สุเจน กรรพฤทธิ์ : เรื่อง

๑๖ สิงหา และ สันติภาพ ที่ถูกลืม

วันสันติภาพ – การเดินสวนสนามของขบวนการเสรีไทย ณ ถนนราชดำเนิน วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๔๘๘ หลังประกาศสันติภาพ ในวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘

กล่าวได้ว่าร่องรอยเดียวที่เกี่ยวกับการประกาศสันติภาพสิ้นสุดสงครามอย่างเป็นทางการสำหรับเมืองไทยเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ ซึ่งหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน คือถนน “๑๖ สิงหา” ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ทุกวันนี้นักศึกษาธรรมศาสตร์หลายคนใช้เส้นทางนี้เข้าออกมหาวิทยาลัยโดยไม่ทราบแม้แต่ชื่อถนน ป้าย “ถนน ๑๖ สิงหา” ติดตั้งด้านหน้าประตูท่าพระจันทร์อย่างเงียบเหงา

ต้นทางของถนนสายนี้อยู่ทางกำแพงทิศใต้ของมหาวิทยาลัยทอดยาวตรงไป ผ่านตึกโดม ผ่านอาคารต่าง ๆ จนสิ้นสุดที่ประตูท่าพระอาทิตย์ด้านทิศเหนือของมหาวิทยาลัย ติดสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของถนนพระอาทิตย์

ชื่อ “ถนน ๑๖ สิงหา” ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีหลังสิ้นสงคราม หากเกิดเมื่อคราวครบรอบ ๔๕ ปีการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ตอนนั้น ชาญ แก้วชูใส เลขาธิการชมรมเตรียมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองสัมพันธ์ อดีตเสรีไทย ได้เสนอเรื่องนี้ต่อมหาวิทยาลัยเพื่อเป็น “ที่ระลึกแก่วันสำคัญของประเทศ”

ถ้าผู้อ่านเป็นนักศึกษา มธ. ที่จบมาอย่างน้อย ๑๐ ปี จะทราบดีว่าร่องรอยอีกส่วนคือ “เสาสันติภาพโลก” ที่จารึกคำอธิษฐานว่า “ขอให้สันติภาพจงมาสู่โลก” ซึ่งเคยอยู่บนลานปรีดี พนมยงค์ หน้าตึกโดม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ได้หายไปแล้วจากการปรับปรุงลานปรีดีฯ นับครั้งไม่ถ้วนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

สัญลักษณ์ที่หายไปนี้มีเรื่องราว “ข้างหลัง” มากมาย

ปี ๒๔๘๗ เมื่อจุดเริ่มต้นของจุดสิ้นสุด (beginning of the end) ของ “สงครามมหาเอเชียบูรพา” มาถึง

ที่แนวรบในยุโรป ๖ มิถุนายน ๒๔๘๗ กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร (Allied Army) ใช้วันนี้เป็นวันดีเดย์ (D-Day) ยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์มองดี ประเทศฝรั่งเศส รุกโต้กลับฝ่ายนาซีเยอรมัน การรุกครั้งนี้ถือเป็น “บันไดขั้นแรก” เพื่อปลดปล่อยยุโรป หลังวันดีเดย์ ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ชัยชนะอย่างต่อเนื่อง เข้าใกล้พรมแดนด้านตะวันตกของเยอรมนีเข้าไปทุกขณะ ขณะสหภาพโซเวียตรุกเข้าหาเยอรมนีทางทิศตะวันออกมากขึ้นเรื่อย ๆ

ส่วนแนวรบในเอเชีย บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก สหรัฐอเมริกาทำยุทธนาวีจนญี่ปุ่นสูญเสียฐานทัพตามเกาะต่าง ๆ จำนวนมาก ขณะเดียวกันบริเวณแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์ ทหารญี่ปุ่นก็หยุดชะงักการบุกที่พรมแดนอินเดีย-พม่า

ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์รัชกาลที่ ๘ หรืออีกหนึ่งบทบาทคือ “รู้ธ” หัวหน้าเสรีไทย เชื่อว่าสงครามกำลังจะจบ วันพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นใกล้เข้ามา เวลาที่จะรักษาเอกราชของไทยหลังสงครามโดยทำให้ประเทศไม่ตกอยู่ในฐานะ “ผู้แพ้” เหลือไม่มากนัก เขามองว่ารัฐบาลไทยที่นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในสายตานานาชาติถือว่านำประเทศเข้าร่วมกับญี่ปุ่นตั้งแต่ต้นปี ๒๔๘๕ และต้องเปลี่ยนรัฐบาลชุดนี้ตามวิถีทางรัฐธรรมนูญให้ได้ แม้ปรีดีจะทราบว่าจอมพล ป. พยายามติดต่อกองทัพจีนคณะชาติที่พรมแดนรัฐฉาน (ฝ่ายสัมพันธมิตร) ซึ่งกองทัพไทยเข้าไปยึดครองอยู่เพื่อดัดหลังญี่ปุ่น ก็เสี่ยงต่อการดึงทหารจีนเข้ามาหลังสงครามสงบ

ปรีดียังต้องการเปิดทางให้เสรีไทยทำงานง่ายขึ้น เขาหารือกับสมาชิกเสรีไทยในเวลานั้นซึ่งรวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนมาก ผลคือสภาผู้แทนราษฎรคว่ำกฎหมายสองฉบับที่จอมพล ป. เสนอ คือ พระราชกำหนดระเบียบบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ (เพื่อย้ายเมืองหลวงไปจังหวัดเพชรบูรณ์) พระราชกำหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑล (เพื่อประกาศให้สระบุรีเป็นเมืองพุทธศาสนา ป้องกันไม่ให้ญี่ปุ่นตั้งฐานทัพติดลพบุรี ที่ตั้งของหน่วยทหารไทยจำนวนมาก และรักษาฐานอำนาจทางการเมืองของจอมพล ป.) ในวันที่ ๒๐ และ ๒๒ กรกฎาคม ๒๔๘๗ จอมพล ป. ซึ่งหมดความชอบธรรมลาออกในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๔๘๗ ก่อนจะลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งประเทศไทยในเวลาต่อมา พันตรี ควง อภัยวงศ์ ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน เสรีไทยในประเทศจึงเคลื่อนไหวได้มากขึ้นเพราะควงมีความสามารถเจรจาและถือเป็นคณะราษฎรสายพลเรือนคนหนึ่ง

สิ่งที่หลายคนอาจไม่ทราบคือ ปรีดีเตรียมการถึงขั้นทำสงครามกับญี่ปุ่นอย่างเปิดเผย

วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ราชบัณฑิต วิเคราะห์ไว้ใน รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ กับขบวนการเสรีไทย ว่าปรีดีต้องการสร้างขีดความสามารถสู้ทหารญี่ปุ่นอย่างเปิดเผย แต่มิได้หวังชัยชนะ ที่สำคัญกว่าคือความมุ่งหมายทางการเมือง “ใช้ปฏิบัติการทางทหารสร้างความประทับใจให้กับสัมพันธมิตร เพื่อลบล้างความเข้าใจว่าไทยมิได้ต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น และต้องการสู้ในอุดมการณ์เดียวกับฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อประกันอธิปไตยของไทยหลังสงคราม”

peaceday02

งาน ๗๐ ปี วันสันติภาพไทย (๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๘) เสรีไทย ทายาทเสรีไทย และประชาชนกลุ่มหนึ่งร่วมกันวางดอกไม้บนงานประติมากรรม ประกาศสันติภาพ ที่เพิ่งติดตั้ง เพื่อรำลึกถึงการประกาศสันติภาพของ ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์รัชกาลที่ ๘ ณ ลานประวัติศาสตร์ หน้าหอประชุมใหญ่ มธ. ท่าพระจันทร์

๒๖ มกราคม ๒๔๘๘ ปรีดีส่ง กนต์ธีร์ ศุภมงคล หัวหน้ากองการเมือง กรมการเมืองตะวันตก กระทรวงการต่างประเทศ ไปสหรัฐฯ ในเที่ยวกลับของเครื่องบินทะเลลำแรกที่ลอบพานายทหารอเมริกันเข้ามาในไทย กนต์ธีร์ไปสมทบกับหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐฯ เจรจาเรื่องสถานภาพไทยหลังสงคราม ทั้งยังมีการส่งคณะผู้แทนนำโดย ดิเรก ชัยนาม ไปเมืองแคนดี ประเทศศรีลังกา ตามคำเชิญลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบตเทน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อเจรจาทางการทหาร

เมษายน ๒๔๘๘ ประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ (UN) ขึ้น ณ เมืองแซนแฟรนซิสโก สหรัฐฯ ช่วงนี้ปรีดีเสนออเมริกาว่าจะให้เสรีไทยประกาศสงครามกับญี่ปุ่นทันทีเพื่อให้ไทยเข้าร่วมการก่อตั้งยูเอ็นได้ แต่ถูกยับยั้ง อย่างไรก็ตามสหรัฐฯ ตอบรับโดยมีโทรเลขว่า “ตระหนัก” ถึงความพยายามดังกล่าว ขณะอังกฤษส่งข้อความว่ามีเป้าหมายเช่นเดียวกับสหรัฐฯ และรับรู้การกระทำดังกล่าว

๘ พฤษภาคม ๒๔๘๘ เยอรมนียอมแพ้ ปลายเดือนเดียวกันปรีดีส่งสาส์นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบตเทน ว่ากองทัพญี่ปุ่นสงสัยรัฐบาลไทยมากขึ้นและต้องการกู้เงินเพิ่มขึ้น หากรัฐบาลไทยชุดเดิมลาออก รัฐบาลชุดใหม่จะยกเลิกข้อตกลงกับญี่ปุ่นทั้งหมดและต่อสู้ ปรีดีบอกว่าเขาแจ้งเพื่อทราบและหวังว่า “ในวันที่เรา (เสรีไทย-ผู้เขียน) ลงมือปฏิบัติการนั้น สหรัฐฯ จะประกาศเคารพความเป็นเอกราชของประเทศไทยและถือว่าประเทศไทยเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติด้วย…ไม่ถือว่าประเทศไทยเป็นศัตรู”

สหรัฐฯ ยังคงยับยั้งเรื่องนี้โดยปลัดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ย้ำว่าไม่เคยถือว่าไทยเป็นศัตรู และเมื่อถึงเวลาเหมาะสมจะประกาศรับรองความเป็นเอกราชของไทย

๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ จุดสิ้นสุดของสงครามมาถึงเมื่อสหรัฐฯ ทิ้ง “Little Boy” ระเบิดปรมาณูลูกแรกที่เมืองฮิโระชิมะ ทำให้มีคนตาย ๒๒๐,๐๐๐ คน วันที่ ๙ สิงหาคม ทิ้ง “Fat Man” ระเบิด
นิวเคลียร์ลูกที่ ๒ ที่เมืองนะงะซะกิ จนมีคนตายอีก ๔ หมื่นคน ญี่ปุ่นจึงประกาศยอมแพ้อย่างเป็นทางการในวันที่ ๑๕ สิงหาคม

วันเดียวกับที่ญี่ปุ่นยกธงขาว เราทราบจากโทรเลขระหว่าง รมว. ต่างประเทศสหรัฐฯ กับเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำลอนดอนว่า กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษอนุญาตให้ลอร์ดหลุยส์แนะนำเป็น “ส่วนตัว” มายังปรีดีว่า เมื่อญี่ปุ่นยอมจำนน ให้ไทยประกาศปฏิเสธการประกาศสงครามของไทยต่อสัมพันธมิตร ยกเลิกข้อตกลงกับญี่ปุ่น จะไม่มีการบังคับให้ไทยยอมแพ้จากปฏิบัติการของขบวนการเสรีไทย จะปรับนโยบายตามความพร้อมของไทยที่จะชดใช้ค่าเสียหายและร่วมมือกันต่อไปในอนาคต ถ้าปรีดีทำเช่นนั้นอังกฤษจะประสานกับสหรัฐฯ เพื่อเตรียมพร้อมยุติสถานะสงครามกับไทยทันที

ปรีดีเชิญนายกฯ ควง และ ทวี บุณยเกตุ รมว. ศึกษาธิการ มาปรึกษา แล้วเห็นพ้องว่าจะประกาศเป็นพระบรมราชโองการ มีการเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎร จากนั้นประธานสภาฯ อ่าน “ประกาศสันติภาพ” ในวันที่ ๑๖ สิงหาคม มีปรีดีลงนามในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์รัชกาลที่ ๘ ระบุว่า การประกาศสงครามกับสหรัฐฯ และอังกฤษ “เป็นโมฆะ ไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย ในส่วนที่เกี่ยวกับสหประชาชาติ ไทยได้ตั้งใจให้มีการฟื้นคืนความสัมพันธ์อันดีก่อนวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ โดยที่ประชุมสภาฯ เห็นชอบประกาศนี้อย่างเป็นเอกฉันท์”

ประกาศสันติภาพ ๑๖ สิงหาฯ จึงมีมหาอำนาจใหม่หนุนช่วยอย่างมาก เนื่องจากเวลานั้นสหรัฐฯ ไม่มีผลประโยชน์ในไทยมากนักเมื่อเทียบกับมหาอำนาจเก่าอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส ที่เสียหายหนัก การหนุนไทยยังมีแต่ได้ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ไทยเหมาะแก่ยุทธศาสตร์การเมืองโลกหลังสงคราม ทั้งชนชั้นนำไทยก็พร้อมจะเกาะติดกับผลที่จะได้จากสหรัฐฯ

ไทยอาศัยเหตุสองเรื่องประกาศสันติภาพ คือ หนึ่ง เอกสารประกาศสงครามไม่สมบูรณ์ อันเนื่องมาจากต้นปี ๒๔๘๕ มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สามคน แต่ลงนามในเอกสารเพียงสองคน ยกเว้นปรีดี สอง ขบวนการเสรีไทยมีการทำงานชัดเจนทั้งในและนอกประเทศ มีฝ่ายสัมพันธมิตรรับรอง หลังสงครามในวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๔๘๘ ยังนำอาวุธจากฝ่ายสัมพันธมิตรมาเดินสวนสนามบนถนนราชดำเนินด้วยกำลังพล ๘,๐๐๐ คน แสดงให้ลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบตเทน ที่นำกำลังทหารสัมพันธมิตรเข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นเห็นชัดเจน

“จุดเปลี่ยน” นี้ทำให้ไทยพ้นสถานะ “แพ้สงคราม” และสหรัฐอเมริกาเข้ามามีอิทธิพลต่อไทยตั้งแต่นั้นในฐานะมหาอำนาจใหม่ของโลก

ความทรงจำเหล่านี้ซ่อนอยู่เบื้องหลังชื่อถนนที่ไม่มีใครจดจำ

๑๖ สิงหาคมของทุกปี วันสันติภาพยังเป็นการฉลองในกลุ่มคนเล็ก ๆ เช่นอดีตเสรีไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ (หลายคนเสียชีวิตแล้ว) อีกส่วนคืองานที่จัดโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันปรีดี พนมยงค์

๑๖ สิงหาคม ในเมืองไทยไม่มีพิธีกรรมระดับ “รัฐพิธี” แต่อย่างใด ขณะต่างประเทศเรื่องนี้สำคัญระดับรัฐพิธี โดยเฉพาะปี ๒๕๕๘ วาระครบ ๗ ทศวรรษของการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศในโลกตะวันตกจัดงานฉลองใหญ่ตั้งแต่ช่วงต้นปี

ความทรงจำเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ ๒ นอกเมืองไทยจึงกระจ่างชัด แต่ในสังคมไทยเรื่องนี้กลับพร่าเลือนและได้รับการบอกเล่าโดยเอกชนมากกว่าภาครัฐ

ไม่แปลกเลยที่คนไทยรุ่นปัจจุบันหลายคนคงสับสนว่าเรารอดพ้นสถานะ “ผู้แพ้สงคราม” มาได้อย่างไร เรารอดการถูกทำลายอย่างราบคาบมาได้อย่างไรและอะไรทำให้เราลืมเหตุการณ์สำคัญระดับนี้ไป  

เอกสารประกอบการเขียน

  • ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ธรรมศาสตร์การเมืองไทย : จากปฏิวัติ ๒๔๗๕ ถึง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖-๖ ตุลาคม ๒๕๑๙. กรุงเทพฯ : มติชน-ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ, ๒๕๔๗.
  • คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึกงานฉลอง ๑๐๐ ปี รัฐบุรุษอาวุโส นายปรีดี พนมยงค์. คือวิญญาณเสรี ปรีดี พนมยงค์. กรุงเทพฯ : คณะอนุกรรมการ, ๒๕๔๓.