เก็บตกสาระ แนะนำสื่อภาพยนตร์ และสื่อแขนงอื่นๆ จากที่เห็นและเป็นไป ในและนอกกระแส


City of Sadness ประวัติศาสตร์แสนเศร้าที่(เกือบ) ถูกลืมของไต้หวัน

ทุกวันนี้เชื่อว่าหลายคนน่าจะรู้จักไต้หวันในฐานะประเทศที่น่าท่องเที่ยวยอดนิยมที่ใหม่ของคนไทย เนื่องจากไม่ต้องขอวีซ่า เมืองมีความเป็นอยู่ที่ดี มีตึกระฟ้าไทเป 101 มีชาไข่มุก และของกินอร่อยราคาไม่แพง  รวมถึงที่เที่ยวมากมาย ภูมิประเทศสวยงาม

ผู้เขียนเองก็ไม่ได้รู้อะไรมากไปกว่านั้น รู้จักประเทศแห่งนี้จากประวัติย่อว่าเดิมเป็นเกาะของคนพื้นเมือง ช่วงต่อมาคนจีนเดินทางมาอยู่กลายเป็นมณฑลหนึ่งของจีน หากต่อมาในปี ค.ศ.1895  จีนก็เสียเกาะแห่งนี้ให้กับญี่ปุ่นในสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 1 คนในเกาะถูกปกครองโดยจักรวรรดิญี่ปุ่น

แต่ภายหลังญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ไต้หวันซึ่งเคยอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นมาร่วม 50 ปี ได้ถูกจีนปกครองแทนที่ หากตั้งแต่ปี ค.ศ.1949 หลังความขัดแย้งทางการปกครองในจีน พรรคคอมมิวนิสต์เรืองอำนาจ นายพลเจียงไคเช็คหัวหน้าพรรคก๊กมินตั๋งซึ่งเป็นพรรคชาตินิยม ได้นำกองทัพและประชาชนจีนข้ามมาตั้งหลักที่เกาะไต้หวัน ในช่วงที่สู้กับพรรคคอมมิวนิสต์บนจีนแผ่นดินใหญ่ ก่อนที่จะมาตั้งหลักอย่างถาวรเมื่อพ่ายแพ้จีนคอมมิวนิสต์

City of Sadness เปิดเรื่องด้วยเหตุการณ์หลังจากนั้น(ปี ค.ศ.1945) ในจิ่วเฟินเมืองเล็กๆ ที่ธรรมชาติสวยงาม เหวินเฮียง ลูกชายคนโตของครอบครัวตระกูลใหญ่ในเมืองได้ถือกำเนิดลูกระหว่างฟังวิทยุถึงการเปลี่ยนแปลงในประเทศ พร้อมตั้งชื่อลูกที่มีนัยยะถึงความหวัง

คนไต้หวันต่างคาดหวังว่าเมื่อกลับมาอยู่ภายใต้การปกครองของจีนทุกอย่างจะดีขึ้น ในเรื่องผู้คนในวงข้าว และร้านอาหารสนทนาถึงเรื่องต่างๆ อย่างอารมณ์ดี แต่การณ์กลับกลายเป็นว่ารัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งไม่ได้ดีอย่างที่คิด ประเทศถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหาร ปล้นชิงสินค้าและทรัพย์สินผู้คนโดยอ้างว่าเป็นของญี่ปุ่นจากแนวคิดชาตินิยม ข้าวยากหมากแพง คนในรัฐบาลเองกลับลักลอบนำสินค้าไปขายต่อในจีนแผ่นดินใหญ่ในราคาแพง

cityofsadness03

ก่อนที่เวลาไม่นานก็เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1947  หลังทหารใช้ความรุนแรงกับคนทั่วไป ประชาชนลุกฮือต่อต้านรัฐบาล นำไปสู่การประกาศกฎอัยการศึกเพื่อควบคุมสถานการณ์ในประเทศ จับกุมผู้คนที่ต้องสงสัยจำนวนมาก ประเทศตกอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก นับตั้งแต่ ค.ศ. 1949-1987  กินเวลายาวนานถึง 38 ปี นับเป็นประเทศที่อยู่ภายใต้กฎดังกล่าวยาวนานที่สุดในยุคนั้น

เหตุการณ์ดังกล่าวเรียกกันว่า “ความสะพรึงสีขาว” (White Terror) ตลอดหลายปีมีคนประมาณการณ์ว่ามีผู้เสียชีวิตหลายหมื่นคน ไม่ว่าจะเป็นคนญี่ปุ่น คนที่ฝักใฝ่เข้าข้างคนญี่ปุ่น คนที่ต่อต้านรัฐบาล นักวิชาการและปัญญาชนที่มีแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์ รวมถึงผู้ต้องสงสัยถูกจับหลายพันคน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บนับแสน แต่ไม่สามารถถูกบันทึกเป็นทางการออกสู่สาธารณะได้แต่อย่างใด

City of Sadness เป็นผลงานการกำกับของ โหวเสี่ยวเชี่ยน ในปี ค.ศ.1989 ซึ่งกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของกลุ่ม New Taiwan Cinema  หรือกลุ่มคนทำหนังไต้หวันยุคใหม่ หลังจากได้ประกวดในเทศกาลภาพยนตร์เมืองเวนิซ ประเทศอิตาลี หนึ่งในเทศกาลภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก ก่อนจะสามารถคว้ารางวัลสิงโตทองคำ รางวัลสูงสุดของเทศกาลมาครองได้ ความที่ทั้งเนื้อหาและเทคนิคการถ่ายทำผิดแผกจากภาพยนตร์ในช่วงเวลานั้นส่วนใหญ่ซึ่งได้รับอิทธิพลจากหนังฮ่องกง เน้นความบันเทิงเป็นหลัก

หลังจากกำกับหนังมาได้ระยะหนึ่ง โหวเสี่ยวเชี่ยนเริ่มสร้างสไตล์เฉพาะตนขึ้นมาโดยได้รับอิทธิพลจากภาพยนตร์ทางยุโรป กลายเป็นหนังที่เน้นสะท้อนสังคมไต้หวัน โดยเฉพาะสังคมชนบท และชีวิตของวัยรุ่น City of Sadness กลายเป็นหนังเรื่องแรกที่นำเสนอเรื่องเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ดังกล่าว ซึ่งนับว่าน่าตื่นตะลึงทีเดียวเพราะออกฉายหลังไต้หวันยกเลิกกฎอัยการศึกเพียงสองปี ตัวหนังแม้จะนำเสนอเรื่องราวอย่างจริงจัง ไร้ความบันเทิง หากก็ประสบความสำเร็จทั้งด้านรายได้และคำวิจารณ์ กลายเป็นจุดกำเนิดให้เขาเริ่มสร้างหนังประวัติศาสตร์ไตัหวันเรื่องอื่นเป็นไตรภาคต่อกันได้แก่ The Puppetmaster (1993) และ Good Men, Good Women (1995)

หนังยังแสดงเจตนาของผู้กำกับผ่านเทคนิคภาพยนตร์เพื่อการแสดงความหลากหลายของผู้คนในชาติ ที่ไม่ได้เป็นเช่นที่รัฐบาลนิยามความเป็นชาติ ผ่านการบันทึกเสียงหนังเรื่องนี้ด่้วยเทคนิคเสียงในฟิล์มเรื่องแรกของไต้หวัน เพื่อจับสำเนียงท้องถิ่นและการออกเสียงที่หลากหลายจากตัวละครที่มีพื้นเพแตกต่างกันในเรื่องอีกด้วย

หากแม้จะเป็นหนังประวัติศาสตร์ หนังเรื่องนี้ก็ไม่ได้มีอะไรที่เหมือนหนังประวัติศาสตร์แบบที่เราคิด เพราะเป็นการบันทึกชีวิตครองครัวมีอันจะกินตระกูลหนึ่งในเมืองเล็กๆ สลับกับน้ำเสียงของฮิโนมิ พยาบาลสาวที่รู้จักสนิทสนมกับครอบครัวนี้ พี่น้องสี่คนล้วนแตกต่าง เหวินเฮียงคนพี่โผงผาง ท่าทางนักเลงคอยดูแลกิจการบาร์ และการค้าที่พัวพันกับโลกของนักเลง ยากูซ่า เหวินซุน ที่หายไปหลังการออกไปรบในฟิลิปปินส์ไม่กลับมา เหวินเหลียง ที่กลายเป็นคนสติไม่สมประกอบหลังจากไปรบในสงคราม และเหวินชิง ซึ่งเป็นใบ้ ทำงานช่างถ่ายภาพ

แต่เรื่องที่ถูกเล่านี้เองก็ดูเหมือนจะสะท้อนให้เห็นชัดเจนถึง “ประวัติศาสตร์ทางเลือก” ที่ผ่านสายตาและมุมมองของคนตัวเล็กๆ ที่ถูกกระทำจากรัฐบาล ไม่ได้มีวีรบุรุษให้เทิดทูน หรือมีเรื่องราวของบุคคลตำแหน่งใหญ่โตในประเทศแต่อย่างใด โดยพวกเขาต่างค่อยๆ พบความเปลี่ยนแปลงของสังคมภายใต้การปกครองของรัฐบาลก๊กมินตั๋ง

สไตล์ของหนังโหวเสี่ยวเชี่ยนนั้นเดินเรื่องอย่างเนิบช้า การกำกับภาพนิ่งแทบไม่มีการเคลื่อนกล้อง(จนมีผู้บันทึกว่าตลอดทั้งเรื่องนี้เฉลี่ยจะมีตัดหนังทุก 43 วินาที) แม้จะเกี่ยวพันกับฉากต่อสู้และฆาตกรรมหลายฉาก หนังก็เลี่ยงจะนำเสนอภาพที่รุนแรงในระยะประชิด

แต่เมื่อเราต่อติดกับเรื่อง ความนิ่งช้าเหล่านั้นก็แปรเปลี่ยนเป็นฉากสะเทือนใจแบบซึมลึก โดยไม่ต้องเร้าอารมณ์ ความนิ่งช้าที่สะท้อนความเงียบงัน ชาชิน ภายใต้กฎอัยการศึก ผู้คนในเรื่องค่อยๆ ตายจาก หรือถูกจับกุมหายไปอย่างเงียบงัน และไม่เพียงสูญเสียชีวิต หากเต็มไปด้วยความขัดแย้งภายในสังคมของผู้คน ทั้งคนจีนแผ่นดินใหญ่ ญี่ปุ่น และคนจีนไต้หวัน

cityofsadness02

ฉากที่สะเทือนใจมากฉากหนึ่งเกิดขึ้นจากการเล่าของเหวินชิง (เหลียงเฉาเหว่ย) น้องคนเล็กที่เป็นใบ้ ระหว่างเดินทางไปไทเปในช่วงประกาศกฎอัยการศึก ผู้คนถูกเข่นฆ่านอนตาย หลายคนหากต้องสงสัยจะถูกคนถือมีดพร้าไล่ถามบนรถไฟว่าเป็นคนญี่ปุ่นหรือเปล่า ? จนมาถึงเหวินชิงที่พูดไม่ได้ นอกจากท่องจำคำมาว่า “ผมคนไต้หวัน ผมคนไต้หวัน” ก็เกือบโดนฆ่าตายตรงนั้น

“เกาะนี้มันน่าสงสารนะ ตอนแรกก็ญีปุ่นต่อมาก็จีน ทุกคนมาเพื่อเอาเปรียบ ไม่มีใครสนใจไยดีเราจริงๆ”

ชื่อหนังถูกกล่าวถึงจากพี่ชายคนโตที่บ่นอย่างหัวเสียเมื่อพบว่ามีกฎหมายบางอย่างเปลี่ยน และประเทศนี้ภายใต้การปกครองใหม่ไม่ได้มีอะไรดีขึ้นแต่อย่างใด…

แต่พวกเขาจะมีทางเลือกอะไรได้อีก นอกจากทนอยู่ ดังคำที่เล่าผ่านจดหมายอย่างเศร้าและปลดปลงของฮิโนมิ พยาบาลสาว คนรักของเหวินชิง ก่อนหนังจะจบอย่างเหงาๆ และไร้ความหวังให้เราเห็นครอบครัวที่เหลือเพียงอากงอาม่า ลูกชายพิการหนึ่งคน บรรดาสะใภ้ และลูกสาวที่คอยช่วยงานบ้านงานครัว ทานข้าวบนโต๊ะอย่างเงียบๆ ซึ่งสะท้อนคำก่อนหน้าได้อย่างดีที่สุด