(หาก) ต้องทำซ้ำ / เพราะไม่มีทางลัด

วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


noshortcut01

สาขาวิชาวารสารศาสตร์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร อยู่ในคณะที่มีชื่อว่า เทคโนโลยีสารนเทศและการสื่อสาร (Information & Communication Technology : ICT) ในชั้นปีที่ ๓ มีรายวิชาการเขียนสารคดี ซึ่งมีอาจารย์ประจำทำหน้าที่อย่างหนักแน่นอยู่แล้ว (ยืนยันจากคุณภาพงานเขียนของนักศึกษา) ผมเพียงแต่ได้รับเชิญไปช่วยเพิ่มเติมเสริมต่อในส่วนที่เป็นประสบการณ์จากการปฏิบัติจริง ก่อนที่พวกเขาจะต้องลงมือเขียนสารคดีชิ้นใหญ่ตอนปลายเทอม

ดูจากงานที่ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ “ลูกศิลป์” ของมหาลัย ก็พอเห็นฝีมือว่าพวกเขาเขียนสารคดีเป็น

ดูจากการตั้งชื่อชื่อเรื่อง เปิดเรื่อง-ปิดเรื่อง ก็สะท้อนว่านักศึกษาคณะไอซีที ศิลปากร ชั้นปีที่ ๓ ในปีนี้ เข้าใจโครงสร้างงานสารคดี

การวางโครงเรื่อง สะท้อนแง่มุมแนวคิดของภาพรวมทั้งเรื่อง

เมื่อถามเบื้องหลังการทำงาน คำตอบจากผู้เขียนก็สะท้อนว่าเข้าใจลำดับขั้นตอนการทำสารคดี

ในการ “คิดประเด็น”
“เก็บข้อมูล”
และ “ลงมือเขียน”

ได้ดังนี้วิทยากรก็เบามือไปมาก หน้าที่ในการช่วยต่อเติมเสริมส่งจึงเหลือแต่การแบ่งปันประสบการณ์ และพาลงมือทำ

วันนั้นเราชวนกันฝึกเขียนงานชิ้นสั้นๆ เล่าเรื่องจากภาพชุด ในรูปแบบสารคดี เพื่ออย่างน้อยที่สุดเขาก็ได้ฝึกทำงานเขียนเพิ่มอีกชิ้น

งานเขียนต้องฝึกทำซ้ำๆ เพราะแค่ความเข้าใจไม่ใช่หลักประกันว่าจะเกิดผลงานที่ดี ดังที่คนที่ผ่านทางมาก่อนแล้วล้วนยืนยันตรงกัน–ส้นทางการเขียน ไม่มีทางลัด!

แต่ได้มาด้วยการเคี่ยวกรำฝึกฝน

noshortcut02

นำเสนองาน

กับอีกอย่างที่ผู้ผ่านทางมาก่อนอาจพอช่วยได้ คือให้ในแง่หลักการผ่านการถาม-ตอบ

ท้ายคาบเรียนวันนั้นมีคำถามหนึ่งว่า หากต้องเขียนเรื่องซ้ำกับที่คนอื่นเขียนไปแล้วจะทำอย่างไร

เป็นธรรมดามากที่นักสารคดีจะเจอปัญหานี้ เพราะเรื่องใหม่มีน้อยและหาได้ยาก การต้องทำเรื่องซ้ำกับที่มีคนทำแล้วไม่ต้องตกใจ ผู้เขียนใหม่มีทางเอาชนะได้ด้วย…

๑.กลเม็ดพื้นๆ คือเอาชนะด้วยความเป็นปัจจุบัน ไม่ว่าจะอย่างไรชิ้นที่ทำก่อนย่อมเป็นอดีตไปแล้ว ชิ้นที่เขียนใหม่ในวันนี้จึงได้เปรียบอยู่แล้วที่ความสด ทันการณ์ พยายามให้ภาพและใส่ความเป็นปัจจุบันเข้าไป ก็ย่อมเป็นที่สนใจของคนอ่านด้วยความสดใหม่

๒.สมบูรณ์ยิ่งขึ้นได้ด้วยการต่อยอด งานที่คนอื่นเขียนไว้ก่อนนั้น–ดีเด่นอย่างไรก็ยิ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่ดีแก่เราที่กำลังจะเขียน เพียงแต่เราต้องหาหยิบแง่มุมที่แตกต่างมาต่อเติม ให้คนอ่านได้สาระประโยชน์เพิ่มขึ้นกว่าจากที่มีคนทำมาแล้ว

๓.เอาชนะด้วยกลวิธีการนำเสนอ รูปธรรมของเรื่องนี้ดูได้จากเรื่อง แม่นาคประโขนง ตำนานรักข้ามภพภูมิที่ถูกนำมาสร้างเป็นหนังมากกว่า ๑๐ ครั้ง เป็นเรื่องที่คนไทยรู้เนื้อเรื่องกันดีอยู่แล้ว แต่เมื่อนนทรีย์ นิมิบุตร นำมาสร้างเป็นครั้งที่ ๑๐ กว่า หนัง นางนาก ของเขาได้รับความนิยมท่วมท้น ทำรายได้ ๑๐๐ กว่าล้านบาท ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในยุคนั้นอย่างที่ไม่เคยมีหนังไทยเรื่องไหนทำได้มาก่อน ไม่ใช่อื่นใด-ความสำเร็จของเรื่องนี้อยู่ที่กลวิธีการเล่าเรื่องที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ด้วยฝีมือ ซึ่งลงตัวครบครันทั้งภาพ ฉาก ลำดับการเล่า และพลังของสาระที่ใส่ไว้ในเนื้อหา และต่อมาเมื่อผู้กำกับหนังรุ่นใหม่นำมาสร้างอีกครั้งในชื่อ พี่มากพระโขนง เปลี่ยนมุมมองการเล่าเรื่องไปอยู่ที่ฝ่ายผัว (พี่มาก) หนังเกิดแง่มุมใหม่ด้วยฝีมือผู้เล่า (ผู้กำกับ) เป็นที่ถูกใจผู้ชมทุกวัยตั้งแต่เด็กยันผู้ใหญ่ ทำรายได้ถล่มทลายถึงหลักพันล้านบาท ที่มาของความสำเร็จนี้ไม่ใช่อื่นใด-อยู่ฝีมือในการสร้างสรรค์กลวิธีการเล่าเรื่อง จากเรื่องราวที่คนดูรู้ๆ กันอยู่แล้ว แต่สามารถเล่าซ้ำได้อย่างจับใจผู้เสพ เป็นสิ่งสะท้อนและข้อยืนยันว่าการทำเรื่องซ้ำไม่ใช่ปัญหา สำคัญที่การสร้างสรรค์วิธีเล่าให้จับใจคนฟัง คนอ่าน หรือคนดูได้

และทั้งหลายนี้ จะได้มาด้วยการศึกษา เรียนรู้จากแบบอย่าง สร้างสรรค์ ฝึกฝน ทำซ้ำๆ ค่อยๆ ต่อเติมการเติบโต

เพราะอย่างที่กล่าวแล้ว เส้นทางสายนี้ไม่มีทางลัด


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา