สัมภาษณ์ : ศรัณย์ ทองปาน
เรียบเรียง : วิชญดา ทองแดง
ถ่ายภาพ : จิตรทิวัส พรประเสริฐ

หนึ่ง-จักรวาล เสาธงยุติธรรม  - หนึ่งในจักรวาลดนตรี

กลางปี ๒๕๖๐ กระแสความนิยมรับชมรายการ “The Mask Singer - หน้ากากนักร้อง” สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ของวงการโทรทัศน์ไทย ที่เรตติงของรายการเกมโชว์ในช่องทีวีดิจิทัลสามารถเอาชนะละครโทรทัศน์หลังข่าวที่ออกอากาศในทีวีช่องหลักได้

นอกจากได้เห็นความสามารถด้านการร้องเพลงของบรรดา “หน้ากาก” แขกรับเชิญที่อาจคาดไม่ถึง หวนรำลึกถึงนักร้องดังยุคอดีต ขบขันกับมุกโต้ตอบกระทบกระเทียบระหว่างกรรมการกับนักร้องภายใต้หน้ากาก ฯลฯ  รายการนี้ยังส่งให้เหล่ากรรมการกลายเป็นขวัญใจ แฟนคลับเฝ้ารอลุ้นผลว่าใครจะ “ทายแม่น” กว่ากัน  กรรมการคนหนึ่งที่ผู้ชมอาจไม่คุ้นหน้าในช่วงแรกเริ่ม แต่ผลงานประจักษ์โดดเด่นกลายเป็น “กูรูขาประจำ” ในไม่กี่โมงยาม คือ “พี่หนึ่ง-จักรวาล”  จักรวาล* เสาธงยุติธรรม - นักดนตรีและผู้เรียบเรียงเสียงประสานฝีมือขั้นเทพ ผู้อยู่เบื้องหลังนักร้องดังทั่วฟ้าเมืองไทย

จุดเปลี่ยนที่พลิกจากคนเบื้องหลังสู่คนหน้าจอ 
คือรายการ “The Mask Singer - หน้ากากนักร้อง” สามสี่ปีก่อนเวิร์คพอยท์ติดต่อให้ผมเป็นโปรดิวเซอร์สายแจซในรายการ “The Band - เดอะแบนด์ไทยแลนด์” ออกอากาศปี ๒๕๕๖ เป็นรายการประกวดวงดนตรีสี่แนว คือ ป็อป ร็อก อะคูสติก&อะแคปเปลลา และแจซ&ฟิวชัน  เขาคงไปดูโปรไฟล์ว่าใครจะเป็นกรรมการได้บ้าง ตอนนั้นคนยังไม่รู้จักผม ไม่รู้ว่าผมพูดไม่รู้เรื่อง พูดเร็ว พูดไม่เก่ง และเป็นคนพูดตรง ด่าแรง

ในวงการทีวีนี่กรรมการจะรู้กันก่อนว่าวงที่มาแข่งเป็นอย่างไร มีชีวิตดราม่าแค่ไหน แต่ผมไม่อ่านสคริปต์ คืออ่านแล้วลืมหมด ทำตามไม่ได้ เล่นละครไม่เป็น แสดงไม่เป็น  ชีวิตที่ว่าดราม่าผมเจอมาหมดแล้ว ผมเป็นเด็กสลัมคนหนึ่ง บ้านแทบไม่มีอยู่ ออกจากบ้านก็เจอคนฉีดผงขาวนอนตายคาเข็ม เห็นตำรวจวิ่งไล่จับคนทุกวัน  เวลานอนก็ต้องคอยระวังเพราะบ้านจะโดนไฟไหม้คืนไหนไม่รู้ เขาเผาไล่ที่กัน  ตอนเด็กไม่มีสตางค์ซื้อเครื่องดนตรี ฯลฯ ผมเลยคิดว่าคนมาแข่งนี่อย่างน้อยก็มีสตางค์ซื้อเครื่องดนตรี เพราะฉะนั้นถ้าใครมาแข่งแล้วเล่นไม่ดีผมด่าเลย ด่าจริงด้วย จะไม่ให้กำลังใจว่า “เฮ้ย…ดีแล้ว พัฒนาต่อได้ พัฒนาต่อไป” ผมเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ชีวิตผมได้ดีจนถึงทุกวันนี้เพราะชอบให้คนอื่นด่า ผมเห็นว่าการด่าเป็นเรื่องปรกติ  ถ้าแค่ชมแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าตรงไหนคือไม่ดี

ความที่ผมเป็นคนพูดตรงก็จะบอกเลยว่าอันนี้ไม่ดีเพราะอะไร ทำอย่างไรถึงจะดีกว่า ชี้ข้อเปรียบเทียบให้  บางช่วงทีมงานต้องขอตัดทิ้ง ออกอากาศไม่ได้เพราะพูดแรงมาก แต่ผมคิดว่าสิ่งที่ผมพูดคือเรื่องจริง พอลงจากเวทีน้อง ๆ เข้ามากอดเลย บอก “พี่พูดถูก” ไม่มีใครโกรธผม

ผมไม่ได้คิดนะว่าจะอยู่หน้าจอนาน พอเขาจะทำรายการ “I Can See Your Voice Thailand - นักร้องซ่อนแอบ” ก็มาเชิญอีก แล้วก็ต่อเนื่องเรื่อยมาถึงรายการ “The Mask Singer” เป็นรายการทางช่องเวิร์คพอยท์ทั้งหมด แต่ไม่ได้เซ็นสัญญากันนะ เรียกว่าไม่มีสังกัดก็ได้ (หัวเราะ)

เคยคิดไหมว่ารายการ “I Can See Your Voice Thailand” และ “The Mask Singer” จะมีเรตติงสูงมาก
“I Can See Your Voice Thailand” นี่ตอนแรกกรรมการทุกคนยังงง ๆ บ้านเราไม่เคยมีรายการประเภทนี้มาก่อน ต้องอธิบายทำความเข้าใจกันพักหนึ่ง ทีมงานเองก็ไม่คิดว่ารายการจะดังขนาดนี้  แรก ๆ ศิลปินหลายคนยังไม่กล้ามา กลัวทายผิดไปเจอคนร้องเพี้ยนแล้วจะเสียหน้า แต่พอเรตติงรายการดีศิลปินก็เริ่มอยากเข้ามา

ช่วงแรกของ “The Mask Singer” ก็เหมือนกัน ศิลปินบางคนอยากมา แต่ทางค่ายไม่อยากให้มา กลัวนักร้องเขาแพ้  เขาคงมองอีกมุมหนึ่งว่ามันคือการประกวด ใครแพ้ถอดหน้ากาก แน่ละไม่มีใครอยากแพ้  แต่พอรายการดัง เปิดหน้ากากปุ๊บ กระแสดี มีงานเพิ่มขึ้น ทุกคนก็อยากมา  กลายเป็นว่าคนดูไม่สนใจเรื่องแพ้ชนะ ศิลปินได้มาสนุก ได้ร้องเพลงที่ตัวเองอยากร้อง เหมือนได้โชว์มากกว่า รายการก็สนุกขึ้นอีก คนก็ชอบมากขึ้นเรื่อย ๆ

อะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณทายนักร้องปริศนาถูกอยู่บ่อยครั้ง
หลายคนถามว่าทำไมผม “เดา” ได้ว่าเขาร้องเพราะหรือเพี้ยน นี่เป็นเกมในยุคนี้นะ แต่วิธีการนี้เป็น “เกม” ของผมตั้งแต่เด็ก  ผมเล่นดนตรีมาหลายที่ เห็นการร้องเพลงของคนทุกแบบ อย่างงานเลี้ยงสังสรรค์บริษัท คนแรกร้องเสร็จปุ๊บก็เชิญคนอื่นขึ้นมาร้องต่อ พอกินกันได้ที่แล้วก็เล่นกันไปตั้งแต่หัวหน้าบริษัทจนถึง รปภ. ระหว่างรอเขาขึ้นเวที ผมก็นั่งสังเกต นั่งคิดฆ่าเวลาไปเหมือนเล่นเกม ว่าคนที่กำลังเดินขึ้นมาบนเวทีมีสภาพแบบนี้จะร้องเพลงแบบไหน ดูวิธีจับไมค์ เลือกเพลง ฯลฯ ทันทีที่เขาร้องผมก็ขำตัวเองว่า “กูว่าแล้ว”

พอมาทำรายการทีวี ผมไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร เทปแรก ๆ บอกไปตรง ๆ ตามที่รู้ เหมือนบอกไต๋ ทีมงานก็เอาที่ผมพูดไปบอกปริศนาว่าห้ามทำแบบนั้นแบบนี้ กลัวจะทายง่าย  ถ้าคนไหนเล่นละครเก่ง เล่นเนียน ผมเดาไม่ได้หรอก แต่ส่วนใหญ่จะเล่นไม่ค่อยเนียน  บันทึกเทปตอนหนึ่ง ๔-๕ ชั่วโมงนะ เขาก็ต้องมีหลุดบ้าง ก่อนทายผมจะบอกว่าผมเห็นอะไร ได้ยินอะไร ถึงทายแบบนั้น ทีมงานจะไปบอกปริศนาคนอื่นอีก ลงดีเทลไปเรื่อย ๆ สนุกดี

วิธีทำเพลงในรายการทั้งสองต่างกันไหม 
“I Can See Your Voice Thailand” ตอนหลังมีลูกน้องช่วยทำเพลง ผมดูอยู่ห่าง ๆ เพลงก็ทำไม่ยาก เรารู้ว่าทำให้ใครร้อง ผู้หญิงหรือผู้ชาย คีย์ประมาณไหน คือเอาเพลงเดิมมาบิดนิดหน่อย ทำแค่ท่อนสั้น ๆ หน้าที่ของผมหนักไปที่การเป็นกรรมการมากกว่า คอยสังเกตคนร้อง สังเกตการร้องบนเวที

ส่วน “The Mask Singer” แต่ละคนเขามีลิสต์เพลงมาเองประมาณหนึ่ง ส่งให้ทีมงานช่วยดู บางคนเป็นศิลปินแนวป็อปแต่เคยร้องเพลงลูกทุ่งลงยูทูบ ทีมงานก็ไม่อยากให้ร้องลูกทุ่งเดี๋ยวทายง่าย เพราะพอรายการดังมาก มีแฟนคลับช่วยกันจับช่วยกันสืบเยอะมาก  แต่ก็มีนะที่บางคนคัฟเวอร์เพลงอีกแนวลงยูทูบ ยอดวิวเพียบเลย พอหน้ากากร้องคัฟเวอร์แบบนี้บ้าง คนก็ทายกันใหญ่ว่าใช่แน่ พอเปิดมา “เฮ้ย ! ไม่ใช่” อันนี้มีเฮ

การทำเพลงให้ “The Mask Singer” จะยากตอนได้รับโจทย์ครั้งแรก คือเราไม่รู้เลยว่าเขาร้องเพลงอย่างไร แบบไหน ทีมงานบอกแค่ว่า “หน้ากากทุเรียน” จะร้องเพลงนี้ ผู้หญิงหรือผู้ชายก็ไม่บอก  ความจริงแค่รู้เพศยังเดายากนะ เพราะคีย์ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บอกแค่ “หน้ากากผีเสื้อสมุทร” ผมเดาว่าทำเพลงให้ผู้หญิง แต่กลายเป็นพี่หอย (เสนาหอย-เกียรติศักดิ์ อุดมนาค)

ผมเดาตั้งแต่ได้โจทย์มาแล้วทำเพลงส่งไปให้เขาซ้อมเลยนะ บางครั้งทำเป็นร็อก แต่เขาไม่ถนัด เท่ากับฆ่าเขา เพลงไม่ทำงาน เขาก็แพ้  บางคนร้องคีย์นี้ไม่ได้ มารู้เอาวันอัดรายการ ต้องเปลี่ยนเดี๋ยวนั้น เพราะรายการนี้ร้องสด แต่มาตัดต่ออีกครั้งก่อนออกอากาศ  แต่พอครั้งที่ ๒ ที่ ๓ ง่ายละ เรารู้บ้างแล้วว่าเขาน่าจะร้องแนวไหน ประมาณไหน คราวนี้หน้าที่เราต้องพัฒนาต่อ ว่าจะทำเพลงอย่างไรถึงจะดึงศักยภาพเขาออกมาอีก ผมก็จะเพิ่มสกิลให้เขาได้ร้องเต็มที่

คิดอย่างไรกับคำกล่าวที่ว่า ชีวิตนักดนตรีหรือคนทำเพลงเหมือนปิดทองหลังพระ
บางคนมองว่าการเล่นแบ็กอัปไม่มีใครเห็น แต่ผมคิดว่าการที่เราเล่นดนตรีนั้นเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องทำให้นักร้องเก่ง  ถ้าเขาร้องล่ม ร้องผิด เจ้าตัวเขารู้ เราจะทำอย่างไรให้คนฟังไม่รู้  เขาร้องผิดท่อน เราต้องเปลี่ยนคอร์ดให้ทัน อันนี้ยากกว่าเราโชว์เก่งเอง ผมเคยบอกเพื่อนที่เล่นด้วยกันให้เปลี่ยนคอร์ดตามนักร้อง บางคนเขาไม่เปลี่ยน เขาคิดว่ากูเล่นของกูถูกแล้ว ถ้าเปลี่ยน ความดีก็ไม่มาอยู่ที่ตัว ผมว่ามองแบบนี้มันไม่ได้อะไรขึ้นมา

นักร้องเขารู้แน่ว่าเราช่วย บางคนมาขอบคุณทีหลัง บ้างก็ไม่ สมัยเล่นดนตรีแรก ๆ เคยมีน้อยใจนะ แต่มันไม่เกิดประโยชน์  เล่นดนตรีมาสักพักผมเลยเริ่มใช้วิธีเอาเพลงมาคัฟเวอร์ใหม่ อย่างสมัยทัวร์คอนเสิร์ตกับพี่ฟอร์ด (สบชัย ไกรยูรเสน) พอพี่เขามาซ้อมก็ขอให้เขาลองดูว่าผมทำเพลงแบบนี้ชอบไหม แบบไหนเขาชอบก็เล่น พอเล่นเสร็จคนดูปรบมือ เออ ! มันได้ แต่ถามว่าคนดูรู้ไหม คนดูไม่รู้ว่าผมทำ  ผมคิดว่าเราไม่ต้องประกาศตัว เพราะสิ่งเหล่านี้จะมาจากศิลปินเป็นผู้ให้โอกาส ถ้าเพลงที่เราทำคนเฮบ่อย ๆ ศิลปินก็จะพูดเองว่า “เพลงนี้ทำโดยคุณหนึ่ง”

เมื่อก่อนทำเพลงแบบนี้ ฟรีนะ ไม่ได้สตางค์เพิ่ม คือได้เฉพาะค่าตัว แต่ผมทำเพราะสนุก คืออยากเรียนเพิ่ม แต่ไม่มีสตางค์ ไม่มีเวลาไปเรียน ก็ใช้วิธีเรียนกับคน

ผมทำเพลงใหม่ เพื่อนที่วงเขาด่าว่าทำไปทำไมให้เหนื่อยเปล่า แค่แกะให้เหมือนแผ่นก็จบแล้ว เพราะถ้าทำเพลงใหม่ ทุกคนก็ต้องซ้อมใหม่ ตอนนั้นผมคิดว่าวันนี้ทำฟรี แต่วันข้างหน้าคนฟังจะเป็นคนบอกว่าสิ่งที่เราทำอยู่นี้มัน “ผ่าน” หรือเปล่า เราไม่เอาหน้าวันนี้ แต่วันหนึ่งเราต้องมีชื่อเสียงแน่นอน

ผมเคยเล่นให้นักร้องรุ่นใหญ่ พวกพี่แต๋ม (ชรัส เฟื่องอารมย์) พี่ปั่น (ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว)  พี่ตุ๊ก (วิยะดา โกมารกุล ณ นคร) พี่ตู่ (นันทิดา แก้วบัวสาย)  ศิลปินพวกนี้มีกำลังที่จะบอกรุ่นน้องต่อ ๆ ไปว่าคนนี้ทำเพลงเป็นอย่างไร ปากต่อปากนะ  จากตรงนั้นทำให้ผมมีโอกาสมาถึงวันนี้ วันที่ได้คำตอบแล้วว่าผม “ผ่าน”

neungjakkrawal02

ทราบมาว่าคุณหนึ่งเติบโตมาในแวดวงศิลปิน
คุณตาบุญชุบ รุ่งศิริ เจ้าของคณะลิเกดังทางภาคใต้ รับแม่เป็นลูกบุญธรรมตั้งแต่เล็ก เพราะตายายจริง ๆ เสีย  ลิเกสมัยนั้นมีวงดนตรีด้วย แม่เป็นหางเครื่องรำวงบ้าง ตอนเล็ก ๆ ผมทันดูเขาเล่นระนาดเล่นอะไรกัน  ส่วนคุณปู่ประสงค์ เสาธงใหญ่ เป็นมุสลิม เล่นลำตัดอยู่ภาคกลางนี่แหละ  คุณพ่อสนั่น เสาธงยุติธรรม ทำงานการท่าเรือฯ มีเพื่อนเป็นนักร้องที่เป็นขุนพลเพลงลูกทุ่งดังในสมัยนั้นคือ ชัยชนะ บุญนะโชติ ศิลปินแห่งชาติ ปี ๒๕๔๑ เขามีลูกศิษย์คือ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เอามาฝากพ่อผม มานอนค้างที่บ้านเราในย่านคลองเตย  ต่อจากสมัยนั้นผมก็เจอ สายัณห์ สัญญา  พุ่มพวง ดวงจันทร์ ฯลฯ แต่ด้วยความเป็นเด็ก ผมไม่รู้ว่าเขาดังมากแค่ไหน

ตั้งแต่จำความได้ พ่อผมขาพิการแล้ว ตอนเย็นมีเพื่อน ๆ ซึ่งก็คือนักร้องลูกทุ่งสมัยนั้น มานั่งสังสรรค์กินเหล้าร้องเพลงกัน ร้องจริงจังเหมือนมานั่งต่อเพลง  ผมไม่รู้ว่าพ่อรู้จักเพื่อน ๆ พวกนี้ได้อย่างไร แล้วไม่รู้ว่าพ่อรู้ได้อย่างไรว่าเพลงไหนต้องร้องแบบไหน แต่พ่อบอกได้หมดว่าตรงนี้ควรเอื้อนแบบนี้ ตรงนี้ต้องร้องแบบนี้ เคยเห็นพ่อมีตำราเพลงแหล่ ลำตัด ทำขวัญนาค แบบเดียวกับที่คนในยุคนี้ยังใช้ทำมาหากิน แต่พ่อไม่เคยร้องเพลงเป็นอาชีพ

นักร้องในสมัยนั้นไม่ได้เรียกพ่อผมว่าครูเพลง คือเป็นเพื่อน ๆ กัน แต่ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เรียกว่าอาจารย์ คือเป็นทั้งอาจารย์ เป็นทั้งพี่  สูทตัวแรกที่คุณอาไวพจน์สวมขึ้นเวทีก็คือสูทที่พ่อผมซื้อให้ตัดให้

ผมได้รู้ได้เห็นสิ่งที่พ่อกับเพื่อน ๆ คุยกันตลอด ว่าเพลงลูกทุ่งพูดถึงอะไร อย่างวิธีการสื่อความหมายของเพลงลูกทุ่งคือให้จินตนาการตามเหมือนวาดภาพ  พูดถึงเรื่องรักจะเกริ่นมาเลยเหมือนเป็นนิทาน ใส่ความรู้สึกจินตนาการตาม  พ่อมีความหวังว่าอยากให้ลูกเล่นดนตรีเป็น ก็ไปขอคีย์บอร์ดมาวางให้ผมเล่นคลอไป บอกว่าให้ฟังเขาร้องแล้วก็กดตาม ผมพยายามกดให้ตรงเสียงทุกเสียงที่ได้ยิน แบบนี้มนุษย์ทุกคนทำได้อยู่แล้ว ได้ยินเสียงอะไรก็ลองกดคีย์ว่าตรงกับเสียงนั้นไหม ทำไปเรื่อย ๆ จนมันเป็นเพลง

พ่อไม่สอนให้ผมร้องเพลง อาจเพราะผมเป็นเด็กขี้อาย  อีกอย่างการร้องเพลงสมัยนั้นเขาไม่ได้ห่วงหล่อห่วงสวย หน้าตาก็จะไปตามเพลง ตอนเด็ก ๆ ผมอาจจะร้องแล้วหน้าเละ ไม่น่าดูก็ได้มั้ง ผมเองก็ไม่ชอบร้องด้วย เวลาพวกคุณอาเขาไปแสดง ผมชอบดูเขาเล่นดนตรีมากกว่า เห็นคนเล่นดนตรี มีหางเครื่อง เออ ! สนุกดี ตอนนั้นยังไม่รู้ว่านอกเหนือจากความสนุกต้องเจออะไรบ้าง เราเห็นแต่ขึ้นเวทีแล้วสนุกเลย

เดินบนเส้นทางดนตรีมาตั้งแต่ต้น
นักดนตรีสมัยก่อนคือจับกังนะ ก่อนจะได้เล่นต้องช่วยงานขนเครื่องดนตรีก่อน คือเป็นคอนวอย (convoy) ขนของ ตู้ลำโพง ฯลฯ ไม่ใช่อยู่ดี ๆ เป็นนักดนตรีแล้วมีร้านเล่น เล่นเสร็จปุ๊บก็เก็บเฉพาะเครื่องดนตรีของตัวเองกลับบ้านไปเหมือนยุคนี้

โตขึ้นมาหน่อยสักช่วงประถมฯ พ่อทำวงลูกทุ่งให้ ชื่อว่า “จิ๊บจ๊อย” คงอยากให้หมายถึงว่าเป็นวงแบบเด็ก ๆ มีนักดนตรีมีหางเครื่องเป็นเด็ก ๆ อย่างละราวห้าหกคน แต่ความไม่จิ๊บจ๊อยคือมีนักร้องเป็น ไวพจน์ เพชรสุพรรณ และเพื่อน ๆ พ่อที่เป็นนักร้องลูกทุ่งมีชื่อเสียง เพื่อนบ้านก็มี  ผมเล่นคีย์บอร์ด แกะเพลงเอง ถ้าจะมีขอเพลงก็จะวนเวียนอยู่ เล่นได้หมด พ่อเหมือนเป็นผู้จัดการวง ไปไหนไปด้วยกัน แต่สมัยนั้นค่าจ้างถูกมาก เหมือนวงเราไปเล่นเอาสนุก ไปให้เยอะไว้ก่อน เอาประสบการณ์

วงจิ๊บจ๊อยออกเล่นรับงานทุกชนิด งานโกนจุก ขึ้นบ้านใหม่ งานวัด งานมหรสพ ฯลฯ ต่างจังหวัดก็ไป  ผมได้เรียนรู้ว่ากว่าจะเป็นนักดนตรีต้องขนของขึ้นรถหกล้อจนแทบไม่มีที่นั่ง ต้องนั่งอยู่บนตู้ลำโพงท้ายรถ หัวแทบชนเพดาน  พอไปถึงงาน สมมุติว่าเป็นวัดใดวัดหนึ่ง ก็ต้องขนเครื่องลง ต่อนั่งร้านตั้งเวที ตั้งเครื่องเสียง เสียบสายแจ็ก ต่อลำโพงใหญ่ ๆ  ลองเล่นแล้วสลับกันลงมานั่งฟังเสียง วิ่งขึ้นวิ่งลงเวที  ไม่มีซาวนด์เอนจิเนียร์นั่งฟังเสียงให้เหมือนสมัยนี้

ตั้งเวทีเสร็จได้เวลาคนอื่นเขากินข้าวกัน แต่นักดนตรีต้องขึ้นเล่นก่อนแล้ว ตัวยังเปียกเหงื่ออยู่เลย  วงลูกทุ่งแต่ก่อนไม่ได้เล่นแค่ชั่วโมงสองชั่วโมงเหมือนสมัยนี้นะ  ถ้าวันไหนเจองานปิดวิกเล่นยาวมีรำวงแบบที่เขาคล้องพวงมาลัยเลือกสาว ๆ คู่เต้น นักดนตรียังต้องเล่นอยู่ตลอด วันละ ๔-๕ ชั่วโมง  พอเล่นเสร็จปุ๊บเลิกงาน ต้องขนของกลับขึ้นรถ แม่งโคตรง่วงนอน ก็นอนบนลำโพงสูง ๆ ท้ายรถนั่นแหละ จะตกลำโพงตายเมื่อไรก็ไม่รู้  ถึงบ้านขนของลงเข้าที่เก็บของ ขึ้นบ้านนอนได้แป๊บเดียวเช้าแล้ว ต้องไปเรียนอีกแล้ว ชีวิตต้องไปต่ออีก

ชีวิตผมเป็นอย่างนั้นอยู่อย่างน้อยราว ๔-๕ ปี คาบเกี่ยวระหว่างก่อนและช่วงเรียนวิทยาลัยนาฏศิลป

เรียกได้ว่าเล่นดนตรีเป็นอาชีพมาตั้งแต่เด็กต่อเนื่องมา 
มีเรื่องหนึ่งที่แทบไม่เคยเล่านะ ชีวิตผมถ้าเล่าหมด โอ๊ย…ยาว คือจากวงจิ๊บจ๊อย ผมก็เริ่มไปเล่นในคาเฟ่ น่าจะช่วงเข้าเรียนวิทยาลัยนาฏศิลป  ยุคนั้นคาเฟ่เฟื่องฟูมาก มีหลายอย่างมาเล่นคั่นตอนเปลี่ยนวง ผมได้เจอสิ่งที่ไม่เคยเจอ ตลก กายกรรม มายากล ฯลฯ ผมก็เริ่มชอบมายากล

ผมเป็นคนที่ถ้ารู้ว่ามีใครเจ๋งทางไหนก็อยากเจอคนที่เจ๋งที่สุดในประเทศ  เริ่มหาข้อมูล เริ่มถามเขาไปทั่ว มีคนบอกว่านักมายากลดังที่สุดคืออาจารย์ไฉน แสงทองสุข  เหมือนบุญกับดวงนะ พ่อผมมีลูกศิษย์อีกคนหนึ่งคือ ก้าน แก้วสุพรรณ ภรรยาอาก้านคือลูกสาวอาจารย์ไฉน  อาจารย์ท่านก็เมตตารับสอน ผมก็อยากไปให้สุด ฝึกจนกลายเป็นศิษย์เอก แต่ผมจะไม่เล่นของแบบเด็ก ๆ ทั่วไปที่เขาเล่นกัน ขอเล่นแบบโหด ๆ กินใบมีดโกน เผาหัว แทงตัว พยายามจะเล่นใหญ่ ๆ หมด  ตู้หรืออุปกรณ์ไหนที่ต้องต่อเองก็ขอของอาจารย์ไฉนมาวัดขนาด พ่อก็ให้เพื่อนที่เป็นช่างมาช่วยทำ

ผมทำอะไรแล้วต้องไปให้ไกล ดูเลยว่ามีคณะไหนเล่นอะไรบ้าง คนอื่นเล่นกลนกกัน ผมอยากโชว์เหนือ “กูเป็นศิษย์อาจารย์ไฉนโว้ย” เขาเสกนกพิราบกันตัวเดียว ผมเสกเป็นฝูง ชีวิตที่ต้องมีที่เก็บเครื่องดนตรีก็เลยต้องมีที่เลี้ยงนกพิราบเพิ่ม ผมเลี้ยงหมดเลย เป็ด ห่าน ปลาคาร์ป ฯลฯ มีหมด  สักพักเห็นว่าใคร ๆ ก็เล่นกลนกพิราบกันหมด ผมฉีกเลย หาวิดีโอมายากลฝรั่งมาดู เห็นเขาใช้นกแก้วมาคอว์ ผมหามาเลยตัวใหญ่ ๆ  ตอนนั้นย้ายบ้านจากสลัมมาอยู่แฟลตเพราะโดนไล่ที่ เลี้ยงนกเกือบ ๒๐ ตัว ฝากเขาไว้ใต้ถุนแฟลตเต็มไปหมด  พอเครื่องมายากลเริ่มเยอะ คราวนี้ออกโชว์เลย มีน้องเป็นผู้ช่วย เล่นมายากล ๔๕ นาทีอย่างเดียว ดนตรีหยุดหมดไม่เล่นแล้ว (หัวเราะ)

คณะมายากลของผมชื่อว่า “หนึ่งสยาม” เล่นตามคาเฟ่แทบทุกคืน ละแวกสำโรง บางนา เล่นมาแล้วแทบทุกแห่ง แต่ตอนหลังผมขอเลิก เห็นนกตายบ่อย ๆ สงสาร  พอกลับมาเล่นดนตรีอีกก็เลยใช้ชื่อคณะนี้เรียกชื่อวงไปด้วย

เล่นดนตรีเป็นอาชีพได้แล้ว อะไรทำให้เลือกมาเรียนดนตรีที่วิทยาลัยนาฏศิลปอีก
ผมอยากเล่นเปียโน เราไม่มีเงินซื้อ กะว่าถ้ามาเรียนที่นาฏศิลปจะต้องได้เล่น ก็เลือกสาขาศิลปสากล เปิดเทอมมาช่วงปฐมนิเทศ ครูให้ยกมือเลือกเอกว่าจะเล่นเครื่องดนตรีอะไร  ครูถามว่าใครเล่นเปียโนเป็นบ้าง ผมไม่ยกมือ ไม่รู้ว่าด้วยซื่อหรือโง่ คือคิดว่าที่เล่นอยู่มันคือคีย์บอร์ด คนที่ยกมือเข้าไปทดสอบกับครู ปรากฏว่าส่วนใหญ่เล่นไม่ได้ ในที่สุดผมจบนาฏศิลป์ชั้นต้น (เทียบเท่ามัธยมฯ ต้น) ด้วยวิชาเอกไวโอลิน

แต่ก็ได้เล่นเปียโนครั้งแรกที่วิทยาลัยนาฏศิลป
ตอนอยู่ชั้นต้นเคยลองขอครูเปลี่ยนเอกนะ ครูบอกว่าไม่ได้ เขาจัดตารางเรียนไปหมดแล้ว ถ้าอยากเรียนจริงต้องไปเรียนเองข้างนอก ซึ่งผมไม่มีสตางค์  อีกทางก็ให้รอถึง ม. ๔ คือชั้นกลาง ถึงจะเปลี่ยนเอกได้ อีกตั้ง ๓ ปี นานไป ผมทำใจแล้วละว่าคงไม่มีโอกาสได้เล่น เพราะเขาไม่ให้คนนอกเอกไปจับเครื่องดนตรีนั้น

ปรกติผมมาโรงเรียนเช้ามาก ส่วนใหญ่ตีห้าหกโมงผมถึงโรงเรียนแล้ว  วันหนึ่งได้ยินเสียงดนตรีลอยมาจากบนตึกก็แอบขึ้นไปดู มีคุณครูนั่งหันหลังเล่นเปียโนอยู่ ผมแอบดูอยู่นานมาก ไม่กล้าเข้าใกล้ กลัวครูด่า แต่เห็นแล้ว “เฮ้ย นี่มันเปียโนนี่หว่า เป็นตัวที่เราอยากเห็นเลย”  คือตอนเด็ก ๆ เคยดูการ์ตูน เห็นมิกกี้เมาส์เล่นเปียโนแล้วเหมือนคีย์จะพัง ชอบมาก พอคุณครูลุกขึ้นไปเข้าห้องน้ำ ผมก็รีบวิ่งไปดูว่าหนังสือที่ครูกางเล่นเพลงอยู่คืออะไร เย็นนั้นไปหาซื้อมาเลย

อีกวันหนึ่งเหมือนเดิม มาแอบดูอีกว่าครูกางหนังสือหน้าไหน ผมก็เปิดตาม  อ้อ…มันอย่างนี้นี่เอง ผมอ่านโน้ตไม่เป็น ก็เลยเอาคำสอนของพ่อที่ว่า “ให้ฟัง สังเกต” แค่นั้นเอง พยายามจำเสียง พอจำได้ก็ดูว่าที่ได้ยินเสียงแบบนี้โน้ตเป็นแบบไหน แล้วไปลองเล่นอีกห้องหนึ่งที่ห่างออกไป ครูจะได้ไม่ได้ยินเสียง ทำแบบนี้อยู่ประมาณ ๓-๔ เดือน พอเริ่มรู้สึกว่าเล่นได้แล้วก็คิดว่า เอ๊ะ ! แล้วถ้าเราไม่ได้ยินล่ะ ถ้าไม่ได้ยินครูเล่น เห็นแต่โน้ต จะเล่นได้ไหม อันนี้ไม่รู้

ชีวิตผมเริ่มเล่นดนตรีจากการแกะเพลง เวลาใครร้องก็เล่นตาม โดยที่ไม่รู้เลยว่ามันคือโน้ตอะไร คอร์ดอะไร

neungjakkrawal03

เลยสร้างวิธีเรียนดนตรีเฉพาะตัวขึ้นมาเอง
ผมออกไปให้คนอื่น “ด่า” ตั้งแต่เด็ก โรงเรียนเขาสอนตามหลักสูตร ช้ามากกว่าที่เราจะอ่านโน้ตได้ เผลอ ๆ เรียนจบแล้วยังอ่านโน้ตได้ไม่คล่อง ผมอยากอ่านโน้ตได้เร็ว ๆ  พอเทอม ๒ ถึงยอมไปเล่นคาเฟ่อีก เพื่อที่จะได้รู้ว่าโน้ตที่เจอนั้นเล่นอย่างไร

อย่างโน้ตตัวหนึ่งเขียนบนบรรทัดห้าเส้นที่เดียวกัน แต่ถ้าข้างหน้ามีคีย์บอก มีชาร์ป (♯) มีแฟลต (♭) มันคนละเสียงแล้ว ถ้าจะรอเรียนตามหลักสูตรนี่ โอ้โฮ ! ช้า  เข้า ม. ๑ เขาสอนตัวกลม ตัวขาว ตัวดำ เฮ้ย ! มันไม่ทันกิน ต่อให้คุณเรียนจบถึง ม. ๖ มันก็ไม่ทันกิน เพราะเราต้องเล่นหากิน  ผมว่าโรงเรียนทั่วโลกสอนไม่ทันกิน สอนกันแค่ผ่าน  ครูบอก “ผ่าน” แต่ไม่รู้ว่าคนข้างนอกเขาจะให้ผ่านหรือเปล่า เผลอ ๆ ถ้าครูลองไปเล่นข้างนอก ครูก็ไม่ผ่าน หลักสูตรทุกคนเรียนเหมือนกันหมด คุณจบพร้อมกัน คุณก็เท่ากัน แย่งงานกัน แต่ถ้าคุณแหกกฎ ไม่เล่นตามหลักสูตร มันอาจจะดีหรือเลวก็ได้ แต่คุณแตกต่าง

ทุกวันนี้ในทางดนตรีผมก็แหกกฎหมดเลย คอร์ดนี้ไปต่อกับคอร์ดนี้ได้หรือเปล่า ไม่รู้ แต่ลองมาทั้งชีวิตแล้ว ผมว่าผมผ่านแล้ว เพราะศิลปินที่ผมทำเพลงให้ อัดเสียงมาไม่รู้กี่ร้อยกี่พันคน ไม่เห็นมีใครว่า แสดงว่าผม “ผ่าน”

ผมไม่รู้ว่าสิ่งที่ผมทำในทางวิชาการเขาเรียกว่าอะไร สอนไม่ได้ คือให้อธิบายก็เรียกเป็นคำศัพท์ไม่ถูก

เหมือนคาเฟ่เป็นมหาวิทยาลัยชีวิต
คาเฟ่มีนักร้องเยอะมาก ที่หนึ่งมีอย่างน้อย ๑๐ คน ทุกคนต้องให้อ่านโน้ต ผมอ่านโน้ตไม่เป็นก็ต้องโดนด่าอยู่แล้ว ด่าทุกวัน วันละ ๑๐ คน วันแรกโดนด่าเยอะมาก เราก็จะรู้ว่าเพลงนี้เพราะอะไรถึงเล่นไม่ได้ กลับบ้านมานั่งซ้อม อีกวันก็เล่นได้แล้ว ชีวิตวนเวียนอยู่แบบนี้ พอ ๓-๔ เดือนไม่มีใครว่าเราแล้ว เล่นได้หมด เพราะผมกลับมาทำการบ้านทุกวัน

พอเล่นเพลงในร้านนั้นได้หมด ไม่มีอะไรกดดัน ไม่มีใครว่าเราแล้ว ผมเปลี่ยนที่เลย ไปให้ที่อื่นด่าต่อ จะได้รู้ว่าสิ่งที่ยังทำไม่ได้คืออะไร  ถ้าอยู่แต่ในโรงเรียน นักเรียน ๕๐ คน ครูสอนครูว่าก็แค่คนเดียว คนที่ให้เราผ่านก็คือครูคนเดียวกัน  เราทำตามครู ยังไงเขาก็ต้องให้เราผ่าน  แล้วชีวิตจริงล่ะ เราต้องเจอคนอีกมากนะ

วันนี้มีหลายคนคิดว่าผมเรียนจบดนตรีจากเมืองนอก ผมตอบทันทีเลยว่าไม่ใช่ และไม่คิดว่าเป็นพรสวรรค์ด้วย แต่ผมเอาชีวิตไปทำงานข้างนอกเพื่อให้รู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่มันถูกหรือเปล่า คนข้างนอกเขาให้เราผ่านหรือเปล่า

ถ้าการเรียนดนตรีตามหลักสูตรใช้ประกอบอาชีพไม่ได้ แล้วเราจะได้อะไรจากการศึกษาในระบบ
ผมรักวิทยาลัยนาฏศิลปมากนะ เพราะถ้าไม่มีนาฏศิลป ผมไม่มีเปียโนซ้อม  ก่อนจะต่อชั้นสูง ๑ (เทียบเท่าอนุปริญญา) เขาเริ่มมีทุนไปต่อจุฬาฯ ต่อที่อื่น ๆ ตอนนั้นทุกคนรู้แล้วว่าผมแอบเล่นเปียโนก็จะให้ทุน แต่ผมไม่ไป ผมรักที่นี่ ที่นี่เป็นที่ที่ทำให้ผมรู้จักเปียโน

ผมใช้เวลาในนาฏศิลปซ้อมเปียโนเยอะมาก บางวันตี ๕ มาซ้อมแล้ว กลางวัน เย็น ผมซ้อม ซ้อมเสร็จผมก็ไปทำงานก่อนเข้าบ้าน วันไหนไม่มีเล่นคาเฟ่ ผมซ้อมถึง ๒-๓ ทุ่ม ทั้งวิทยาลัยทุกคนรู้ ทุกคนรัก จนให้กุญแจเปิดห้องซ้อม  เปลี่ยนผู้อำนวยการกี่คน เขาก็รู้ว่าจักรวาลนั่งซ้อมเปียโนตรงนี้ทุกวัน ซ้อมอยู่คนเดียว ไม่มีใครมาแนะนำ  เสาร์อาทิตย์ก็มานั่งเฝ้าโรงเรียน ยามรู้จักกันหมด

พอเรียนจบชั้นสูง ๒ ที่วิทยาลัยนาฏศิลป ก็คิดว่าจะเรียนต่อปริญญาตรีที่ไหนดี ช่วงนั้นสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เริ่มหลักสูตรร่วมปีแรก คือถ้าสอบคัดเลือกผ่านจะได้เรียนที่นาฏศิลปเหมือนเดิม เหมือนภาคสมทบ ผมก็โชคดีไม่ต้องเดินทางไปเรียนที่ธัญบุรี ใช้ชีวิตเหมือนเดิม เรียนอยู่ที่เดิม จบแล้วค่อยไปรับปริญญาที่โน่น  คราวนี้เปลี่ยนเอกเป็นเปียโนแล้ว แต่กลายเป็นว่าผมกลับต้องไปสอนครู ไม่ได้เรียน แต่สอบผ่านเลย

ครูโขนครูละครที่ว่ากันว่าดุ ๆ ก็รู้จักผม หลังเรียนจบก็ชวนให้สอนที่นี่ ช่วงนั้นผมเริ่มทำงานกับแกรมมี่และงานอื่น ๆ แล้ว ก็มาเป็นอาจารย์พิเศษก่อน พอตำแหน่งว่างก็สอบบรรจุ

วิชาการผมอาจไม่ได้จากนาฏศิลปมาก แต่ผมได้ความรัก คุณครูทุกคนรักผม ผมคิดว่ามันมีค่ามากกว่าวิชาการ

ช่วยเล่าถึงชีวิตตอนรับราชการครู
ที่เข้ารับราชการเพื่อให้พ่อแม่เห็น ท่านอยากเห็นลูกเรียนจบมีงานทำ ผมก็ได้ทำให้พ่อแม่เห็นแล้ว แต่ใบปริญญาแทบไม่ได้ใช้เอามาทำมาหากินเลย แม้กระทั่งวันนี้อยู่ไหนก็ไม่รู้

ผมสอนที่วิทยาลัยนาฏศิลปอยู่เกือบ ๒ ปี สอนทฤษฎีโน้ต รวมวง สอนทุกชั้น ตั้งแต่ต้น ๑ ถึงสูง ๒ ถึงได้รู้ว่า อ้อ ! คุณครูสอนเราตามหลักสูตรแบบนี้นี่เอง มองกลับไปยิ่งเห็นว่า “เออ ! ดีแล้วที่กูออกไปเรียนข้างนอก”  ถ้าเข้ามาเรียนแล้วคิดแค่ว่ามาเรียน ๆ ไป แค่ให้ชีวิตมันผ่านแต่ละวัน ก็จบนะ แต่ชีวิตจริงมันอาจไม่ผ่าน คนที่เล่นดนตรีได้ไม่ใช่แค่อ่านโน้ตผ่าน แต่ต้องออกไปเล่น ผมคิดว่าทุกที่นะ ถ้าคุณเรียนแค่ผ่าน แค่ทำงานได้ คิดดูสิมีคนแบบนี้ทั่วประเทศ เขาก็ต้องเลือกคนทำงานแล้ว

ความรู้จะพอหรือไม่พอ ผ่านหรือไม่ผ่าน ชีวิตจะไปต่อตรงไหน ต้องมาจากความคิดของแต่ละคน ว่าคิดถึงความก้าวหน้าของตัวเองแค่ไหน

ช่วงชีวิตก่อนจะมีชื่อเสียง “ผ่าน” อะไรมาบ้าง
หลาย ๆ คนมองว่าผมคือนักดนตรีข้ามยุค เล่นทุกแนว งานไหนที่ทำแล้วมีเงินมาเลี้ยงครอบครัวผมทำหมด  นักดนตรีสมัยนี้โคตรสบาย สมัยก่อนกว่าจะไปขอใครเขาเล่นไม่ง่ายนะ

ผมจะไม่เล่นกับเด็ก ไม่เล่นกับเพื่อน ตัดปัญหาเลย  ถ้าเพื่อนเล่นด้วยกันเดี๋ยวทะเลาะกัน แย่งกันเก่ง  ผมมองหามือเจ๋ง ๆ มือที่เหนือกว่า  ขอโอกาสเล่นกับรุ่นใหญ่ รุ่นพ่อ รุ่นพี่ รุ่นอา เขาจะสอนเราว่าเพลงพวกนี้เอ็งเล่นไปเลย เผลอ ๆ มีลูกหลานก็ยังเล่นเพลงพวกนี้ต่อได้ ซึ่งเป็นคำพูดที่จริง รุ่นลุงป้าสอนผมมาหมดแล้ว เขาสอนด้วยว่าชีวิตหนึ่งต้องผ่านต้องเจออะไรบ้าง อย่างถ้าจะเล่นงานแต่งงาน งานเกษียณ มีผู้ใหญ่ขึ้นมาร้อง เราก็รู้แล้วว่าจะเล่นเพลงอะไร มีรูปแบบที่รู้กันอยู่  ส่วนเพลงสากลอย่างเอลวิส เดอะบีเทิลส์ ฯลฯ เพลงที่เป็นอมตะแล้ว ต้องเล่นได้ แล้วเล่นไปจนวันตาย

ผมเคยเล่นกับกลุ่มที่เล่นเพลงสุนทราภรณ์ จนกระทั่งทุกวันนี้คนงงว่าทำไมผมเล่นได้ ถ้าเป็นเด็กแล้วเล่นเพลงสุนทราภรณ์ให้ผู้ใหญ่ฟัง คุณจะเป็นคนน่ารักเลยนะ ได้สตางค์เพิ่มด้วย  แต่ถ้าเล่นเพลงวัยรุ่นแบบวงบอดี้สแลม โปเตโต้ ฯลฯ ผู้ใหญ่อายุ ๗๐ เขาไม่ฟังคุณนะ

ใครหรืออะไรคือแรงบันดาลใจในชีวิต
สถานที่ทุกที่ ศิลปินทุกคนเป็นครูนะ ทุกคนให้โอกาสผม ถ้านักร้องไม่ให้โอกาส นักดนตรีก็ไม่ขึ้น

เมื่อก่อนผมชอบแกะเพลง จะดูปกเทปว่าใครเป็นโปรดิวเซอร์ แต่งเพลง เล่นกีตาร์ เปียโน ฯลฯ ดูว่า เอ๊ะ ! ทำไมเขาทำเพลงหลายเพลง เพลงดัง ๆ ทั้งนั้น  ผมจดชื่อไว้หมด ศิลปินคนไหนผมอยากเล่นด้วยจดไว้เลย ทั้งวง เดี่ยว ทุกแนว เหมือนคนบ้าดารานักร้อง ผมตั้งใจจะตามล่าว่าวันหนึ่งต้องได้เล่นได้ร่วมงานกับคนเหล่านั้น จนวันนี้ผมได้ร่วมงานกับทุกคนแล้ว

neungjakkrawal04

ความเปลี่ยนแปลงในวงการดนตรีที่คุณเห็นมาตลอดหลายสิบปี
เมื่อก่อนคนจะดังได้ เท่าที่ผมเห็นมีสองสามทาง อย่างแรกคือร้องเพลงดัง อันนี้ตัดไปเลย ผมไม่ใช่นักร้อง ผมพูดเร็ว แล้วเสียงเป็นแบบนี้ ทุกคนไม่ต้องหวังว่าจะเห็นผมร้องเพลงอยู่ในหน้ากากอะไร เพราะผมร้องเพลงไม่เป็น

อย่างที่ ๒ ต้องแต่งเพลงดัง เขียนเนื้อร้องดัง ซึ่งผมแต่งเพลงบ้างแต่แค่เล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ได้เป็นอัลบัม จะให้ผมเขียนเพลงดังเหมือนพี่ดี้ (นิติพงษ์ ห่อนาค) แต่งทำนองดังเหมือนพี่โอม (ชาตรี คงสุวรรณ) ก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่เขาดังกันผมไม่มี ผมเป็นแค่นักดนตรีแบ็กอัป แค่เล่นดนตรีในรูปแบบใหม่ให้ศิลปินเห็น แล้วจะดังได้อย่างไร

เหลืออย่างที่ ๓ คือทำเพลง ผมคาดว่าวันหนึ่งเพลงดังยุคหนึ่งเมื่อถึงจุดสูงสุดแล้วคงถึงทางตัน ต่อไปคงเป็นยุคของคอนเสิร์ต เอาเพลงเก่ามาทำให้คลาสสิกยิ่งขึ้น ให้คนสมัยใหม่ได้ฟัง  มองว่าอีก ๑๐ ปี ๒๐ ปีข้างหน้า สิ่งที่เราทำอยู่คือการคัฟเวอร์ เพลงพวกนี้จะกลับมา คอนเสิร์ตจะเยอะขึ้น จะมีการเอาเพลงดังกลับมาทำใหม่ ซึ่งผมมองตรงเป๊ะ วันนี้คือวันของผม

พอผมดังปุ๊บมีคนเข้ามาถาม “พี่หนึ่งแต่งเพลงอะไรดัง ?” ผมบอก “เอ็งไปค้นเลย ไม่มีทางเจอ” แต่ถ้าเขาถาม “พี่หนึ่งดังตรงไหน ?” “ไม่รู้เหมือนกัน”

ถ้าจะให้วิเคราะห์ผมคงดังจากการทำเพลงคัฟเวอร์ ทำคอนเสิร์ต ชีวิตการทำงานคือการคุมนักร้องร้อง ทุกคนเห็นผมเป็นมิวสิกไดเรกเตอร์คอนเสิร์ต

ในอนาคตผมว่าแนวเพลงจะเดายากขึ้นนะ ตอนนี้นักแต่งเพลงยังไปไม่เป็น ไม่รู้ว่าเพลงอะไรจะดัง บางเพลงทุกคนตั้งใจทำมาก ส่งเพลงไปทำถึงเมืองนอก แพงก็แพง กลับมาไม่ดัง  แต่บางเพลงนักเรียนนักศึกษาเปิดคอมพิวเตอร์นั่งเล่นในบ้าน เขียนเอง ร้องเอง สนุกสนาน แทบจะเป็นเดโม (demo) ด้วยซ้ำไป แม่งเสือกดัง มันเดาไม่ได้  อย่างเพลงเกาหลีซาวนด์ดีไซน์เยอะ ๆ ไม่รู้บ่นอะไร แต่คนชอบ ก็ดัง  คำสละสลวย เพราะ ๆ ฟังรู้เรื่องเหมือนสมัยก่อนนี่ไม่มีแล้ว ผมว่าอนาคตข้างหน้าน่าจะหนักกว่านี้

ส่วนการเอาเพลงยุคเก่ามาทำใหม่น่าจะใช้ได้อีกนาน แค่เปลี่ยนดนตรี เปลี่ยนเทคโนโลยีให้ทันสมัย ถ้าลิขสิทธิ์ไม่โหดร้ายไปมากกว่านี้นะ

รายการประกวดร้องเพลงที่มีมากขึ้น ส่งผลต่อวงการเพลงอย่างไรบ้าง
ทุกช่องมีรายการประกวดร้องเพลงหมด ภาพรวมไม่ต่างกันมาก ขึ้นอยู่ที่ช่องไหนจะพลิกแพลงทำรายการได้น่าสนใจกว่า จุดเปลี่ยนน่าจะเป็นวิธีการทำเพลง ว่าใครจะทำออกมาแล้วคนชอบ อย่างช่วงที่รายการ “The Voice Thailand” ดัง มีเพลงที่ไม่ได้เล่นเวอร์ชันเดิมอยู่เยอะ ทุกคนก็ย้ายไปเล่นแบบนั้น พอ “The Mask Singer” ดัง คนก็เล่นแบบเดอะมาสก์ฯ วิธีการทำเพลงเปลี่ยนแน่

แต่สิ่งที่ชัดกว่าคือหลาย ๆ เพลงถูกนำกลับมาร้องใหม่ เพลงดังขึ้น เจ้าของธุรกิจที่เป็นต้นขั้วใหญ่สบาย ได้ค่าลิขสิทธิ์เพลงไป รายการไหนจะทำประกวดต้องเตรียมตัวว่าจะใช้เพลงของใคร ค่ายไหน  ถ้าคนเข้าประกวดอยากร้องเพลงนี้ ต้องเช็กลิขสิทธิ์ก่อน ไม่ใช่ร้องได้ทันที  ส่วนใหญ่จ่ายค่าลิขสิทธิ์เหมาเป็นรายปี นอกจากบางเพลงไม่มีลิขสิทธิ์หรือหาไม่เจอ ต้องตามหากันถึงจะเอามาร้องได้  ถ้าเจ้าของตามเจอทีหลังจะมีปัญหารุนแรงมาก

บางเพลงซื้อลิขสิทธิ์มาแล้ว ลิขสิทธิ์เนื้อเพลงกับทำนองแยกกัน ก็ต้องจ่ายคนละที่อีก ผมเอาเพลงมาเรียบเรียงใหม่ก็ต้องจ่ายทั้งทำนองและเนื้อร้องอยู่ดี บางทีจ่ายไปแล้วที่หนึ่ง มีอีกสองสามที่อ้างว่าลิขสิทธิ์เป็นของเขา ต้องไปหาต้นขั้วกันอีกว่าอยู่กับใครแน่  การทำคอนเสิร์ตก็เหมือนกัน ถ้าจะทำดีวีดีด้วยต้องคำนวณเลยว่าผลิตกี่แผ่น คิดค่าลิขสิทธิ์กันไป และถ้าตกลงกันว่าจะเผยแพร่ในยูทูบด้วยจะอีกราคาหนึ่ง

นี่คือ “หลังฉาก” ที่เราไม่ได้เห็นในรายการประกวดเพลงทางโทรทัศน์
เรื่องลิขสิทธิ์เป็นเรื่องใหญ่มาก รายการออกอากาศ ๔๕ นาทีหรือชั่วโมงหนึ่ง ใช้เวลาบันทึกเทปราว ๔-๕ ชั่วโมง คือเราเล่นกันไปเรื่อย ๆ บางทีถามตอบกัน มีร้องเพลงนั้นเพลงนี้ขึ้นมาสั้น ๆ แต่เพลงมีลิขสิทธิ์ ร้องเกินแปดคำก็โดนแล้ว ทั้ง ๆ ที่ไม่มีดนตรีนะ ต้องตัดออกหมด  อย่างถ้าให้หน้ากากนักร้องเปิดหน้ากากแล้ว เออ ! อยากให้ร้องเพลงนั้นเพิ่มหน่อย คนในสตูดิโอได้ฟัง แต่พอมาเช็กแล้วถ้ามีลิขสิทธิ์ก็ต้องตัดทิ้ง

อย่างเพลงลูกทุ่งหลายเพลง เมื่อก่อนครูเพลงไม่สนใจหรือไม่รู้เรื่องกฎหมาย เราก็ไม่รู้ว่ามีบริษัทไหนหรือมีใครเข้ามาดูแล ต้องไล่ตามหาลิขสิทธิ์กันวุ่นวาย  น่าสงสารนะ เพลงที่ตัวเองเคยร้องก็ร้องไม่ได้แล้ว บางเพลงเขียนเองแต่งเอง แต่จดลิขสิทธิ์เป็นของค่าย นักร้องก็เอาไปร้องไม่ได้ อยู่ที่ตอนนั้นเซ็นสัญญาด้วยว่าเซ็นกันไว้อย่างไร

ส่วนเรื่องราคาบอกไม่ได้ว่าแนวไหนแพงกว่า ต้องดูเป็นเพลง ๆ ไป เพลงไทยบางเพลงแพงกว่าเพลงสากลระดับโลกอีก

ผมกลับคิดว่าถ้ามีคนเอาเพลงมาร้อง ยังไงเขาต้องได้ค่าลิขสิทธิ์อยู่ดี เพลงก็ดังขึ้นด้วย น่าจะดีกว่านะ เสียดายมากที่บางคนไม่ปล่อยเพลง เพลงดังในอดีตหลายเพลงลิขสิทธิ์แพงลิบ โหดร้ายกว่าเมื่อก่อนเยอะ

อะไรคือสิ่งที่เห็นชัดเจนในคนรุ่นใหม่ในรายการประกวดดนตรี
บางคนมาประกวดชอบถือของแพง ๆ มา เป็นนักเรียน ถือกีตาร์ตัวเป็นแสน ผมถามเลย พวกเอ็งมีสตางค์ซื้อเหรอ สตางค์พ่อแม่เอ็งทั้งนั้น แล้วมาเล่าเรื่องดราม่า อ้าว ! ตกลงรวยหรือจน คือถือของแพงผมก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่ต้องเล่นให้คุ้มกับของที่ถือนะ เครื่องเป็นแสน เล่นได้ถึง ๕๐๐ หรือเปล่าไม่รู้ ของพวกนี้มันอยู่ที่มือ อยู่ที่ใจ ว่าเอาใส่ลงไปขนาดไหน  ฝีมือดี เล่นของที่ยืมเขามาก็ได้ ถ้าฝีมือแค่นี้ เล่นยังไงก็ได้แค่นี้ เครื่องดนตรีแพง ๆ ไม่ได้ช่วยอะไรเลย

เท่าที่ผมเห็นมาทุกยุคทุกสมัย นักดนตรีชอบโชว์เก่ง ต้องการให้คนอื่นมองว่าเราเก่ง  ตีกลองก็อยากโซโลเยอะ ๆ เล่นกีตาร์ก็จะโชว์เทคนิคทุกอย่าง อยากให้คนดูร้องโอ้โฮ !  บางคนกลองชุดแพงมาก มีฉาบไม่รู้กี่ใบ แต่เพลงหนึ่งนี่ยังไงก็ตีฉาบไม่ครบทุกใบ ที่พูดนี่สงสารพ่อแม่มากกว่า พ่อแม่สนับสนุนเต็มที่ แต่ลูกเล่นได้เท่านี้เอง  ผมบอกเลย ไม่ต้องขนอะไรมาเยอะ ถ้าจะให้ดูเท่ เอาวิชาที่เรียนกับสิ่งที่ได้จากการเล่นดนตรีมาหากิน แล้วเอาเงินไปคืนพ่อแม่ที่ส่งพวกเอ็งเรียน พ่อแม่ภูมิใจมากกว่าที่เห็นพวกเอ็งมานั่งแข่งกัน

การแข่งขันการประกวดมันเป็นเกม สองวงกอดคอกันลุ้นว่าใครจะชนะ ผมเห็นบ่อย พอแข่งแพ้ นั่งร้องไห้ บอกเสียใจ ผมด่าเลย “เสียใจทำไม เอ็งแพ้เขาเพลงนี้เพลงเดียว ทั้งชีวิตจะแพ้เขาตลอดเรอะ”  พอวงชนะเฮ ผมก็ด่าอีกว่า “ชนะเขาแค่เพลงนี้เพลงเดียว ต่อไปอาจไม่มีงานก็ได้ แต่วงแพ้แม่งมีงานทำ”

เอาง่าย ๆ เคยเห็นวงชนะดังเหรอ เห็นแต่วงรองดังหมดนะ (หัวเราะ)

สิ่งที่ตามมาหลังเป็นที่รู้จักทั่วประเทศ
มีงานเยอะขึ้นมากนะ เลยต้องปรับส่วนหนึ่งของบ้านเป็นห้องอัดเสียงเมื่อสักปีสองปีนี่แหละ  ภรรยาช่วยคิดช่วยหาแบบ เห็นผนังสำหรับอะคูสติก (acoustic) ก็สั่งมา หาช่างทำ เพื่ออนาคตจะได้ทำเพลงอยู่บ้านบ้าง ไม่ต้องออกไปข้างนอกมาก จะได้มีเวลาอยู่กับลูก ลูกวิ่งเข้ามาก็เจอเรา ก็ยังดีกว่าที่ผ่านมา ออกไปข้างนอกตลอดจนแทบไม่เจอกัน

หลายแห่งเชิญผมไปเป็นวิทยากรบรรยาย บริษัทใหญ่ ๆ ธนาคาร โรงพยาบาล ฯลฯ  ผมบอกทุกคนเลยว่าโชคดีมากที่ตอนนี้ผมพูดพอจะรู้เรื่องแล้ว (หัวเราะ) ส่วนใหญ่ให้เล่าประสบการณ์ชีวิต เรื่องความสำเร็จ แล้วก็มาขอถ่ายรูป  แปลกนะ ไม่ค่อยมีเชิญเรื่องเกี่ยวกับดนตรี  โฆษณาก็เริ่มติดต่อเข้ามาบ้าง แต่พวกละครอะไรนี่คงยาก ผมแสดงไม่เป็น

ยอมรับนะว่าพอดังขึ้นมา โห ! แฟนคลับเยอะมาก คนเข้ามาทัก มาขอถ่ายรูปมากขึ้นมาก  แต่ผมยังเดินถนนปรกติ ผมไม่ขับรถตั้งแต่ไหนแต่ไร เพราะเล่นดนตรีดึกแล้วง่วง ไม่อยากเสี่ยง เราทำงานตั้งแต่เด็ก ชอบหลับใน ส่วนใหญ่ภรรยาขับรถให้ ลูกศิษย์ที่เป็นซาวนด์เอนจิเนียร์ที่มานั่งทำงานที่บ้านก็ช่วยขับให้บ้าง นั่งแท็กซี่บ้าง

ส่วนสิ่งที่ผมดีใจและรู้สึกดีมากที่สุดคือแม่ยิ้ม แม่ผมอายุเยอะแล้ว นั่งรถเข็น ไม่ค่อยได้ออกจากบ้านเพราะกลัวลูกลำบาก พอเขาเห็นผมออกทีวีก็ดีใจ ยิ้ม ภูมิใจ ผมพาเขาไปโน่นไปนี่ เขาเห็นคนเข้ามาทักผม ขอถ่ายรูป แม่เห็นก็ยิ้มตลอดทาง เหมือนต่ออายุแม่ผมนะ ดีใจตรงนี้มากกว่า

มีอะไรที่อยากทำแล้วยังไม่ได้ทำอีกไหม
ไม่มีนะ ผมได้ทำหมดแล้ว

* นามจริงสะกด “จักรวาร” แต่เจ้าของชื่อนิยมให้สื่อใช้ว่า “จักรวาล”