เรื่องดีด้วยกลวิธีการเล่า

วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


tellingtechnique01

ห้องเรียนริมโขง ค่ายจุดประกายฝัน เพาะเมล็ดพันธุ์วรรณกรรม โรงเรียนเชียงคาน รุ่นที่ ๘ เมื่อ ๑-๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑

อย่าคาดหวังสีสันหรือจุดหักมุมจากงานสารคดีมากเกินไป เพราะการสะท้อนเรื่องจริงนั้นแต่งไม่ได้ สารคดีบางเรื่องอาจจำต้องเรียบ ถ้าตัวเรื่องมันเรียบ

นี้เป็นคล้ายคำเตือนอย่างจริงใจ เมื่อใครคิดจะหยิบสารคดีสักเรื่องขึ้นมาอ่าน

แต่จะอย่างไรในแง่ของคนเขียน ความพยายามที่จะทำงานสารคดีให้มีวรรณศิลป์ ครบรสถ้อยอักษร ได้ความรื่นรมย์ยามเมื่ออ่าน ก็ยังควรเป็นเป้าหมายในการทำงานแต่ละชิ้น

และวิธีหนึ่งที่ช่วยได้คือ กลวิธีในการเล่า

เนื้อหาในงานสารคดีมีหัวใจหลักอยู่ที่การยึดกุมอยู่กับข้อเท็จจริงโดยไม่แต่งเติม แต่ไม่มีกฎข้อใดเลยที่ห้ามสรรค์สร้างวิธีการนำเสนอ ซึ่งหากได้ปรับปรุงกลวิธีการเล่าขึ้นมา-แม้เพียงเล็กน้อย ก็จะทำให้เรื่องธรรมดาน่าสนใจขึ้นได้

มีงานสารคดีง่ายๆ มาให้ลองอ่าน ๒ เรื่อง เป็นงานหัดเขียนของนักเรียนชั้นประถมจากโรงเรียนบ้านใหม่ทุ่งดินขอ จังหวัดสระบุรี

เรื่อง “สุนัขตัวโปรด” โดย เด็กหญิงกมลพร มะโนน้อม

เช้าวันนั้นฉันได้ยินเสียงที่น่าตกใจ เมื่อลุกมาดูก็ได้พบว่ามันคือสุนัขที่ฉันเลี้ยงไว้นั่นเอง
สุนัขของฉันมันร้องเรียกฉัน “บ๊อก บ๊อก”
สุนัขพันธุ์บางแก้วชื่อ สำลี มีลักษณะหูตั้ง ตาแป๋ว หางสั้น ตัวสีขาวลายดำ พอเล่นกับมันเสร็จฉันก็ไปทำการบ้าน
ฉันชอบสุนัขตัวนี้มาก เพราะมันมีนิสัยชอบกระโดด วิ่งไปวิ่งมา มันดื้อและซนมาก ชอบเห่าชอบหอน ไล่คนที่ผ่านไปผ่านมาที่บ้านฉัน
ฉันรู้สึกว่ามันเหมือนเพื่อนที่คอยเคียงข้างฉันเสมอ รู้สึกว่ามันน่ารักน่าชัง
เมื่อได้เล่นกับสุนัขที่น่ารักน่าชังของฉัน ฉันรู้สึกว่าการเล่นกับสุนัขนั้น มีความสุขเหมือนได้เล่นกับเพื่อนคนหนึ่งเลยนะ

……

เรื่อง “อุบัติเหตุที่ลืมไม่ได้” โดย เด็กชายเจษฎา นุบาล

แผลเป็นเท่านิ้วโป้ง ยังอยู่บนขาข้างซ้ายของผม
เที่ยงวันนั้นผมมาเก็บผ้าเข้าบ้าน ก่อนที่จะกลับมาจากโรงงานพ่อได้บอกว่า “อย่าไปขี่รถเล่นนะ”
แต่ผมไม่ฟังที่พ่อพูด ผมกลับไปที่บ้าน ทำงานเสร็จก็ขี่มอเตอร์ไซค์ไปที่ทางเข้าโรงเรียน
ผมไปตั้งจุดเริ่มต้นที่โบสถ์ แล้วก็เริ่มซิ่งไป พอมันแรงมากเข้าท้ายสะบัด ไปชนต้นไม้
พอผมล้มก็มีคนมาช่วย แล้วเขาก็โทรหาพ่อผม ผมก็บอกว่า “ผมจะบอกพ่ออย่างไรดีครับ” ด้วยความกลัว
พอพ่อมาถึงพ่อว่า “พ่อบอกแล้วใช่ไหม”
ในที่สุดพ่อก็รู้ แต่พ่อก็พาผมไปเย็บแผล พอกลับมาพ่อบอกว่า “พ่อจะไม่ให้ขี่รถหนึ่งอาทิตย์”
พอได้ขี่อีกครั้ง ผมบอกพ่อว่า “ต่อไปนี้ผมจะฟังพ่อทุกอย่างครับ”

……

tellingtechnique02

เป็นงานเขียนที่เล่าเรื่องราวของตัวเองเหมือนกัน ต่างกันที่เรื่องแรกเล่าจากความรู้สึกและเน้นการบรรยายให้เห็นภาพ ขณะที่เรื่องหลังเล่าเหตุการณ์สำคัญเรื่องหนึ่งของชีวิตวัยเด็ก มีเนื้อหา หัวเรื่อง แง่มุม จุดเด่น ที่ต่างกันไป สุดแท้แต่ผู้อ่านแต่ละคนจะชื่นชอบหรือมอบคะแนนให้เรื่องไหน

แต่เรื่องหลังมีจุดเก๋ไก๋ ด้วยประโยคเปิดเรื่องที่ตัดเอาภาพปัจจุบันมาขึ้นก่อน แล้วเล่าย้อนเรื่องราวที่เป็นมา แทนที่จะตั้งต้นจากจุดเริ่มต้นแล้วเล่ามาตามเส้นเวลาตามแบบการเล่าเรื่องโดยทั่วไป

เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้เรื่องเล่าธรรมดาไปพ้นความธรรมดาได้ และทำให้เรื่องที่มีเนื้อหาเข้มข้นอยู่แล้ว เด่นดียิ่งขึ้น

นี่ล่ะ ความสำคัญของการสร้างสรรค์วิธีการนำเสนอในงานสารคดี ที่ผู้เขียนทุกคนควรมี

รู้จัก เรียนรู้ และค่อยๆ ฝึกฝนทำไป จะได้มากได้น้อยเท่าไร การสร้างสรรค์นั้นก็ย่อมจักส่งแรงบวกต่อผลงานเขียนของเราอยู่ดี


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา