เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์

prisonerwar

สภาพเชลยศึกฝ่ายสัมพันธ์มิตรที่ถูกเกณฑ์มาสร้างทางรถไฟสายมรณะ (ภาพจาก : thesundaytimes)

ในสงครามจริงไม่มีความรักแบบในนิยายคู่กรรม

ไม่มี “โกโบริ” หรือ “อังศุมาลิน”

เรื่องเล่าส่วนมากคือเรื่องของคนตัวเล็กๆ และโศกนาฏกรรมมากมายของ “เชลยสงคราม”

ระหว่างที่ไทยต้องจำยอมร่วมรบกับญี่ปุ่น นอกจากทหารญี่ปุ่นนับหมื่นที่หลั่งไหลเข้าประเทศ อีกสิ่งที่เข้ามาจำนวนมากคือ “เชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร” ที่ญี่ปุ่นส่งมาใช้แรงงานก่อสร้าง “ทางรถไฟสายมรณะ” เชื่อมไทยกับพม่า

ส่วนแรกถูกจับในกรุงหลังการทำสนธิสัญญาร่วมมือทางทหารระหว่างไทยกับญี่ปุ่นช่วงต้นปี ๒๔๘๕ จึงถือว่าคนที่มีสัญชาติประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรเป็น “ชนชาติศัตรู” ทันทีและต้องถูกควบคุมในค่ายกักกัน

เรื่องนี้พลตำรวจตรี อดุล อดุลเดชจรัส รองนายกรัฐมนตรีและอธิบดีกรมตำรวจ เป็นผู้รับผิดชอบและขอพื้นที่ส่วนหนึ่งของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ทำเป็นค่ายกักกัน และขอให้เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเป็นผู้ดูแล มีการตั้งพันเอก เพิ่ม มหานนท์ เป็นผู้บังคับการค่าย พันตรี หม่อมราชวงศ์พงษ์พรหม จักรพันธุ์ เป็นรองผู้บังคับการ

ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ได้ช่วยเหลืออย่างเต็มที่  เขามองว่าหากไม่ทำเช่นนี้ ญี่ปุ่นจะดำเนินการเองและชีวิตเชลยอาจเลวร้ายกว่าเก่า และหากฝ่ายสัมพันธมิตรชนะสงครามจะผ่อนหนักเป็นเบาให้ไทยมากขึ้น โดยมอบให้ วิจิตร ลุลิตานนท์ เลขาธิการมหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ดูแลผู้ถูกกักกัน

เชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรส่วนนี้ถูกนำพาไปที่ธรรมศาสตร์ ระยะแรกคาดว่ามีผู้ถูกกักประมาณ ๗๐๐-๑,๐๐๐ คน แต่ควบคุมจริงๆ ราว ๓๐๐ คน  ผู้ที่อยู่ในค่ายกักกัน มธก. จะพักผ่อนและเล่นกีฬาได้ในบางช่วง

สภาพข้างต้นเทียบไม่ได้เลยกับเชลยอีกส่วนที่อยู่ในความควบคุมของญี่ปุ่น พวกเขาถูกเกณฑ์ไปสร้างทางรถไฟเชื่อมไทย-พม่า ความยาว ๔๑๕ กิโลเมตร

จุดเริ่มต้นของทางรถไฟสายนี้คือจากสถานีหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ไปจนถึงสถานีทันบูซายัตในประเทศพม่า (ดูรายละเอียดในหัวข้อ “ชีวิตใหม่ของทางรถไฟสายมรณะ”)  การก่อสร้างกินเวลาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๔๘๕-ตุลาคม ๒๔๘๖ หรือ ๑ ปี ๓ เดือน

ตลอดทางรถไฟสายนี้มีเรื่องเล่าของเชลยศึกในค่ายกักกันใช้แรงงานนับไม่ถ้วน ซึ่งจากหลักฐานฝ่ายสัมพันธมิตรระบุว่า มีทั้งหมด ๕๐,๓๐๕ คนที่ถูกส่งมาไทย หากรวมกับที่ส่งไปสร้างทางรถไฟในพื้นที่พม่าจะมีทั้งหมด ๖๑,๘๐๖ คน  เมื่อสงครามสงบพบว่าเสียชีวิต ๑๒,๓๓๙ คน ซึ่งอัตราการเสียชีวิตเท่ากับหนึ่งในห้า

ขณะกองทัพญี่ปุ่นระบุว่า “ขอความร่วมมือ” เชลยก่อสร้างทางรถไฟ  ปัจจุบันผู้เสียชีวิตเหล่านี้ได้รับการระลึกถึงผ่านสุสานในไทยสองแห่ง คือ สุสานช่องไก่และสุสานดอนรัก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี  ทั้งยังมีอีกแห่งอยู่ในเมืองทันบูซายัต ประเทศพม่า

เชลยศึกกลุ่มนี้ถือเป็นเชลยศึกกลุ่มใหญ่ที่สุด

หลักฐานของทั้งสามฝ่าย คือ ไทย ญี่ปุ่น เชลยศึก บันทึกเรื่องนี้แตกต่างกันราวกับตาบอดคลำช้าง ทุกฝ่ายมองในมุมของตนเอง ญี่ปุ่นเน้นความลำบากในการบุกป่าที่ไม่เคยมีคนเข้าถึง เชลยศึกเล่าประสบการณ์อันเลวร้ายในการสร้างทางรถไฟ ขณะไทยหลงเหลือประวัติศาสตร์บอกเล่าที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น

นอกจากเชลยศึกยังมีแรงงานชาวเอเชียนับแสนที่มาใช้แรงงานสร้างทางรถไฟแห่งนี้ ถึงปัจจุบันยังไม่อาจระบุจำนวนที่แน่นอนด้วยข้อจำกัดของหลักฐานที่เหลืออยู่

เอกสารประกอบการเขียน

  • อาเคโตะ นากามูระ. ผู้บัญชาการชาวพุทธ ความทรงจำของนายพลนากามูระเกี่ยวกับเมืองไทยสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา. แปลโดย เออิจิ มูราชิม่า และ  นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๖.
  • โยชิกาวา โทชิฮารุ. ทางรถไฟสายไทย-พม่า ในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา. แปลโดย อาทร ฟุ้งธรรมสาร และคณะ. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, ๒๕๓๘.