถ์ที่สุด ทุกต้นสร้างร่มเงาให้กับผู้คนในโบสถ์หลังนี้

mamuang02
คริสตจักรเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีส สามย่าน หรือ โบสถ์จีนสามย่าน ตั้งอยู่บริเวณจุฬาฯ ซอย 7 หลังปั๊มน้ำมันซัสโก้ มาตั้งแต่ปี 2484 โดยโบสถ์หลังปัจจุบันก่อสร้างในปี 2510-2512 เป็นอีกหนึ่งศาสนสถานที่ต้องย้ายออกและรื้อถอน เพราะสู้ค่าเช่าไม่ไหว

ที่ดินเจ้าของต้นฉำฉา

“ฉำฉา” ที่คุณน่าจะรู้จักในชื่อ “ก้ามปู” หรือ “จามจุรี” เป็นต้นไม้ใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขากว้างขว้างและสร้างร่มเงาให้สิ่งที่อยู่เบื้องล่าง ฉำฉาได้รับการดูแลอย่างดีจากเจ้าของที่ดินชื่อ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ตั้งแต่เติบโตโผล่พ้นขึ้นมาจากดินป่าช้า ฉันเห็นต้นฉำฉามากมายนับไม่ถ้วนในที่ดินแห่งนี้ เขาเติบโตเจริญงอกงามมาก่อนฉัน สมกับเป็นต้นไม้พี่ใหญ่ จนเจ้าของที่ดินขนาดกว้างใหญ่ 1,153 ไร่ ยกให้เป็นสัญลักษณ์ของที่นี่

ฉันเคยได้ยินใครบางคนเล่าให้คนต่างถิ่นฟังว่าจากโรงพยาบาลจุฬาฯ ที่ติดกับสวนลุมพินี ยาวมาถึงถนนพระรามที่ 4 เลี้ยวเข้าถนนบรรทัดทอง และจากถนนบรรทัดทองไปจนถึงสี่แยกเจริญผล ขนานไปกับถนนพระรามที่ 1 ถึงโรงพยาบาลตำรวจ วนกลับมาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ทั้งหมดนี้คือที่ดินเจ้าของต้นฉำฉา

ตรงพระรามที่ 1 คือ สยามสแควร์ ถือเป็น “เพชรเม็ดงามของพื้นที่” รวมถึงสามย่านซึ่งชายธงติดกับถนนพระรามที่ 4 ก็เป็นของเขา

ที่ดินผืนใหญ่นี้เดิมเป็นที่ดินพระคลังข้างที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 พระราชทานให้พัฒนาเป็นมหาวิทยาลัย ซึ่งเจ้าของต้นฉำฉาได้รับกรรมสิทธิ์ดูแล เพียงแต่ยังไม่ได้สิทธิ์เด็ดขาด จนปี 2482 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ออกกฎหมายโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่เจ้าของต้นฉำฉาโดยสมบูรณ์ นับแต่นั้นเขาได้สิทธิ์จัดการพื้นที่อย่างเต็มตัว

เรื่องราวที่ฉันจะเล่าให้คุณฟังทั้งหมดเกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้ ในที่ดินของเจ้าของต้นฉำฉา

mamuang03
9 กรกฎาคม 2566 วันสุดท้ายของการย้ายโบสถ์ก่อนจะรื้อถอน ศุภชัย วงศ์พิเชฐชัย จักษุแพทย์เกษียณ สมาชิกโบสถ์ ขบรรเลงเพลง “Silent Night” เพลงประกอบวันสะบาโต หรือวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ ตามความเชื่อชาวคริสเตียน ถือเป็นวันสะบาโตสุดท้าย ณ โบสถ์แห่งนี้
mamuang04
13 กรกฎาคม 2566 วันแรกของการรื้อถอนโบสถ์ กระจกบานเกล็ดและกรอบหน้าต่างไม้จะนำไปสร้างโรงเรียนคริสเตียนในจังหวัดเชียงใหม่ ประวิตร รุ่งจิระรัศมีกุล สมาชิกโบสถ์กล่าวพลางงัดตะปูว่า “ศาสนสถานไม่ควรทุบทิ้ง โบสถ์นี้อยู่มาตั้ง 50 กว่าปี น่าเสียดาย”
mamuang05
14 กรกฎาคม 2566 เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตจุฬาฯ นักเคลื่อนไหวเพื่ออนุรักษ์ทรัพย์สินในพื้นที่จุฬาฯ ทราบว่าโบสถ์จีนสามย่านกำลังถูกรื้อถอน จึงรีบไปพูดคุยกับสมาชิกโบสถ์เพื่อบันทึกความทรงจำสุดท้าย

ความทรงจำ

“ความทรงจำ” เป็นนิยามใหม่ที่ชายคนหนึ่งตั้งให้ฉันไม่นานมานี้ โดยฉันจะเล่า “ความทรงจำ” ให้คุณฟัง

ประยุทธ์เคยเล่าให้ชายคนหนึ่งฟังว่าตอนเขายังเด็ก ช่วงปี 2500 พื้นที่รอบโบสถ์ยังเป็นท้องทุ่งล้อมรอบด้วยชุมชนแออัด เป็นช่วงเวลาที่เขาโปรดปรานมากจนนำมาเล่าให้คนอื่นฟังอยู่บ่อยครั้ง

เรื่องโปรดเขาคือ “ความทรงจำเรื่องปลาหางนกยูง”

“เมื่อไรที่ใต้ถุนบ้านมีน้ำ จะมีปลาหางนกยูงเยอะแยะ ตอนเด็กชอบไล่ช้อนมาเลี้ยงในขวดโหล ปลาหางนกยูงไทยสวยดี” ใบหน้าชายชราเล่าเรื่องนัยน์ตาใส ทำให้ฉันจินตนาการถึงเขาตอนเป็นเด็ก

“เสียดายที่ตอนนี้มีแต่น้ำเน่า”

ประยุทธ์เล่าต่อว่าแถวโบสถ์เคยมีโรงงานทอผ้า “โรงงานทอผ้าอยู่หน้าโบสถ์ เป็นเรือนชั้นเดียวติดกันหลายห้อง คนงานส่วนใหญ่เป็นชาวจีนแคะ เวลาเข้าไปในโรงงานจะไม่ได้ยินอะไรเลย เพราะเสียงเครื่องจักรดังกลบไปหมด แต่ตอนนี้ไปหมดแล้ว”

ฉันอยากถามต่อว่าโรงงานพวกนั้นหายไปตอนไหน แต่เป็นต้นไม้ พูดไม่ได้ โชคดีที่ชายต่างถิ่นคนนั้นถามแทน

“จำปีไม่ได้ เข้าใจว่าน่าจะช่วงเอเชียนเกมส์มาจัดเมืองไทย น่าจะครั้งที่ 5”

“แล้วแถวนี้คนกลุ่มไหนอยู่เยอะ” ชายคนนั้นถามประยุทธ์ต่อ “แถวสะพานเหลืองมีคนเชื้อสายจีนอยู่เยอะ แต่ก็มีคนไทยอยู่ด้วย” เขาตอบ

นี่แหละความทรงจำของประยุทธ์ที่ฉันแอบฟังแล้วมาเล่าต่อ

ฉันรู้จักหญิงชราอีกคนหนึ่ง “พร” กนกพร เรืองอุรมสุข หญิงชาวไทยเชื้อสายจีน วัย 74 ปี คนแถวนี้เรียกว่าอาอี๊พร ป้าพร หรือน้าพร เธอพูดติดสำเนียงจีน เป็นคนเก่าแก่ของสามย่าน อยู่ที่นี่มาตั้งแต่ ม.1 จนถึงตอนนี้เป็นเวลาเกือบ 60 ปี

อี๊พรเปิดร้านอาหารตามสั่งขนาดเล็กตรงหัวมุมตึกแถวด้านหลังหอพักนิสิต U-Center จุฬาฯ ในเวิ้งสามย่าน หน้าตึกแถวอี๊พรมีอาคารใหญ่หันหน้าเข้าตึกสามย่านมิตรทาวน์ เคยเป็นโรงหนังชื่อ “โรงหนังสามย่าน” ตอนนี้เค้าโครงอาคารเดาไม่ออกว่าเคยเป็นอะไร ถ้าคุณไม่ได้ฟังจากอี๊พรผู้มีโรงหนังแห่งนี้เป็นเรื่องเล่าประจำตัว

“แถวโรงหนังยิงกันตายเยอะนะ เมื่อก่อนวันศุกร์จะมีมิดไนต์ หนังรอบดึก ช่วงสี่ทุ่มมีหนังที่ยังไม่เคยเข้าโรงฯ มีแค่รอบเดียว คนเลยแย่งกันซื้อ เหยียบแล้วยิงกันตายตรงนี้ จนเรียกกันว่า สามย่านแหล่งนักเลง”

ตึกแถวอี๊พรยังไม่ไกลจากตลาดเก่าสามย่าน เธอจึงมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับตลาดให้คนหน้าใหม่แถวนี้ฟังบ่อยๆ

“เมื่อก่อนจะมียี่เก ครั้งหนึ่งสิบกว่าวัน เสียงดังมาก มีตลาดดูยี่เกคณะสมชาย โอ๊ย คนดูเต็มไปหมด”

ไม่ไกลกันนั้นมี “ศาลเจ้าพ่อเสือ” จะมองเห็นต้นไม้ใหญ่ข้างหน้า ซึ่งไม่ได้บดบังความงามของสถาปัตยกรรมที่ออกแบบอย่างประณีตโดยช่างจีนฝีมือชั้นครู ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นของชาวจีนแต้จิ๋ว สร้างขึ้นปี 2509 ภายในมี “ตั่วเหล่าเอี๊ย” คนไทยเรียกว่า “เจ้าพ่อเสือ” เป็นเทพเจ้าประธาน ซึ่งคนแถวนี้นับถือกันมาก

“ศาลเจ้านี้คนเยอะ ชุมชนรอบๆ มาไหว้ ปีหนึ่งจะมีเล่นงิ้วใหญ่สองรอบ ต้นปีกับกลางปี งานแต่ละครั้งเล่นเกือบสิบวัน มีฉายหนังหลายวันหลายคืน บรรยากาศคึกคักมาก” อี๊พรเล่าด้วยสำเนียงจีน

ศาลเจ้าในที่ดินเจ้าของต้นฉำฉามีอีกหลายที่ อย่างตรงตลาดสามย่านเก่า สวนหลวง หรือจามจุรีสแควร์ ทั้งหมดประมาณสิบแห่ง

อีกที่คือ “ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง” แหล่งรวมจิตวิญญาณแห่งความศรัทธาของชุมชนเซียงกง แหล่งขายอะไหล่รถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร

“อาคารพาณิชย์สามชั้นเหล่านี้เต็มไปด้วยร้านเซียงกง พ่อค้าอะไหล่รถยนต์ รถเก่า และเครื่องยนต์เก่า เกือบ 60 กว่าหลังคาเรือนล้อมรอบศาลเจ้าแม่ทับทิมฯ อยู่” “นก” เพ็ญประภา พลอยสีสวย หญิงวัย 46 ปี ผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง เล่าให้ผู้มาเยี่ยมเยียนศาลเจ้าแม่ทับทิมฯ ฟัง ฉันแอบได้ยินจากเสียงที่ลอยมา

“ส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน มีคนจีนแท้ ๆ ด้วย แล้วก็มีคนงานเซียงกง เป็นคนไทยบ้างอีสานบ้าง ชุมชนละแวกนี้ครึกครื้น สนุก ไม่เครียด ของกินมีตลอด ชาวบ้านเข้ามากราบไหว้เจ้าแม่ทุกวัน ”

เสียงนกเล่าอีกว่าบรรดาเถ้าแก่เซียงกงชอบทำบุญกับศาลเจ้า ยิ่งเทศกาลสำคัญมักรวมตัวกันแย่งประมูลของไหว้เจ้าแม่เพื่อนำกลับไปไว้ที่บ้านเป็นสิริมงคล นกบอกว่านี่คือการแข่งกันว่าใครมีฐานะ ยิ่งรวยยิ่งประมูลราคาสูง ส่วนเงินนำไปบำรุงศาลเจ้า สิ่งนี้ทำให้ชุมชนมีชีวิต

ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองยังมีความสัมพันธ์กับศาลอื่น อย่างศาลเจ้าพ่อเสือ

“มีการนำกระถางธูปใส่เกี้ยวหาบมาอัญเชิญเถ้าธูปในกระถางของเจ้าแม่ แล้วอัญเชิญไปดูงิ้วที่ศาลเจ้าพ่อเสือ ชาวบ้านก็เดินตามขบวนแห่ สนุกมาก”

และแล้วทั้งหมดก็กลายเป็นความทรงจำในชั่วพริบตา

สิ่งที่ฉันเล่าให้คุณฟังเคยเกิดและจบลงที่นี่ บนที่ดินเจ้าของต้นฉำฉา

เมื่อ “สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU)” ต้องการพัฒนาพื้นที่ย่านสามย่านพระราม ๔ เป็นเมืองอัจฉริยะ (smart city) ต้องการที่ดินที่ชุมชนเช่าอยู่คืนหลังหมดสัญญา มีการขึ้นค่าเช่าสูงขึ้นเรื่อยๆ จนชาวบ้านสู้ไม่ไหว ตลาดสามย่านกลายเป็นอาคารกระจกบานใหญ่ชื่อ “สามย่านมิตรทาวน์” เซียงกงรอบศาลเจ้าแม่ทับทิมฯ ชุมชนแห่งความสุขที่เคยมีผู้คนมากมายหายไปในพริบตาเมื่อรถแบ็กโฮคอยาวเข้ามากัดกิน

รอบข้างศาลเจ้าพ่อเสือ ชาวบ้านดั้งเดิมทยอยออกไป มีแรงงานต่างถิ่นเข้ามาแทน ฉันมองศาลเจ้าที่ตอนนี้เงียบเหงา อีกไม่นานอี๊พรคงทิ้งฉันไป เรื่องเล่าโรงหนัง ยี่เก และนักเลง คงไม่มีให้ฟังอีกแล้ว เหลือไว้เพียงความทรงจำเท่านั้น

ทุกอย่างอันตรธานอย่างรวดเร็ว กลายเป็นพื้นที่สร้างคอนโดมิเนียมให้คนมีฐานะ

ชะตากรรมโบสถ์จีนบ้านฉันไม่ต่างจากที่อื่น จากที่เคยทำสัญญาเช่าแบบหลายปี ภายหลังเป็นแบบปีต่อปี โดยมีเงื่อนไขว่าค่าเช่าจะขึ้นทุกปี ปีละ 5 เปอร์เซ็นต์ จนท้ายที่สุดเขาให้ย้ายออก เพราะต้องการพัฒนาพื้นที่และโบสถ์ก็สู้ค่าเช่าไม่ไหว

สำนักงานจัดการทรัพย์สินฯ ให้คืนพื้นที่เป็นที่โล่งเปล่าภายในเดือนสิงหาคม 2566 จึงต้องรื้อโบสถ์คริสเตียนหลังเก่าจนราบไม่เหลือซาก แม้กระทั่งพื้นปูนแห่งความทรงจำที่คนย่ำเดินเหนือดินป่าช้า

ประยุทธ์คงต้องจากไปพร้อมกับเรื่องเล่าปลาหางนกยูงและโรงทอผ้า

ฉันกับเพื่อนต้นไม้อีกสี่ต้นคงต้องถูกโค่นลงด้วยใบเลื่อยคม

mamuang06
“ผมไม่อยากให้ความทรงจำหายไป” เนติวิทย์ประกาศกร้าว การค้นคว้าเรื่องราวพื้นที่สามย่านเป็นเรื่องยาก เพราะไม่มีบันทึกในประวัติศาสตร์เลย เขาจึงหาสิ่งของในโบสถ์ อย่างสมุดเก่า ป้ายรางวัล และโมเดลโบสถ์ เพื่อเก็บรักษาไว้เป็นหลักฐานว่าเคยมีโบสถ์แห่งนี้อยู่
mamuang07
สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ยื่นคำขาดว่าต้องรื้อถอนโบสถ์ภายในเดือนสิงหาคม 2566 ต้นมะม่วง มะขาม คูน ไทร และตาเบบูย่ายังพอมีหวังว่าจะเก็บไว้ได้ เนติวิทย์จึงเรียกร้องให้อนุรักษ์ต้นไม้ทั้งสี่ โดยให้เหตุผลว่าเป็น “ความทรงจำของพื้นที่”

หลังวันสะบาโตสุดท้าย

“วันสะบาโต” หรือ “วันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์” เป็นวันที่ชาวคริสเตียนมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่โบสถ์ และราวกลางเดือนกรกฎาคม 2566 คือวันสะบาโตครั้งสุดท้ายของสมาชิกที่นี่ก่อนย้ายไปโบสถ์แห่งใหม่แถวบางกอกน้อย

หลังจากวันนั้นทุกอย่างเปลี่ยนไป คนหน้าเดิมหายไปเรื่อยๆ ประยุทธ์กับน้องชายสองคน ประสิทธิ์และประวิตร พร้อมสมาชิกโบสถ์เริ่มรื้อถอนโบสถ์ทีละจุด ทีละจุด อย่างค่อยเป็นค่อยไป กระจกบานเกล็ด ประตู หน้าต่าง และเก้าอี้ภาวนาถูกรื้อแล้วนำมาวางเรียงรายบนพื้น รอส่งไปสร้างโรงเรียนคริสเตียนในจังหวัดเชียงใหม่ โดย ศุภชัย วงศ์พิเชฐชัย จักษุแพทย์เกษียณ สมาชิกโบสถ์อีกคนที่ฉันเห็นหน้าประจำ

ตึงตัง! ตึงตัง! ตึงตัง! เสียงค้อนเหล็กจากคนงานที่กำลังทุบอาคารดังขึ้น

“ดูแล้วสะเทือนใจ อยู่มาตั้งแต่เล็ก แก่แล้วมาเห็นที่ที่เราเคยเล่น เคยทำหน้าที่ ไม่มีอะไรเหลือแล้ว” ประสิทธิ์ ชายวัย 70 ปี น้องชายของประยุทธ์พูดด้วยน้ำเสียงเศร้า

“สะเทือนใจ” เขาพูดย้ำอีกครั้ง

จากนั้นใบเลื่อยใหญ่ตัดลงไปที่เพื่อนคนแรกของฉัน ตาเบบูย่า

ลาก่อนเพื่อน อีกไม่นาน…ฉันคงตามไป

mamuang08
24 กรกฎาคม 2566 รถแบ็กโฮเดินเครื่องเต็มกำลังเสียงดังสนั่นในวันแดดเปรี้ยง เป็นวันแรกของการรื้อถอนโบสถ์ ผู้รับเหมาไม่อาจบอกวันแล้วเสร็จที่ชัดเจน แต่ความรู้สึก “เสียดาย” กลับชัดเจนเหลือเกิน

ชายหนุ่มใส่แว่น

ตามความเชื่อคริสเตียน นี่คงเป็นน้ำพระทัยจากพระเจ้าที่ประทานให้ฉันพบกับเขา“ชายหนุ่มใส่แว่น”

14 กรกฎาคม 2566 ฉันเห็นเขาเดินดุ่มๆ เข้าโบสถ์พร้อมกับเพื่อน และขึ้นไปชั้นสองพลางพูดว่า “เรามาช้าไป” สายตาหลังกรอบแว่นบ่งบอกความเศร้า กิตติศัพท์เขาดังตั้งแต่เป็นนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตประธานสภานิสิต ปี 2560 และอดีตนายกสโมสรคณะรัฐศาสตร์ ปี 2563 โดยเฉพาะคราวพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิตจุฬาฯ ที่พระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล หลายคนเรียกเขาว่า “นักเรียนเลว” วันนี้ “แฟรงก์” เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล อยู่ในวัย 27 ปีแล้ว

“แฟรงก์” นิสิตต้นฉำฉาเข้ามาเกี่ยวข้องกับสามย่านโดยบังเอิญเมื่อชาวบ้านในพื้นที่สวนหลวงร้องเรียนกับเขาในฐานะประธานสภานิสิต เรื่องการเวนคืนพื้นที่ไล่ชุมชนออกเพื่อสร้างเป็นสวนหลวงสแควร์ ทำให้เกิดการฟ้องร้องระหว่างชาวบ้านกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“เรื่องนี้เป็นเรื่องของประชาคมจุฬาฯ เหมือนกัน เพราะเขาคือชาวบ้านที่พวกเราไปกินข้าว ไปอาศัยปากท้องเป็นประจำ” แฟรงก์พูด พอตอนเป็นนิสิตปี 3-4 เขามารู้จักศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง ซึ่งกำลังจะโดนย้าย เขาก็กลับมาช่วยอีกครั้ง

แฟรงก์บอกเหตุผลการต่อสู้ว่า “คนมาสู้มีหลายเหตุผล บางคนสู้เพราะว่าเจ้าแม่ศักดิ์สิทธิ์ มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ แต่ทุกคนเชื่อร่วมกันเรื่องหนึ่งคือ ศาลเจ้าแม่ทับทิมฯ เป็นความทรงจำของทุกคน ของบรรพบุรุษเราและชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลในไทย มันมีความรู้สึกแบบนี้อยู่ ไม่ใช่แค่เรื่องสถาปัตยกรรมหรือเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ นี่คือสิ่งที่มาสู้ร่วมกัน” เขาบอก

“ผมมาสู้ด้วยเพราะไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาเมืองโดยไม่คำนึงถึงผู้คน พวกเขาไม่เห็นหัวคนมานานแล้ว ทำไมเราต้องยอมทุกครั้ง ครั้งนี้ผมจะไม่ยอม ถ้ามีที่อื่นอีกคงไปสู้ด้วยเหมือนกัน”

คำถามหนักหน่วงในใจฉันที่เฝ้าถามว่าตัวเองมีคุณค่าอะไรในเมื่อบ้านและคนรอบตัวไม่อยู่แล้ว แฟรงก์พูดแทนใจฉันผ่านเรื่องราวเซียงกง ชุมชนรอบศาลเจ้าแม่ทับทิมฯ

“ผมไม่เข้าใจว่าชุมชนจะหมดไปยังไง ศาลเจ้าแบบนี้มีชุมชนใหม่ๆ เข้ามาตลอด อย่างตอนนี้มีเด็กรุ่นใหม่เข้าไปเรื่อยๆ ศาลเจ้าไม่ได้ร้าง เป็นพื้นที่สาธารณะ โลกเปลี่ยนไปขนาดนี้แล้ว ศาลเจ้ายังจำเป็นอยู่นั่นแหละ ทุกอย่างมีคุณค่าในตัวเอง ถ้าไม่มีคุณค่าจริง ชุมชน โบราณสถาน ซากปรักต่างๆ จะเก็บไว้ทำไม”

เมื่อรู้ว่าฉันกับเพื่อนจะถูกโค่นเหมือนต้นตาเบบูย่า นักเรียนเลวคนนี้คัดค้านและยื่นเรื่องไปยังเจ้าของต้นฉำฉาเพื่อขอให้พวกเราอยู่ต่อ

เขานิยามว่าฉันและเพื่อนเป็น “ความทรงจำ” ของพื้นที่ และนำเชือกฟางสีแดงร้อยกระดาษสีขาว เขียนข้อความว่า “ไม่อนุญาตให้รื้อ จากนิสิตและชุมชนสามย่าน” มาล้อมรอบตัวพวกเรา

นี่เป็นโอบกอดแสนอบอุ่นในวันที่ฉันกำลังจะถูกโค่น

โชคดีของเรา เสียงคัดค้านทำให้เจ้าของต้นฉำฉายอมให้เราอยู่ต่อ

mamuang09
โครงสร้างโบสถ์พังทลายลง เผยให้เห็นโครงการก่อสร้างใหม่บริเวณ “ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง” ศาสนสถานอีกแห่งที่กำลังเกิดข้อพิพาท เพราะสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ต้องการให้พื้นที่ราบเรียบว่างเปล่า การอนุรักษ์ต้นไม้ทั้งสี่จึงยังคงเป็นเครื่องหมายคำถาม

บทสนทนาลอยลมของชายหนุ่ม

คำพูดของแฟรงก์ตรงใจฉัน ทำให้ฉันนึกถึงโบสถ์ของฉัน ต่างกับเจ้าของต้นฉำฉาที่ไม่เห็นคุณค่า

ฉันยังได้ยินเขาพูดถึงอีกปัญหาหนึ่งคือ ค่าครองชีพ เขามองว่าถ้ายังพัฒนาโดยไร้การคำนึงถึงคนในพื้นที่ ค่าครองชีพของนิสิตก็จะสูงตาม

“ทุกวันนี้ค่าครองชีพสูงมาก หอพักนิสิตไม่พอ เด็กเดือดร้อนมาก ไม่ใช่เพิ่งเดือดร้อนตอนนี้ แต่เป็น 10 ปีแล้ว และปัญหานี้ยังไม่จบ ทั้งที่เรามีอสังหาริมทรัพย์มากมาย เราสร้างคอนโดฯ ข้างนอกให้เอกชนเช่า 30 ปี แต่เด็กไม่มีพื้นที่จะอยู่ ทำไมเป็นแบบนั้น ค่าครองชีพข้างนอกก็สูง ร้านอาหารต่างๆ ก็แพงขึ้นเรื่อยๆ”

อีกเรื่องที่แฟรงก์กังวลคือปฏิสัมพันธ์ระหว่างนิสิตกับชาวบ้านที่กำลังจะแยกจากกัน

“มีสามย่านมิตรทาวน์ นิสิตก็เข้าห้างฯ ร้านอาหารมากมายก็อยู่ในห้างฯ มีแอร์ด้วยซ้ำ แล้วเราจะไปร้านในชุมชนทำไม”

ต่อไปคงกลายเป็นนิสิตกับห้างฯ กระจก ฉันคิดตามคำพูดเขา

แต่ความแตกต่างของห้างกับร้านตลาดอยู่ตรงนี้

“ตอนที่สามย่านมิตรทาวน์มีการชุมนุม และตำรวจมาสลายการชุมนุม คนหนีเข้าห้างฯ ทุกร้านปิดประตูหมดไม่ให้หลบเลย ทั้งที่ก่อนหน้านี้เพิ่งไปซื้อเครื่องสำอาง แต่ถ้าเป็นตลาด ร้านชาวบ้าน คุณก็จะหนีขึ้นไปได้ ทุกคนก็จะเปิดรับคุณเหมือนตอน 6 ตุลาฯ”

บทสนทนาของชายหนุ่มลอยผ่านสายลมมาถึงฉันและจบลงแต่เพียงเท่านี้ ให้คุณคงได้ไปคิดต่อ

ถึง

ประยุทธ์ เพื่อนฉัน ไม่รู้ว่าเราจะได้เจอกันอีกเมื่อไร แต่ฉันจะรอคุณที่นี่ บนที่ดินป่าช้า รอคุณมาเล่าเรื่องปลาหางนกยูงให้ฟังอีกครั้ง

นก สู้ต่อไปตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่

อี๊พร ฉันส่งกำลังใจผ่านสายลมลอยไปยังบ้านของอี๊

แฟรงก์และเพื่อนนิสิต ขอบคุณที่ปกป้องฉัน “หนึ่งในความทรงจำของสามย่าน”

“อำนาจของผลประโยชน์ทำได้ทุกอย่าง มีสิ่งเดียวที่ไม่สามารถเอาชนะได้คือ ความศรัทธา”

เสียงจากสมาชิกเก่าแก่ประจำโบสถ์คนหนึ่งที่ฉันเคารพ