เคยถามเพื่อน ๆ ที่เป็นกุมารจีนด้วยกันว่า บรรพบุรุษมีแซ่อะไร คำตอบมักเป็นแซ่ซ้ำ ๆ กัน เช่น แซ่ตั้ง แซ่ลิ้ม นาน ๆ จึงจะเจอคนแซ่แปลก ๆ เลยสงสัยว่าจำนวนแซ่ที่มีใช้กัน มีกี่มากน้อยครับ

(หนุ่มแซ่ลิ้ม)

แซ่ของจีนตั้งแต่โบราณมา ทางไต้หวันสำรวจได้ ๖,๐๐๐ กว่าแซ่ จีนแผ่นดินใหญ่รวบรวมได้ ๕,๐๐๐ กว่าแซ่ ยังใช้อยู่ในปัจจุบันประมาณ ๓,๐๐๐ แซ่ ที่แพร่หลายมีราว ๕๐๐ แซ่ สมัยราชวงศ์ซ่ง มีคำนำแซ่ที่ใช้แพร่หลาย มาเรียบเรียงเป็นร้อยกรอง เรียกว่า ไป่เจียซิ่ง แปลเอาความได้ว่า “ทำเนียบร้อยแซ่” รวมแซ่ไว้ ๔๓๘ แซ่ ต่อมามีคนเพิ่มเติมเป็น ๕๐๔ แซ่ จนถึงปัจจุบันแซ่ที่มีคนใช้มากจริง ๆ มี ๑๐๐ แซ่ คิดเป็น ๘๕ % ของประชากรชาวฮั่น หรือ ๙๖๐ ล้านคน แซ่ที่มีคนใช้เกิน ๑ % ของประชากรชาวฮั่นมี ๑๙ แซ่ มีคนใช้รวมกัน ๕๕.๖ % ส่วนในไทย บุญศักดิ์ แสงรวี รวบรวมแซ่เท่าที่พบเห็นในเมืองไทย และเขียนประวัติย่อไว้ ๒๒๕ แซ่ แต่ที่แพร่หลายจริง ๆ คงมีไม่เกิน ๑๐๐ แซ่ ที่จดทะเบียนเป็นสมาคมแซ่มี ๕๙ แซ่

แซ่ใหญ่สามอันดับแรกของจีน คือ แซ่หลี (หลี่) เฮ้ง (หวาง) เตีย (จาง) สามแซ่นี้มีประชากรแซ่ละ ๑๐๐ กว่าล้านคน ส่วนแซ่ใหญ่สามอันดับแรกของไต้หวัน คือ แซ่ตั้ง (เฉิน) ลิ้ม (หลิน) อึ๊ง (หวง) ของไทย แซ่ตั้งมากเป็นอันดับหนึ่ง แซ่ลิ้มอันดับสอง อันดับสามก็น่าจะเป็นแซ่อึ๊งเหมือนไต้หวัน

ชาวจีนแต้จิ๋วในจีนมีคำกล่าวว่า “ตั้ง ลิ้ม ฉั่ว ทีเอ๋กือ เตี่ยวเจ็กปั่ว” แปลว่า “แซ่ตั้ง ลิ้ม ฉั่ว (ไช่) มีคนรวมกันเป็นครึ่งหนึ่งในใต้ฟ้า” หมายถึงครึ่งหนึ่งของคนแต้จิ๋วทั้งหมด แต่จีนพวกอื่นเช่นจีนแคะ กวางตุ้ง มีคำสรุปเรื่องแซ่ต่างกันไป

ถ้าต้องการข้อมูลมากกว่านี้ ขอให้ดูหนังสือ เรื่องของแซ่เซียว ของ ถาวร สิกขโกศล ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจอีกมาก