คอลัมน์ – มรดกตกทอด
สืบสานภูมิปัญญาจากอดีต เพื่ออนาคต
เรื่องและภาพ  ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

wordking01
งานเขียนจิตรกรรมฝาผนังภายในพระที่นั่งทรงธรรม ที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ เนื่องในงานออกพระเมรุ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ดำเนินมาถึงขั้นตอนการลงสีที่สำนักช่างสิบหมู่ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม

แบบร่างลายเส้น โดยอาจารย์มณเฑียร ชูเสือหึง จิตรกรเชี่ยวชาญ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ถูกคัดลอกลายลงบนผ้าใบแคนวาส  จากนั้นในส่วนขั้นตอนการลงสี ทั้งสามสถาบัน คือ สำนักช่างสิบหมู่ (กรมศิลปากร)  วิทยาลัยช่างศิลป (สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์) และวิทยาลัยเพาะช่าง (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์) จะร่วมกันรับผิดชอบงานลงสีจิตรกรรมฝาผนังสามด้าน ได้แก่ ด้านที่ ๑ พื้นที่โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ด้านที่ ๒ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในภาคกลางและภาคใต้ และด้านที่ ๓ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในภาคเหนือ ภาคอีสาน และในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

wordking02

กรกฎาคม ๒๕๖๐ อาจารย์สนั่น รัตนะ ครูชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยช่างศิลป หัวหน้าคณะทำงานเขียนจิตรกรรมในส่วนรับผิดชอบของวิทยาลัยช่างศิลป อธิบายว่า “ผ่านมาแล้ว ๓๓ วัน กับเวลาที่เหลือไม่เกิน ๖๐ วันของการทำงานชิ้นนี้ให้สมบูรณ์  งานพระเมรุมาศไม่มีการเตรียมการล่วงหน้า และไม่มีคำว่าต่อสัญญาเหมือนงานก่อสร้างทั่วไป  ระฆังหมดเมื่อไรต้องจบทันที”

อาจารย์สนั่นอาศัยความเป็นครูอาวุโสทางศิลปะชักชวนลูกศิษย์ลูกหามาช่วยงานลงสีช่วงเริ่มต้น  และเชื้อเชิญรุ่นครูบาอาจารย์มาเก็บรายละเอียดที่ต้องเน้นความประณีตเป็นพิเศษ หลังจากการลงสีจิตรกรรมฝาผนังมากว่าเดือน อาจารย์สนั่นค้นพบว่า “ผมเห็นว่าคำสอนในหลวงทุก ๆ คำอยู่บนงานชิ้นนี้ ความสามัคคี รักษาสัญญา ทุกคนมาด้วยใจ ไม่ต้องโทร.ตาม มาถึงลดความเป็นตัวตนลง  ช่างทุกคนเหมือนสีคนละขวด มีเอกลักษณ์ของแต่ละคน แต่ชั่วโมงนี้หลอมรวม เอางานเป็นจุดศูนย์กลาง”

อาจารย์สนั่นเล่าต่อว่า “ผมเห็นความเพียร เห็นความอดทน ทำงานอย่างไรให้งานเสร็จทันเวลา เห็นน้ำใจของคนที่หลั่งไหลเข้ามา วาดไม่ได้ก็ซื้อน้ำมาส่ง ซื้อผลไม้มาครั้งหนึ่ง ๓๐-๔๐ กิโล นี่คือน้ำใจ”

งานเขียนจิตรกรรมฝาผนังทั้งสามด้านนี้มีพื้นที่รวมกันกว่า ๒๓๗ ตารางเมตร โดยเมื่อผ่านขั้นตอนลงสีแล้วจะย้ายไปติดตั้งยังพระที่นั่งทรงธรรม ท้องสนามหลวง ต่อไป