วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


noolder01

ทีมงาน สารคดี เล่ากระบวนการสร้างสรรค์งานสารคดี

พรสวรรค์ไม่สำคัญเท่าพรแสวง

หัวใจอยู่ที่การเรียนรู้และทุ่มเทฝึกฝน…

แน่นอนว่าคนที่เกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์นั้นมีอยู่ เกิดมาเพื่อจะเป็นในสิ่งนี้ ดังคำอังกฤษที่ว่า born to be

คนที่เกิดมาเพื่อจะเป็นนักเขียนก็ย่อมมี แต่ในร้อยปีคงมีไม่มากคน

แต่โลกอาจอาจต้องการนักเขียนมากกว่านั้น และคนที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักเขียนก็มีมาก

ค่ายวรรณกรรมต่างๆ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากโจทย์นี้ รวมทั้ง “ค่ายสารคดี” ก็เช่นกัน

เริ่มจากค่ายสารคดีสำหรับกลุ่มเยาวชนนักเรียนนักศึกษาปีละรุ่น ทำต่อเนื่องมา ๑๓ ปี

กระทั่งขยายมาสู่ค่ายสารคดีระดับประชาชนรุ่นแรก “เขียนสารคดีกับมืออาชีพ” เมื่อต้นปีนี้ ตามมาด้วยรุ่นที่ ๒ ในช่วงเดือนกันยายน ๒๕๖๐

noolder02

จิตรกรรมฝาผนังวัดชมพูเวก กับ ดร.พิศาล บุญผูก  (ภาพ วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง)

หลักสูตรการเรียนย่อส่วนมาจาก “ค่ายสารคดี” จากที่เจอกัน ๘ ครั้ง ในช่วง ๓-๔ เดือน กระชับรวบรัดให้จบใน ๓ ครั้ง ในเดือนเดียว สนองความสะดวกและความไปได้สำหรับนักเรียนผู้ใหญ่ที่อยู่ในวัยทำงานแล้ว

แต่เนื้อหาหลักสูตรและชิ้นงานสำหรับการฝึกฝนเข้มข้นไม่ต่างกัน

ในช่วง ๓ ครั้งที่ของการพบกลุ่ม ผู้เรียนจะได้ฝึกทำ ๓ ชิ้นงาน

  • งานฝึกหัดภาคสนาม
  • งานสัมภาษณ์
  • งานสารคดีชิ้นใหญ่เต็มรูปแบบ

noolder03

ฟังผู้เฒ่าชาวมอญ คุณลุงวีระโชติ ปั้นทอง เล่าเรื่องท้องถิ่น (ภาพ วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง)

๒ กันยายน ๒๕๖๐ วันแรกของการเปิดห้องเรียน “เขียนสารคดีกับมืออาชีพ” รุ่น ๒

ภาคเช้า-ครึ่งแรกของวัน เรียนรู้ทฤษฎีวิธีการ ในห้องเรียนกันก่อน ซึ่งมีคาถาหลัก ๒ ข้อ

  1. รู้ลำดับการทำงาน เพื่อสามารถจัดลำดับขั้นและออกเค้าโครงเรื่องที่จะเขียน แล้วเดินตามแผนการนั้นได้
  2. รู้จักโครงสร้างงานสารคดี ทำแต่ละส่วนเป็นและดี มีสีสัน ความสำเร็จก็จะอยู่ไม่ไกล

 

  • ภาคบ่าย-ลงพื้นที่เก็บข้อมูล
  • ค่ำ-เขียน ส่ง
  • ดึก-ครูอ่าน
  • เช้าอีกวัน-มาล้อมวงคุยกันเรื่องงานเขียนชิ้นแรก ก่อนก้าวสู่ชิ้นที่ ๒ ซึ่งงานทั้งสองชิ้นนี้ทำแบบเรียนรู้ร่วมกัน

กระทั่งงานชิ้นที่ ๓ จะเป็นช่วงการสำแดงฝีมือของแต่ละคน เป็นงานที่ทุกคนต้องคิดเองทำเองด้วยฝีมือตัวเองทุกขั้นตอน

noolder04

หน้าพิพิธภัณฑ์วัดชมภูเวก (ภาพ : ชมพจน์พงศ์ ฤทธิ์รณศักดิ์)

คนมาเรียนอาจมีพื้นฐานหรือไม่มีมาก่อนเลยก็ได้ เพราะการสอนจะเริ่มตั้งแต่หลักเบื้องต้นเหมือนเริ่มหัดเขียน ก ไก่

สำหรับงานชิ้นแรก ครูกำหนดหัวเรื่องและเตรียมพื้นที่เก็บข้อมูลไว้ให้ พร้อมติดต่อแหล่งข้อมูลไว้ไห้แล้ว ผู้เรียนเพียงแต่เปิดใจออกเรียนรู้และฝึกพัฒนาฝีมือไปตามขั้นและตามข้อที่เป็นองค์ประกอบของการสร้างสรรค์งานสารคดีชั้นดี

หัวข้อที่เป็นธีมของค่ายสารคดีระดับประชาชน ครั้งที่ ๒ คือ วิถีมอญวัดชมภูเวก มีความน่าสนใจที่เป็นชุมชนมอญโบราณริมฝั่งเจ้าพระยา กับวัดเก่าแก่สมัยอยุธยา ซึ่งมีไฮไลน์อยู่ที่จิตรกรรมผนังโบสถ์ รูปแม่พระธรณีบีบมวยผม ที่กล่าวกันว่างดงามที่สุดโลก ได้สมญาว่าเป็น โมนาลิซาเมืองไทย

โดยมีภูมิปัญญาชาวบ้าน ปราชญ์ท้องถิ่นที่เชี่ยวชาญรอบรู้เรื่องวัฒนธรรมชาวมอญ จะมาเล่าข้อมูล

ให้นักเขียนมือใหม่ได้ซึมซับเก็บเกี่ยวมาร้อยเรียงเป็นงานสารคดีที่น่าอ่าน

หลังผ่านการเรียนรู้แลกเปลี่ยน ฟัง คิด เขียน ลงมือทำ

ทุกคนจะเริ่มรู้ได้ด้วยตัวเอง

การเขียนสารคดีไม่ใช่แค่ความฝันอีกต่อไป


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮ