ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 11 งานเขียนดีเด่น
เรื่อง : โทรนัด เทียนอุดม
ภาพ : โสภณัฐ โสมขันเงิน

[Best_Wordpress_Gallery id=”15″ gal_title=”vertical-rider”]

“ผมไปงานวัดก็เพื่อดูรถไต่ถังนี่แหละ” คนขับรถตู้หนุ่มใหญ่กล่าวโดยที่สองมือหนายังไม่ปล่อยจากพวงมาลัย และสองตายังไม่ละจากถนนใหญ่ เมื่อรู้ว่าจุดหมายของพวกเราในครั้งนี้คือ “รถไต่ถัง” พี่หมี หรือ นายเอกชัย งามเลิศ คนขับรถตู้ก็พยักหน้าน้อยๆ ก่อนจะเหลือบมองพวกเราผ่านทางกระจกมองหลัง

“เดี๋ยวนี้หาดูไม่ค่อยจะได้แล้ว เด็กรุ่นใหม่คงจะไม่ได้เห็นอีก” เขากล่าวก่อนยิ้มอย่าเป็นปริศนาขึ้นที่มุมปาก

ย้อนกลับไปในอดีตเมื่อเกือบสิบปีที่ผ่านมา เด็กน้อยคนหนึ่งในชั้นประถมกลางเพิ่งได้รับชม

รถไต่ถังเป็นครั้งแรกในชีวิต งานวันนั้นถูกจัดขึ้นที่วัดของชุมชนเล็กๆในต่างจังหวัดแห่งหนึ่ง เสียงแผดดังสนั่นของรถมอเตอร์ไซค์ปริศนา ดึงดูดเด็กชายให้จูงมือคุณแม่บ่ายหน้าเข้าสู่ “ถัง” ขนาดใหญ่ที่สูงกว่าเขาหลายเท่าตัว แม้จะไม่มีของเล่นชิ้นใหม่ไว้อวดเพื่อนๆ แต่เรื่องราวของ “สองล้อไต่ถัง” ก็มากพอแล้ว ที่จะไปอวดเพื่อนๆในวันจันทร์ที่กำลังจะมาถึง

 

คน – กระดูกเหล็ก

วันจันทร์มาถึงแล้ว . . . แต่ถ้าหากจะนับตั้งแต่วันแรกที่ผมได้ชมรถไต่ถัง วันเวลาก็ผ่านเลยมานานจากวันจันทร์ที่แสนสนุกในวัยเยาว์ กลับกลายเป็นวันแห่งความเหน็ดเหนื่อยวันแรกในสัปดาห์ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ของวัยรุ่น

ผมตื่นขึ้นจากภวังค์เมื่อเพื่อนข้าง ๆ สะกิดหนัก ๆ ที่แขนเสื้อ ภาพเบื้องหน้าของผมปรากฏเป็นกลุ่มสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ประกอบไปด้วย เวทีด้านหน้า, ป้ายภาพไวนิลรูปชายขี่รถมอเตอร์ไซค์ในสภาพตั้งฉากกับถังไม้, ลำโพง-เครื่องไฟ ขนาดใหญ่ที่กระจายตัวอยู่เต็มบริเวณ และบันไดสองอันด้านหลังทอดยาวขึ้นไปสู่ชั้นสองของถังขนาดมหึมาที่ใหญ่กว่าภาพในความทรงจำของผมมากมายนัก ถังใหญ่นั้นถูกผ้าใบสีน้ำเงินสลับเหลืองขนาดใหญ่มุงแหลมขึ้นไปจนคล้ายยอดปราสาท คล้ายเครื่องเล่นสำหรับเด็กชนิดหนึ่ง

ธงเล็กๆสีส้มบนปลายยอดปลิวไสวคล้ายต้อนรับการมาเยือนอีกครั้งของเด็กน้อยในวันวาน

แต่ในเวลาบ่าย 3 โมง ณ งานเฉลิมฉลองวันแม่แห่งชาติที่จัดขึ้น ณ พุทธอุทยานมหาราช หรือสวนหลวงปู่ทวด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อุปกรณ์ทั้งหลายของคณะรถไต่ถัง ยืนยงวาณิช หรือ “ตุ๋ย กระดูกเหล็ก”ยังคงไม่ตื่นจากการหลับใหล พวกมันกำลังพักฟื้นจากการแสดงเมื่อคืนและยังไม่พร้อมเปิดให้บริการ

เช่นกันกับลูกจ้างชาวไทยและประเทศเพื่อนบ้านหลายคนที่ผูกเปลนอนรับลมร้อนอยู่ตามซุ้มเครื่องเล่นนานาชนิดในบริเวณใกล้เคียง พวกเขาต่างเก็บแรงไว้สำหรับค่ำคืนที่กำลังจะมาถึง โดยรู้ดีว่าจะไม่มีเหล่าผู้เยี่ยมชมงานแวะเวียนมาใช้บริการจนกว่าจะถึงช่วงหัวค่ำ

เราเดินสำรวจตัวถังไม้ อยู่ครู่ใหญ่ก่อนจะพบกับเจ้าของและนักแสดงประจำคณะรถไต่ถังที่โด่งดังที่สุดในประเทศไทย วรวุฒิ กัลยาณพันธ์ ดาราชื่อดังแห่งวงการรถไต่ถัง หรือ“ตุ๋ย กระดูกเหล็ก” ขณะที่กำลังก้มๆเงยๆ ตรวจดูความเรียบร้อยของถังที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 20 เมตร สูง 9 เมตร หรือราวตึก 2 ชั้นอันประกอบด้วยแผ่นไม้ใหญ่และโครงเหล็กหนา

ตัวถังไม้ดูสูงใหญ่ยิ่งขึ้นเมื่อพวกเราเดินเฉียดเข้าใกล้ มันยังคงแข็งแรง แม้ผ่านเวลามาหลายสิบปี โดยหนึ่งในทรัพย์สมบัติตกทอดชิ้นสำคัญจากบิดาผู้ล่วงลับเจ้าของฉายา “วันชัย กระดูกเหล็ก” นั้นประกอบขึ้นจากไม้เนื้อแข็งขนาดใหญ่ จำนวน 40 แผ่นอันประกอบไปด้วยไม้แบบ “มีตีน” และ “ไม่มีตีน” ที่จะนำมาต่อในแนวตั้งสลับกันจนกลายเป็นถังใหญ่สูงท่วมหัว น้ำหนักหลายสิบตัน

พี่ตุ๋ยนับเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของคณะยืนยงวาณิช ที่สืบทอดกิจการมาตั้งแต่รุ่นปู่ซึ่งเป็นชาวจีนอพยพและได้เริ่มทำการสร้างถังต้นแบบเล็กๆใบแรกในคณะขึ้น

แต่หากจะให้พูดถึง การสร้างถังใบแรกในประเทศไทยนั้นเราต้องย้อนกลับไปเมื่อประมาณปี พ.ศ.2470ซึ่งเป็นช่วงแรกของการกำเนิดรถไต่ถังและฉายา “กระดูกเหล็ก”

จากหนังสือไทยริเริ่ม ของ ไสวย นิยมจันทร์ ตอนหนึ่งได้พูดถึง บุรุษชื่อ นายเลื่อน พงษ์โสภณ หรือ “เลื่อน กระดูกเหล็ก” สรุปได้ใจความว่า นายเลื่อนเป็นคนไทยคนแรกที่ได้หัด “มอเตอร์ไซค์ไต่ถัง” ซึ่งเริ่มจากมีคณะนักแสดงรถไต่ถังจากประเทศฟิลิปปินส์ มาแสดงในกรุงเทพฯ และประกาศว่าผู้ใดที่สามารถขับขี่ได้อย่างตนจะได้เงินรางวัลเป็นจำนวน 200 เหรียญสหรัฐ นายเลื่อนในวัยประมาณ 30 ปีที่ประกอบกิจการโรงเรียนช่างกลพงษ์โสภณอยู่ และมีชื่อเสียงด้านการขี่มอเตอร์ไซค์ก็เกิดฮึกเหิมจึงทำการต่อถังเล็กๆ ฝึกฝนเองที่บ้าน อยู่หลายสัปดาห์ โดยหารู้ไม่ว่าถังใบเล็กนั้นขี่ยากกว่าใบใหญ่ (เนื่องจากจะมีจำนวนรอบที่มากกว่าในความเร็วที่เท่ากัน) แต่อย่างไรก็ตามนายเลื่อนก็ได้ฝึกจนสำเร็จและถ่ายทอดวิชาให้ลูกศิษฐ์ใช้ประกอบวิชาชีพ เกิดเป็นคณะรถไต่ถังหลากหลายคณะกระจายไปทั่วประเทศไทย

อาจจะด้วยความบังเอิญหรืออย่างไรก็ตาม พี่ตุ๋ย และนายเลื่อน แม้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกัน แต่คำว่า “กระดูกเหล็ก” ที่พี่ตุ๋ยยึดถือเป็นฉายาคู่ชีพ ก็ใช่จะไร้ความหมาย

“ผมเคยตกลงมาหลายรอบ เรียกว่าตกจนชินเลยแหละ” พี่ตุ๋ยเล่าให้เราฟังเมื่อเราถามถึงประสบการณ์ความผิดพลาด หลายครั้งที่นักขับพลั้งพลาดตกลงมาทั้งจากอุบัติเหตุและด้อยประสบการณ์ แต่ทุกครั้งหากไม่บาดเจ็บอะไรมากนัก ก็จะนำจักรยานยนต์คันใหม่ขึ้นขี่โชว์ต่อ

แต่ใช่ว่าคนทุกคนจะโชคดี

“เมื่อก่อนมีรถไต่ถังเจ้าหนึ่ง ขี่รถคันใหญ่ขึ้นไปแล้วคว่ำลงมา รถบี้คนเละ” พี่ตุ๋ยพูดให้เราฟังด้วยน้ำเสียงราบเรียบ ถึงความตาย

– – เปลี่ยน คน “กระดูกเหล็ก” ให้กลายเป็น “กระดูกแหลก” ในพริบตา

 

วิถีของนักไต่ถัง

เราเดินคุยกับพี่ตุ๋ยมาจนถึงบริเวณด้านหลังของถัง พี่ตุ๋ยก็ชี้ให้เห็น “ขาทราย” และ “แผ่นไม้” ฐานรองรับน้ำหนักองค์ประกอบสำคัญอีกหนึ่งอย่างของถังใบใหญ่ โดยขาทรายเป็นเหล็กขนาดใหญ่ที่ยื่นออกมานอกตัวถังเป็นเส้นตรงสั้นๆก่อนจะหักทิ่มลงดิน มีความยาวตั้งแต่ขอบถังจนถึงพื้น ทำหน้าที่ใช้ยึดโครงเหล็กรอบถังไม้กับผืนดิน โดยมีการวางเว้นระยะสลับกับแผ่นไม้ ที่ใช้สำหรับการปรับหน้าดินให้เรียบเสมอกัน เนื่องจากความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกของการแสดงในทุกๆรอบ เพราะนอกจากลวดสลิงขนาดใหญ่ 5 เส้นที่ถูกหมุนเกลียวรัดรอบถังจนแน่น พื้นฐานของถังก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน

“เราติดตั้งสามวัน โชว์สิบวัน รื้อถอนสองวัน วนอย่างนี้ไปเรื่อยๆ” พี่ตุ๋ยอธิบายวงจรชีวิตของคณะ

รถไต่ถังที่ไม่มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ในขณะที่ผมกำลังเงยหน้ามองเต้นท์ที่ปลูกอยู่ภายในรถบรรทุกใหญ่

พื้นที่ต่างๆบริเวณหลังรถที่มุงผ้าใบ ต่างถูกจับจองเป็นห้องนอนส่วนตัวของเหล่าชาวคณะคล้ายบ้านเคลื่อนที่หลังใหญ่ที่กำลังนอนหลับ รอวันถูกขับเคลื่อนอีกครั้งหลังการแสดงเสร็จสิ้นลง

ในฤดูฝนเช่นนี้ นอกจากการเดินทางของคณะรถไต่ถังที่ประกอบด้วย รถสิบล้อเกือบสิบคัน และรถเครนติดตั้งหนึ่งคันจะประสบความลำบากนานับประการแล้ว ฤดูฝนยังถือเป็น “low season” ของวงการธุรกิจงานวัดเช่นรถไต่ถัง ที่ในบางคืนอาจไม่สามารถทำการแสดงได้เลยหากฝนตกหนัก

เพราะนอกจากคนจะไม่ค่อยมาเดินภายในงานที่ฝนตกแล้วการแสดงที่ต้องอาศัยสมาธิเช่นรถไต่ถังก็อันตรายเกินกว่าจะคุ้มค่าตั๋ว แต่รายได้ที่น้อยนิดเหล่านี้ก็จะถูกชดเชยในช่วง “high season” หรือช่วงหน้างานที่เริ่มตั้งแต่หลังวันออกพรรษาเป็นต้นไปซึ่งในบางคืนสามารถเก็บรายได้นับแสน

แต่วิถีของสิงห์นักบิดบนโลกที่ถนนตั้งฉากกับพื้นโลกไม่สวยหรูเหมือนใครหลายๆคนคิด “ให้เท่าไหร่เราก็ขายแล้วครับ” พี่ตุ๋ยยอมรับกับเราอย่างตรงไปตรงมาเมื่อเราถามถึงสนนราคาที่พร้อมจะขายกิจการ หากมีเศรษฐีสักคนเห็นโอกาสในธุรกิจเสี่ยงตาย พร้อมกับบอกว่า อยากหยุดเต็มทีเนื่องจากปัจจุบันรถไต่ถังไม่ได้รับความนิยมอย่างเมื่อก่อนอีกแล้ว ซึ่งตรงกับในความจริงที่ว่า การแสดงรถไต่ถังเริ่มหาดูได้ยากขึ้นทุกที

“อีกอย่างสำหรับพี่มันถึงจุดอิ่มตัวแล้วด้วย” แชมป์นักขี่ยอมรับกับเราอย่างสงบ พร้อมกับย้ำว่าที่ยังทำอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะอยากอนุรักษ์การแสดงชนิดนี้ไว้ให้คงอยู่กับประเทศไทยตราบเท่าที่ยังไหวอยู่

ในยุคที่การสื่อสารกว้างไกล อินเทอร์เน็ตทำหน้าที่เชื่อมคนเชื่อมโลกกลับกลายเป็นดาบสองคมที่นัยหนึ่งอาจจะเป็นการประชาสัมพันธ์แต่อีกนัยหนึ่งก็เท่ากับบ่งบอกจำนวนผู้ชมที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่ขอบถังอีกต่อไป

“ไม่ต้องมาไกลหรอก อยู่บ้านก็ดูได้แล้ว” พี่ตุ๋ยกล่าวกับเราทิ้งท้ายก่อนจะกลับเข้าไปยัง “ห้องส่วนตัว” เคลื่อนที่ ซึ่งดูคล้ายตู้คอนเทนเนอร์ปรับอากาศติดล้อ ห้องที่พี่ตุ๋ยบอกกับเราว่าคุ้นเคยกว่า “บ้าน” จริงๆเสียอีก

 

รุ่งอรุณของค่ำคืน

พระอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้า ผู้คนเริ่มทยอยกันเข้าสู่งานและปลุกชีวิตให้เครื่องเล่นร้านรวงต่างๆ ได้ทำหน้าที่ของมันสวนทางกับพระอาทิตย์ในห้วงเวลาแห่งรัตติกาล โดยมีเสียงดนตรีและแสงไฟทำหน้าที่เป็นโฆษกเชื้อเชิญผู้คนให้เข้ามาพร้อมทั้งประกาศก้องว่าค่ำคืนได้ลืมตาตื่นขึ้นแล้วอีกครั้ง

ดวงตาของชาวคณะสว่างสดใสพร้อมกับหลอดไฟหลากสีสัน ที่ร่ายเวทมนตร์ให้ ถังใหญ่ เวทีเล็ก ๆ และสรรพสิ่งโดยรอบสว่างไสวโดดเด่นอยู่ในค่ำคืน แวดล้อมด้วยเพื่อนบ้านอันคุ้นเคยอย่าง รถบัมพ์,ชิงช้าสวรรค์ และ ม้าหมุน

“บัตร 1 ใบ 2 รายการเลยครับพี่ ทั้งรถมอไซค์ ทั้งรถกระบะ” เสียงโฆษกดังออกมาสลับกับเสียงดนตรีจังหวะสนุกๆ ปลุกเร้าให้โคโยตี้ในเสื้อเกาะอกกางเกงขาสั้นสองคนเดินขึ้นบนเวที เต้นโชว์สัดส่วนอย่างลืมอาย ดึงดูดสายตาของผู้(ชาย)ที่ผ่านไปผ่านมา

บ้างหยุดดูแล้วเดินเข้ามาซื้อตั๋ว และบ้างก็หยุดดูเฉยๆโดยไม่คิดจะซื้อแต่อย่างใด

เมื่อแวะเข้ามาดูที่ตู้ห้องส่ง ที่มาของเสียงก็ไม่ใช่ใครที่ไหน บรรดานักขับรถไต่ถังทั้งหลายต่างผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่ได้ดีราวกับดีเจมืออาชีพ เทคนิกการขับรถอาจต้องเรียนรู้จากกันและกันแต่ ลีลาการพูดนั้นลอกกันไม่ได้

“เด็กอุ้มไม่ต้องเสียเงินนะครับ”พี่เก๋ หรือ ประจวบ ดาวเรือง ชายรูปร่างสันทัดที่มากับหมวกแก๊ปใบเท่และแว่นตากันแดด พี่เก๋อยู่ร่วมคณะมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อของพี่ตุ๋ย และแม้ปัจจุบันจะมีอายุ 37 ปีแล้วแต่ก็ยังมีทักษะการขับรถที่ยอดเยี่ยม เช่นกันกับทักษะการพูด

“คุณพี่อุ้มเมียขึ้นไปได้ครับ แต่วางลงเมื่อไหร่ทีมงานเก็บสองท่าววว” พี่เก๋ปล่อยมุกเด็ดประจำตัวด้วยน้ำเสียงและลีลากวนใจ จนแทบไม่อยากเชื่อว่าชายผู้นี้คือนักขี่มากประสบการณ์

ค่าบัตรผ่าน 50 บาทถูกมากเมื่อเทียบชีวิตของนักแสดงที่ยึดถือความเสี่ยงตายเป็นอาชีพหลัก

ผมมองขึ้นไปยังบันไดเหล็กที่ทอดขึ้นไปยังชั้นสอง ภาพของเด็กชายตัวเล็กที่ตัวสั่นขณะกำลังก้าวขายังติดอยู่ในใจ ขณะที่ผมก้าวเข้าไปยังภายในตัวถังใจกลางการแสดง

 

โลกแห่งถัง

ภายในโลกแห่งถัง โลกใบเดียวกับที่ทุกคนในคณะยึดถือเป็นทั้งบ้านและที่ทำเงิน ตลบอบอวลไปด้วยกลิ่นน้ำมันเครื่อง ไอดำ และควันธูปสีขาวที่ลอยเอื่อยเฉื่อย ถังใบใหญ่มีประตูเข้าออกเพียงแค่บานเดียว ซึ่งประตูบานนี้เองจะเป็นสัญญาณที่สำคัญในการเริ่มการแสดง

ผู้คนหลายสิบคนกำลังรออยู่ที่ขอบถัง เสียงเรียกลูกค้าของพี่เก๋ยังคงดังสลับกับการเสียงเร่งเครื่องของมอเตอร์ไซค์วิบากรุ่น YAMAHA DT ซึ่งพี่ตุ๋ยบอกกับเราว่าเป็นรุ่นที่เหมาะสมและดีที่สุดในการไต่ถังและปัจจุบันก็นับว่าหาซื้อได้ยากเต็มที

เมื่อได้เข้ามาสัมผัสอย่างใกล้ชิด รถไต่ถังที่ดูอัศจรรย์ราวกับเวทมนตร์ในวัยเด็กของผมนั้นไม่ได้ถูกดัดแปลงอะไรมากมายจากรถมอเตอร์ไซค์วิบากทั่วๆไป สิ่งที่แตกต่างอาจมีเพียงท่อที่ดังแปลงให้เสียงดังขึ้นที่เรียกว่าท่อบึ้ม, ก้านธูปเล็กๆที่ถูกมัดไว้กับคันเร่งเพื่อฝืนไม่ให้ดีดกลับ ใช้ในการโชว์ท่าต่างๆที่ต้องปล่อยมือ และรอยล้อที่สึกแต่เพียงด้านขวาเพียงอย่างเดียว

รถที่พี่ตุ๋ยฝึกทุกคันต่างขับขึ้นวนขวา ดังนั้นล้อด้านขวาจะสึกเป็นรอยแถบดำ ไม่สมดุลเนื่องจากต้องเสียดสีกับ “ชานส่ง” เหล็กเอียงที่ใช้ส่งขึ้นสู่ตัวถังไม้

การแสดงยังคงไม่เริ่ม หรือหากจะพูดอีกอย่างว่ายังเริ่มไม่ได้ก็คงไม่ผิดนัก รถไต่ถังเป็นการแสดงที่รถไต่ไปรอบๆถังในแนวเกือบตั้งฉากกับตัวถัง ซึ่งมักมีความเร็วสูงถึง 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงทำให้ตัวถังโคลงเคลงแม้จะยึดให้แน่นและแข็งแรงอย่างไรก็ตาม ดังนั้น น้ำหนักของผู้ชมที่ยืนอยู่บนขอบถัง จะเป็นส่วนสำคัญที่ “กด” ถังไว้ไม่ให้สั่นคลอนจนเกินไป และที่สำคัญหากการแสดงที่มีผู้ชมน้อยจนเกินไป ชีวิตของนักแสดงที่มีภาระต้องกินต้องใช้จะคุ้มค่าหรือไม่กับเงินจำนวนที่พอแค่ข้าวไม่กี่มื้อ

เวลานี้เป็นหน้าที่ของ “พี่เลี้ยง” หรือคนในคณะที่มีหน้าที่ตรวจเช็คสภาพรถ และเป็นช่างสำหรับทุกๆอย่าง อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอแม้จะป้องกันได้ดีเพียงไรและดูท่าว่าชาวคณะจะเข้าใจกฎข้อนี้ดี โดยดูจากอะไหล่ต่างๆมากมายที่กองสุมอยู่บริเวณกลางถังซึ่งมีตั้งแต่ของสามัญทั่วๆไปอย่าง ล้อสำรองไปจนถึงถังดับเพลิง ใกล้ๆกันนั้นศาลเล็กๆถูกตั้งขึ้นเป็นที่สถิตของสิ่งศักดิ์สิทธิ์อวลไปด้วยควันธูปและดอกไม้ กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญไม่ด้อยไปกว่าสิ่งใดในอาชีพที่ต้องอาศัยความกล้าหาญและเด็ดเดี่ยว

พี่มอส-กฤฎา คงขำ ชายร่างอ้วนผมทอง หนึ่งในพี่เลี้ยงของคณะรถไต่ถัง วรวุฒิ กระดูกเหล็ก เล่าให้เราฟังว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดคือ “ยางระเบิด” ซึ่งนักแสดงทุกคนจะรู้จักเทคนิกที่เรียกว่า “การถีบรถ” ซึ่งคือเทคนิกที่ถีบรถให้ไกลออกไปจากตัวเพื่อที่จะได้ไม่ถูกทับและผ่อนอาการบาดเจ็บจากหนักเป็นเบา เมื่อกล่าวจบพี่มอส ก็เดินไปยัง รถเครื่องสีแดงสดก่อนจะขึ้นคร่อมและถีบสตาร์ทตัวเครื่อง

มอเตอร์ไซค์วิบากสีแดง สำลักน้ำมันสองสามทีก่อนจะคำรามเสียงกระหึ่มให้ดังก้องไปทั่วถัง เสียงนั้นแล่นผ่านบานประตูที่เปิดอ้าอยู่และแปรเปลี่ยนเป็นโฆษกชั้นดีในการดึงดูดผู้คนให้เข้ามาเป็นสักขีพยานในการแสดงเสี่ยงตายที่กำลังจะเกิดขึ้น
“พี่ก็ซ้อมในนี้แหละ” พี่มอสเล่าให้เราฟังถึงการ “ซ้อม” ที่ไม่มีนอกรอบ การซ้อมในถังท่ามกลางผู้คนมักจะเกิดก่อนการแสดงจริงจะเริ่มโดยนอกจากจะได้หัดแล้วยังเป็นการช่วยเรียกลูกค้าอีกทางหนึ่งด้วย

ผู้ฝึกจะขับไปบนแผ่นเหล็กแนวระนาบกับแนวเฉียงที่วางราบกับพื้นดินซึ่งมีชื่อเรียกเก๋ๆว่า “ชานแหลม”และ “ชานส่ง” ตามลำดับก่อนจะขึ้นถึงแผ่นไม้หรือตัวถัง เสียงคันเร่งเครื่องยนต์แผดดังเป็นจังหวะ เมื่อรถทะยานอยู่บนแผ่นเหล็ก หากเสียงแผดดังติดต่อกันยาว รถก็จะทะยานขึ้นสูง และเสียงนั้นจะดังไม่หยุดในขณะที่รถกำลังหมุนวนรอบถังในระดับความสูงที่เกือบติดขอบถัง!

ในเวลานั้น ผมนึกถึงเรื่องเล่าของพี่บอย-กมล เกษมศรี ที่ยอมรับกับพวกเราว่าครั้งหนึ่งเคยพลาดขี่รถหลุดขอบถังแต่โชคดีที่ไม่มีคนดูอยู่แถวนั้น มันเป็นประสบการณ์ที่ผ่านมานานหลายปี และที่สำคัญพี่บอยให้สัญญาว่าจะไม่เกิดขึ้นอีกเป็นครั้งที่สอง
พี่มอสขับรถหมุนวนไปรอบๆชานแหลมและชานส่งอยู่นานโดยไม่ขึ้นไปถึงตัวถังไม้ จนเมื่อคนดูเริ่มทยอยเข้ามามากขึ้นตามลำดับ พี่มอสก็จอดรถ,ปล่อยให้นักแสดงตัวจริงมากประสบการณ์อย่างพี่เก๋ขึ้นจับแฮนด์ เปลี่ยนบทบาทจากดีเจฝีปากดีกลายเป็นนักขี่มือฉมังอีกครั้ง

เมื่อพี่เก๋ขึ้นคร่อมรถมอเตอร์ไซค์ เสียง “ท่อบึ้ม” ก็แผดเสียงดังสนั่นโดยไม่หยุดหย่อน ก่อนจะทะยานพาทั้งรถทั้งคนขึ้นไปหมุนวนอยู่บนตัวถังไม้ โฉบเฉี่ยวอยู่ปลายขอบถังเรียกเสียงกรี๊ดจากกลุ่มคนดูได้อย่างดีโดยเฉพาะสาวๆ ที่ภายหลังพี่เก๋ยอมรับว่าจงใจขับเฉียดเพื่อใช้เสียง “เรียกคนดู” อีกทางหนึ่ง

รถเร่งความเร็วขึ้น และแผดเสียงดังสนั่นต่อเนื่องเมื่อพี่เก๋เอื้อมมือไปบิดสวิทซ์เล็กๆบริเวณตัวถังและปล่อยให้น้ำมันเครื่องผสมเบนซินที่กักเก็บอยู่ภายในสูบฉีดเข้าไปในระบบหัวฉีด 2 จังหวะของรถมอเตอร์ไซค์รุ่นโบราณ กลิ่นของมันคลุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ ผสมกับเศษไม้และฝุ่นควันที่เกิดจากการเสียดสีของล้อยางและแผ่นไม้ มลภาวะเช่นนี้ส่งผลให้นักแสดงหลายๆคนเลือกที่จะสวมใส่แว่นตาเมื่อเวลาขึ้นแสดง

บนขอบถังที่ผู้คนกำลังยืนอยู่ เด็กนักเรียนหญิงม.ต้น ผมเสมอติ่งหู กลุ่มหนึ่งส่งตัวแทนเป็นสาวทอมรูปร่างโปร่งออกมายื่น “เงินโฉบ” ให้อย่างกล้าๆกลัวๆ เธอยื่นแขนผอมๆพร้อมกับแบงก์สีเขียวมูลค่า 20 บาทกินพื้นที่เข้ามายังตัวถังไม้ แขนนั้นสั่นน้อยๆขณะลมแรงจากมอเตอร์ไซค์ขับผ่านไป พี่เก๋ยังมองไม่เห็น แต่เมื่อสายลมวูบใหม่พัดมาอีกครั้ง คราวนี้แบงก์ 20ถูกตวัดไปสู่มือก่อนจะถูกคาบไว้ที่ปากพี่เก๋ในที่สุด เงินโฉบแบบนี้ พี่เก๋เล่าให้เราฟังว่าครั้งหนึ่งที่งานในจังหวัดนครปฐมเคยได้ไม่ต่ำกว่าคืนละ 2000 บาท

รถเคลื่อนที่เป็นวงกลมอยู่ในถังเร็วและถี่จนผมเลิกนับจำนวนรอบ ความรู้สึกเวียนหัวเกิดขึ้นเมื่อผมไม่สามารถมองตามรถที่กำลังหมุนตัวท้าแรงโน้มถ่วงได้ทัน ทั้งๆที่พยายามหันศีรษะและขยับตัวขยับเท้าจนร่างหมุนเป็นวงกลมอยู่กับที่ พลันนั้น เสียงเครื่องเร่งดังขึ้นในวินาทีสุดท้ายก่อนที่พี่เก๋จะหักคอบังคับยานพาหนะความเร็วสูงให้วูบตัวดิ่งตัดเป็นเส้นเฉียงลงมาสู่พื้นดิน

ผมใจหายวาบแม้จะเคยเห็นการแสดงแบบนี้มาก่อน แต่มุมมองจากคนบนถังและภายในถังช่างต่างกันอย่างเทียบไม่ติด

รถเครื่องยังคงร้อนอยู่ ขณะที่พี่เก๋โดดลงจากรถมอเตอร์ไซค์ท่าทางเหมือนเพิ่งเดินกลับมาจากร้านสะดวกซื้อเลขเจ็ด-สิบเอ็ด

ผมเหลือบตามองที่ประตูบานเดียวในถัง ประตูยังคงไม่ปิด การแสดงยังไม่เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ

– – ทั้งหมดนี้เป็นแค่การโชว์เรียกน้ำย่อยเท่านั้น

 

ประตูปิด – การแสดงเปิด

และเมื่อโฆษกสมัครเล่นภายนอกเงียบเสียงลง โคโยตี้สาวสองคนลงจากเวที ผู้คนบนขอบถังเริ่มหนาตา พี่ตุ๋ยก็เดินตามเข้ามาในถังเป็นคนสุดท้ายพร้อมกับธูปหลายดอกในมือ ร่างสูงโปร่งในเสื้อเชิ้ตสีชมพู แว่นตาทรงแฟชั่น และทรงผมที่เซตปัดเป๋ไปข้างหนึ่งดูโฉบเฉี่ยว ราวกับดารานำประจำกองถ่ายกำลังบวงสรวงเปิดกล้องการแสดงละครเรื่องใหม่

ปัง! ประตูได้ปิดลงแล้ว – – การแสดงกำลังจะเริ่มขึ้น ณ บัดนี้

เมื่อควันธูปลอยวนอยู่ในอากาศ พี่บอยก็เป็นคนแรกที่ขึ้นคร่อมรถเครื่องสีแดงสดและขับฉิวออกไป รถหักไปด้านขวาสัมผัสชานแหลม และชานส่ง ก่อนจะเร่งเครื่องขึ้นไปโลดแล่นอยู่บนถังไม้เป็นคันแรก

เมื่อปล่อยให้พี่บอยโชว์ได้ระยะหนึ่ง พี่เก๋ก็ถีบสตาร์ทระเบิดท่อของเจ้า Honda-MTX มอเตอร์ไซค์วิบากชั้นดีสีเขียวให้ตามขึ้นไป ฉวัดเฉวียนเปลี่ยนเลนราวกับไม่กลัวความตาย

ขณะที่เสียงรถทั้งสองหมุนวนดังไปทั่วทั้งถัง พี่ตุ๋ยก็สตาร์ทเครื่องเจ้าความเร็วสีดำคันที่สามขึ้น! สายตาที่มองผ่านแว่นทั้งสองข้าง เพ่งตรงไปยังนักขับทั้งสองที่รออยู่ก่อนแล้ว สายตาที่คนภายนอกไม่อาจเข้าใจได้ถึงประสบการณ์ และการฝึกซ้อมเฉียดตายตลอดเกือบ 20 ปี

บรื้นน! เสียงรถเครื่องของพี่ตุ๋ยดังสนั่น ก่อนจะตามขึ้นไปสมทบกับสองล้อร่วมคณะที่รออยู่ก่อนแล้วทั้ง 2 คัน ในถังใบมหึมา บัดนี้มีรถมอเตอร์ไซค์กำลังแสดงโชว์อยู่ถึง 3 คัน แรงเสียดสีสะเทือนตัวถังไม้ให้โยกจนผู้คนต่างยึดระเบียงเหล็กขอบถังไว้เพื่อความอุ่นใจ

นักแสดงทั้งสามสบตากันอีกครั้ง โดยที่ไม่ได้เปล่งถ้อยคำใดๆออกมา ณ เวลานี้นอกจากจะไม่สามารถได้ยินเสียงใดๆได้นอกจากเสียงท่อระเบิดและเสียงบดของล้อยางกับถังไม้

– – คำพูดยังเชื่อถือได้น้อยกว่าความเชื่อใจหลายเท่านัก

และภาพอันน่าตื่นตาที่สุดในการแสดงก็ปรากฏขึ้นต่อหน้าผม เมื่อรถมอเตอร์ไซค์ทั้ง สามคัน เคลื่อนตัวไล่-ลด ความเร็วจนอยู่ในระนาบเดียวกัน ไล่จากบนลงล่างโดยมี พี่บอย พี่เก๋ และพี่ตุ๋ย ตามลำดับ ภาพดังกล่าวดูเท่จนคล้ายกับฉากในภาพยนตร์แนวอันธพาลป่วนเมืองที่ใช้มอเตอร์ไซค์ขี่ไปเป็นแก๊งรอบๆเมือง พลันนั้น พี่ตุ๋ยก็ปล่อยมือจากแฮนด์ โบกให้กับผู้คนรอบๆด้วยรอยยิ้ม และความมั่นใจ

ครู่ถัดมาพี่บอยและพี่เก๋ก็ขับลงมาสู่พื้นราบ ทิ้งพี่ตุ๋ยไว้กับมอเตอร์ไซค์คู่ใจบนผิวถังไม้ ที่ยังคงปล่อยลีลาระดับมือหนึ่งออกมาไม่หยุดหย่อนโดยเริ่มจากการปล่อยมือสองข้าง เปลี่ยนเป็นนั่งไขว้ขา และปิดท้ายด้วยการถอดเสื้อปิดหน้า ก่อนจะขับลงมาพร้อมเงินโฉบหลากสีในปาก

เสียงปรบมือดังขึ้นเกรียวกราวจากทั้งพี่น้องนักแสดงและผู้ชมเบื้องบน

– – แต่ การแสดงยังไม่จบ

เมื่อเสียงไซเรนดังขึ้นจากรถกระบะสีแดงสดที่ประตูด้านคนขับถูกถอดไป เหล่านักแสดงที่ยืนอยู่

ใกล้ๆ ต่างยกมือขึ้นเหนือศีรษะ ปรบมือ และส่งสายตาไปยังผู้คนรอบๆ ทันใดนั้นเสียงปรบมือก็ดังขึ้นกลบเสียงไซเรนขณะที่พี่ตุ๋ยบังคับรถกระบะสีแดงให้ถอยหลังเหยียบบริเวณชานส่งตั้งท่าเฉียงราวกับนักกรีฑากำลังก้มตัวลง ณ จุดสตาร์ท

“อยากลองดูมั้ย” พี่บอยหันมาถามผมด้วยน้ำเสียงกระตือรือร้น ผมมีเวลาไม่มากก่อนที่รถสีแดงคันใหญ่จะเริ่มเร่งความเร็วขับ “ขึ้น” ตัวถัง แม้ผมไม่ใช่คนกล้านักแต่ประสบการณ์ดีๆอย่างนี้ผมรู้ดีว่าหาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว

ผมวิ่งไปยังรถกระบะคันนั้น เปิดประตูข้างคนขับและกระโดดเข้าไป

ก่อนที่จะรู้สึกตัวว่าทำอะไรลงไป รถกระบะคันใหญ่ก็กำลังเคลื่อนที่ออกจากชานส่งด้วยความเร็วและทิศทางที่ไม่คุ้นเคย

 

รถกระบะไต่ถัง

มือซ้ายของผมเกร็งจับที่โหนประตูไว้แน่น แต่สายตายังไม่ละไปจากพี่ตุ๋ย บุคลิกสบายๆของชายวัย 33 ไม่ได้ทำให้ผมรู้สึกสบายใจขึ้นเท่าไรนักเมื่อรถกำลังตะแคงข้างยึดเกาะถังไม้เป็นพื้นถนน

ภาพเบื้องหน้าที่ผมเห็นต่างไปจากชีวิตประจำวันที่เคยพบพาน ด้วยความเร็วและทิศทาง ผู้คนมากมากเคลื่อนผ่านเราไปโดยที่ผมไม่สามารถจดจำใบหน้าใดๆได้ คล้ายกับความทรงจำอันเลือนลางและความฝันช่วงก่อนรุ่งเช้า กระจกด้านซ้ายของผมเมื่อมองลงไปจะเห็นเพียงพื้นดินและพื้นเหล็ก นักแสดงร่วมคณะกลายเป็นเพียงก้อนอะไรสักอย่างเล็กๆที่ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้นอกจากภาวนาให้การแสดงเป็นไปได้ด้วยดี เมื่อมองไปด้านขวา ผมเห็นพี่ตุ๋ยกำลังโน้มตัวออกไปจากช่องประตูรถ โบกมือทักทายผู้คนที่ขอบถังอย่างสบายใจ ขาทั้งสองข้างทำหน้าที่ในการขับแทนมือ โดยใช้ขาขวาล็อคคันเร่งและขาซ้ายล็อคพวงมาลัย

เมื่อรู้สึกเหมือนกำลังถูกเหวี่ยงเข้าสู่กลางถัง ผมจึงโน้มตัวไปทางขวาตามสัญชาตญาณ ได้ผล! ผมรู้สึกได้ถึงลำตัวที่ตั้งตรง แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนักกับอาการมึนหัวที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกันกับความเร็วของรถกระบะที่กำลังทำความเร็วสูงสุด

เสียงไซเรนดังขึ้นเป็นครั้งสุดท้ายในขณะที่รถกำลังแล่นลงจอดยังรันเวย์ทรงกลม พี่ตุ๋ยก้าวลงมาจากรถที่ไม่มีประตูกั้น ยิ้มและโบกมือทักทายคนดูเป็นครั้งสุดท้าย โดยไม่มีอาการมึนหัวให้เห็นแต่อย่างใด ก่อนจะหันหลังเดินออกจากประตูในถังที่เปิดขึ้นอีกครั้ง เพื่อรอคอยการแสดงครั้งใหม่

ผมก้าวลงจากรถด้วยความรู้สึกมึนหัวจนคล้ายกับโลกเบี้ยวไปชั่วขณะ นอกจากแว่วเสียงเปื้อนยิ้มสอบถามอาการของเหล่านักบิดรอบข้าง – – ผมได้ยินเสียงปรบมือดังสะท้อนไปมาภายในถัง

นอกเหนือจากเงินแล้วความสุขใจก็เป็นรางวัลอีกอย่างหนึ่งของนักแสดง แม้โลกที่ผมมองเห็นจะยังคงเบี้ยวอยู่เล็กๆจากอาการมึนหัว ทว่าเมื่อผมเงยหน้ามองขึ้นตามเสียงปรบมือ ภาพของห่าฝนธนบัตรหลากสีที่โปรยลงมาปิดการแสดงรอบสุดท้ายของวันก็งดงามจับใจ

***special topic***
วิทยาศาสตร์ในถัง

ในทางวิทยาศาสตร์แล้ว เวทมนตร์ของรถไต่ถังนั้นไม่มีอยู่จริง

หากจะอธิบายโดยง่าย โดยอาศัย “แรงหนีศูนย์” เราสามารถสร้างถังและรถไต่ถังได้โดยการนำขวดน้ำขนาดหนึ่ง 1.5 ลิตรตัดด้านก้นออก ใส่ลูกปิงปองลงไป ใช้มือจับด้านฝาขวดก่อนจะหมุนด้วยความเร็ว เมื่อสมมุติให้รถไต่ถังคือลูกปิงปอง และขวดน้ำตัดก้นคือถัง คณะรถไต่ถังที่นำแสดงโดยลูกปิงปองก็กำลังจัดแสดงอยู่ในมือของเราอย่างตระการตา

แต่หากจะอธิบายให้ละเอียดขึ้นมาอีกนิด อ.นิรันดร์ เจริญกูล หัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ซึ่งเคยซ้อนท้ายนักขี่มอเตอร์ไซค์ไต่ถัง ได้ให้ความเห็นอ้างอิงกับบทความของตนในเว็ปไซต์ วิชาการ.คอมไว้ว่า การขับรถให้ไต่ถังได้นั้นจะไม่สามารถตั้งตัวตรงได้ 100% โดยจะต้องทำการเอียงเข้าหาถังเสมอ ซึ่งจะมีมุมที่ “ถูกต้อง” มุมเดียวเท่านั้นสำหรับค่าความเร็วหนึ่งๆ ดังนั้นการเอียงตัวที่ผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อย

– – อาจส่งผลถึงการพลิกคว่ำและกลายเป็น “รถตกถัง” ในที่สุด

บรรณานุกรม

เพิ่มศักดิ์ วรรลยางกูล. เมืองไทยในอดีต. พระนคร : วัฒนาพานิช, 2503.
Charoenkul, Niran, Wheeler, David; Dejasvanong, Chanwit. The wall of death: Newtons, nerves, and nausea : The Physics Teacher, Volume 37, Issue 9, pp. 533-535 (1999).

บรรณานุกรมออนไลน์

th.wikisource.org/wiki/เมืองไทยในอดีต/ประวัติรถสามล้อ
th.wikipedia.org/wiki/เลื่อน_พงษ์โสภณ
http://www.autoinfo.co.th/page/th/article_event/detail.php?id=225
http://www.vcharkarn.com/forum/view?id=164510&section=forum&ForumReply_page=2
สืบค้นวันที่ 15/8/58

ขอขอบคุณ

  • พี่ตุ๋ย – วรวุฒิ กัลยาณพันธ์
  • พี่บอย – กมล เกษมศรี
  • พี่เก๋ – ประจวบ ดาวเรือง
  • คุณแม่ติ๋ม พี่เอ็ม พี่บี น้องแป้ง เจ้ากัปตัน
  • และชาวคณะ รถไต่ถังยืนยงวาณิชทุกท่าน