อังคาร-เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี…จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง


paitoon01
รศ. ดร. ธัญญา สังขพันธานนท์ หรือ ไพฑูรย์ ธัญญา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้สร้างวรรณกรรม ผู้สอนวรรณกรรม นักวิจารณ์ ผู้เขียน ก่อกองทราย รวมเรื่องสั้นรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๐ (ภาพ : วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง)

รศ. ดร. ธัญญา สังขพันธานนท์ หรือ ไพฑูรย์ ธัญญา อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้เขียน ก่อกองทราย หนังสือรวมเรื่องสั้นรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ร่วมแสดงความคิดในเวทีเสวนา ปรากฏการณ์ความพ่ายแพ้ของสื่อสิ่งพิมพ์ ? ความท้าทายต่อวัฒนธรรมการอ่านของสังคมไทย ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙

paitoon02

วงเสวนา ปรากฏการณ์ความพ่ายแพ้ของสื่อสิ่งพิมพ์ ? ความท้าทายต่อวัฒนธรรมการอ่านของสังคมไทย (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

บรรทัดจากนี้เป็นความคิดความอ่านของ ไพฑูรย์ ธัญญา ที่มีต่อวงการหนังสือไทย ภายหลังการปิดตัวลงของนิตยสารสกุลไทย และนิตยสารอื่นๆ หลายฉบับ

paitoon03

สกุลไทยฉบับแรกวางตลาดเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๗ หรือเมื่อ ๖๓ ปีที่แล้ว เป็นหนังสือขนาดแปดหน้ายกใหญ่ ราคา ๓ บาท

 

“การยุติของสกุลไทยเป็นหัวข้อหนึ่งที่ดรามากันพอสมควร ในเฟสบุ๊ค ในอะไรต่อมิอะไร ผมเห็นคุณกฤษณา อโศกสิน ก็เขียน ตัวผมเองก็เขียนลงคอลัมน์ คม ชัด ลึก ไปสองสามตอน บอกว่าเป็นการหมดสิ้นสกุลไทย นึกถึงใครรานใครรุกด้าวแดนไทย บางท่านบอกว่าเป็นเรื่องปรกติ การเกิดขึ้นของนิตยสารฉบับหนึ่งแล้วดับไปมันเป็นเรื่องวัฏจักร โอเคครับมันเกิดขึ้นแล้วดับ แต่ผมมองว่าการยุติ หรือจะเรียกว่าการล้มลงหรืออะไรก็ตามที กรณีนิตยสารสกุลไทยเป็นเรื่องที่เราต้องนั่งทบทวน เพราะสกุลไทยเรียกว่านิตยสารสามัญประจำบ้าน มีคนอ่านค่อนข้างมาก แล้วอยู่ๆ จะมาหมดสิ้นสกุลไทยได้อย่างไรกัน

“ผมว่าสกุลไทยมีคุณูปการกับคนไทยอย่างน้อย ๒-๓ รุ่น เราเป็นนักเขียนก็มองในมุมสร้างนักเขียน ผมรู้จักกฤษณา อโศกสิน รู้จักใครต่อใครเพราะอ่านสกุลไทย สกุลไทยเป็นต้นธารหรือต้นน้ำของการให้กำเนิดนักเขียน โดยเฉพาะวรรณกรรมที่เรียกว่า popular fiction เป็นนิยายที่คนอ่านเยอะ พิมพ์ออกมาวางขายมากๆ โดยมากเป็นผลงานของนักเขียนสตรี ซึ่งต่างจากงานซีไรซ์ที่เป็นพวก creative writing หรืองานเชิงสร้างสรรค์ พวก popular fiction เขาเข้าตลาด แล้วก็มีการแปรรูป จากนิยายกลายเป็นละครวิทยุ ต่อมาก็เป็นภาพยนตร์ ปัจจุบันการทำภาพยนตร์อาจจะน้อยลง แต่ก็เข้ามาสู่ตลาดจอแก้ว ละครทีวี จึงเป็นต้นธารของวรรณกรรมที่จะนำไปสู่ภาคบันเทิงอื่น

paitoon04

ประกาศยุติการจัดทำนิตยสารสกุลไทย ในเฟสบุ้ค สกุลไทยรายสัปดาห์ (Sakulthai Weekly Magazine) ให้ฉบับวางจำหน่ายวันจันทร์ที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๙ เป็นฉบับสุดท้าย

“ทีนี้ พอสกุลไทยประกาศยุติ ด้วยเหตุผลหนึ่งคือขาดทุน ตามที่คุณนรีภพ สวัสดิรักษ์ (บรรณาธิการนิตยสารสกุลไทย) ออกมาแถลง บอกว่าซวนเซมาตั้งแต่ยุคต้มยำกุ้ง จากสองแสนฉบับเหลือแปดหมื่นฉบับ มันน่าใจหาย ถ้าเป็นนายทุนแท้ๆ เขาอาจจะปิดตั้งแต่ตอนนั้นแล้วก็ได้

“ทีนี้ผมอยากให้มองว่า ปรากฏการณ์หมดสิ้นสกุลไทย ตามที่หลายคนบอกว่าเป็นวัฏจักรสำหรับการที่นิตยสารฉบับหนึ่งเกิดขึ้นแล้วหายไป แต่ผมตั้งข้อสังเกตว่าก่อนหน้านี้เรายังไม่มีสื่อรูปแบบใหม่ ตอนที่นิตยสารฟ้าเมืองทอง ฟ้าเมืองไทย หยุดพิมพ์ไป เรายังไม่มีวัฒนธรรมการอ่านที่อาศัยสิ่งที่นักวิชาการเรียกว่า “แพลตฟอร์ม” หรือ “ชานชาลา” ใหม่ๆ แต่ตอนนี้เรามาล้มลงในยุคดิจิตอล ยุคที่หนังสือถูกทำไห้เป็นอย่างอื่นมากกว่ากระดาษ มีการอ่านแบบผ่านจอ เป็นการอ่านที่ไม่ใช้กระดาษแต่อยู่ในจอคอมพิวเตอร์ ทั้งในแทบเลต ในไอแพด หรือในสมาร์ตโฟน สิ่งนี้เรามองข้ามไม่ได้ การเกิดขึ้นของวารสารทางเว็บไซด์ของคุณนิรันศักดิ์ (นิรันศักดิ์ บุญจันทร์ บรรณาธิการ www.thepaperless.co) ก็เป็นจุดหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง

“นี่คือพัฒนาการของการอ่านของมนุษยชาติ ถ้าเราศึกษาให้ดี การอ่านของเราเริ่มขึ้นเมื่อมนุษย์มีภาษา จากวรรณกรรมที่บอกเล่าแบบปากเปล่า เอามาเขียนเป็นตัวหนังสือ พอมีการเขียนก็มีการอ่าน เท่าที่ศึกษามาคร่าวๆ ในตะวันตกวัฒนธรรมการอ่านเพิ่งจะเกิดขึ้นประมาณ ๒ ศตวรรษที่ผ่านมานี้ คือศตวรรษที่ ๑๘ ตอนนี้เราอยู่ศตวรรษที่ ๒๑ ส่วนประเทศของเราที่ยอมรับอย่างเป็นทางการว่ามีการอ่านก็คือยุคการจารึกสมัยพ่อขุนรามคำแหง ก็ไม่ถึง ๑,๐๐๐ ปี แล้วเมื่อไม่นานมานี้ ประมาณปี ๒๕๐๐ ผู้หญิงยังถูกห้ามไม่ให้อ่านหนังสืออยู่เลย แสดงว่าการอ่านที่แพร่หลายมันก็ไม่ได้ยืนยาว

“สิ่งที่เป็นวัสดุในการอ่านก็เปลี่ยนจากใบลาน หิน ศิลาจารึกมาเป็นกระดาษ คิดว่าช่วงนั้นถ้ามีการบันทึกก็น่าจะมีความตระหนกตกใจเหมือนกันว่าการเกิดขึ้นของกระดาษ มันทำให้พวกหิน พวกจารึกตกงาน เพียงแต่กระแสอาจไม่กว้างเท่าวันนี้ ฉะนั้นนี่คือกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากกระดาษเป็นดิจิตอล เป็นกระบวนการทำให้เป็นดิจิตอลเรียกว่า Digitalization”

หมายเหตุ : เก็บตกจากลงพื้นที่ เสวนา “ปรากฏการณ์ความพ่ายแพ้ของสื่อสิ่งพิมพ์ ? ความท้าทายต่อวัฒนธรรมการอ่านของสังคมไทย” โดยสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙

หมายเหตุ : การอ้างคำพูดของ รศ. ดร. ธัญญา สังขพันธานนท์ ในงานเขียนชิ้นนี้ มีการปรับทอนและสลับใจความบางส่วน


teiฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

อีกภาคหนึ่งของ “เจ้าชายหัวตะเข้” นักเขียนสารคดีที่เรียนจบมาด้านวิทยาศาสตร์ สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม และกีฬาเป็นพิเศษ