hatien-introภาพ : อนุสาวรีย์หมักกื๋ว เมืองฮาเตียน จังหวัดเกียนยาง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

———————————

เดือนเมษายน 2560 คือวาระครบรอบ 250 ปี
“อยุธยาร่วง กรุงธนบุรีโรจน์”
เรื่องหนึ่งที่สังคมไทยสนใจเกี่ยวกับกรณนี้มาตลอดคือ

เรื่องราวของ “พระเจ้าตากสิน”

ปัจจุบัน นักประวัติศาสตร์ไทยได้ค้นคว้าเรื่องของพระเจ้าตากสิน
ในแง่ของ “ศึกภายใน” เอาไว้จนแทบจะทะลุปรุโปร่งแล้ว

แต่สิ่งที่เราขาดคือ การศึกษาหลักฐานของฝั่งเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะหลักฐานของรัฐทางด้านตะวันออกที่มีกำลังพอฟัดพอเหวี่ยงกันกับอยุธยา-กรุงธนบุรี คือเวียดนาม ซึ่งในสมัยอยุธยาตอนปลายนั้นแบ่งเป็น 2 เขตอิทธิพลของตระกูลจิ่งห์ (เวียดนามเหนือ) ตระกูลเหงวียน (เวียดนามใต้)

ตระกูลเหงวียนนี่เองที่จะกลายมาเป็นทั้ง “คู่ศึก-มิตรสหาย” ของสยามในเวลาต่อมา และคนที่มีบทบาทในความสัมพันธ์นี้ก็คือ “หมักกื๋ว” พ่อค้าชาวจีนอพยพคนหนึ่งที่มาก่อร่างสร้างเมืองที่นักประวัติศาสตร์ไทยรู้จักในนาม “พุทไธมาศ/ฮาเตียน” หรือในภาษาเวียดนามเรียกว่า “ห่าเตียน”

มองบนแผนที่ปัจจุบัน เมืองนี้คือเมืองชายทะเล อยู่ทาง “ขอบ” ด้านตะวันตกเฉียงใต้สุดของเวียดนาม ติดอ่าวไทยและติดชายแดนกัมพูชา

ในช่วงที่พระเจ้าตากทรงพยายามกู้กรุง
นอกจากแสวงหาความช่วยเหลือจากหัวเมืองตะวันออกอย่างจันทบุรี ระยอง ตราด แล้ว พระองค์ยังต้องขับเคี่ยวกับ “ฮาเตียน”
ที่มีผู้ปกครองตระกูลหมักเป็นใหญ่ด้วย

“บันทึกตระกูลหมัก” หลักฐานเวียดนามที่ไม่เคยได้รับการศึกษาอย่างจริงจังในวงการประวัติศาสตรไทยระบุว่า ฮาเตียนนั้นเป็นสถานที่ที่เชื้อพระวงศ์ของกรุงศรีอยุธยาและอริของพระเจ้าตากไปลี้ภัยกันอย่างคับคั่ง
ค่อนข้างมีสายสัมพันธ์อันดีกับตระกูลเหงวียน นอกจากนี้ยังมีกำลังทางนาวีมากพอที่จะคุกคามกรุงธนบุรีที่เพิ่งได้รับการก่อตั้งได้อย่างง่ายๆ ด้วย

การกรีฑาทัพของพระเจ้าตากสินในปี 2314 เพื่อไปตีกรุงกัมพูชา ฮาเตียนจึงถูกพระองค์รวมไว้ “แพ็คเกจศึก” ด้วย ที่นี่จึงไม่ใช่แค่ “เป้าหมายย่อย” หากเป็น “เป้าใหญ่” ในระดับเดียวกับการตีกรุงกัมพูชา

สารคดี ฉบับ “ตากสินมหาราช” กับ “ศึกฮาเตียน”
(เมษายน 2560) เปิดเผยเรื่องราวเหล่านี้เอาไว้อย่างละเอียดยิบ
พร้อมกับข้อมูลการลงพื้นที่ของแบบเจาะลึก
เป็นครั้งแรกในบรรณพิภพไทย