ผลงานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 12
งานเขียนดีเด่น
เรื่อง: สุภัชญา เตชะชูเชิด

ภาพ: สิริพงศ์ ลี้วุฒิกุล

wildlife-vet01

สัตว์ป่าที่ได้รับการรักษาจาก น.สพ.เบญจพล หล่อสัญญาลักษณ์

wildlife-vet02

ร.พ. ที่ทำงานของ น.สพ.เบญจพล หล่อสัญญาลักษณ์


“ผัว………ผัว…..ผัว…ผัว..ผัว.ผัว ผัว ผัวๆๆๆๆๆ”

เสียงชะนีมือขาวร้องดังและถี่ขึ้นเรื่อยๆด้วยความตื่นตระหนก มันแกว่งตัวอย่างรวดเร็วจากกิ่งหนึ่งสู่อีกกิ่งหนึ่งได้อย่างน่ามหัศจรรย์ นั้นมิใช่เพราะความชำนาญ หากแต่เป็นสัญชาตญานของสัตว์ป่าที่วิวัฒนาการมาหลายล้านปี มันต้องหนีเพื่อรักษาชีวิต

ในขณะที่เบื้องล่าง สัตวแพทย์สัตว์ป่ากำลังเล็งตามชะนีที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว มือทั้งสองข้างถือปืนยาวบรรจุลูกดอกยาสลบ สายตาประกบอยู่กับช่องมองภาพ นิ้วมือประจำตำแหน่งพร้อมที่จะลั่นไกทุกเมื่อ เพียงแต่รอเวลาให้เจ้าชะนีหยุดในตำแหน่งที่เหมาะสมเท่านั้น

ยิ่งเวลาผ่านไป ชะนีตัวนี้ก็เหมือนจะตกใจมากขึ้นเรื่อยๆ สัตว์ตกอยู่ในความเครียด หมอก็เครียดเช่นกัน ส่วนผู้สังเกตการณ์ต่างก็ลุ้นกันเสียจนตัวโก่ง

“โดนแล้ว โดนแล้ว! เร็ว เร็วๆๆๆ” หมอตะโกนขึ้น ให้ทุกคนพร้อมที่จะเข้าจับชะนี เผื่อว่ามันจะตกลงมาบาดเจ็บ

แต่ชะนีตัวนี้ยังคงไกวตัวข้ามต้นไม้ต้นแล้วเต้นเล่าด้วยความรวดเร็วและตื่นตระหนกมากขึ้นกว่าเดิม เวลาผ่านไปหลายอึดใจก่อนที่มันจะค่อยๆนิ่งสงบ เกาะคาอยู่บนกิ่งไม้กิ่งหนึ่ง…เนิ่นนาน ผ่ามือทำกำแน่นค่อยๆคลายออกจากกิ่งไม้ ก่อนจะตกลงมาในน้ำ…ตุ๊บ!

“ระวังจมน้ำ ระวังจมน้ำ” หมอสั่งให้คนอื่นๆเข้าไปช่วยจับชะนี แม้ว่ามันจะอ่อนแรงเต็มทน แต่ว่ายังมีสติดีทุกประการ มันใช้แรงเฮือกสุดท้ายพยายามสะดับหนีให้หลุด ผู้ช่วยนำตาข่ายตาใหญ่ผืนดำเข้ามาคลุมตัวก่อนจะนำเจ้าชะนีใส่กรงและปฐมพยาบาลมันต่อไป

มันเป็นประสบการณ์ครั้งแรกที่ฉันได้ไปช่วยสัตวแพทย์สัตว์ป่าจับชะนีของกลางที่มูลนิธิแห่งหนึ่งเลี้ยงไว้อย่างผิดกฎหมาย ชะนีมือขาวจำนวนสามตัวถูกเลี้ยงไว้บนเกาะเล็กๆกลางน้ำ แม้ว่าจะไม่มีรั่วรอบขอบชิด แต่เจ้าชะนีก็ไม่สามารถว่ายน้ำหนีออกไปจากเกาะเล็กๆแห่งนี้ได้

ชะนีทั้งหมดยังสลบอยู่ตอนที่เราเดินทางไปดำเนินคดีที่โรงพัก จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงขนย้ายชะนีกลับไปหน่วยงาน เพื่อดูแลรักษาในฐานะหลักฐานมีชีวิตชิ้นสำคัญ

กรงเหล็กขนาดใหญ่ท้ายรถกระบะเคลื่อนออกไป แสงสุดท้ายของวันพอจะทำให้มองเห็นร่างสลัวที่แน่นิ่งอยู่ภายใน ฉันไม่รู้ว่าชะนีเหล่านั้นจะเป็นอย่างไรบ้าง หวังเพียงแต่ว่ามันจะสบายดีและได้กลับไปใช้ชีวิตในธรรมชาติที่แท้จริงอีกครั้ง

——————————————————————-

เหตุการณ์ในวันนั้นทำให้ฉันตัดสินใจเดินทางมาที่นี่ “โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน” อาคารเก่าชั้นเดียวที่ทาด้วยสีขาวหมองๆ ภายในเรียงรายด้วยเก้าอี้ไม้ตัวยาวที่บรรจุอยู่เต็มพื้นที่ ผู้คนนั่งรอด้วยสีหน้ากังวลพร้อมสัตว์เลี้ยงแสนรักข้างกายที่ดูไม่ค่อยจะร่าเริงเท่าไหร่นัก

ที่มุมห้องใกล้กับร้านกาแฟ เรานัดพูดคุยกับนายสัตวแพทย์หนุ่มยุคใหม่อย่าง ‘เบญจพล หล่อสัญญาลักษณ์’ หรือ หมอเบน นายสัตวแพทย์ประจำหน่วยสัตว์ป่าและคลินิกสัตว์เลี้ยงพิเศษ ฉันรู้แน่ว่าฉันไม่อาจพบชะนีทั้งสามตัวที่นี่ได้ แต่หมอเบนอาจจะช่วยไขข้อข้องใจให้ฉันได้บ้าง

wildlife-vet03

กรงเหล็กที่กักขังนกที่ได้รับการรักษา ออกแบบให้อยู่กับธรรมชาติ

หน้าที่

หลายคนอาจจะเข้าใจว่าสัตว์ป่าจะต้องอยู่ในป่าเท่านั้น แต่สำหรับสัตวแพทย์สัตว์ป่าแล้ว คำว่า “สัตว์ป่า” หมายรวมถึงสัตว์ทุกชนิดที่มีต้นกำเนิดมาจากธรรมชาติ ยกเว้น หมา แมว กระต่าย และปศุสัตว์ที่ได้รับการเพาะเลี้ยงด้วยมนุษย์มาเป็นเวลานาน “จริงๆแล้วสัตว์ที่อยู่รอบตัวเราก็ถือเป็นสัตว์ป่าทั้งนั้นเลย เช่น งู หนู กระรอก นก เต็มไปหมด” หมอเบนอธิบาย

นอกจากนี้สัตวแพทย์สัตว์ป่าก็ยังสามารถแบ่งออกได้อีกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ สัตวแพทย์ในสวนสัตว์ (zoo veterinarian) สัตวแพทย์รักษาสัตว์เลี้ยงพิเศษ (exotic pet veterinarian) และสัตวแพทย์สัตว์ป่า (wildlife veterinarian) โดยสัตว์แพทย์ในสวนสัตว์จะมีหน้าที่ดูแลสัตว์หลากหลายชนิดในสวนสัตว์หรือฟาร์มเลี้ยงสัตว์เท่านั้น แต่สำหรับสัตวแพทย์สัตว์เลี้ยงพิเศษและสัตวแพทย์สัตว์ป่านั้นมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่มาก

หมอเบนยกตัวอย่างให้เราเข้าใจง่ายๆว่าสัตว์เลี้ยงพิเศษหรือ Exotic pet คือสิ่งมีชีวิตแปลกๆที่คนทั่วไปไม่ค่อยนิยมเลี้ยงกัน อย่างทุกวันนี้เรารู้จักกระรอกบินหรือ Sugar glider ในนามของสัตว์เลี้ยงพิเศษ แต่ถ้ากระรอกบินที่อยู่ในประเทศออสเตรเลียเราก็จะเรียกมันว่าสัตว์ป่าทันทีเพราะออสเตรเลียเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของมัน ในขณะที่งูเขียวกาบหมากเป็นสัตว์ท้องถิ่นเมืองไทย ซึ่งมีสีสันสวยงามคนก็เอามาเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์จนบางครั้งเรียกว่าเป็นสัตว์เลี้ยงพิเศษ การทำงานของหมอสัตว์ป่าเองจึงมีความเกี่ยวโยงกัน

wildlife-vet05

นางอายที่คนเลี้ยงไว้แล้วเอามารักษา

ความรัก

ฉันคิดว่าคนที่จะมาเรียนสัตวแพทย์ได้จะต้องเป็นคนที่รักสัตว์มากแน่ๆ…และฉันคิดถูก แต่เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น เมื่อหมอเบนเล่าให้ฉันฟังว่าก่อนจะมาเป็นสัตวแพทย์สัตว์ป่า พี่หมอเคยเป็นคนเลี้ยงสัตว์และขายสัตว์ป่าผิดกฎหมายมาก่อน

“สมัยเด็กๆผมเป็นคนขายสัตว์ป่าเลยนะ ไปซื้อสัตว์จากจตุจักรมาขายแถวบ้าน แต่ว่าสมัยนั้นยังไม่มีความรู้ เห็นคนอื่นเลี้ยงนกแก้ว นกขุนทองกันเยอะแยะ เราเลยคิดว่าเลี้ยงได้ ช่วงนั้นก็ขายหมด ทั้งนกแก้วโม่ง นกปรอด นกตีทอง ได้กำไรดีมาก กระทั่งวันหนึ่งผมไปซื้อของที่จตุจักรแล้วมีเจ้าหน้าที่มาตรวจ ผู้ใหญ่เขาก็พาหนี แล้วเอานกที่ซื้อมาไปซ่อนไว้ใต้ตู้ปลา พอผมถามว่าหนีทำไม เขาเลยบอกว่าเดี๋ยวก็ติดคุกหรอก มันผิดกฎหมาย” หมอเบนเล่าให้เราฟัง และให้ความรู้ว่าสัตว์ป่าเกือบทั้งหมดของประเทศไทยได้รับการคุ้มครองภายใต้ พรบ.คุ้มครองสัตว์ป่า แต่คนส่วนใหญ่ขาดความรู้ความเข้าใจ

หลังจากทราบว่าการค้านกผิดกฎหมาย ประกอบกับการได้เรียนรู้เกี่ยวกับบทบาทของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติจากค่ายวิทยาศาสตร์ภายในโรงเรียน ทำให้ความรักด้วยการดูแลและกักขังแปรเปลี่ยนเป็นความรักด้วยความชื่นชมและอิสระ นอกจากนี้ความผูกพันธ์และความรู้สึกผิดจึงผลักดันให้เบนปรารถนาจะเป็นผู้รักษาสัตว์ป่า และกลายมาเป็นหมอเบนที่ทุ่มเทให้กับการทำงานด้วยหัวใจ

ความเสี่ยง

หมอเบนเล่าว่าการรักษาสัตว์ป่ามีความยากลำบากกว่าการรักษาสัตว์เลี้ยงมาก เพราะสัตว์ป่าจะมีสัญชาตญานดั้งเดิมสูงและมีความเครียดมากเพราะสัตว์ไม่เคยถูกจับมาก่อน ทำให้การทำงานแต่ละครั้งจะต้องประเมินความเสี่ยงของการจับมารักษาแล้วจะรอดหรือว่าสัตว์จะได้รับบาดเจ็บมากกว่าเดิม

“ความจริงแล้วคนทั่วไปยังไม่เข้าใจว่ายาสลบไม่ได้ออกฤทธิ์ทันทีแบบในละคร ถ้าง่ายขนาดนั้นวิสัญญีแพทย์คงไม่ต้องมีแล้วละ” พี่หมอพูดกึ่งตลกกึ่งจริงจัง

ฉันยังจำได้ดีตอนที่ชะนีตัวนั้นถูกลูกดอกยาสลบ ความเจ็บปวดและเสียงผู้คนที่ห้อมล้อมทำให้มันตกใจมาก เรารอกันอยู่นานกว่าชะนีจะสลบ ก่อนที่ยาจะออกฤทธิ์ต้องคอยลุ้นว่ามันจะพลาดตกจากต้นไม้ไหม เพราะนั้นอาจทำให้มันพิการได้ หรือตอนที่ชะนีตกลงไปในน้ำ แม้ว่ามันจะไม่บาดเจ็บแต่ถ้าช่วยเหลือไม่ทันการณ์มันอาจจะจมน้ำตายได้ ยิ่งถ้าเป็นในป่าใหญ่แล้วละก็สัตว์ที่โดนยาสลบอาจหนีหายไป หมดสติ และกลายเป็นเหยื่อให้กับสิ่งมีชีวิตอื่นอย่างง่ายดาย

เพราะฉะนั้นการตัดสินใจของสัตวแพทย์ในการจับสัตว์มารักษาแต่ละครั้งเป็นความรักและความลำบากใจระคนกัน หมอเบนระบายความในใจเกี่ยวกับกรณีสะเทือนขวัญของการปลิดชีวิตกอริลล่าฮารัมเบเพื่อรักษาชีวิตเด็กน้อยวัย 4 ขวบที่ตกลงไปในกรงกอริลล่า และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในโลกโซเชียลว่าการฆ่ากอริลล่านั้นไม่เหมาะสมและควรจะมีทางออกอื่นสำหรับกรณีนี้ แต่หัวอกอย่างหมอสัตว์ป่า…นี่อาจเป็นวิธีที่ดีที่สุด

“รู้ไหมคนที่ยิงฮารัมเบเป็นสัตวแพทย์ที่ดูแลมันมาแต่เล็กเลยนะ คนทั่วโลกด่าว่าทำไมต้องยิงสัตว์ แต่ลองมาเป็นสัตวแพทย์จะรู้ว่ามันไม่ง่ายหรอกกับการต้องตัดสินใจชั่ววินาทีบวกกับความผูกพันที่เลี้ยงดูมายาวนาน ลองคิดดูว่าคนยิงจะมือสั่นขนาดไหน แล้วถ้าเขายิงพลาดไม่โดนจุดสำคัญ แปลว่าเด็กก็จะต้องตายไปด้วย

เป็นผม ผมคงตัดสินใจแบบเดียวกัน แต่คนอื่นๆมองต่างออกไป”

wildlife-vet04

นกที่ได้รับบาทเจ็บที่รับการรักษา

ความถูกต้อง

อีกหนึ่งเรื่องที่สร้างความลำบากใจในการทำงานให้กับหมอสัตว์ป่าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการรักษาสัตว์ คือการจัดการกับคนที่นำสัตว์ผิดกฎหมายมารักษา ด้วยจรรยาบรรณของแพทย์ไม่ว่าจะเป็นหมอคนหรือสัตว์ต้องรักษาชีวิตเป็นสำคัญ แต่การเป็นหมอสัตว์ป่านอกจากจะรักษาสัตว์ตัวนั้นแล้ว ยังต้องทำความเข้าใจกับเจ้าของสัตว์อีกด้วย

ซึ่งเจ้าของสัตว์เองก็มีหลายประเภท คนส่วนใหญ่มักขาดความรู้และไม่ทราบว่าสัตว์ที่ตนเลี้ยงอยู่ผิดกฎหมาย เช่นเดียวกับหมอเบนในวัยเด็กที่เห็นสัตว์หลายชนิดเป็นที่นิยมจึงเข้าใจว่าเลี้ยงได้ บางคนได้รับมาเป็นของขวัญ หรือบางคนให้ความช่วยเหลือสัตว์ที่ได้รับบาดเจ็บและเลี้ยงเอาไว้ อย่างไรก็ตามท่ามกลางความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ยังมีกลุ่มคนที่รู้อยู่เต็มอกว่าการครอบครองสัตว์ชนิดนั้นๆผิดกฎหมาย แต่ยังคงตั้งใจที่จะเลี้ยงไว้

“ลองนึกดูว่าถ้าคนเอาสัตว์ผิดกฎหมายมารักษากับเรา แล้วเราหวังดีโทรแจ้งความเอาผิดกับเจ้าของสัตว์ เขาจะทำยังไงบ้าง เขาคงจะโกรธและอาจจะบอกเพื่อนๆที่เลี้ยงสัตว์ในวงการเดียวกันว่าหมอโรงพยาบาลนี้แจ้งความจับเขา วันหลังอย่าเอามารักษาที่โรงพยาบาลนี้อีก ในยุคการสื่อออนไลน์อย่างทุกวันนี้ข่าวจะกระจายออกไปเร็วมากและจะไม่มีใครนำสัตว์มารักษาที่นี่อีกเลย

ผมไม่ได้ห่วงหรอกว่าจะไม่มีสัตว์มารักษา แต่ว่าหมอรักษาสัตว์ป่าหรือสัตว์เลี้ยงพิเศษในเมืองไทยมีไม่มาก ถ้าสัตว์ตัวนั้นป่วยความซวยจะตกอยู่กับสัตว์ทันที เพราะเจ้าของก็จะพยายามรักษาเอง ซึ่งอาจจะมั่วหรือรักษาไม่ถูกโรค มันเป็นภาวะที่หมอก็ไม่พอใจหรอกครับแต่ก็ต้องรักษา” เป็นอีกครั้งที่หมอเบนได้ระบายความคับข้องใจให้เราฟัง

หลังจากการรักษาแล้วหมอเบนจะพยายามพูดคุยกับผู้เลี้ยงเสมอว่าควรจะคืนสิ่งมีชีวิตเหล่านี้กลับสู่บ้านที่แท้จริงของมัน ความยาวนานของการเลี้ยงดูทำให้เกิดความผูกพันและความกังวลต่างๆนานาของผู้เลี้ยงว่าลูกรักของเขาจะมีชีวิตอย่างไร จะสามารถดำรงชีวิตอย่างสัตว์ป่าได้หรือไม่

“ถ้าปล่อยสัตว์ไปแล้วไม่ว่าเขาจะเป็นหรือตายก็ถือว่าเขาได้ทำหน้าที่ของเขาแล้ว นั้นแหละคือวิถีชีวิตของสัตว์ป่า ร่างกายและจิตวิญญาณของเขาได้เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติ” หมอเบนมักจะอธิบายอย่างนี้เสมอ เพราะการให้ความรู้คือสิ่งที่ดีที่สุดหมอทำได้ ส่วนที่เหลือคือการตัดสินใจของเจ้าของสัตว์เอง ซึ่งโดยมากแล้วเมื่อพวกเขามีความเข้าใจที่ถูกต้องก็ยินดีที่จะคืนสัตว์เหล่านั้นกลับสู่ธรรมชาติ

ความประทับใจ

แม้การทำงานของสัตวแพทย์สัตว์ป่าจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ฉันเชื่อว่าการช่วยเหลือชีวิตคงมีเรื่องดีๆให้ยิ้มได้บ้าง หมอเบนเล่าให้ฟังว่ามีความสุขทุกครั้งที่รักษาสัตว์แล้วมันหายป่วย ได้กลับไปอยู่กับคนที่มันรักหรือธรรมชาติที่มันจากมา และอีกสิ่งที่เป็นกำลังใจสำคัญในการทำงานคือครอบครัวการทำงานที่อบอุ่นและช่วยเหลือกัน

“อย่างเคสที่ผ่านมาคือการผ่าตัดเสือโคร่งด้วยเลเซอร์ ในเคสนี้ผมช่วยวางยาสลบได้ ขนย้ายสัตว์ได้ แต่เรื่องการใช้เลเซอร์ในการผ่าตัดผมทำไม่เป็นก็ต้องอาศัยอาจารย์ที่ชำนาญกว่ามาช่วย ซึ่งปรกติแล้วอาจารย์จะผ่าตัดม้า ผมก็มีหน้าที่ต้องอธิบายกายวิภาคของเสือให้อาจารย์ท่านนั้นเข้าใจและให้เขาเป็นคนบังคับเครื่องมือให้ มันเป็นการทำงานร่วมกันที่ผมรู้สึกว่าเจ๋งว่ะ มันเป็นการทำงานแบบช่วยๆกัน เอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน แต่ไม่ใช่การเอื้อประโยชน์ในทางลบนะ (หัวเราะ)” น้ำเสียงหมอเบนตื่นเต้นกว่าการตอบคำถามอื่นๆ และยังเน้นย้ำเสมอว่าการรักษาแต่ละครั้งไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยคนๆเดียว

wildlife-vet06

เป็นนกที่เข้าการรักษาที่ไม่ยอมกินอาหารต้องบังคับให้กินอาหาร

wildlife-vet07

อาหารของนกที่กินอาหารเองได้ จะเป็นอาการสำเร็จรูปที่มีความใกล้เคียงกับของกินในธรรมชาติ

ความลำบาก

อย่างไรก็ดีบุคลากรที่ทำงานสายนี้ดูเหมือนจะไม่เคยพอ ทำให้ความยากลำบากในการทำงานดูจะหนักหนาขึ้นไปอีก ชีวิตนับไม่ถ้วนยังรอรับการรักษารายวัน แต่สัตวแพทย์สัตว์ป่ายังขาดแคลน

“ปีหนึ่งๆมีสัตวแพทย์จบจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ประมาณร้อยกว่าคน อาจจะมาเป็นสัตวแพทย์สัตว์ป่าเพียง 1-2 คนเท่านั้น แต่ถ้าเราไม่สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเร่งสร้างบุคลากร หนึ่งหรือสองคนนี้อาจจะไม่มีเลยก็ได้”

หมอเบนจึงเน้นย้ำการให้ความรู้แก่ประชาชนควบคู่ไปกับการรักษาสัตว์ด้วย “ผู้ใหญ่ชอบสอนว่าทำดีต้องปิดทองหลังพระ แต่ที่ผมว่าทางที่ดีเราควรปิดทองทั้งองค์พระปฏิมาถึงจะสวย นั้นหมายความว่าเราทำดีก็ทำต่อไป แต่ต้องบอกให้คนอื่นรู้ด้วยเพื่อให้เขามาช่วยกันกับเรา”

หมอเบนจึงทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงแทนสัตว์ป่า เพื่อบอกเล่าถึงปัญหาหรือชะตากรรมที่พวกมันต้องเผชิญ ทั้งในหน้าเฟสบุ๊คที่เต็มไปด้วยภาพสัตว์ป่าที่เข้ารับการรักษา เช่น นกแสกตายเนื่องจากจับหนูที่โดนยาเบื่อหนูมากิน เต่ากระดองแตกเพราะโดนรถชน หรือลูกนกที่พลัดตกจากรัง เพื่อเป็นความรู้ให้ประชาชนมีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับสัตว์ป่าและการอนุรักษ์ในกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้หมอเบนกลายเป็นที่รู้จักทั้งในวงการอนุรักษ์และคนเลี้ยงสัตว์

——————————————————————-

เราเข้าไปชมเกาะนกขนาดสนามฟุตบอลของหน่วยช่วยเหลือนกป่า ซึ่งเป็นที่พักสัตว์ก่อนการนำไปปล่อยกลับสู่ธรรมชาติ เกาะนี้เป็นเนินดินที่มีคูน้ำเล็กๆล้อมรอบ กรงเหล็กขนาดใหญ่ 4- 5 กรงตั้งเรียงเป็นแถว ขนาบด้วยต้นไม้ใหญ่น้อยรอบบริเวณ

“ขวับ ขวับ ขวับ”

เสียงตีปีกของนกเงือกตัวใหญ่บินเข้ามาหาเรา ตั้งแต่ยังไม่ทันจะเปิดประตูกรงเข้าไปเสียด้วยซ้ำ

สัตว์ส่วนใหญ่ที่ถูกส่งมาที่นี่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยมนุษย์เป็นเวลานานจนมีพฤติกรรมหลายชนิดไม่เอื้อต่อการดำรงชีวิตตามธรรมชาติ หรือที่สัตวแพทย์มักเรียกว่าพวกมัน “เสียพฤติกรรม” สัตว์ป่าไปแล้ว นกหลายชนิดคุ้นเคยกับคนมากอย่างเช่นนกเงือกตัวนี้ หรือชะนีที่ถูกฝึกให้ต้อนรับนักท่องเที่ยว บางตัวก็จะมีพฤติกรรมเลียนแบบมนุษย์ เช่น การสูบบุหรี จับมือ หรือถ่ายรูป บ้างก็ถูกขังอยู่ในกรงขนาดเล็กเป็นเวลานานจนมีความเครียดสะสม

“ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้กลับบ้าน” พี่หมอบอกกับเรา

“การจับสัตว์สักตัวมาขาย เพียงแค่ไปพรากมันมาจากรังตั้งแต่วัยเด็ก นำมาขายทั้งในตลาดจริงและตลาดออนไลน์ เมื่อมีคนซื้อไปก็ถือว่าจบกระบวนการขาย ในขณะที่กระบวนการฟื้นฟูและปรับพฤติกรรมสัตว์เพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติเป็นเรื่องที่มีความยุ่งยากและใช้เวลานานกว่ามาก”

คนทั่วไปจะเลี้ยงสัตว์ให้มันรักเรา สำหรับหมอสัตว์ป่าแม้จะรักษาด้วยความรักแต่ต้องทำให้สัตว์เกลียด เพราะการกลัวคนเป็นสัญชาตญานจำเป็นที่ต้องได้รับการฟื้นฟูก่อนปล่อยออกสู่ธรรมชาติ โดยหมอจะใช้วัสดุนุ่มๆตีเมื่อเข้าไปใกล้สัตว์ มิใช่เพื่อการทำร้ายแต่เพียงทำให้มันตกใจเมื่อคนเข้ามาใกล้ เมื่อสัตว์แข็งแรงดีและเริ่มกลัวคนมากชึ้นแล้ว นั้นแปลว่าอีกไม่นานพวกมันจะได้กลับคืนสู่บ้านที่แท้จริง

wildlife-vet08

นกเค้าเหยี่ยวที่เข้ารับการรักษาที่ไม่สามารถบินได้

wildlife-vet09

ระหว่างที่ น.สพ.เบญจพล หล่อสัญญาลักษณ์ เข้าไปรักษานก

ไม่ใช่ทุกตัวที่จะได้กลับบ้าน

เพราะว่าหมอเทวดาไม่ได้มีในโลก การรักษาจึงมักมาคู่กับการสูญเสียเสมอ ในกรณีของสัตว์ป่าก็เช่นกัน มีสัตว์หลายตัวที่เข้ามารับการรักษาและเสียชีวิตด้วยหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความผิดพลาดจากมนุษย์ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือความไม่พร้อม แต่ละเคสที่หมอเบนเล่าให้เราฟังนั้นยากเกินที่จะคาดเดาจริงๆ

“เมื่อไม่นานนี้ก็มีกระจงควายตาย เราเอาไปขังไว้ในกรงนกเงือก พอเช้ามาเจอนอนตายหน้าเละเลยเพราะมันวิ่งชนกรง ผมเองก็แปลกใจเพราะว่ามันไม่ได้ดื้อขนาดนั้น ตอนหลังถึงรู้ว่ามีเหี้ยข้างนอกกรงพยายามจะมากินกระจง ทำให้มันตกใจวิ่งชนกรงไปรอบๆ และด้วยความที่กรงนกมีลักษณะเป็นซี่ตาข่ายทำให้มันได้รับบาดเจ็บ แต่เราไม่มีกรงขังสัตว์ประเภทนี้ซึ่งจริงๆจะมีลักษณะปิดทึบด้านล่างและเปิดโล่งด้านบน

“บางครั้งก็เกิดความผิดพลาดจากคน เช่น ให้ผู้ช่วยจับนกแต่ว่าเขากลัวจะทำนกหลุดเลยจับแน่นเกินไปทำให้นกตายคามือ หรือฝากนักศึกษาให้อาหารสัตว์โดยการสอดท่อลงไปในกระเพาะอาหารแล้วฉีดอาหารเหลวผ่านท่อนั้น แต่นักศึกษาสอดท่อผิดเข้าไปทางหลอดลมแทน อาหารเหลวจึงเข้าไปในปอด ทำให้นกตัวนั้นตายในที่สุด

“ในขณะเดียวกันเราจะไม่ให้นักศึกษาทำเลยก็ไม่ได้เพราะเขาต้องเรียนรู้ ทุกอย่างล้วนเป็นบทเรียนกับเราทั้งหมด ที่เราจะต้องนำมาสอนและนำมาแก้ไข เขาจะได้ไปช่วยเหลือชีวิตอื่นต่อไป”
เป็นเรื่องยากที่สัตวแพทย์สัตว์ป่าจะเรียนรู้ในการดูแลรักษาสัตว์หลากหลายชนิด และความผิดพลาดเล็กๆน้อยอาจหมายถึงการสูญเสียชีวิตหนึ่งชีวิต สัตวแพทย์สัตว์ป่าจึงเป็นงานที่ไม่เพียงแต่ต้องใช้ใจเป็นพิเศษ แต่ยังต้องใส่ใจเป็นพิเศษอีกด้วย

——————————————————————-

นกในกรงร้องดังกว่าเดิมพร้อมๆกับสายฝนที่ปรอยลงมา เราเร่งสาวเท้ากลับเข้าไปในอาคารก่อนที่เราจะเปียกปอนและสายฝนก็เทลงมาไล่หลังเราพอดี

ฉันไม่รู้ว่าเพราะฝนตกหรือภาพที่พึ่งเห็นเมื่อครู่กันแน่ที่ทำให้ฉันรู้สึกเศร้า

นกตัวโตที่ต้องใช้ชีวิตในกรงเล็กๆเกือบตลอดชีวิตของมันแทนที่จะได้โบยบินในป่าใหญ่ แทนที่จะได้ช่วยขยายพันธุ์ต้นไม้ แทนที่จะหาคู่และดำรงเผ่าพันธุ์ แต่หนึ่งความโชคดีของพวกมันคือการได้รับการดูแลและรักษาด้วยหัวใจ ได้เป็นบทเรียนให้นักศึกษา ได้บอกเล่าเรื่องราวแทนสัตว์ป่าอีกมากมาย ฉันหวังว่าสักวันพวกมันจะได้ “กลับบ้าน”

ฝนหยุดตกแล้ว ถึงเวลาที่ฉันจะต้องกลับบ้านบ้าง

ฉันมองออกไปข้างนอกนั้น ฉันรู้สึกราวกับเห็นสายรุ้ง

banner-camp-12-for-web