วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


ronglen01

rengrud01

สำนักศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ชั้นปีที่ ๔ สาขาอาเซียนศึกษา มีรายวิชาที่ต้องนำเสนองานในรูปแบบงานเขียนสารคดี

ส่วนใหญ่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลในประเทศเพื่อนบ้านกันมาแล้วก่อนหน้านี้ แต่อยากได้วิธีการนำเสนอเรื่องราวให้น่าสนใจ โดยมีเวลาครึ่งวันสำหรับการติวเข้มเคล็ดวิชาก่อนลงมือเขียน

เป็นโจทย์จากคณาจารย์ในสำนักฯ ที่เชิญชวนผมให้ไปร่วมด้วยช่วยเติมเทคนิคความรู้ในการเขียนสารคดีให้กับว่าที่นักอาเซียนศึกษา

เวลาครึ่งวันอาจสั้นเกินไปสำหรับการลงมือฝึกปฏิบัติแบบยกชั้น ผมจึงเน้นหนักไปที่การทำความเข้าใจให้ความรู้เชิงหลัก-สูตร เทคนิค ให้ได้ความรู้แน่นหนาเอาไปใช้ต่อได้

rengrud02

เมื่อผ่านการลงพื้นที่มาแล้ว ข้อมูลกองหนึ่งที่ว่าด้วย “การสังเกตการณ์” ถือเป็นอันสิ้นสุด ใครเก็บมาได้เท่าใดก็เท่านั้น

แต่อาจยังพอช่วยเสริมได้ด้วยการชี้ช่องให้เขาลองย้อนรำลึกนึกกลับไป หรือทบทวนผ่านภาพถ่าย ภาพเคลื่อนไหว หากได้บันทึกไว้ หรือที่คนอื่นบันทึกเอาไว้ในสถานที่หรือเหตุการณ์เดียวกันก็ได้

ข้อมูล “สัมภาษณ์” อาจยังซ่อมได้ผ่านการสื่อสารทางออนไลน์หรือโทรศัพท์ แต่โดยเซนต์ของคนทำสารคดีจะรู้ว่า เก็บข้อมูลสัมภาษณ์แบบไม่ได้นั่งอยู่ต่อหน้านั้น ไม่เหมือนไม่เท่าการได้นั่งสนทนาแบบจับเข้าคุยกัน

กลุ่มข้อมูลที่สามารถเก็บได้แบบไม่สายคือ “ข้อมูลแห้ง” หรือข้อมูลทุติยภูมิ ที่มีผู้ทำเอาไว้ทั้งในรูปแบบเอกสาร ออนไลน์ วีดิทัศน์ ซึ่งเราสามารถค้นคว้าต่อได้จนกระทั่งลงมือเขียน หรือเขียนจบแล้วก็ยังค้นมาใช้ในการตรวจทานได้

rengrud03

เมื่อข้อมูลพร้อมสำหรับการเล่าเรื่องในรูปแบบงานเขียนสารคดี มี ๔ ลำดับขั้นให้ฝึกทำเหมือนการไต่ขั้นบันได

“เขียนแบบบันทึก” เพื่อให้นักเขียนมือใหม่ กล้าและสามารถเขียนออกมาได้แบบไม่กดดัน ก็ลองเขียนออกมาเหมือนพูด เหมือนเขียนบันทึก เพียงแต่เป็นบันทึกที่มีหัวข้อ แทนที่จะเล่าไปเรื่อยแบบบันทึกส่วนตัว

“ลงลึกในประเด็น” หากเขียนเล่าแบบบันทึกได้คล่องแคล่วลื่นไหลแล้ว ลองฝึกวางโครงเรื่องออกเป็นประเด็นหลัก ประเด็นย่อย ที่ประกอบกันอยู่ในหัวเรื่องที่จะเล่า แล้วลงมือเขียนไล่ไปทีละประเด็น

วิธีนี้มีข้อดีอย่างแรกคือช่วยให้เนื้อเรื่องยาวขึ้นได้แบบรัดกุม ไม่ฟุ้งออกนอกเรื่อง

อีกทั้งช่วยให้เกาะกุมอยู่กับประเด็นได้ง่ายทั้งคนเขียนและคนอ่าน คนเขียนเล่าเรื่องไปทีละประเด็น คนอ่านก็ติดตามรู้เรื่องเป็นประเด็นๆ ไป

“เลือกเฟ้นวิธีการนำเสนอ” ว่าด้วยเทคนิคกลวิธีการเล่าเรื่อง ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าสารคดียุคใหม่นั้นไม่ใช่สักแต่นำเสนอข้อมูลไปแบบดาดๆ เท่านั้น หากสามารถออกแบบสร้างสรรค์กลวิธีได้อย่างไม่จำกัด และอย่างไม่แตกต่างจากเรื่องแต่งอย่าง เรื่องสั้น นิยาย หรือแม้แต่เทคนิคแบบหนัง

ในแง่กลวิธีการเล่าเรื่องงานศิลป์ทั้งหลายสามารถถ่ายเทสะท้อนต่อกันได้ ส่งแรงบันดาลใจให้กัน ดังคำกล่าวว่า ศิลปะส่องทางให้แก่กัน

รูปแบบ-วิธีการนำเสนอในงานสารคดีจึงสามารถสร้างสรรค์ได้อย่างไม่จำกัด ไม่ซ้ำเดิม และไม่มีที่สิ้นสุด เช่นเดียวกับงานวรรณศิลป์แขนงอื่น

เพื่อนำไปสู่ปลายทางในขั้นที่ ๔

“เจอเส้นทางของตัวเอง” หรือที่เรียกว่า เป็นนักเขียนที่มีลายมือของตัวเอง คือมีไสตล์เฉพาะตน มีเอกลักษณ์ ผู้อ่านเห็นงานแล้วจำได้โดยไม่ต้องดูชื่อผู้เขียน

rengrud04

เหล่านี้เป็น หลัก หรือสูตร ที่ขึ้นกระดานให้จด หรือจำไปใช้ต่อได้ แต่วิธีหนึ่งที่จะซึมซาบเข้าไปอยู่ในใจในตัวผู้เขียน คือการเรียนรู้ด้วยตัวเองจากตัวอย่างงานเขียนดีๆ

กับกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผมหยิบบางตอนจากหนังสือ “เสียงพูดสุดท้าย ’รงค์ วงศ์สวรรค์” ของ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ “หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา” ของ อุรุดา โควินท์ “เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ” ของ อรุณธตี รอย เรื่องสั้น “หล่อนขี่ม้าของเขาไป” ของ อุษณา เพลิงธรรม ให้นักหัดเขียนแบ่งกลุ่มกันลองอ่าน

หากอ่านอย่างใส่ใจสิ่งแรกที่เขาจะได้คือฝึกการเก็บข้อมูล (แห้ง) เพื่อนำมาตอบโจทย์ง่ายๆ ที่เขาต้องแบ่งปันสู่เพื่อนในวงใหญ่ ๒ ประเด็นคือ

หนึ่ง-เรื่องราวในช่วง (๑-๒ หน้า) ที่ได้อ่านนั้นเป็นอย่างไร

และสอง-ได้เห็นจุดเด่นใดจากเรื่องที่อ่าน (อันเป็นเป้าหมายหลัก-ที่เขาจะได้รู้เห็นเทคนิควิธีการดีๆ จากงานที่ได้อ่าน)

ในข้อที่สองนี้มีคำตอบจากแต่ละกลุ่มว่า ได้เห็นการบรรยายที่เห็นภาพ การถ่ายทอดความรู้สึกภายใน การเขียนฉาก การบรรยายลักษณะตัวละคร อารมณ์ บทสนทนา การถอดบทสัมภาษณ์ออกมานำเสนอในรูปของการอ้างตรง (direct quote) – อ้างอ้อม (indirect quote) ฯลฯ

ทั้งหลายนี้เป็นพื้นฐานของการเล่าเรื่องด้วยภาษาเขียน ทั้งเรื่องจริง (non fiction) เรื่องแต่ง (fiction) ซึ่งนักเขียนใหม่ทุกคนสามารถเรียนรู้ฝึกฝนได้ หากเข้าใจเคล็ดลับง่ายๆ เหล่านี้เป็นเบื้องต้น

แต่หัวใจสำคัญสำหรับคนที่มั่งมั่นตั้งใจจะเอาดีทางนี้ คือการฝึกฝนพัฒนาต่อให้ถึงขนาดที่ว่า “หายใจเข้าออกอยู่กับมัน”

จนกระทั่ง “มีลายมือของตัวเอง”