วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

22f335009404f2f6dc1998933457b1a8.0

ค่ายแรกของปีนี้ ที่มีโอกาสได้ไปร่วม ค่ายเยาวชนนักเขียนสารคดีท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์-วัฒนธรรม รุ่นที่ ๗ มหาวิทยาลัยบูรพา)

มีนักเรียนในโครงการเรื่องเล่าจากแดนหญิง เรือนจำหญิงกลาง เมื่อหลายปีก่อน เขียนจดหมายมาอวยพรปีใหม่ ๒๕๖๑ และเล่าบรรยากาศการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของคนในกำแพง กับเล่าเรื่องตัวเองว่าปีนี้เธอเปลี่ยนกองงาน ไปเป็นฉันทนา คือไปอยู่กับกองงานเย็บผ้า

เธอเล่าถึงความตื่นเต้นของความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ภายในโลกแคบ ในปีนี้ว่า

“มีงานให้เรียนรู้เยอะมากค่ะ จากเด็กตัดขี้ด้ายกลายเป็นคนเย็บเอง ความรู้สึกแตกต่างกันมากเลยค่ะ ได้เย็บผ้ากันเปื้อน กระเป๋า แต่ละชิ้นต้องประณีตถึงจะผ่าน ทำด้วยใจจริงๆ ค่ะ…”

เรื่องเล่าจากอดีตนักเรียนการเขียนเรื่องเล่าที่กลายมาเป็นคนเย็บผ้า ทำให้ผมคิดเชื่อมโยงไปถึงสูตรหนึ่งที่เคยยกอ้างมาชี้ชวนให้นักเขียนใหม่ทดลองทำลองใช้ให้คนหัดเขียนหนังสือลองทำตัวเหมือนเป็นช่างเย็บผ้า

ตอนเริ่มหัดใหม่ เมื่อมองไปที่ราวแขวนโชว์เสื้อผ้า เห็นเสื้อตัวไหนต้องตาเรา ซื้อติดมือกลับมาเลย เสื้อตัวนั้นสามารถเป็นแบบเรียนให้กับเราเอามาเลาะตะเข็บแกะออกเป็นชิ้นส่วนเลย ดูว่าแต่ละชิ้นเขาตัดผ้ากว้างยาวเท่าใด เย็บอย่างไร รอยต่อ ตะเข็บ การโชว์และซ่อนแต่ละส่วนที่ต้องการ ความแหลม-ป้านของปกคอ ตำแหน่งที่วางกระเป๋าเข้าจังหวะเหมาะเจาะ ฯลฯ เพราะซื้อตัวที่สวยงามลงตัวและจับตาคนนั้น นอกจากเนื้อผ้าและลวดลาย-ซึ่งเป็นวัตถุดิบ การตัดเย็บต้องลงตัวพอดีหมด ไม่ขาดไม่เกิน อย่างหลังนี้ขึ้นอยู่ที่ฝีมือของช่างตัดเย็บที่นั่งอยู่หลังจักรเย็บผ้า

นักเขียนที่นั่งอยู่หลังโต๊ะทำงานกับหน้ากระดาษว่างเปล่าก็เช่นกัน ถ้ายังหาวิธีการไม่ได้ คิดไม่ออกว่าจะเขียนถึงสิ่งที่อยากเล่าออกมาอย่างไร ลองนึกถึงใจช่างเย็บผ้า

Oเสื้อตัวที่สวยสดสำหรับเราคือหนังสือเล่มโปรดนั้นแล เล่มที่เราชอบ เรายอมรับ เราตะลึงว่าเขาเขียนออกมาได้อย่างไรกัน เอาหนังสือเล่มนั้นมาอ่านแบบ “เลาะตะเข็บ” เลย ดูว่าเขาวางโครงเรื่อง และสร้างสรรค์แต่ละส่วนมาอย่างไร การเปิดเรื่อง ลำดับการเล่าเรื่อง การแบ่งบท ลำดับการปรากฏของตัวละคร การเผย-ซ่อน-ขยักเรื่องราวแต่ละประเด็น การบรรยายฉากและจังหวะที่ใช้ฉากให้สอดคล้องตามท้องเรื่อง การแสดงบทสนทนา การใช้จังหวะและเวลาที่เหมาะสมในการเล่าด้วยน้ำเสียงของผู้เขียนที่อาจแทรกเข้ามา ฯลฯ เยอะแยะมากมายกลเม็ดที่มีอยู่ในงานเขียนชั้นดี ซึ่งเราจะเห็นเมื่ออ่านอย่างตั้งใจแบบ “เลาะตะเข็บ”

ส่วนว่าจะหยิบเอาจุดไหนมาใช้ก็สุดแต่ความสอดคล้องและจังหวะที่เหมาะกับงานของเรา ซึ่งปัจจัยยิบย่อยเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้เป็นส่วนประกอบของวิธีการนำเสนอ ที่จะทำให้งานชิ้นหนึ่งโดดเด่นขึ้นมาได้ ต่อเนื่องจาก “ประเด็น” ที่น่าสนใจและ “ข้อมูล” ที่หนักแน่นรอบด้าน ซึ่งเป็นวัตถุดิบ-เสมือนผืนผ้าที่จะนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า

มองเห็นและเข้าใจเรื่องนี้แล้วก็พึงระวังไว้ข้อหนึ่ง งานเขียนต้องไม่ลอกใคร ประกาย-รังสีของชิ้นงานต้นแบบที่เราไปถอดรื้อแบบเลาะตะเข็บมานั้น ขอให้ส่องมาถึงเราในลักษณะ “ศิลป์ส่องทาง” ที่จะเป็นแรงบันดาลใจ หรือเป็นเชื้อไฟที่จะมาจุดประกายให้แก่เราเท่านั้น เมื่อแตกกอต่อยอดขึ้นเป็นผลงานของเราแล้ว ก็ขอให้มาจากเราอย่างแท้จริง ถ้าทำอย่างนี้ได้งานเขียนของเราก็จะไปพ้นข้อหาลอกเลียน ก๊อปปี้

ลองตั้งต้นกันดู หากยังหาวิธีการเล่าไม่ได้ นึกอะไรไม่ออก ผมเองยังทำอยู่เป็นประจำ

เมื่อเจองานที่ผ่านการเจียระไนภาษามาอย่างละเมียด ผมจะละเลียดอ่านทีละตัวอักษรเลย เพราะทุกตัวผ่านการไตร่ตรองจากผู้เขียนมาแล้ว เราจะมาอ่านแบบลวกๆ มันไม่สมศักดิ์ศรีผู้เขียน

เมื่อได้ทำดังนี้ อย่างน้อยที่สุดเราก็ได้เห็นแบบอย่างของการใช้ภาษาเขียนที่ประณีต ซึ่งสัมผัสได้ทันทีตั้งแต่ยังไม่เข้าสู่การถอดรื้อ

แบ่งปันสู่กันฟังเพื่อยืนยันรูปธรรมและประโยชน์ของการอย่างเลาะตะเข็บ


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา