putscienceพุธ-ไซแอนซ์

ติดปีกความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทุกวันพุธ เพราะเทพเจ้าประจำดาวพุธคือ Mercury บุรุษเทพแห่งการสื่อสารที่ไปได้เร็วเท่าความคิด


สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ

elephantcancer

บนสมมติฐานที่ว่าเซลล์ทุกเซลล์มีโอกาสจะกลายเป็นมะเร็ง ดังนั้นสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น วาฬ หรือช้างก็น่าจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งมากกว่าคนหรือหนู แต่ปรากฏว่าไม่เป็นเช่นนั้นครับ มะเร็งไม่ได้แสดงความสัมพันธ์กับขนาดน้ำหนักของสิ่งมีชีวิตชนิดนั้น ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นยังเป็นปริศนา เพราะเซลล์ของสัตว์ขนาดใหญ่น่าจะมีการแบ่งตัวหลายครั้งมากกว่าเซลล์ของสัตว์ขนาดเล็ก และมีโอกาสมากขึ้นในการเกิดการกลายเป็นมะเร็ง

นักวิทยาศาสตร์บางคนจึงตั้งข้อสงสัยว่า สัตว์ขนาดใหญ่อย่างวาฬ หรือช้าง อาจมีกลไกที่จะยับยั้งมะเร็ง (ความจริงก็มีโอกาสเป็นมะเร็งนะครับ เพียงแต่น้อยมาก ไม่ใช่ว่าไม่เป็นเลย)

งานวิจัยล่าสุดซึ่งมีวารสาร Nature เผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคม2015 บอกว่าพบหลักฐานบางอย่างครับ

ยีนที่มีชื่อว่า TP53 เป็นยีนที่จะปฏิบัติการเมื่อพบว่าเซลล์เกิดความผิดปรกติของ DNA มันจะรีบเข้าไปซ่อมความเสียหาย หรือฆ่าเซลล์นั้นทิ้ง

ปรกติคนเราและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ จะมียีนตัวนี้หนึ่งตัว แต่จากการศึกษา “ช้างแอฟริกา” มันมียีนนี้ถึง 20 ตัวและพอศึกษาช้างเอเชียก็พบว่ามียีนตัวนี้หลายตัวเช่นกันครับ (รายงานไม่ได้บอกว่ามีกี่ตัว) ซึ่งหมายถึงว่า ช้าง มียีนสำหรับจัดการกับเซลล์ที่มี DNA ผิดปกติมากกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ และนี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มันไม่เป็นมะเร็ง (หรือเป็นน้อยกว่ามาก)

จากการทดลองยังพบว่าเซลล์เม็ดเลือดของช้างไวต่อ DNA ที่ถูกทำลายด้วยรังสี มันสามารถทำลายเซลล์ที่ DNA ผิดปรกติในอัตราที่สูงกว่าเซลล์มนุษย์มาก

แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ถามต่อครับว่า “ถ้าช้างสูบบุหรี่และมีนิสัยไม่ดีๆ แบบคนเรา มันจะยังไม่เป็นมะเร็งไหม?”

นี่เป็นอีกครั้งที่การศึกษา “ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต” ที่มนุษย์กำลังทำลายทิ้งด้วยการทำลายธรรมชาติ อาจมีส่วนช่วยต่ออายุของมนุษย์บนโลกนี้ครับ

อ้างอิง –  http://www.nature.com/news/how-elephants-avoid-cancer-1.18534

ติดตาม พุธ-ไซแอนซ์ ทุกวันพุธ