Go Viral เรื่องราวข่าวสารวัฒนธรรมร่วมสมัย เทคโนโลยีที่ฮือฮาบนโลกออนไลน์
เรื่อง  ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง

ASMR แค่ฟังก็ฟิน จริงหรือหลอก ?

ยูทูบเบอร์ของแชนเนล British Primrose ASMR หนึ่งในผู้สร้างคลิป ASMR กับ binaural microphones หรือไมโครโฟนสำหรับอัดเสียงที่เก็บรายละเอียดต่างๆ ได้คมชัด (ภาพจาก YouTube)

หากใครบังเอิญได้ชมและฟังคลิปในยูทูบและอีกหลายแหล่งบนอินเทอร์เน็ตที่มีชื่อไฟล์ขึ้นต้นว่า ASMR อาจต้องประหลาดใจกับรูปแบบการนำเสนอค่อนข้างแปลก คลิปเหล่านี้มีความยาวตั้งแต่ไม่กี่นาทีไปจนร่วมชั่วโมง มักทำเสียงบางอย่างเบา ๆ ให้เราฟังตั้งแต่ต้นจนจบ จัดเป็นคลิปเฉพาะกลุ่มหมวดหนึ่งที่มีผู้สร้างคลิปและผู้ติดตามจำนวนมาก

ASMR ย่อมาจาก autonomous sensory meridian response หมายถึงการตอบสนองต่อประสาทรับความรู้สึกโดยอัตโนมัติ  ผู้สร้างคลิปจะสร้างเสียงที่ทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายและเชื่อว่าทำให้หลับสบาย โดยมากฟังแล้วอาจเสียววาบบริเวณหนังศีรษะ ต้นคอ ไปจนขนลุกชันตามแขนขา ผู้ชมจึงได้เห็นผู้สร้างคลิปทำเสียงเบา ๆ ตั้งแต่กระซิบกระซาบกับผู้ฟัง แต่งหน้า สเกตช์ภาพ บีบถุงพลาสติก เคี้ยวอาหาร พลิกหน้ากระดาษ ใช้กรรไกรทำท่าตัดผมหลอก ๆ ฯลฯ  คลิปประเภทหนึ่งของ ASMR ที่ได้รับความนิยมคือการใช้เสียงและท่าทางแสดงบทบาทสมมุติต่าง ๆ อาทิ ทันตแพทย์ ช่างทำผม ช่างตัดเสื้อ โดยการถ่ายทอดผ่าน 3D Microphone ซึ่งบันทึกเสียงเบา ๆ นุ่มนวลได้อย่างมีรายละเอียดคมชัดและครบถ้วน

แนวคิดดังกล่าวเริ่มเป็นที่สนใจเมื่อปี ๒๕๕๐ ในกระดานข่าวด้านสุขภาพ Steady Health มีผู้ตั้งกระทู้ถามถึงความรู้สึกดี ๆ จากเสียงต่าง ๆ ที่อธิบายไม่ได้ในวัยเด็ก ก่อนจะมีผู้ร่วมเล่าประสบการณ์จำนวนมาก จากนั้นมีการพูดถึงกันอีกหลายแห่ง ราวปี ๒๕๕๓ คลิป ASMR ก็ได้รับความนิยมผลิตอย่างก้าวกระโดดจนมีผู้บัญญัติศัพท์คำนี้ขึ้นมา

เว็บไซต์ Huffingtonpost สัมภาษณ์ยูทูบเบอร์ของแชนเนล British Primrose ASMR ที่เริ่มสร้างคลิปมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ เธอให้เหตุผลที่น่าสนใจถึงความนิยมว่า “มาจากสุขภาพจิต ผู้ชมจำนวนมากมีความเครียด ตื่นตระหนก หงุดหงิดต่าง ๆ หลายคนบรรเทาได้ด้วยการดู ASMR ค่ะ” เธออ้างจำนวนผู้ชมที่ตอบรับเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าได้ผล โดยมองว่าภาวะสุขภาพจิตที่ไม่ปรกติเหล่านี้ยังไม่มีการศึกษาวิจัยเท่าที่ควร ทั้งที่คนยุคปัจจุบันประสบปัญหามากขึ้นเรื่อย ๆ

ผู้ชมหลายคนเขียนสนับสนุนเหตุผลดังกล่าวว่าตนอยู่กับหน้าจอและสื่อต่าง ๆ มากจนปัญหาสุขภาพจิตทวีขึ้น ผู้ติดตามคลิปกลุ่มนี้ให้เหตุผลว่าฟังคลิปในยามว่างเพื่อผ่อนคลาย หลายคนใช้เพื่อทำให้นอนหลับ บางคนกล่าวว่าเสียงเบา ๆ จากคลิปกระตุ้นจินตนาการจนลืมโลกความเป็นจริงได้ชั่วขณะ

หากหลายคนที่ไม่ “อิน” กับ ASMR โดยเฉพาะเว็บไซต์ด้านวิทยาศาสตร์วิจารณ์ว่าคลิปเหล่านี้ชวนขนลุกมากกว่ารู้สึกดี และตั้งข้อสังเกตว่าผู้ทำคลิปส่วนมากเป็นผู้หญิง การสร้างความรู้สึกชวนจั๊กจี้จึงแฝงนัยทางเพศไม่น้อย ก่อนจะสรุปว่าปรากฏการณ์สร้างคลิปประเภทนี้เป็นเพียงวิทยาศาสตร์ลวงโลกเท่านั้น

มีผู้ประเมินว่าในอนาคตคลิป ASMR ยังพัฒนาต่อไปได้อีก ไม่ใช่แค่การบันทึกเสียง แต่รวมทั้งด้านการถ่ายภาพและตลาดอุปกรณ์เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (virtual reality) ที่เน้นประสบการณ์ใกล้ชิดทางภาพและเสียง ยังช่วยเปิดโอกาสให้สร้างสรรค์วิดีโอแบบอื่น ๆ มากขึ้น

อย่างไรก็ตามยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันผลต่อสุขภาพจาก ASMR และแน่นอนว่าคลิปเหล่านี้อาจไม่ช่วยให้ผ่อนคลายได้ทุกคน

เกร็ด ASMR
  • ปัจจุบันมีคลิปวิดีโอ ASMR กว่า ๑๐ ล้านคลิป
  • “มาเรีย” (นามสมมุติ) ยูทูบเบอร์ชาวรัสเซีย ผู้สร้างแชนเนล Gentle Whispering ASMR มีผู้ติดตามกว่า ๑ ล้านคน
  • ในอัลบัมชุด Lonely at the Top ของศิลปินแนวอิเล็กทรอนิกส์ ฮอลลี เฮิร์นดอน ถึงกับมีการนำเสียงกระซิบจากนักทำคลิป ASMR ชื่อดัง แคลร์ โดแลน มาประกอบในเพลงด้วย