putscienceพุธ-ไซแอนซ์

ติดปีกความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทุกวันพุธ เพราะเทพเจ้าประจำดาวพุธคือ Mercury บุรุษเทพแห่งการสื่อสารที่ไปได้เร็วเท่าความคิด


“คุณคิดว่าผมบ้าหรือเปล่า” เบื้องหลังความสำเร็จของนักล่าอนาคต อีลอน มัสก์
ที่มาภาพ – https://www.techworm.net/2017/03/elon-musks-new-company-neuralink-wants-connect-brains-computers.html

“คุณคิดว่าผมบ้าหรือเปล่า” เป็นคำถามที่ อีลอน มัสก์ จู่โจมใส่นักเขียนชื่อ Ashlee Vance ผู้เขียนหนังสืออัตชีวประวัติของเขา

แอชลีเผยว่ามีนักเขียนหลายคนพยายามติดต่อ อีลอน มัสก์ เพื่อขออนุญาตเขียนอัตชีวประวัติ แต่ไม่มีใครได้รับโอกาส รวมทั้งแอชลีเองในตอนแรก เพียงแต่เขาไม่ยอมแพ้ เขาขอสัมภาษณ์คนที่ใกล้ชิดเกี่ยวข้องกับ อีลอน ต่อแบบหมากัดไม่ปล่อย จนกระทั่งในที่สุดก็ได้รับอนุญาตจาก อีลอน มัสก์ เขาเชื่อว่าเพราะ อีลอน ชอบคนที่ไม่ยอมแพ้

แอชลี นิยาม อีลอน มัสก์ ว่าคือ “นักล่าอนาคตฝันบรรเจิด”

วาทะของ อีลอน ที่น่าจะโดนใจคนรุ่นใหม่หัวใจสตาร์ตอัป คือ

“Failure is an option here. If things are not failing, you are not innovating enough” (“ความล้มเหลวคือทางเลือกของที่นี่ เพราะถ้าไม่ล้มเหลว คุณยังไม่แหวกแนวพอ”)

แต่การล้มเหลว คงไม่ใช่เบื้องหลังความสำเร็จของนักล่าฝันบรรเจิด

อย่างที่ผมเขียนไปใน พุธ-ไซแอนซ์ ตอนที่แล้ว  ว่า อีลอน มัสก์ คือ “หนอนหนังสือ” ถ้าเขาอยากรู้เรื่องอะไร เขาก็แค่อ่านหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนั้น อ่านทุกอย่างตั้งแต่ การ์ตูนคอมิกส์ วรรณกรรม ปรัชญา ศาสนา ฟิสิกส์ ฯลฯ และอ่านหนังสือเร็วมาก เขาสามารถอ่านหนังสือจบ 2 เล่มในหนึ่งวัน !

สำหรับนักอ่านแบบเราๆ น่าจะเดือนละหนึ่งเล่ม หรือดีขึ้นมาอีกก็สัปดาห์ละหนึ่งเล่ม

แต่นี่ คือถ้าแกไม่ต้องทำงาน เดือนหนึ่งแกคงอ่านจบไป 60 เล่มแล้ว

แม่ของอีลอนให้สัมภาษณ์ว่า เขามีความจำแบบภาพ หรือ Photographic Memory หมายถึงมีความจำละเอียดแม่นยำมาก ราวกับบรรดาหนังสือหลายพันเล่มที่แกอ่านๆ เข้าไป สามารถเรียกคืนมาดูในสมองได้เหมือนดูภาพ

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่มีหลักฐานชัดเจนนะขอรับ และอีกประการ นักจิตวิทยาให้ความเห็นว่าความจำแบบ Photographic Memory ที่อ้างๆ ถึงกันยังเป็นแค่สำนวน ไม่พบว่าใครมีจริง อันนี้จะให้รู้ชัดคงต้องจับ อีลอน มัสก์ ไปเทสต์ดูสักครั้ง

แต่ที่แน่ๆ คือความจำของ อีลอน มัสก์ ต้องพิเศษและไม่ธรรมดาเอามากๆ

และเขาใช้ประโยชน์จากความจำได้อย่างเยี่ยมยอด คือไม่ใช่แค่จำกันเป็นเรื่องๆ แต่เขาเอาเรื่องราวแต่ละวิชาในหัวสมองกระโดดมาชนกันข้ามห้อง แล้วเขย่าๆ ให้มันเป็นโครงการแหวกแนวที่ต้องใช้สหวิทยาการเพื่อทำให้เกิดขึ้นจริง

เรียกว่า อีลอน ขยี้ทิ้งความคิดเดิมๆ ที่ว่า “รู้อะไรให้กระจ่างเพียงอย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล” ลงถัง

ตัวอย่างสุดอึ้ง คือ Neuralink โครงการเชื่อมสมองกับคอมพิวเตอร์ มีศัพท์เรียกกันย่อๆ ว่า BCI – Brain Computer Interface ซึ่งต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง นักออกแบบชิปคอมพิวเตอร์ นักจิตวิทยา วิศวกร ฯลฯ

อีลอนคุยกับคนราวพันคน เพื่อคัดเลือกสุดยอดคนฉลาดที่สุดจากสาขาต่างๆ มาเข้าร่วมในทีมมันสมองของ Neuralink นี้เพียง 8 คน

ปลายทางสุดๆ ของ BCI คือการที่มนุษย์สามารถพูดคุยกันโดยไม่ต้องพูด หรือพิมพ์ข้อความเลย เพียงแค่ “คิด”

แล้วสิ่งที่ “คิด” จะถูกถ่ายทอดผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไปถึงสมองของอีกคน

“ไปดูหนังกันไหม” “คิดถึงนะ จุ๊บจุ๊บ” เลิก ในอนาคตไม่ต้องพิมพ์แล้ว (แล้วพวกตัว “สติ๊กเกอร์ ทำไง ?)

แต่ก่อนจะไปไกลขนาดนั้น เพื่อให้โครงการนี้เป็นธุรกิจได้จริง BCI จะพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยผู้มีปัญหาทางสมองให้สามารถสื่อสารกับคนอื่น และช่วยเรื่องความทรงจำหลงลืม

ปัญหาในภาคเทคนิคคือจะต้องมีจุดเชื่อมต่อกับสมองถึงราว ๑ ล้านจุด ขณะที่ปัจจุบัน มากสุดที่เคยต่อขั้วไฟฟ้ากับสมองมนุษย์คือ 200 จุดเท่านั้น

ไม่นับการจัดการกับสัญญาณจำนวนมหาศาล

บางคนจึงวิจารณ์ว่า ฝันนี้บรรเจิดยิ่งกว่า SpaceX ที่ตั้งเป้าจะส่งมนุษย์ไปอยู่บนดาวอังคาร

แต่ถึงตอนนี้ ไม่ใช่แค่ อีลอน มัสก์ บ้าอยู่คนเดียวแล้วครับ Facebook เองก็แอบทำโครงการ BCI แบบเดียวกันเลย เรียกว่าโครงการ B8 โดยเบื้องต้น เฟซบุ๊กหวังว่าจะทำให้เรากดปุ่มคีย์บอร์ด เช่น กดคลิกไลก์ โดยแค่ “คิด”

musk02

ที่มาภาพ –  https://techviral.net/living-neos-matrix-world-simulation/

อีลอน มัสก์ ยังเคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาเชื่อว่ามีความเป็นไปได้มากๆ ว่า “มนุษย์เราอาจอยู่ในโลกเสมือนที่จำลองโดยคอมพิวเตอร์” คล้ายกับในภาพยนตร์เรื่อง Matrix (แสดงโดยพระเอกสุดหล่อ คีอานู รีฟ) และคิดคำนวณแบบเร็วๆ ระหว่างให้สัมภาษณ์ด้วยว่า

“มีโอกาสแค่ ๑ ในพันล้านที่เราจะอยู่ในโลกของจริง”

เขาเปรียบเทียบว่า 40 ปีก่อนเรามีแค่เกมคอมพิวเตอร์ง่ายๆ อย่างเกม Pong (คล้ายตีปิงปอง) มาถึงสมัยนี้เรามี Virtual Reality Augmented Reality แล้วอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคตนับแสนปีข้างหน้า เกมพวกนี้จะทำให้สมองเราแยกโลกเสมือนกับโลกความจริงแทบจะไม่ออก มันจึงเป็นไปได้มากว่าจะมีอารยธรรมที่ก้าวไปถึงจุดที่สร้างโลกจำลองขึ้นมา หรือถ้าไม่เช่นนั้น อารยธรรมนั้นก็ต้องล่มสลายไปก่อน

ก่อนจบ ขอฝากเคล็ดลับวิธีคิดแบบ อีลอน มัสก์ ซึ่งคุณผู้อ่านอาจนำไปปรับใช้กับการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ อีลอน มัสก์ คิดว่าคนส่วนใหญ่สามารถเรียนรู้ได้มากกว่าที่เขาคิดว่าตัวเขาทำได้ เพียงแต่หยุดเสียก่อนที่จะพยายาม และแนะนำไว้อย่างนี้ครับ

“เป็นเรื่องสำคัญที่จะมองความรู้ต่างๆ ให้เหมือนกับต้นไม้ ต้องมั่นใจว่าคุณเข้าใจหลักการพื้นฐาน ซึ่งเปรียบเสมือนลำต้นและกิ่งใหญ่ๆ ก่อนที่คุณจะเข้าไปในรายละเอียด ซึ่งเหมือนกับใบไม้ เพราะมิเช่นนั้นแล้วจะไม่มีอะไรให้ใบไม้ติดอยู่ได้เลย”

……………..

“คุณคิดว่าผมบ้าหรือเปล่า” ถ้าเป็นคุณผู้อ่าน จะตอบ อีลอน มัสก์ ว่าไงดี แล้วคิดว่าเราอยู่ในโลกเสมือนหรือเปล่า ?

เมนต์กันเข้ามาได้เลยครับ

ติดตาม พุธ-ไซแอนซ์ ทุกวันพุธ

อ้างอิง :