แปรข้อมูลเป็นงานเขียน

วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


data article03

จับคู่ฝึกการสัมภาษณ์

ช่วงเดือนมีนาคม ๒๕๖๑ ค่ายสารคดีระดับประชาชน “เขียนสารคดีกับมืออาชีพ” เปิดเป็นรุ่นที่ ๓ แล้ว ครั้งนี้พิเศษขึ้นกว่า ๒ ก่อนตรงที่เพิ่มเวลาเป็น ๔ วัน ทำให้แต่ละช่วงเวลาของการอบรมไม่เร่งรัดเกิน และมีเวลาในการลงพื้นที่ ๑ วันเต็ม ซึ่งการลงสัมผัสพื้นที่นั้นถือเป็นหัวใจหลักห้องหนึ่งของการเก็บข้อมูลเขียนสารคดี

เก็บข้อมูลมาแปรเป็นงานเขียน โดยมีหลักเน้นว่า หากด้วยวิธีการที่ดีก็ย่อมทำให้งานเขียนนั้นเป็นถ้อยอักษรที่ให้ทั้งอรรถและรสรื่นรมย์

การทำความเข้าใจและแนะวิธีจัดการกับเรื่องข้อมูลนั้น ในค่ายเขียนสารคดีกับมืออาชีพนั้นเราทำกันดังนี้

  • ข้อมูลสัมภาษณ์ เราเรียนภาคทฤษฎีและฝึกปฏิบัติกันในห้องเรียน ที่สำนักงานนิตยสาร สารคดี
  • ข้อมูลสัมผัส เก็บเกี่ยวกันจากพื้นที่ โดยครูให้หลักพื้นฐานและวิธีการปลีกย่อยกันไปก่อน
  • ข้อมูลค้นคว้า เคล็ดวิธีสำหรับข้อมูลกองนี้ ศึกษาหาความรู้ในเรื่องนั้น ซึมซับจนเข้าใจ แล้วเล่าออกไปในน้ำเสียงผู้เขียน

อย่างหลังสุดนี้ ลองดูวิธีได้จากตัวอย่าง ที่นักเขียนสารคดีรุ่นก่อนทำกันมา

data article02

นำเสนองาน

สารคดีเรื่อง “พริก เผ็ด สวย ดุ และมีรอยยิ้มในคราบน้ำตา” ของจักรพันธุ์ กังวาฬ เล่าเรื่องพริกทั้งในมิติสังคม วัฒนธรรม(การกิน) สุขภาพ เกษตร (การปลูกและแหล่งเพาะปลูก) โภชนาการ ฯลฯ และข้อมูลวิชาการที่เป็นความรู้ ซึ่งในส่วนหลังสุดนี้ที่โดดเด่นอย่างน่าเป็นงานตัวอย่างให้นักสารคดีรุ่นใหม่ได้เรียนรู้

ข้อมูลวิชาการมีผู้ศึกษาไว้แล้ว ถ้านักเขียนสารคดีจะเพียงแต่คัดมาใส่ในงานเขียนของตน ก็ไม่จำเป็นต้องทำ เพราะหากต้องการแค่มูล ใครก็ค้นจากต้นทางได้ไม่จำเป็นต้องผ่านมือนักเขียน

แต่นอกเหนือจากข้อมูลความรู้ ผู้อ่านต้องการความรื่นรมย์ในรสอักษรด้วยจึงเลือกอ่านสารคดี และผู้เขียนไม่ควรทำให้ผู้อ่านผิดหวัง

นักเขียนสารคดีจึงควรตระหนักต่อการแปรข้อมูลให้เป็นงานเขียน ดังแบบอย่างในงานเรื่อง พริกฯ ของจักรพันธุ์ กังวาฬ

data article01

ห้องเรียนในพื้นที่

ช่วงที่ตัดทอนมาให้ดูนี้ ผู้เขียนใช้ข้อมูล ๘ บรรทัด ร่ายเป็นเรื่องราวได้เป็นหน้า

จากข้อมูลวิชาการว่า…

  • “พริกหวาน (Bell Pepper หรือ Italian Sweet) ๐ หน่วยสโควิลล์
  • พริกชี้ฟ้า (Cayenne) ๓๐,๐๐๐-๕๐,๐๐๐ หน่วยสโควิลล์
  • พริกขี้หนู (Thai Bird Pepper) ๑๐๐,๐๐๐-๓๕๐,๐๐๐ หน่วยสโควิลล์
  • พริกสกอตช์ บอนเนต (Scotch Bonnet) ๑๐๐,๐๐๐-๓๕๐,๐๐๐ หน่วยสโควิลล์
  • พริกจาเมกา (Jamaica Hot) ๑๐๐,๐๐๐-๓๕๐,๐๐๐ หน่วยสโควิลล์
  • พริกฮาบาเนโร (Habanero) ๒๐๐,๐๐๐-๕๐๐,๐๐๐ หน่วยสโควิลล์
  • เรดซาวีนา ฮาบาเนโร (Red Savina Habanero) ๕๘๐,๐๐๐ หน่วยสโควิลล์
  • พริกบุตโจโลเกีย (Bhut Jolokia) ๑,๐๐๑,๓๐๔ หน่วยสโควิลล์”

จักรพันธุ์เล่าใหม่ในน้ำเสียงเขาเอง โดยไม่บิดผันหรือทำส่วนใดตกหล่น ดังนี้

“พริกพันธุ์ใดเผ็ดที่สุดในโลก และมันเผ็ดขนาดไหน คงต้องอดใจรอฟังคำเฉลยในตอนท้ายของเนื้อหาส่วนนี้ เพราะเราจะรายงานอันดับความเผ็ดของพริกจากน้อยไปหามาก เพื่อให้เปรียบเสมือนความเผ็ดของพริกที่ค่อยๆ ทวีขึ้นเรื่อยๆ ในปาก กระทั่งเผ็ดร้อนจนสุดทนทาน

เริ่มจากพริกที่ไม่มีความเผ็ดเลย คือ พริกหวาน (Bell Pepper หรือ Italian Sweet) มีความเผ็ด ๐ หน่วยสโควิลล์ พริกพันธุ์นี้มีถิ่นกำเนิดแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและแคลิฟอร์เนีย นิยมปลูกทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ลักษณะผลกลมใหญ่ขนาดกำปั้น มีเนื้อมาก มักใช้ประกอบอาหารที่ไม่ต้องการความเผ็ด หรือใช้เป็นส่วนประกอบของสลัด เพราะมีวิตามินซีสูง

ส่วนพริกชี้ฟ้า (Cayenne) เป็นพริกที่เผ็ดปานกลาง ระดับ ๓๐,๐๐๐-๕๐,๐๐๐ หน่วยสโควิลล์ นิยมใช้ในการประกอบอาหารจีนหรืออาหารอินเดีย

ขณะที่พริกขี้หนู (Thai Bird Pepper) ของไทย แม้เม็ดเล็กแต่ก็เผ็ดร้อนแรงและมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว จัดเป็นพริกที่มีความเผ็ดในลำดับต้นๆ ของโลก ในระดับ ๑๐๐,๐๐๐-๓๕๐,๐๐๐ หน่วยสโควิลล์ เทียบเท่ากับพริกสกอตช์ บอนเนต (Scotch Bonnet) ในประเทศแถบทะเลแคริบเบียน และพริกจาเมกา (Jamaica Hot) ของประเทศจาเมกา

และต่อไปนี้คือย่างก้าวสู่โซนอันตราย เพราะเรากำลังจะแนะนำ พริกฮาบาเนโร (Habanero) ที่มีความเผ็ดถึง ๒๐๐,๐๐๐-๕๐๐,๐๐๐ หน่วยสโควิลล์ นิยมปลูกมากแถบคอสตาริกา เม็กซิโก รวมทั้งที่เทกซัสและแคลิฟอร์เนีย ในอเมริกา ผลค่อนข้างกลมสีส้มจัดจ้าน ขนาดประมาณนิ้วครึ่งเท่านั้น เมื่อแก่เต็มที่จะมีรสเผ็ดร้อนที่สุด อาจทำให้ผู้ที่กินมันสดๆ รู้สึกเผ็ดกระทั่งเหมือนหัวตนเองกำลังจะระเบิด

พริกที่เผ็ดดุยิ่งกว่าฮาบาเนโร คือญาติของมันที่ชื่อว่า เรดซาวีนา ฮาบาเนโร (Red Savina Habanero) พริกซึ่งได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมาใหม่ และปลูกมากแถบแคลิฟอร์เนียของอเมริกา ขนาดและรูปร่างใกล้เคียงกับพริกฮาบาเนโร แต่มีสีแดงสด จึงเป็นพริกที่เผ็ด สวย ดุ เพราะมีความเผ็ดถึง ๕๘๐,๐๐๐ หน่วยสโควิลล์ แม้แต่การสัมผัสมันด้วยมือเปล่าก็อาจทำให้ผิวหนังของเราแสบร้อนขึ้นทันที พริกเรดซาวีนา ฮาบาเนโร เคยได้ชื่อว่าเป็นพริกที่เผ็ดที่สุดในโลกจากการรับรองของกินเนสส์บุ๊กปี ค.ศ. ๑๙๙๔ ก่อนจะเสียตำแหน่งเมื่อโลกค้นพบพริกที่เผ็ดยิ่งกว่า

พริกบุตโจโลเกีย (Bhut Jolokia) ถูกเรียกขานในหมู่คนท้องถิ่นว่า “พริกผี” ใช่แล้ว มันคือพริกที่เผ็ดที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน ศาสตราจารย์พอล บอสแลนด์ แห่งสถาบันพริก มหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐนิวเม็กซิโก เป็นผู้ทดสอบและพบว่าบุตโจโลเกียมีความเผ็ดถึง ๑,๐๐๑,๓๐๔ หน่วยสโควิลล์ เผ็ดมากกว่าแชมป์เก่าอย่างพริดเรดซาวีนา ฮาบาเนโร ถึง ๒ เท่า!

พริกบุตโจโลเกียพบมากในดินแดนห่างไกลทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย โดยเฉพาะที่รัฐอัสสัมและนาคาแลนด์ และรัฐอื่นๆ ใกล้แนวชายแดนติดกับจีนและพม่า เป็นพื้นที่ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ยากจน ทั้งยังเป็นถิ่นฐานของกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่มักทำสงครามสู้รบกับรัฐบาลกลางและต่อสู้กันเองอยู่บ่อยๆ

พริกที่เผ็ดที่สุดในโลกมีขนาดยาวประมาณ ๒๕-๓๐ มิลลิเมตร รูปร่างค่อนข้างป้อม เปลือกดูยับย่น ส่วนปลายเรียวแหลม เมื่อแก่จัดจะมีสีส้มหรือสีแดง แม้ว่ามีความเผ็ดถึงล้านหน่วยสโควิลล์ จนคนไม่เคยลองอาจคิดว่ามันเผ็ดร้อนเหมือนไฟนรก ทว่ารสชาติของพริกบุตโจโลเกียเป็นที่คุ้นลิ้นของคนท้องถิ่น ชาวรัฐอัสสัมกินพริกบุตโจโลเกียกันมานาน ทั้งเอามาทำซอสพริก พริกดอง หรือแม้แต่กินสดๆ ขณะที่ทางนาคาแลนด์ ชาวบ้านกินพริกบุตโจโลเกียกันแทบทุกมื้ออาหาร”

สนุก รื่นรมย์ ติดใจ จำได้–ทั้งเนื้อหาและชื่อคนเขียน

เขียนงานแล้วคนอ่านจำชื่อได้ ถือว่าเริ่มเป็นนักเขียนเต็มตัว ต่อไปต่อให้ปิดชื่อคนอ่านยังจำสไตล์ได้ ก็ถือว่าเป็นนักเขียนที่มีลายมือของตัวเอง


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา