เรื่อง : ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง
ภาพ: ประเวช ตันตราภิรมย์, หอภาพยนตร์

สันติ-วีณา -  ภารกิจตามหาฟิล์มหนัง อายุ ๗๐ ปี

เมื่อ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๙ กระทรวงวัฒนธรรม และหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) แถลงข่าวการค้นพบฟิล์มต้นฉบับภาพยนตร์เรื่องสันติ-วีณา ซึ่งสร้างในปี ๒๔๙๗ ผลงานกำกับของ “มารุต” (ทวี ณ บางช้าง) อำนวยการสร้างโดย รัตน์ เปสตันยี นี่เป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ถ่ายทำด้วยฟิล์มสี ๓๕ มิลลิเมตร และยังเป็นเรื่องแรกที่คว้ารางวัลในต่างประเทศจากงานภาพยนตร์นานาชาติแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ ๑ ณ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่นในปีเดียวกัน ภายหลังการประกวดระหว่างนำฟิล์มต้นฉบับกลับประเทศนั้นถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้า จำเป็นต้องทิ้งฟิล์มเนกะทีฟไว้ที่ญี่ปุ่น และเชื่อว่าฟิล์มต้นฉบับสูญหายระหว่างส่งไปเก็บรักษาที่ห้องแล็บของบริษัทแรงก์แลบอราทอรีส์ ประเทศอังกฤษ ที่พบในไทยเป็นเพียงฉบับฟิล์ม ๑๖ มิลลิเมตรซึ่งคุณภาพไม่ดีมาก ๆคำบอกเล่าจาก สัณห์ชัย โชติรสเศรณี รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการหอภาพยนตร์ ผู้มีส่วนสำคัญในการติดตามฟิล์มดังกล่าวซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายดาย และแสดงว่าการค้นพบนี้มีความสำคัญเพียงใด


santivena02

สัณห์ชัย โชติรสเศรณี รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการหอภาพยนตร์ ผู้มีส่วนสำคัญในการติดตามหนัง

แกะรอยสามประเทศ

หอภาพยนตร์และหลายคนที่รู้จักเรื่องราวของหนังเรื่องนี้พยายามตามหาฟิล์มต้นฉบับมานานแล้ว โดยฝากสอบถามทางหอภาพยนตร์ที่ต่าง ๆ เหตุการณ์ที่ทำให้เริ่มติดตามจนพบนั้นเกิดเมื่อปี ๒๕๕๕ อลงกต ใหม่ด้วง หรือ “กัลปพฤกษ์” นักวิจารณ์ภาพยนตร์ไทยซึ่งศึกษาระดับปริญญาเอกที่อังกฤษ ได้ไปใช้บริการสถาบันภาพยนตร์อังกฤษ (British Film Institute – BFI) โดยแสดงความประสงค์จะดูหนังไทย เมื่อเจ้าหน้าที่ค้นข้อมูลและพบฟิล์มเสียงต้นฉบับของหนัง เขาจึงแจ้งหอภาพยนตร์ของไทยในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่สัณห์ชัยติดต่อหอภาพยนตร์ของสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหภาพโซเวียต ตามข้อมูลที่บันทึกว่าผู้จัดจำหน่ายจากทั้งสองประเทศเคยซื้อภาพยนตร์เรื่องนี้เมื่อปี ๒๕๐๐ จนค้นพบฟิล์มจากทั้งสองประเทศในที่สุด แม้จะเป็นฟิล์มโพซิทีฟที่เสื่อมสภาพมากแล้ว

อย่างไรก็ตามระหว่างเตรียมบูรณะฟิล์มและขอข้อมูลฟิล์มเสียงจากสถาบันภาพยนตร์อังกฤษนั้นเอง สัณห์ชัยพบเลขลำดับการเก็บที่ข้ามไป สืบค้นโดยละเอียดก็พบว่าแท้จริงฟิล์มเนกะทีฟของหนังเต็มเรื่องถูกจัดแยกจากฟิล์มเสียงด้วยชื่อตัวสะกดต่างกัน และมีสถานะรอการตรวจสอบที่ BFI ซึ่งต่างจากข้อมูลในอดีตที่เชื่อว่าฟิล์มหนังต้นฉบับได้รับความเสียหายระหว่างการขนส่งทางเรือ

สู่การบูรณะ

เมื่อพบฟิล์มเนกะทีฟที่คุณภาพดีที่สุด หอภาพยนตร์จึงนำไปบูรณะที่แล็บลิมมาจีเนรีโตรวาตา (L’Immagine Ritrovata laboratory) ประเทศอิตาลี ซึ่งผลงานการบูรณะได้รับการยอมรับ เช่น หนังชาร์ลี แชปลิน หนังฝรั่งเศสของ ฟรองซัว ตรูโฟ (François Roland Truffaut) หรือหนังอาเซียนอย่าง After the Curfew (หนังอินโดนีเซียปี ๒๔๙๗) การซ่อมแซมฟิล์มเริ่มจากทำความสะอาดฟิล์มต้นฉบับที่มีเชื้อรา แล้วแก้สีที่ซีดด้วยการแต่งสีทีละเฟรมภาพซึ่งต้องถกเถียงกันมากเนื่องจากไม่มีหลักฐานอ้างอิงนัก นอกจากนำไปเทียบกับฟิล์มฉบับของจีนและโซเวียต ไม่ว่าจะเป็นสีของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ฉากสถานที่ และเวลากลางวัน-กลางคืน ผลการเทียบยังทำให้เห็นว่าฉบับดังกล่าวมีฉากเพิ่มเติมที่ต่างจากฟิล์มเนกะทีฟ จึงนำมาใส่ร่วมด้วย

รวมกระบวนการเหล่านี้ทั้งสิ้นประมาณ ๑,๗๐๐ ชั่วโมง หรือราว ๙ เดือน ด้วยความเก่าของฟิล์ม หลังบูรณะเสร็จก็ยังพบปัญหาของภาพอย่างน่าเสียดายในช่วง ๑๐ นาทีแรกซึ่งโทนสีของหนังอมเขียวต่างจากช่วงอื่น ๆ

santivena03

ภาพจากภาพยนตร์หลังผ่านการบูรณะ

ความสำคัญของสันติ-วีณา

หนังว่าด้วยโศกนาฏกรรมความรักอันแสนบริสุทธิ์ของสันติ ชายหนุ่มตาบอด กับวีณานั้น สัณห์ชัยให้ความเห็นว่า สิ่งที่น่าทึ่งคือการถ่ายภาพอันสวยงามในฉากถ้ำที่เขาหลวง การแทรกวัฒนธรรมไทย เช่น ฉากรำไทย ประเพณีการลอยกระทง จนไม่น่าแปลกใจว่าทำไมหนังจึงได้รางวัลรวมสามรางวัล ได้แก่ ถ่ายภาพยอดเยี่ยม กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม และรางวัลพิเศษจากสมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งอเมริกา ในฐานะภาพยนตร์ที่แสดงออกถึงวัฒนธรรมของเอเชีย ข้อเสียคือปัญหาด้านการบันทึกเสียงเพราะอุปสรรคความยากในการถ่ายทำในอดีต เสียงส่วนใหญ่เป็นเสียงพากย์และมีช่วงที่เยิ่นเย้อแบบหนังไทยยุคนั้น

“แต่เมื่อดูจนจบ ความซาบซึ้งในโศกนาฏกรรมความรักยังมีอยู่ ไม่ว่าผมหรือหลายคนที่ดู บางคนก็ร้องไห้ เขารู้สึกจับใจกับเรื่องราวของหนัง” และสุดท้ายความเก่าที่กลับมาใหม่อย่างสมบูรณ์ก็ช่วยกลบข้อด้อยของหนัง

ย้อนกล่าวถึง รัตน์ เปสตันยี ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ทั้งยังทำหน้าที่ถ่ายภาพและตัดต่อ เป็นหนึ่งในผู้สร้าง-ผู้กำกับที่ได้รับการยกย่อง เพราะขณะภาพยนตร์ไทยยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ถ่ายทำด้วยฟิล์ม ๑๖ มิลลิเมตรเกือบทั้งหมด รัตน์ และ โรเบิร์ต จี. นอร์ท ผู้สร้างร่วม พวกเขาเป็นไม่กี่คนที่ใช้ฟิล์ม ๓๕ มิลลิเมตร ซึ่งราคาแพงกว่ามาก ถ่ายทำยากกว่า และอยากจะผลักดันวงการหนังไปสู่มาตรฐานสากล ไม่ว่าจะเป็นการสั่งเครื่องมือถ่ายทำจากต่างประเทศ การส่งหนังไปฉายยังเทศกาลหนัง รวมถึงความกล้าในการใช้ภาษาหนังหรือรูปแบบที่ต่างจากขนบหนังไทยในสมัยนั้น เช่น โรงแรมนรก (๒๕๐๐) สวรรค์มืด (๒๕๐๑) แพรดำ (๒๕๐๔) แม้ผลตอบรับด้านรายได้จะไม่ดีนักก็ตาม

ความสำคัญของสันติ-วีณาจึงเสมือนเป็นหลักฐานสำคัญดังกล่าวอย่างชัดเจน “คนเหล่านี้ไม่ได้มาจากความบังเอิญ แต่มีความตั้งใจมาแต่เดิม เขาทำมาด้วยความตั้งใจ และประสบความสำเร็จจริง ๆ” สัณห์ชัยกล่าว

santivena04

ประกาศนียบัตรรับรองการเข้าฉายในสาย Cannes Classics ปีล่าสุดที่เทศกาลหนังเมืองคานส์

santivena05

santivena06

santivena07

สู่คานส์ ฝรั่งเศส และสู่สายตาคนไทย

นอกเหนือจากเรื่องน่ายินดีของการค้นพบฟิล์ม ในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๙ หนังยังได้รับคัดเลือกให้ฉายในสาย Cannes Classics ซึ่งฉายหนังเก่าที่ผ่านการบูรณะอย่างดี (restored prints)
ของเทศกาลหนังเมืองคานส์ครั้งที่ ๕๙ ประเทศฝรั่งเศส เทศกาลหนังที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จากการคัดเลือกหนังกว่า ๒๐๐ เรื่อง และเป็นหนังจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรื่องเดียวที่ได้รับเกียรติให้ฉายในปีนี้ เพราะการบูรณะที่ดีจนได้ภาพสวยงามและเนื้อหาจับใจ

ในอีกมุมสัณห์ชัยมองว่าการตามหาอันยากลำบากน่าจะมีส่วนสำคัญให้หนังได้รับคัดเลือกด้วย หลังจากฉายจบหลายคนอดทึ่งไม่ได้ว่าหนังที่หายไปกว่า ๖๐ ปีกลับมาเหมือนใหม่เหมือนสร้างเมื่อวาน

แต่เหนืออื่นใดสำหรับสัณห์ชัยนี่คือบทพิสูจน์ถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ภาพยนตร์ “แต่ไหนแต่ไรมาคนจะคิดว่าหนังไทยเก่าคือภาพฝนตก สีซีดแดง เราต้องเก็บดี ๆ ให้มีมาตรฐานสิ และนี่คือผลสัมฤทธิ์ของมัน

“หน้าที่ของการอนุรักษ์ภาพยนตร์ ในการเก็บภาพเคลื่อนไหว ถ้า BFI เกิดคำถามต่อการเก็บหนังเรื่องนี้หรืองานเหล่านี้ เขาคงทิ้งไปแล้ว สิ่งที่เราทำทุกวันนี้ไม่มีวันรู้เลยว่าอนาคตจะมีใครใช้ประโยชน์ยังไง” ไม่ต่างจากความสำคัญของวิชาชีพอื่น ๆ ที่หากตั้งใจจริงล้วนมีสิ่งจำเป็น หอภาพยนตร์ที่เก็บสิ่งต่าง ๆ นั้นไม่ใช่ทำเพื่ออดีต แต่เพื่อประโยชน์แก่คนรุ่นหลัง

ทั้งนี้ สันติ-วีณา ยังเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรรอบปฐมทัศน์ที่โรงภาพยนตร์เอ็มไพร์ ซึ่งหอภาพยนตร์และกระทรวงวัฒนธรรมได้จัดฉายเมื่อ ๑๕ กรกฎาคมที่ผ่านมา ณ โรงภาพยนตร์สกาล่า อันเป็นหนึ่งในกิจกรรมพิเศษ “เมื่อครั้งเสด็จฯ ทอดพระเนตรภาพยนตร์” เนื่องในโอกาสมหามงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๗๐ ปี