ศรัณย์ บุญประเสริฐ : เรื่อง

ตำนานดงพญาเย็น สู่มรดกโลกเฮาหากเป็นพี่น้องกันมาตั้งแต่ขุนบรมพุ้นดาย  เจ้าอยากได้บ้านได้เมือง ให้เจ้าเอาแต่เขตแดนดงสามเส้า (ดงพญาไฟ) เมือเท่าพูพะยาผ่อและแดนเมืองนะคอนไทเป็นเจ้าท้อน  อันหนึ่งข้อยจักส่งน้ำอ้อยน้ำตาลซู่ปี  อันหนึ่ง ลูกหญิงข้าชื่อนางแก้วยอดฟ้า ใหญ่มาแล้วจักส่งเมือให้ปัดเสื่อปูหมอนแก่เจ้าฟ้าแล…

นี่คือข้อความที่พระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ตอบพระราชสาส์นไปถึงเจ้าฟ้างุ้ม ปฐมกษัตริย์แห่งล้านช้าง เมื่อครั้งเจ้าฟ้างุ้มคิดขยายดินแดนลงมายังลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่ง มหาสิลา วีระวงส์ บิดาแห่งประวัติศาสตร์ลาว เขียนไว้ในหนังสือ พงศาวดารลาว เป็นข้อมูลเก่าแก่สุดที่เอ่ยถึงผืนป่าดงพญาเย็น  มหาสิลาเชื่อว่า ป่าที่เรียกว่า “ดงสามเส้า” ในสมัยเจ้าฟ้างุ้มนั้นคือป่าที่ในยุคหลังเรียกว่า “ดงพญาไฟ” และกลายมาเป็น “ดงพญาเย็น” ในปัจจุบัน

เป็นเรื่องยากที่จะชี้ชัดว่าป่าดงพญาไฟนั้นกินอาณาบริเวณกว้างใหญ่เพียงไหน นอกจากระบุได้ว่า หมายถึงผืนป่าใหญ่ที่กั้นเขตแดนเมืองโคราชกับสระบุรี-ลพบุรี และแบ่งแดนระหว่างภาคอีสานกับภาคกลาง ซึ่งป่าแต่ละจุดก็มีชื่อเรียกตามความคุ้นเคยของนักนิยมไพรที่มักเรียกตามสภาพภูมิประเทศของที่นั้น ๆ เช่น ดงพญากลาง ทุ่งซับจำปา ป่าเหวตาบัว

นับแต่สมัยโบราณการเดินทางจากที่ราบสูงอีสานสู่ภาคกลางนั้นจำเป็นต้องผ่านป่าดงพญาไฟอย่างไม่มีทางเลี่ยง โดยมีทางด่านสำหรับสัญจรหลายช่องทาง เช่น ช่องสำราญ ช่องตานุด ช่องตะพานหินหรือช่องสระผม ช่องเขาน้อยหรือช่องเหวตาบัว เหล่านี้เป็นเส้นทางโบราณซึ่งผู้คนนับแต่อดีตใช้เดินทางไป-มาระหว่างชุมชนจากลุ่มน้ำเจ้าพระยากับเขตที่ราบสูงโคราช อย่างน้อยที่สุดก็ตั้งแต่ครั้งเมืองพระนคร (นครวัด-นครธม) ยังรุ่งเรือง  โบราณสถานที่พบระหว่างเส้นทางคือ ปรางค์นางผมหอมใกล้บ้านโคกคลี นั่นแสดงว่าการติดต่อระหว่างเมืองพระนครผ่านเมืองพิมายไปยังละโว้ (ลพบุรี) และเมืองศรีเทพ ล้วนต้องผ่านเส้นทางนี้

ในสมัยอยุธยาเส้นทางผ่านดงพญาไฟช่วงจากลพบุรีไปโคราช เป็นเส้นทางที่กองทัพของเจ้าสามพระยาและสมเด็จพระนเรศวรมหาราชใช้เดินทัพไปโจมตีเมืองเขมร

บรรดานายฮ้อยแห่งที่ราบสูงอีสานสมัยก่อนก็ต้อนวัว-ควายลงมาขายยังภาคกลางตามเส้นทางช่องสำราญและช่องตะพานหิน ดังเช่น อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิในปัจจุบัน สมัยก่อนเรียกว่า บ้านวะตะแบก เป็นที่พักแรมทางจุดสุดท้ายบนที่ราบสูงของเหล่านายฮ้อยพ่อค้าวัว-ควาย แล้วต้อนฝูงสัตว์ลงสู่ภาคกลางผ่านทางช่องสำราญ ก่อนจะผ่านลำพญากลางที่บ้านโคกคลี ซึ่งภายหลังปี ๒๔๖๗ กรมปศุสัตว์มาตั้งด่านกักสัตว์ที่นี่และยังอยู่จนทุกวันนี้

…แต่น่าประหลาดที่เส้นทางเชื่อมอีสานกับภาคกลางมักไม่ใช้เส้นทางผ่านดงพญาไฟช่วงสระบุรี-โคราช

กล่าวกันว่าชื่อ “ดงพญาไฟ” หมายถึงป่าที่เต็มไปด้วยไข้ป่าหรือมาลาเรีย ผู้ป่วยเวลาไข้ขึ้นนั้นเนื้อตัวจะร้อนจัดดั่งไฟ จึงเป็นที่ครั่นคร้ามของผู้คนโบราณยามต้องเดินทางผ่านดงนี้ ถึงกับเคยมีคำกล่าวว่า ใครที่ต้องเดินทางผ่านดงพญาไฟ ให้เตรียมหม้อดินติดตัวไปด้วย สำหรับใส่กระดูกของตัวเองฝากเพื่อนกลับมา

ส่วนชื่อ “ดงพญาเย็น” นั้นเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์นิทานโบราณคดีเรื่อง เที่ยวตามทางรถไฟ ตอนที่กล่าวถึงตำนานเมืองสระบุรีและดงพญาไฟ ทรงเล่าไว้ว่า

…เขาดงพญาไฟนี้ คือเทือกเขาอันเป็นเขื่อนของแผ่นดินสูง เขาเขื่อนที่กล่าวถึงนี้เป็นเขาหินปูน ต้นไม้ขึ้นหนาแน่นเป็นดงทึบตลอดทั้งเทือกเขา มีทางข้ามได้เพียงช่องทางเล็ก ๆ  ทางเดินผ่านดงพญาไฟนี้เป็นช่องทางเล็กๆ สำหรับเดินข้ามไปมาระหว่างสระบุรีกับมณฑลนครราชสีมามาตั้งแต่ครั้งโบราณ  โดยปากดงพญาไฟอยู่บริเวณเชิงเขา อำเภอแก่งคอย ผ่านกลางดงไปออกจากดงที่ตำบลปากช่อง  เส้นทางนี้ผ่านไปได้เพียงแต่เดินเท้า จะใช้โคและเกวียนหาได้ไม่

สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเคยพระราชดำริไว้ว่า ไม่ควรเรียกดงพญาไฟเพราะให้คนครั่นคร้าม จึงทรงกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอให้เปลี่ยนชื่อจาก ดงพญาไฟ เป็นดงพญาเย็น  แต่คนหลาย ๆ คนก็ยังคงเรียกว่า ป่าดงพญาไฟอยู่ดั้งเดิม

ดงพญาไฟของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ คือป่าระหว่างแก่งคอย เมืองสระบุรี กับโคราช ซึ่งสอดคล้องกับจดหมายเหตุของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจรัสพรปฏิภาณ (ต้นราชสกุล “จรูญโรจน์”) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าจอมมารดาช้อย พระองค์ทรงบันทึกไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ พาเจ้าจอมมารดาช้อยขึ้นไปเยี่ยมบิดาที่เมืองนคร-ราชสีมา เมื่อเดือน ๓ ปีมะโรง อัฐศก ศักราช ๑๒๑๘ (พ.ศ. ๒๓๙๙) เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เสด็จฯ ผ่านดงพญาไฟ ทรงปรารภขึ้นว่า ที่จริงในดงพญาไฟอากาศเย็นดี ไม่มีเวลาไหนที่อากาศร้อนเลย ไม่สมควรเรียกดงพญาไฟ จึงกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอให้เปลี่ยนชื่อเรียกว่า ดงพญาเย็น คนจะได้หายกลัวกัน

การที่ผู้คนนิยมเส้นทางผ่านดงพญาไฟช่วงลพบุรี-โคราชมากกว่านั้นมาจากปัจจัยทางภูมิศาสตร์เป็นหลัก เพราะดงพญาไฟช่วงสระบุรี-โคราช ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นหินปูน มีความสลับซับซ้อน เดินทางยาก ป่าส่วนใหญ่เป็นป่าดิบชื้นและเบญจพรรณชื้น  ทางด้านลพบุรี-โคราชส่วนมากเป็นป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรังสลับทุ่ง พื้นที่เป็นลอนลูกคลื่น มีลำน้ำใหญ่อย่างลำพญากลางไหลผ่าน จึงเดินทางสะดวกกว่า

แม้จะเปลี่ยนชื่อเป็น “ดงพญาเย็น” แล้ว ป่านี้ก็ยังคงความ “ดุ” ดังที่ขุนพิพิธภักดี (ทิม สุขยางค์) เขียนไว้ใน นิราศหนองคาย ซึ่งเป็นเรื่องราวการเดินทัพไปราชการปราบฮ่อสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยขาไปเดินทางผ่านทางดงพญาเย็นช่วงสระบุรี-โคราช แต่ขากลับใช้อีกเส้นทาง ดังนี้

                                                   ถึงทางแยกมรคาพญาไฟ         แยกหนึ่งไปพญากลางเป็นทางสอง
                                 ท่านเจ้าคุณการุณไพร่ด้วยใจปอง             ได้ตรึกตรองไว้แต่เดิมเมื่อเริ่มมา
                                 เพราะเห็นว่าวลาหกตกไม่ห่าง                  จะไปทางพญาไฟเกรงไข้ป่า
                                 ด้วยทางดงพญาเย็นเป็นระอา                   กลัวโยธาเดินทางจะวางวาย

ความดุของดงพญาเย็นด้านสระบุรี-โคราช ถึงขนาดที่กองทัพปราบฮ่อของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ต้องเปลี่ยนเส้นทางกลับผ่านทางช่องเหวตาบัวลงสู่ลำพญากลาง เห็นได้ว่าขุนพิพิธภักดีใช้ทั้งชื่อดงพญาเย็นและดงพญาไฟ แสดงว่าในยุคนั้นผู้คนคงเรียกป่าผืนนี้ทั้งสองชื่อ

เส้นทางคมนาคมถาวรที่บุกเบิกเข้าไปยังดงพญาเย็นเกิดขึ้นในปี ๒๔๓๘ สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวงก่อสร้างเส้นทางรถไฟจากอยุธยาต่อไปยังจังหวัดนครราชสีมา โดยจ้างนายช่างฝรั่งเป็นผู้สำรวจวางแนวและสร้างทาง  แต่น่าแปลกที่ช่างฝรั่งเลือกเส้นทางจากสระบุรีขึ้นสู่ภาคอีสาน และทางรถไฟช่วงแก่งคอย-ปากช่องนี่แหละที่ต้องตัดผ่านผืนป่าดงพญาเย็นอันน่าพรั่นพรึง ไม่ต่างจากที่กองทัพปราบฮ่อเคยเผชิญมาแล้ว

เมื่อการก่อสร้างเลยทับกวางขึ้นมาก็เข้าเขตชายป่าดงพญาเย็น คนงานส่วนมากซึ่งเป็นคนจีนและชาวอีสานต่างเจ็บป่วยด้วยไข้มาลาเรียล้มตายเป็นจำนวนมาก แม้แต่วิศวกรชาวเดนมาร์กที่มาคุมงานก่อสร้าง เค. แอล. เรเบ็ก (K.L.Rebeck) ก็เสียชีวิตที่นี่ด้วย ศพของเขาฝังไว้ที่หน้าสถานีรถไฟมวกเหล็กจนถึงทุกวันนี้

เรื่องเล่าอันน่าตื่นเต้นของการสร้างทางรถไฟผ่านดงพญาเย็นมีมากมาย แต่เรื่องที่โจษขานเป็นพิเศษ คือเมื่อคณะสำรวจทางมาถึงพื้นที่บ้านหินลับ มีต้นตะเคียนใหญ่ขวางทางอยู่ จะวางรางอ้อมก็ไม่ได้ เพราะเป็นหน้าผาและเหว จำต้องตัดตะเคียนต้นนี้ออก แต่พอจะตัดก็มีคนล้มตายลงเรื่อย ๆ จนไม่มีใครกล้าตัด  ความทราบถึงพระพุทธเจ้า-หลวง พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำตราแผ่นดินไปประทับตรงโคนต้นตะเคียน เล่ากันว่า เมื่อตราแผ่นดินตีประทับลงที่โคนต้นแล้ว ตะเคียนนั้นก็แห้งเหี่ยวยืนต้นตายไป จากนั้นโปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลเพียงตาขึ้นที่ใกล้เงื้อมผา การระเบิดทำทางรถไฟจึงดำเนินต่อไปได้

ครั้นถึงวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๔๓๙ พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จฯ พร้อมสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ โดยรถไฟพระที่นั่งไปจนสุดทางก่อสร้างที่หินลับ แล้วเสด็จฯ ต่อไปถึงก้อนหินใหญ่ริมทางซึ่งยื่นล้ำเข้ามาในแนวที่จะวางราง จึงทรงจารึกอักษรพระปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร. และ ส.ผ. พร้อมปีรัตนโกสินทรศก ๑๑๕ และพระราชทานนามจุดนี้ว่า “ผาเสด็จพัก” ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้จารึกนามนี้บนหินก้อนนั้นด้วยซึ่งอยู่ใกล้ ๆ สถานีรถไฟผาเสด็จในปัจจุบัน

ทางรถไฟสายอีสานจากเมืองสระบุรีถึงนครราชสีมา ใช้เวลา ๕ ปี จึงก่อสร้างแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงเปิดทางรถไฟสายนี้เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๔๔๓ และได้เสด็จฯ โดยขบวนรถไฟพระที่นั่งประพาสจังหวัดนครราชสีมาด้วย

ทางรถไฟสายอีสานเส้นนี้ถือเป็นการเปิดพงไพรดงพญาเย็นเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นอีกราว ๔๐ ปี ทางรถยนต์สายแรกที่บุกเบิกผ่านป่าผืนนี้จึงเกิดขึ้น

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีและมีอำนาจเบ็ดเสร็จ เพชรบูรณ์ถูกเล็งเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่หากเกิดความจำเป็นขึ้น จังหวัดลพบุรีซึ่งเป็นเมืองปราการด้านทิศใต้ของเพชรบูรณ์ จึงได้รับการทำนุบำรุงครั้งใหญ่ นอกจากมีการวางผังเมืองใหม่และตั้งหน่วยทหารสำคัญ ๆ ขึ้นในเมือง ท่านจอมพลยังให้สร้างถนนเพื่อเชื่อมภาคกลางและภาคอีสาน กล่าวกันว่าเป้าหมายตามนโยบายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นั้นต้องการให้สร้างทางตัดออกสู่เขมรได้เลย  ถนนเส้นนี้เริ่มต้นจากอำเภอโคกสำโรงผ่านอำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ขึ้นที่ราบสูงอีสานทางช่องสำราญผ่านหนองบัวโคก อำเภอโนนไทย อำเภอจอหอ เข้าสู่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อสร้างเสร็จได้ชื่อว่า “ถนนสุรนารายณ์” ซึ่งปัจจุบันคือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๐๕

บริเวณป่าดงพญาเย็นที่ถนนสุรนารายณ์ตัดผ่านนี้หมู่นักนิยมไพรเรียกว่า “ดงพญากลาง” ตามชื่อลำน้ำสายใหญ่ที่ผ่านดงไปรวมกับลำสนธิและกลายเป็นแม่น้ำป่าสัก

donphayayen02

พิธีเปิดใช้ถนนมิตรภาพอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม ๒๕๐๑ บริเวณมวกเหล็กในปัจจุบัน

donphayayen04

สภาพถนนมิตรภาพช่วงสระบุรี-นครราชสีมา เมื่อสร้างเสร็จใหม่ๆ 

donphayayen03

สภาพการบุกเบิกในช่วงแรกของการตัดถนนมิตรภาพ  ภาพนี้ถ่ายโดยเจ้ากาวิละวงศ์ ณ เชียงใหม่ นายช่างแห่งกรมทางหลวง

การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของผืนป่าดงพญาเย็นเกิดขึ้นเมื่อมีการตัดถนนสายสระบุรี-นครราชสีมาในปี ๒๔๙๘ โดยได้รับความช่วยเหลือจากองค์การบริหารวิเทศกิจแห่งสหรัฐอเมริกา (USOM) ซึ่งส่งผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกันมาให้คำแนะนำและปรึกษา  ถนนเส้นนี้เป็นทางหลวงสายแรกของไทยที่ลาดยางแบบแอสฟัลติกคอนกรีตตามมาตรฐานสากล

donphayayen05

เมื่อ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐ มีพิธีส่งมอบถนนมิตรภาพ อย่างไม่เป็นทางการ จอมพล ป. พิบูลสงคราม รับมอบจาก Max W. Bishop เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย  ปัจจุบันไม่ทราบว่าป้ายนี้ถูกย้ายไปที่ใด

เดิมทีรัฐบาลตั้งชื่อถนนช่วงสระบุรี-ปากช่อง-นครราชสีมาว่า “ถนนสุดบรรทัด” และช่วงนครราชสีมา-ขอนแก่น-อุดรธานี-หนองคาย ให้ชื่อว่า “ถนนเจนจบทิศ” แต่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนมิตรภาพ” เมื่อ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา  ถนนมิตรภาพช่วงผ่านดงพญาเย็นสร้างเสร็จและรับมอบอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม ๒๕๐๑

การที่ถนนมิตรภาพเป็นถนนชั้นดี แข็งแรง ผิวจราจรกว้าง ทำให้การเดินทางสู่อีสานสะดวกกว่าเส้นทางถนนสุรนารายณ์ ผู้คนมากมายหลั่งไหลไปจับจองที่ดินสองฝั่งถนน บุกเบิกป่าดงพญาเย็นอันดุร้ายในอดีต กลายเป็นไร่ข้าวโพดและมันสำปะหลังตามการสนับสนุนของรัฐบาลสมัยนั้น ที่มีนโยบายส่งเสริมการปลูกพืชเพื่อการส่งออก

โสฬส รายณะสุข อดีตผู้ช่วยนายช่างกำกับแขวงการทางอุดรธานี เล่าไว้ในนิตยสาร เสรีภาพ ฉบับที่ ๑๑๓ ปี ๒๕๐๘ ว่า

การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างรวดเร็ว น่าทึ่งเหลือเกิน  ที่ป่าที่ดง พอมีถนนดีผ่านไปถึง ผู้คนก็กล้าเสี่ยงชีวิตกับไข้ป่า พากันเข้าไปบุกเบิกจนกลายเป็นไร่เป็นสวนไปหมดเพียงในเวลาไม่กี่ปี  เมื่อก่อนที่ดินแถวนี้ราคาเพียงไร่ละ ๔๐๐-๕๐๐ บาท เดี๋ยวนี้ขึ้นไปถึง ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ บาท  ความเจริญก้าวหน้าที่ได้เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าบริเวณพื้นที่สองข้างทางถนนมิตรภาพเป็นที่ประจักษ์แล้วเป็นอย่างไร ผมก็คาดว่า คงจะเกิดประโยชน์ และมีความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เช่นเดียวกันในบริเวณสองข้างทางสายโคราช-หนองคาย ที่เพิ่งเปิดใหม่นี้

ในสมัยนั้นใคร ๆ ก็คงคิดว่า ถนนมิตรภาพคือเครื่องมือนำความเจริญไปสู่ภาคอีสาน ปราบความดุร้ายของป่าดงพญาเย็นอันน่าสะพรึงกลัวลง  แต่ใครเล่าจะคิดไปไกลกว่านั้นว่า นี่คือปฐมบทของการทำลายป่าผืนใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย

…กระทั่งทำให้ดงพญาไฟกลายเป็นเรื่องเล่า ดงพญาเย็นเป็นเช่นตำนาน โดยเหลือเพียงป่าหย่อมสุดท้ายซึ่งกลายเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย…อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่