วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


twoarms01

สารคดีเป็นความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลกับวิธีการนำเสนอ

เพราะสารคดีเป็นการเล่าเรื่องจริง ถ้าเพียงแต่เรานำข้อมูลเล่าออกไป ก็เป็นสารคดีแบบ documentaries ได้แบบสบายๆ

แต่หากเราได้สร้างสรรค์กลวิธีในการ “เล่า” และให้ความใส่ใจในสำนวนภาษาด้วย ก็จะเป็นเรื่องเล่าที่เร้าใจ ให้ความรื่นรมย์ ก็จะเป็น feature ที่ให้รสทางวรรณศิลป์ด้วย

ถ้าจะให้งานเขียนของเราเป็นสารคดีที่ครบเครื่อง ก็จำต้องทำให้สมบูรณ์ทั้ง “ข้อมูล” และ “กลวิธีการนำเสนอ” ที่เปรียบเสมือนแขนสองข้างของงานเขียน ที่จะทำให้สารคดีเรื่องนั้นสมบูรณ์ สมดุล สมาร์ท

twoarms02

ในด้านกลวิธีการนำเสนอนั้น อาจจำแนกแจกแจงออกเป็นแผนผังที่สัมพันธ์โยงใยกันและกันอยู่ดังนี้

  1. ผู้เล่าเรื่อง เป็นการกำหนดว่าเรื่องนั้นจะให้ใครเป็นคนเล่า หรือเล่าผ่านใคร

1.1  เล่าโดยผู้เขียน ผม, ฉัน, ข้าพเจ้า ถือเป็นวิธีการพื้นฐานที่สุดของการเขียนเรื่องเล่า
1.2  เล่าผ่านตัวละคร อาจเป็นตัวละครหลักตัวหนึ่งหรือหลายๆ ตัวละครก้ได้ โดยวิธีนี้ผู้เขียนจะไม่อยู่ในเรื่อง แต่เป็นผู้เล่าทุกสิ่งที่รู้ เรียกอีกแบบว่าเล่าโดย “มุมมองพระเจ้า”
1.3  เล่าผ่านบุรุษที่ ๒ คุณ เธอ ผู้อ่านจะรับสารผ่านน้ำเสียงผู้เขียนจากการมองหรือสนทนากับเขาผู้นั้นอยู่
1.4  ใช้ผู้เล่าหลายเสียง เช่น เรื่องสั้น “ล่วงละเมิด” ของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ หนังเรื่อง “ราโชมอน” ของ อากิระ คุโรซาวา

2.  เส้นเรื่อง สารคดีเป็นเรื่องเล่าที่มีเรื่องราว มีความคืบหน้า มีความเคลลื่อนไหว การดำเนินไปของเรื่อง ต้องมีสิ่งเชื่อร้อยหรือแกนกลางให้เกาะเกี่ยวติดตามแต่ต้นไปจนจบ เราอาจนิยมสิ่งนั้นได้ว่า “เส้นเรื่อง”

2.1  ตามเส้นเวลา เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด เล่าตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหลังไปตามลำดับ
2.2  สร้อยลูกปัด เป็นการเล่าโดยแบ่งหัวเรื่องออกเป็นประเด็นหลัก-ย่อย เหมือนเม็ดลูกปัดที่หลากหลาย เล็ก-ใหญ่ตามความสำคัญต่อเรื่อง แล้วร้อยเรียงเข้ากันไว้ด้วยด้ายเส้นหนึ่ง โชว์และขยายประเด็นสำคัญของเรื่องให้โดดเด่นเหมือนทับทรวงที่ต้องอยู่ตรงอก (ไม่ใช่ให้หลบอยู่แถวท้ายทอย) ประเด็นอื่นๆ เรียงสายไล่กันไปเป็นองค์ประกอบเสริมให้ทั้งเรื่องเรื่องเป็นสายสร้อยที่งดงามทั้งเส้น

3.  รูปแบบ การกำหนดออกแบบโครงเรื่องเล่า และเทคนิค ที่จะทำให้งานเขียนเรื่องหนึ่งน่าตื่นตา เร้าใจ มีจังหวะจะโคน เช่น

3.1  การใช้เทคนิคแบะบเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่าๆๆๆ
3.2  การตัดสลับ
3.3  การเล่าย้อนจากหลังมาหน้า
3.4  การเจาะจง เน้นความ และสร้างจังหวะจะโคน โดยใช้ย่อหน้า

twoarms03

ในการแบ่งปันประสบการณ์การเขียนสารคดีในงาน “ศาสตร์และศิลป์ในงานเขียนสารคดีอย่างสร้างสรรค์” โดย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ที่ห้องสมุด ๑๐๐ ปี เสม พริ้งพวงแก้ว เมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๐ ผมเอางานเขียนของ ติช นัท ฮันห์ เรื่อง “คือเมฆสีขาว ทางก้าวเก่าแก่” มาแลกเปลี่ยนกับนัก(หัด)เขียนใหม่ราว ๑๐๐ คน

“คือเมฆสีขาว ทางก้าวเก่าแก่” มีเนื้อหาตามคำโปยว่า วรรณกรรมพุทธประวัติในทัศนะใหม่ ซึ่งผู้เขียนย่อมจำเป็นต้องอ่าน ศึกษา ค้นคว้า “ข้อมูล” จกาพระไตรปิฎกอย่างหนักแน่น เข้มข้น ไปดูสถานที่จริงในประวัติศาสตร์ เพื่อจะบรรยายภาพ เขียนฉากได้อย่างตรงตามจริงและสมจริง

และจุดสำคัญในงานเรื่องนี้น่าสนใจและโดดเด่นกว่าหนังสือพุทธประวัติโดยทั่วไป กระทั่งทีมสร้างหนัง “พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก” มาขอบทประพันธ์ไปทำเป็นบทภาพยนตร์ ก็อยู่ที่วิธีการเล่าการแปลกใหม่ เร้าใจและชวนติดตามนั่นเอง

เมื่อ “เลาะตะเข็บ” งานเขียนเล่มนี้ออกมา เราจะเห็นโครงสร้างเกี่ยวกับผู้เล่าเรื่องดังนี้

ติช นัท ฮันห์ – ผู้เขียน

เล่าเรื่องผ่านตัวละคร – สวัสติ เด็กชายจันทาลที่ถวายหญ้าหอบหนึ่งให้พระสิทธัตถะปูรองนั่งก่อนตรัสรู้ ต่อมาเขาได้อุปสมบท และมีชีวิตอยู่กระทั่งหลังปรินิพพาน ถือเป็นตัวหลักที่เหมาะจะเป็นผู้เล่า ด้วยได้เห็นพระพุทธเจ้าตลอดพระชนม์ชีพ

เปิดเรื่อง – ช่วงที่พระสวัสติเพิ่งอุปสมบท กำลังตะลึงงันกับคณะสงฆ์และคำสอนของพระพุทธองค์ และตั้งใจว่าท่านจะต้องค่อยๆ เรียนรู้และปฏิบัติไป

จากนั้น ตัวเรื่อง – ย้อนกลับไป… เมื่อท่านยังเป็นเด้กเลี้ยงควาย เมื่อนางสุชาดานำอาหารมาถวายพระสิทธัตถะ เมื่อนักบวชหิวโหยมาสู่แม่น้ำเนรัญชรา … จนถึงการการกำเนิดของเจ้าชายกรุงกบิลพัสด์ ไปจนกระทั่งออกบวช ตรัสรู้

จากนั้นเรื่องดำเนินไปเป็นตอน ๆ ตามเรื่องราวในพุทธประวัติที่ชาวพุทธส่วนใหญ่รู้กันอยู่แล้ว แต่ในงานเขียนเรื่องนี้ผู้เขียนเล่าให้ผู้อ่านฟังใหม่ผ่านการรับรู้และการปรากฏตัวพระสวัสติ

บางช่วงผู้เขียนแทรกข้อมูลเข้ามาแบบแนบเนียนเลือนเข้าเป็นเนื้อเดียวกับเสียงเล่าหลักโดยคนอ่านไม่รู้สึกสะดุด

บางช่วงเรื่องเล่าถูกซ่อนเรื่อง ผ่านน้ำเสียงตัวละครย่อยแบบซ้อนกันหลายชั้น

เหตุการณ์ในกรุงมคธช่วงที่เจ้าชายอชาตศัตรูถูกพระเทวทัตยุยงให้ชิงบัลลังก์พระราชบิดาคือ พระเจ้าพิมพิสาร ถูกเล่าผ่านเสียงของหมอหลวงนาม ชีวกะ ซึ่งรู้มาจากปากคำของพระมเหสี

เริ่มต้น ผู้เขียนบรรยายให้เห็นฉากพระพุทธองค์เสด็จนำหมอชีวกะเดินขึ้นยอดเขาที่ประทับด้วยกันโดยสงบ ต่างอยู่กับการดูลมหายใจตัวเองระหว่างก้าวเดิน

เมื่อนั่งลงแล้ว หมอชีวกะก็เล่าถึงเหตุการณ์ที่ฟังมาจากพระมเหสีของพระเจ้าพิมพิสารให้พระพุทธเจ้าฟัง

คำเล่าบอกว่า เจ้าชายอชาติศัตรูแอบเข้าห้องบรรธมพระเจ้าพิมพิสารยามวิกาล แล้วถูกทหารองครักษ์จับได้ ค้นตัวพบว่าซุกซ่อนดาบเข้ามาด้วย

ต่อจากนั้นเรื่องถูกเล่าผ่านภาพเหตุการณ์เหมือนผู้อ่านเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตรงหน้า แสดงการสนทนาโต้ตอบของพระเจ้าพิมพิสารกับเจ้าชาย

เหตุการณ์นี้อยู่ในคำเล่าของมหเสีที่ซ้อนเข้ามาอีกชั้น ในคำเล่าของหมอชีวกะ

เมื่อมองย้อนกลับไปตามชั้นของการซ้อนเรื่อง จะเห็น “ผู้เล่าเรื่อง” ตลอดทั้งสายซ้อนกันอยู่หลายชั้น จากผู้เขียน – พระสวสัสติ – หมอชีวกะ – มเหสี – การแสดงเหตุการณ์ที่ปรากฏเป็นภาพ

ถ้านักเขียนใหม่ “รู้ทัน” เทคนิควิธีการเหล่านี้ ก็จะเห็นทางสร้างสรรค์กลวิธีใหม่ๆ ที่เป็นสไตล์ของตัวเองได้กว้างไกลไปจนถึงขั้นที่เปรียบว่า “มีลายมือของตัวเอง”


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮ