ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน
ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ ประเทศไทย) : ถ่ายภาพ

Trees4All จากคนเมืองถึงเกษตรกร ระบบติดตามผลอุปถัมภ์ต้นไม้
สิ่งที่ยากสำหรับการปลูกต้นไม้ คือการดูแลและทำให้ต้นไม้อยู่รอด วัตถุประสงค์หลักของโครงการ Trees4All คือช่วยเกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาปลูกไม้ยืนต้นในพื้นที่ของตัวเอง โดยมีเกษตรกรเป็นหัวใจหลักในการดูแลและติดตามการเติบโตของต้นไม้

เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๖ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า หรือ รีคอฟ ประเทศไทย องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ทำงานด้านวนศาสตร์ชุมชน ร่วมกับกลุ่มรักษ์สันติสุข คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบัน ChangeFusion ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเปิดตัวเว็บไซต์ trees4allthailand.org ภายใต้โครงการ “ต้นไม้ของเรา” (Trees4All) ณ ห้องไชน่ารูม สำนักงานใหญ่รีคอฟ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

แนวคิดของโครงงาน Trees4All คือเปิดรับเงินบริจาคเพื่ออุปถัมภ์ต้นไม้ เชื่อมโยงผู้บริจาคเข้ากับเกษตรกรรายย่อยที่รับดูแลต้นไม้ในพื้นที่อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน

น่านเป็นหนึ่งในจังหวัดทางภาคเหนือที่สูญเสียพื้นที่ป่าไม้ให้กับพืชเชิงเดี่ยวมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ เกษตรกรรายย่อยจำนวนมากติดอยู่ในวังวนหนี้สินจากการทำไร่ข้าวโพด ต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นทุกปีจากระบบเกษตรแบบพันธสัญญา แม้ว่าจังหวัดน่านจะเป็นต้นน้ำของแม่น้ำน่านที่กรมชลประทานระบุว่ามีสัดส่วนของน้ำไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาถึงร้อยละ ๔๐ แต่หลายปีแล้วที่ระบบนิเวศบนพื้นที่สูงของจังหวัดน่านเสื่อมโทรมลงจากการลดลงของป่าต้นน้ำ ประเมินว่าพื้นที่ป่าไม้ของน่านถูกทำลายไปมากกว่า ๑ ล้านไร่ภายหลังรัฐบาลส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เมื่อราว ๓๐ ปีก่อน เกิดการแผ้วถางป่าขนานใหญ่เพื่อทำไร่ข้าวโพด

tree4all02
ข้อมูลต้นไม้, ความกว้างเรือนยอด, ความโตคอราก รวมถึงรายละเอียดเพิ่มเติมต่างๆ เช่น ถูกแมลงกัดแทะ สมบูรณ์ ใกล้ตาย ใบแห้ง ใบเหลือง ฯลฯ จะถูกบันทึกสม่ำเสมอโดยเกษตรกรผู้รับผิดชอบดูแลต้นไม้ แอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือช่วยบันทึกและรายงานข้อมูล

รีคอฟ ประเทศไทย และองค์กรร่วมจัด จึงริเริ่มโครงการ Trees4All ระดมทุนปลูกต้นไม้แบบติดตามผล

วรางคณา รัตนรัตน์ ผู้อำนวยการรีคอฟ ประเทศไทย ให้รายละเอียดว่า การปลูกต้นไม้เป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกให้ความเห็นว่าเป็นหนึ่งในวิธีช่วยโลกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราสามารถลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกและลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงขึ้นด้วยการปลูกต้นไม้ การปลูกต้นไม้เป็นวิธีการที่ง่าย ไม่ว่าใครก็สามารถปลูกต้นไม้ได้ แต่สิ่งที่ยากคือการดูแลและทำให้ต้นไม้อยู่รอด เกษตรกรหรือคนที่อยู่ในพื้นที่เป็นหัวใจหรือตัวเอกที่จะทำให้การปลูกต้นไม้ประสบความสำเร็จ โครงการ Trees4All จึงมุ่งสนับสนุนเกษตรกรผู้มีส่วนสำคัญในการดูแลต้นไม้

“โครงการเริ่มมาจากแนวคิดว่าพวกเราทุกคนเกี่ยวข้องกัน ไม่ว่าเราอาศัยจะอยู่ที่ไหนในโลกนี้ เราต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันและต้องพึ่งพาระบบนิเวศ วันนี้เรามองเห็นปัญหา คือป่าต้นน้ำเสื่อมโทรมลง เมื่อป่าเสื่อมโทรมเราได้รับผลกระทบ ไม่ว่าปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาหมอกควัน การปลูกพืชเชิงเดี่ยวซึ่งเป็นพืชไร่ระยะสั้นยังทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีในผืนดินและแหล่งน้ำ เมื่อทุกๆ ชีวิตต้องพึ่งพิงกัน ก็ควรจะช่วยเหลือกันในการรับผิดชอบดูแลระบบนิเวศ พยายามแบ่งเบาภาระคนต้นน้ำ ไม่ใช่ปล่อยให้คนต้นน้ำเท่านั้นที่ต้องแบกรับความรับผิดชอบ คิดว่าจะต้องมีสะพานเชื่อมให้เราในฐานะคนปลายน้ำมีโอกาสช่วยเหลือคนต้นน้ำได้ ถ้าเรายื่นมือออกมาช่วยเหลือกันโดยรับอุปถัมภ์ต้นไม้ ก็เป็นทางหนึ่งที่เราจะช่วยคนต้นน้ำในการดูแลระบบนิเวศได้”

โครงการ Trees4All เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ด้วยการเปิดระดมทุนผ่านเว็บไซต์ taejai.com (เทใจดอทคอม) ให้ประชาชนบริจาคเงินเข้ามาอุปถัมภ์ต้นไม้ โดยมีเกษตรกรในโครงการเป็นผู้ดูแลและติดตามการเติบโตของต้นไม้อย่างใกล้ชิด

tree4all03
หน้าเว็บไซด์แสดงรายละเอียดของต้นไม้ที่ได้รับการอุปถัมภ์ รวมทั้งสถานะสุขภาพ ผู้บริจาคแต่ละรายสามารถล็อกอินเข้าสู่เว็บไซต์ trees4allthailand.org เพื่อดูภาพรวมต้นไม้ของตนเอง
tree4all04
รายละเอียดต่างๆ ของต้นยางนาที่ปลูกเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๖๕ ระบุตำแหน่งที่ปลูกอย่างละเอียดระดับละติจูด-ลองติจูด ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล ผู้เข้าร่วมโครงการรายหนึ่งบอกว่า “พอเรารู้พิกัดว่าต้นไม้ที่เราบริจาคเงินปลูกอยู่ที่ไหน เราอาจจะพาลูกไปดูต้นไม้ในที่ปลูกจริง”
tree4all05
หน้าจอรายงานผลโครงการสำหรับผู้อุปถัมภ์ต้นไม้

แคมเปญนี้มีเป้าหมายระดมทุนให้ถึง ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ภายในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ หรือระยะเวลา ๑ ปีหลังเริ่มดำเนินโครงการ ผู้ที่ต้องการอุปถัมภ์ต้นไม้สามารถบริจาคเงินได้ที่เว็บไซต์ในราคา ๑๐๐ บาทต่อ ๑ ต้น เงินที่ได้จะนำไปให้เกษตรรายย่อย ๑๐๐ รายปลูกต้นไม้สายพันธุ์พื้นเมือง ๑๐๐ ต้นบนที่ดินของเกษตรกรเอง ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาสู่การปลูกไม้ยืนต้นหลายชนิดที่เหมาะสมกับที่ดินของเกษตรกร

โครงการมีเป้าหมายที่จะปลูกต้นไม้ให้ได้หลากสายพันธุ์จำนวนรวมกัน ๑๐,๐๐๐ ต้น เพื่อฟื้นฟูนิเวศและสร้างแหล่งรายได้ใหม่ให้กับเกษตรกร การปลูกต้นไม้และติดตามผลการปลูกจะดำเนินการอย่างเป็นระบบ  มีสถาบันการเงินชุมชนรักษ์สันติสุขทำหน้าที่แบ่งจ่ายเงินที่ได้รับบริจาคไปให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการตลอดระยะเวลา ๓ ปี เกษตรกรแต่ละรายจะได้รับเงินสนับสนุน ๖,๐๐๐ บาทเพื่อนำไปปลูกต้นไม้และดูแลต้นไม้ เกษตรกรจะรายงานพิกัด ข้อมูลการเติบโต บันทึกภาพถ่าย และลงคะแนนสุขภาพของต้นไม้แต่ละต้นให้กับผู้บริจาคเงินทุก ๖ เดือน ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ

การบันทึกข้อมูลของต้นไม้กระทำผ่านแอปพลิเคชันเฉพาะในโทรศัทพ์มือถือที่ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือกับนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งเข้ามาที่เว็บไซต์ trees4allthailand.org จับคู่ยอดบริจาคเงินของผู้บริจาคแต่ละรายกับจำนวนต้นไม้ที่ปลูกได้ ให้ผู้บริจาคสามารถติดตามพิกัดและการเติบโตของต้นไม้ที่ตนเองอุปถัมภ์ โดยใช้ข้อมูลการล็อกอินที่ระบบส่งไปยังอีเมลที่ใช้บริจาคเงินในเว็บไซต์เทใจดอทคอม

ที่ผ่านมาโครงการ Trees4All ทำให้เกิดการพบปะรู้จักกันของคนสองคนจากพื้นที่ต้นน้ำและปลายน้ำ ยกตัวอย่าง ทิพย์สุดา นาคทั่ง นักธุรกิจเจ้าของกิจการขนส่งในจังหวัดนนทบุรี กับวรารัตน์ วุฒิ เกษตรกรรุ่นใหม่ในจังหวัดน่าน ช่วงฤดูฝนของปี ๒๕๖๕ ทิพย์สุดาเดินทางจากปลายแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านระยะทางกว่า ๗๐๐ กิโลเมตรมาช่วยวรารัตน์ปลูกต้นไม้

ที่ผ่านมา ครอบครัวของวรารัตน์ได้รับสิทธิทำกินบนที่ดิน ๑๙ ไร่ จากโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) หรือที่เรียกว่า “ที่ดิน คทช.” ที่ดินแปลงนี้ผ่านการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มานานหลายปี คุณภาพดินจึงเสื่อมโทรมลงมาก แม้จะเปลี่ยนมาปลูกพืชชนิดอื่นๆ ก็ไม่ค่อยได้ผลนัก ในช่วงเวลาห่างกันไม่กี่ปี พืชผลที่ปลูกไว้ถูกไฟไหม้ไปแล้วถึงสองครั้ง พื้นที่โดยรอบก็แทบไม่เหลือร่องรอยว่าเคยเป็นป่า

เมื่อกลุ่มรักษ์สันติสุข องค์กรชุมชนที่ทำงานด้านการพัฒนาท้องถิ่นใน อำเภอสันติสุข ร่วมกับรีคอฟ ประเทศไทย เปิดตัวโครงการ Trees4All ลดพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพิ่มพื้นที่ไม้ยืนต้น นอกจากช่วยฟื้นฟูนิเวศแล้วยังสร้างรายได้เสริม วรารัตน์จึงสมัครเข้าร่วมโครงการ

tree4all06
กิจกรรมวันเปิดตัวเว็บไซต์ trees4allthailand.org ภายใต้โครงการ Trees4All “ต้นไม้ของเรา” ณ ห้องไชน่ารูม สำนักงานใหญ่รีคอฟ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕ วรารัตน์ลงมือปลูกต้นไม้ในที่ดินของตนเองในกิจกรรมปลูกต้นไม้ ๑๐๐ ต้นแรกของโครงการ โดยมีทิพย์สุดาเดินทางมาช่วยเธอปลูก

นอกจากทิพย์สุดาจะเป็นนักธุรกิจ เป็นผู้บริจาคเงินปลูกต้นไม้ ยังเป็นแฟนคลับของ เป๊ก ผลิตโชค นักร้องชื่อดัง เธอให้ความเห็นเกี่ยวกับการปลูกและดูแลต้นไม้ตามแนวทางอุปถัมภ์โครงการ Trees4All ว่า “กลุ่มแฟนคลับเป๊ก ผลิตโชคจะมีการทำบุญวันเกิดทุกปีและบริจาคเงินอยู่แล้ว แต่ในปีที่ผ่านมาเราเพิ่มเรื่องอนุรักษ์ธรรมชาติเข้ามา ทางเราภูมิใจและอยากจะเป็นตัวอย่างให้แฟนคลับกลุ่มอื่นได้เข้ามาร่วมอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างยั่งยืน สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ การมีฟังก์ชั่นที่เราติดตามได้ว่าเงินที่เราลงไปนั้นเกิดประโยชน์ในระยะยาวจริงและใช้งานง่ายแบบนี้ถือว่าดีมากและเหมาะกับสังคมยุคใหม่ เป็นระบบที่เข้าใจง่าย ใช้ง่าย และเหมาะกับสังคมแฟนคลับด้วย”

ทางด้าน เบญจกร ทุ่งสุกใส หนึ่งในผู้สนับสนุนโครงการและอินฟลูเอนเซอร์สายครอบครัวและเด็ก ให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบติดตามต้นไม้ว่า “พอเรารู้พิกัดว่าต้นไม้ที่เราบริจาคเงินปลูกอยู่ที่ไหน วันหนึ่งเราอาจจะพาลูกไปดูต้นไม้ในที่ปลูกจริงว่าเป็นอย่างไร และเด็กจะได้สัมผัสจากชาวบ้านด้วยว่าสภาพพื้นที่ตรงนั้นเป็นอย่างไร เขาอยู่กันอย่างไร เพื่อให้เด็กได้ซึมซับและเกิดความประทับใจ ต้นไม้อายุยืนกว่าเรา”
นอกจากประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อม และประโยชน์ทางเศรษฐกิจ คือเกษตรกรมีโอกาสใช้ประโยชน์จากต้นไม้ที่ปลูก หากมีคนตามไปดูต้นไม้ที่ตนเองปลูกเติบใหญ่ก็น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจังหวัดน่านได้อีกทาง
รีคอฟ ประเทศไทย ชี้แจงว่าหลังริเริ่มโครงการมาประมาณ ๑ ปี มีเป้าหมายของการระดมทุนอยู่ที่ประมาณปีละ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อให้เกษตรกรมีทุนปลูกต้นไม้ในช่วงฤดูฝนจำนวน ๑๐,๐๐๐ ต้นต่อปี และดูแลต้นไม้จนเติบโต ล่าสุดสามารถระดมทุนได้จริงกว่า ๗๐๐,๐๐๐ บาท ปลูกต้นไม้ไปแล้วประมาณ ๔,๐๐๐ ต้น และมีเกษตรกรน่านเข้าร่วมโครงการแล้วมากกว่า ๓๐ ราย

วรารัตน์ วุฒิ ตัวแทนเกษตรกรถ่ายทอดความคืบหน้าในการปลูกต้นไม้ว่า “โครงการช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรสร้างพื้นที่ปลูกไม้ที่ยั่งยืนได้อย่างน้อยร้อยละ ๑๐ ในพื้นที่ของเรา ต่อไปอาจจะเพิ่มมากกว่าร้อยละ ๑๐”

ระยะเวลาทำโครงการอีกประมาณ ๓๔ เดือนหลังจากนี้ รีคอฟ ประเทศไทย จะเดินหน้าค้นหาเกษตรกรมาเข้าร่วมโครงการและพัฒนาศักยภาพต่อไป พร้อมร่วมมือกับภาคีเครือข่ายพัฒนาระบบติดตามต้นไม้ให้ดียิ่งขึ้น

หมายเหตุ : ทุกคนสามารถช่วยเกษตรกร โดยบริจาคเงิน ๑๐๐ บาทต่อการปลูกต้นไม้ ๑ ต้นผ่าน taejai.com/th/d/tree-for-all และติดตามผลการปลูกต้นไม้ทาง trees4allthailand.org รวมถึงติดตามข่าวสารเกี่ยวกับโครงการต้นไม้ของเรา (Trees4All) และโครงการอื่นๆ เพื่อคนกับป่าได้ที่เว็บไซต์รีคอฟ ประเทศไทย www.recoftc.org/thailand

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ

  • นิชนันท์ ตันฑพงศ์ เจ้าหน้าที่สื่อสาร รีคอฟ ประเทศไทย nitchanun.tantapong@recoftc.org
  • ทีมโครงการต้นไม้ของเรา รีคอฟ ประเทศไทย trees4all@recoftc.org