เรื่องและภาพ : วิมลรัตน์ ธัมมิสโร

trash-sanamluang-2016

กองอำนวยการร่วม กรุงเทพมหานคร เผยว่าตั้งแต่วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๙ – ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ มีประชาชนเข้ามายังบริเวณสนามหลวงจำนวน ๕,๓๔๗,๙๔๒ คน เฉลี่ยในวันธรรมดา ๑๒๐,๓๘๓ คน วันหยุด ๑๗๘,๘๙๐ คน

และปัญหาที่ตามมาคือ ขยะมหาศาล!

สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ระบุว่าตั้งแต่วันที่ ๑๖ ตุลาคม ก่อนมีการจัดระบบ มีปริมาณขยะเฉลี่ยวันละ ๗๕ ตัน วันธรรมดาตกวันละ ๔๓ ตัน วันหยุดเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๖๔ โดย ๑ คนสร้างปริมาณขยะเฉลี่ย เกือบครึ่งกิโลกรัมต่อวัน นี่นับเป็นครั้งแรกที่มีการตระหนักถึงปัญหาขยะ เนื่องจากงานพระราชพิธีในอดีตซึ่งจัดขึ้นบริเวณท้องสนามหลวงยังไม่เคยบันทึกสถิติปริมาณขยะมาก่อน

ไม่นานจึงเริ่มมีการแก้ไข โดยการวางชุดถังขยะสามสี สีเหลืองสำหรับขยะรีไซเคิล สีฟ้าสำหรับขยะทั่วไป และสีเขียวสำหรับขยะเศษอาหาร ทั้งหมด ๑๐ จุด พร้อมกับตั้งจุดคัดแยกขยะจำนวนหนึ่งรอบสนามหลวง ประกอบกับมีประชาชนที่เดินทางมาด้วยจุดร่วมเดียวกัน คือการทำเพื่อพ่อหลวง สนใจมาเป็นจิตอาสาตามความถนัดของตนเอง หากนับตั้งแต่วันที่ ๑๙ ตุลาคม มีอาสาสมัครคัดแยกขยะถึง ๑.๔ หมื่นคน คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของอาสาสมัครที่เข้ามาช่วยงานต่างๆ ทั้งหมด ๓ หมื่นคน โดยอาสาสมัครคัดแยกขยะจะเดินถือถุงขยะไปกลุ่มละ ๓ คน แต่ละคนแขวนป้ายสีเพื่อบอกว่าตนเองเป็นตัวแทนถังขยะประเภทใด

“อาสาสมัครจะไม่คัดแยกขยะให้ แต่มีหน้าที่ให้ความรู้ ทำความเข้าใจกับคนที่มาสนามหลวงว่าจะคัดแยกขยะอย่างไร” โศภิษฐ์ เถาทอง นักวิชาการสิ่งแวดล้อมปฏิบัติการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เล่าว่าศูนย์ประสานงานโครงการ Volunteers For DAD ที่มาบริหารจัดการขยะรอบสนามหลวง ตั้งขึ้นเมื่อ ๑๘ ตุลาคม โดยมีหน่วยงานหลักคือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรุงเทพมหานครและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพ

หลังจากการมีจิตอาสาและการตั้งจุดทิ้งถังขยะแยกสี ปริมาณขยะได้ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ถึงมากกว่าร้อยละ ๘๐ (บางกอกโพสต์ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๙)
อนุสรณ์ กะดามัน จิตอาสารายหนึ่งมองว่าการที่มีคนจำนวนมากสนใจมาทำงานรณรงค์การคัดแยกขยะเป็นสิ่งที่ดี แสดงถึงความตระหนักและจิตสำนึกที่ดี แต่ก็สะท้อนถึงปัญหาขยะที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนด้วย

จิตอาสา พนักงานทำความสะอาด หน่วยงานต่างๆ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการดูแลพื้นที่งานพระราชพิธีให้สะอาดเป็นระเบียบ แต่ผู้ที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างแท้จริง คือประชาชนทุกคนที่เดินทางมาถวายความอาลัยแด่พ่อหลวง ว่าจะเกิดความตระหนักถึงเรื่องขยะนี้หรือไม่