จักรสิน น้อยไร่ภูมิ

Yasmeen Lari สถาปนิกหญิงแกร่ง กับสถาปัตยกรรมเพื่อรับมือภัยพิบัติ

ยาสมีน ลาริ (Yasmeen Lari) สถาปนิกหญิงคนแรกของปากีสถาน ขณะอยู่ในชุมชนซึ่งเสียหายจากน้ำท่วมใน ค.ศ. ๒๐๑๐ ที่เธอเข้าไปฟื้นฟู

yasmeen02

อาคารที่ได้รับการสร้างใหม่ภายในชุมชนที่ประสบอุทกภัย

yasmeen03

ยาสมีน ลาริ ขณะดูแลการก่อสร้างอาคาร ซึ่งทั้งหมดสร้างโดยคนในชุมชน

ย้อนกลับไปประมาณครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา บทบาทของผู้หญิงยังถูกจำกัดและไม่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในสังคม เช่นเดียวกับในวงการสถาปัตยกรรมที่ช่วงเวลาดังกล่าวจะหาสถาปนิกผู้หญิงที่ได้รับการยอมรับได้น้อยมาก แต่เมื่อสังคมโลกมีการเปลี่ยนแปลง ผู้หญิงได้รับการยอมรับมากขึ้น เริ่มมีสถาปนิกหญิงที่มีชื่อเสียงมากขึ้น ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ปากีสถาน ซึ่งตามวัฒนธรรมดั้งเดิมแล้วมีกฎเกณฑ์เข้มงวดเกี่ยวกับผู้หญิงมากมาย แต่ก็มีสถาปนิกหญิงคนหนึ่งที่ได้รับการยอมรับมาก เธอคือ ยาสมีน ลาริ (Yasmeen Lari)

ยาสมีน ลาริ ถือเป็นสถาปนิกหญิงคนแรกของปากีสถาน เกิด ค.ศ. ๑๙๔๑ ที่เมืองเดรากาซีข่าน (Dera Ghazi Khan) ทางตอนกลางของประเทศปากีสถาน ก่อนจะย้ายตามครอบครัวไปอยู่ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร หลังจบการศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรมจากโรงเรียนสถาปัตยกรรมออกซฟอร์ด (Oxford School of Architecture) ใน ค.ศ. ๑๙๖๔ ยาสมีน ลาริ ในวัย ๒๓ ปี จึงกลับมาที่ปากีสถานอีกครั้งพร้อมกับสามี ซูเฮล ซาเฮียร์ ลาริ (Suhail Zaheer Lari) ทั้งคู่เปิดสำนักงานสถาปัตยกรรมในนาม Lari Associates ขึ้นที่กรุงการาจี (Karachi) เมืองใหญ่ที่สุดของประเทศ และเธอพบว่าเธอเป็นสถาปนิกหญิงคนแรกและคนเดียวในปากีสถานในช่วงนั้น บริษัทของเธอได้รับงานออกแบบชิ้นสำคัญ ๆ มากมาย จนเธอได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมสถาปนิกปากีสถาน ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๘๐-๑๙๘๓

แม้ว่าสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ที่บริษัทของเธอและสามีออกแบบจะเป็นอาคารสมัยใหม่ในเมือง แต่ ยาสมีน ลาริ เองก็ยังสนใจศึกษาสถาปัตยกรรมของผู้มีรายได้น้อย และการอนุรักษ์อาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ดังนั้นเธอและสามีจึงก่อตั้งองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร Heritage Foundation of Pakistan ขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๘๐ หลังจากเธอเกษียณตัวเองจากการเป็นสถาปนิกในบริษัทเมื่อ ค.ศ. ๒๐๐๐ ยาสมีน ลาริ ก็หันมาทำงานด้านการอนุรักษ์และสถาปัตยกรรมเพื่อผู้มีรายได้น้อยในนามขององค์กรนี้อย่างเต็มตัว

ใน ค.ศ. ๒๐๐๕ ภูมิภาคฮาซารา (Hazara) และแคชเมียร์ (Kashmir) ทางตอนเหนือของประเทศปากีสถานเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ทำให้มีผู้ประสบภัยจำนวนมาก และเกือบทั้งหมดล้วนมีรายได้น้อย ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ Heritage Foundation of Pakistan จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการออกแบบสถาปัตยกรรมและฟื้นฟูชุมชนของผู้ประสบภัยในท้องถิ่นห่างไกล โดยเธอนำเทคนิคการก่อสร้างที่ได้เรียนรู้จากสถาปัตยกรรมพื้นเมืองมาประยุกต์สร้างสถาปัตยกรรมในรูปแบบร่วมสมัย ที่แข็งแรง ราคาถูก และก่อสร้างง่าย โดยใช้ทักษะของคนในชุมชน

จนกระทั่ง ค.ศ. ๒๐๑๐ ยาสมีน ลาริ มีโอกาสออกแบบสถาปัตยกรรมสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติอีกครั้ง ร่วมกับองค์กรสถาปัตยกรรมระดับโลกอย่าง Architecture for Humanity หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ภูมิภาคสินธ์ (Sindh region) ซึ่งอยู่บริเวณปากแม่น้ำ โดยยึดแนวทางที่ได้เรียนรู้มาจากครั้งก่อน คือประยุกต์เทคนิคการก่อสร้างจากอาคารพื้นถิ่น และเน้นการใช้วัสดุธรรมชาติที่หาได้ง่ายซึ่งผู้คนคุ้นเคย ทั้งไม้ ดิน และไม้ไผ่ “ดินนั้นสามารถนำมารีไซเคิลได้ และมีอยู่ทุกที่ ไม้ไผ่ก็มีความแข็งแรงมากและปลูกใหม่ขึ้นทดแทนได้ทุก ๆ ๒ ปี” สถาปนิกหญิงกล่าวถึงข้อดีของวัสดุธรรมชาติ

เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนั้น ยาสมีน ลาริ และทีมงานได้พัฒนาอาคารโครงสร้างไม้ไผ่รูปแบบพิเศษซึ่งประยุกต์จากอาคารรูปแบบกระโจม โดยมีผังเป็นรูปวงกลม ทำให้เกิดโครงสร้างที่แข็งแรงสามารถรับน้ำหนักได้มาก จึงสร้างอาคารที่สูงสองชั้นได้ โครงสร้างอาคารออกแบบให้สามารถทนต่อแรงปะทะจากน้ำ และยังยกพื้นสูงเพื่อหนีน้ำหากเกิดน้ำท่วมอีกครั้งในอนาคต นอกจากโครงสร้างไม้ไผ่แล้ว อาคารบางส่วนยังก่อผนังด้วยดินซึ่งมีความแข็งแรง กันน้ำท่วมและแผ่นดินไหวได้ดี ยาสมีน ลาริ และทีมงานได้ออกแบบที่พักอาศัยให้ผู้ประสบภัยเป็นจำนวนทั้งสิ้น ๓,๖๐๐ หลัง ทำให้ชื่อของเธอเป็นที่รู้จักในวงกว้างในฐานะสถาปนิกหญิงผู้ออกแบบสถาปัตยกรรมสำหรับผู้ประสบภัย

ตลอดระยะเวลากว่า ๑๐ ปีที่ผ่านมา ผลงานของ ยาสมีน ลาริ ทุกชิ้นถือเป็นสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นจากการหลอมรวมงานออกแบบ วัสดุและเทคโนโลยีก่อสร้างที่เหมาะสม ตลอดจนปัจจัยด้านที่ตั้ง ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ รวมทั้งผู้ใช้งานและสภาพสังคมเข้าไว้ด้วยกัน จนเกิดเป็นงานสถาปัตยกรรมที่ดีบนพื้นฐานการพึ่งพาตนเองได้ภายในท้องถิ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอให้ความสำคัญที่สุด “คุณไม่อาจออกมาจากความยากจนได้ ถ้าคุณจะต้องกลับมาสร้างใหม่ในทุก ๆ ปี ทางเดียวที่จะก้าวไปข้างหน้า คือการสร้างให้คนในชุมชนสามารถดูแลตัวเอง และรับมือกับภัยพิบัติได้หากมันเกิดขึ้นอีกครั้ง” สถาปนิกหญิงคนแรกของปากีสถานกล่าว

แหล่งข้อมูล

ภาพจาก