เรื่อง : ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์

appbike01
ย้อนกลับไปตอนเริ่มปั่นจักรยานใหม่ๆ ผมปั่นจักรยานจากบ้านไปเรียนที่มหาวิทยาลัยด้วยระยะทาง ๖-๗ กิโลเมตร

ถ้าเป็นเดี๋ยวนี้ไม่รู้สึกว่าไกลเลย ปั่นแป๊บเดียวก็ถึง แต่ตอนเริ่มต้นระยะทางเท่านี้กลับเป็นระยะวัดใจผมมาก

บ้านผมอยู่ในซอยลึกและตัน ตอนเด็ก ๆ จึงคุ้นเคยกับการปั่นจักรยานไปปากซอยเพื่อหาของกินเสมอ ผมรู้สึกว่าทางในซอยพอปั่นได้ไม่อันตราย

พอตัดสินใจปั่นไปมหาวิทยาลัยจึงคิดหาทางเข้าซอยให้มากที่สุด สมัยนั้นไม่มีแผนที่บนโลกออนไลน์อย่างทุกวันนี้ ผมลงทุนซื้อแผนที่กรุงเทพฯ ฉบับพกพา เพื่อวางแผนหาเส้นทางปั่นจักรยานและหาสายรถเมล์ ไปยังที่ต่าง ๆ ในเมืองด้วย

คนที่รู้จักผม ใครเห็นผมหยิบแผนที่ขึ้นมากางเป็นอันอดขำไม่ได้ เพราะผมเกิดและโตจนเป็นหนุ่มก็อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ มาตลอด แต่ไปไหนมาไหนกลับต้องกางแผนที่ดูเสมอ

แน่ละ เพราะเมื่อลองปั่นสัญจรจริง ๆ จะพบว่า ถ้าหาเส้นทางที่ดี ๆ เจอ เราสามารถไปได้ทั่วกรุงเทพฯ ชั้นในอย่างสบาย ๆ ในเวลาที่ควบคุมได้แน่นอน ช่วงเร่งด่วนจักรยานมักเดินทางได้เร็วกว่ารถยนต์เสมอ

การเดินทางด้วยจักรยานสร้างความเข้าใจใหม่ให้ผมว่า แท้จริงแล้วกรุงเทพฯ ไม่ใหญ่เลย ท่าพระจันทร์ไปสยามห่างกันเพียง ๑๕ นาทีเท่านั้น

หลังจากปั่นจักรยานไปกลับได้ปีกว่า ๆ ผมรู้สึกว่าจักรยานเป็นทางเลือกที่ยอดเยี่ยมของคนเมือง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่

ทำไมเราต้องยอมจ่ายเงินจากน้ำพักน้ำแรงหลายปีไปซื้อรถยนต์คันละหลายแสนเพื่อแลกกับความสุขสบายในการเดินทาง ซึ่งเอาเข้าจริงหลายครั้งการติดแหง็กอยู่ในรถยนต์ที่ขยับเขยื้อนไปไหนไม่ได้กลายเป็นความทุกข์แสนสาหัส

ไหนจะค่าใช้จ่ายแฝง ค่าน้ำมัน ค่าบำรุงรักษาต่าง ๆ ไหนจะมลพิษจากการใช้รถอีกมากมาย

หลายคำถามวนเวียนอยู่ในหัว และนับจากนั้นผมก็เฝ้าฝันถึงเมืองในฝันมาตลอด

แล้วโชคชะตาก็พัดพาโอกาสให้ผมได้ทำงานเรื่องจักรยาน แม้มูลนิธิโลกสีเขียวจะเป็นองค์กรเล็ก ๆ ที่ไม่มีอำนาจตรากฎหมาย หรือออกระเบียบบังคับแบบราชการ

แต่งานจักรยานเป็นงานที่ต้องเริ่มด้วยทัศนคติเป็นอันดับแรก เราต้องเปลี่ยนความคิดให้คนในสังคมยอมรับและเห็นความเป็นไปได้ในการใช้จักรยานสัญจรเสียก่อน

เราขายฝันด้วยวาทกรรมเมืองจักรยาน นำเสนอทางออกของเมืองรถติดที่พลอยทำให้ทุกอย่างติดขัด กระทบทุกกิจกรรม ทั้งการกิน การนอน แม้กระทั่งการหายใจ เปลี่ยนให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองสัญจรสะดวก สูดหายใจปลอดโปร่ง แถมยังได้พื้นที่สาธารณะกลับคืนมาอีกมาก ซึ่งต้องแก้ที่การลดรถยนต์ส่วนตัว พัฒนาทางเดินเท้า จักรยาน ควบคู่ไปกับระบบขนส่งมวลชน

อีกทางหนึ่งเราทำงานร่วมกับอาสาสมัครชาวจักรยานรุ่นบุกเบิก ออกสำรวจและคัดสรรเส้นทางที่เหมาะสมต่อการปั่นสัญจรรวมเป็นหนังสือแผนที่ปั่นเมือง เพื่อเผยแพร่ให้ผู้สนใจปั่นสัญจรได้สะดวกขึ้น เพราะเส้นทางที่ดี ๆ จะสร้างประสบการณ์ที่ดีในการปั่นจักรยาน เหมือนกับที่ผมพบเจอเมื่อเริ่มปั่นใหม่ ๆ

โชคดีที่หลายฝ่ายเอาด้วยจนปลุกกระแสจักรยานสำเร็จ กลายเป็นที่นิยมไปทั่วประเทศ

แม้ปีที่แล้วประเทศไทยจะเป็นเจ้าของสถิติโลกด้านจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมปั่นจักรยานเยอะที่สุดในโลกจนได้ลงกินเนสส์เวิลด์เรก-คอร์ดส์ แต่ในความเป็นจริงเมืองกลับไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมเท่าไรนัก โดยเฉพาะในเมืองกรุง รถยังคงติดขัด อากาศยังเสีย ทางจักรยานที่มีก็ยังคงใช้ไม่ได้เหมือน ๆ เดิม

นั่นเป็นเพราะบรรดานักปั่นจักรยานของเรายังไม่ได้หันมาใช้จักรยานสัญจรในชีวิตประจำวัน กระแสจักรยานถูกเบนเข็มไปในทางนันทนาการและกีฬาเพื่อสุขภาพในที่สุด

เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะสภาพทางกายภาพของเมืองเราหลายอย่างยังไม่เอื้อต่อการใช้จักรยานสัญจร หลุมบ่อ ไฟ ฝาท่อ ทางปั่น ยันที่จอดจักรยาน ยังคงเป็นปัญหาคลาสสิก ยิ่งข่าวอุบัติเหตุรถยนต์ชนผู้ขี่จักรยานเสียชีวิตมีบ่อยครั้งขึ้น ย่อมบั่นทอนความรู้สึก จนจำนวนคนปั่นจักรยานในเมืองลดน้อยลง เห็นได้ชัดจากจำนวนทริปจักรยานปั่นเที่ยวในกรุงเทพฯ ที่เคยมีมากจนคืนหนึ่ง ๆ ต้องสวนทางกันหลายเที่ยว เดี๋ยวนี้ลดลงจนแทบไม่เห็นแม้ขบวนเดียวใน ๑ คืน

appbike02

จักรยานจะพลิกฟื้นวิกฤตเมืองได้ก็ต่อเมื่อมันได้ทำหน้าที่เป็นพาหนะส่วนตัวทดแทนรถยนต์ ด้วยขนาดที่เล็ก แต่เปิดกว้างทุกสัมผัสและการรับรู้ เหนื่อยแรงแต่เงียบไร้มลพิษและดีต่อสุขภาพ ช้าแต่คล่องตัวลัดเลาะสะดวกรวดเร็ว

คุณสมบัติพิเศษเหล่านี้จะคลายปมเมืองรถยนต์ได้ก็ต่อเมื่อมีคนใช้จักรยานในเมืองจำนวนมากพอ แต่คนจะใช้จักรยานก็ต่อเมื่อรู้สึกว่ามันสะดวกและปลอดภัยเพียงพอ สถานการณ์รณรงค์จักรยานในตอนนี้เป็นช่วงน่าอึดอัดพอสมควร เพราะแม้กระแสนิยมจักรยานจะเติบโตมาจนเหมือนจะสุดทางแล้ว แต่การพัฒนาด้านกายภาพและระบบสัญจร ขนส่งมวลชนยังไม่เอื้อต่อการปั่นสัญจรเท่าที่ควร หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงกระแสจักรยานอาจค่อย ๆ ซบเซา แล้วโอกาสในการพลิกวิกฤตเมืองก็อาจหมดลง

คีย์เวิร์ดสำคัญที่พอจะทำได้ตอนนี้คือเราต้องหาทางกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านกายภาพและระบบสัญจรให้เอื้อต่อการสัญจรเพื่อทุกคนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อย่างน้อยที่สุดทำให้การขี่จักรยานและการเดินเท้าสะดวกปลอดภัยยิ่งขึ้น

ลำพังแผนที่เส้นทางจักรยานและวาท-กรรมเมืองจักรยานที่ยังไปไม่ถึงความจริง คงไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงเมือง

สองปีที่ผ่านมาแอปพลิเคชัน “ปั่นเมือง” จึงได้รับการพัฒนาด้วยความหวังว่าจะเป็นไม้งัดสำคัญที่เปลี่ยนไปสู่เมืองสัญจรสะดวกในที่สุด

แอปฯ ปั่นเมืองออกแบบมาเพื่อเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้จักรยานสัญจร โดยมุ่งแบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่การสัญจร เช่น แผนที่เส้นทางจักรยานเลี่ยงรถยนต์ ร้านจักรยาน ที่จอดจักรยาน และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญที่เอื้อให้ผู้ใช้จักรยานมีความสะดวก มั่นใจ และรู้สึกปลอดภัยยิ่งขึ้น

นอกจากนั้นแอปฯ ปั่นเมืองยังเก็บข้อมูลปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ในการสัญจรด้วย เช่น ปัญหาตะแกรงฝาท่อ หลุม บ่อ สิ่งกีดขวางทาง ร่มเงา แสงสว่าง ตลอดจนปัญหาระบบจราจร

ข้อมูลเหล่านี้จะอัปเดตอยู่เสมอ โดยทุกคนที่ใช้แอปฯ เป็นทั้งผู้ใช้ ผู้เพิ่ม และผู้ตรวจทานข้อมูล เกิดเป็นระบบ crowdsourcing (ปัญญาจากฝูงชน) ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะหากมีผู้ใช้เยอะ เราจะยิ่งได้ข้อมูลที่แม่นยำจำนวนมากมายในเวลาอันรวดเร็ว ยิ่งไปกว่านั้นฐานข้อมูลนี้เปิดเผยสู่สาธารณะซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาเมืองจักรยานต่อไป

ระบบ crowdsourcing เป็นเครื่องมืออันทรงพลังในยุคดิจิทัลที่ทำให้ปัจเจกชนรวมพลังสร้างสรรค์สังคมได้ง่ายขึ้น แต่ละคนสามารถช่วยกันคนละไม้คนละมือแม้ไม่รู้จักกันเลยก็ได้ แอปฯ ปั่นเมืองจึงอาจเรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือสร้างเมืองจักรยานภาคประชาชน เพราะข้อมูลที่จำเป็นต่อการใช้จักรยานในเมืองได้รับการรวบรวมโดยประชาชนนั่นเอง

เชิงอรรถ

๑ “ปั่นเมือง” พัฒนาโดยโครงการพลเมืองเปลี่ยนกรุงของมูลนิธิโลกสีเขียว ด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือของภาคประชาชนในการสร้างสรรค์เมืองให้เอื้อต่อการสัญจรด้วยจักรยานมากขึ้น โดยรวบรวมข้อมูลเส้นทางปั่น สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการใช้จักรยาน พร้อมทั้งรายงานปัญหา อุปสรรคในการสัญจรต่าง ๆ เพื่อให้ภาครัฐและผู้เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขต่อไป (หากมีข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงโปรดส่งมาที่ gwf@greenworld.or.th)

๒ อ้างอิงจาก ดร. ภิญโญ รัตนาพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาองค์กร