“ค่ายสารคดี พูดอย่างเวอร์ๆ คือจุดประกายบางอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน”
“รู้สึกได้ออกจากพื้นที่ปลอดภัยจริงๆ วันนี้ตื่นเต้น สนุก อยากไปต่ออีก ขอบคุณเพื่อนๆ ครูๆ ทีมงานทุกคนที่เป็นแรงบันดาลใจค่ะ”
“โจทย์อยู่ดีตายดีทำให้เราได้คุยเรื่องความตายกับคนรอบข้าง ได้ไปเรียนรู้การใช้ชีวิตของคนอื่น รับรู้แนวคิดเรื่องชีวิตของพวกเขา สิ่งที่ได้กลับมามันอาจจะยังไม่ได้แปลงเป็นคำพูดชัดๆ แต่มันมีมวลพลังงานบางอย่างที่ผมเชื่อว่ามันจะผลิดอกออกผลในภายหลัง ขอบคุณทุกคนอีกครั้งครับ”
“ที่นี่ผมได้เจอคนที่สอนผม แนะนำผมได้จริงๆ ผมไม่ได้เรียนมาด้านนี้โดยตรงเลยทำงานโดยไม่มีการแนะนำมาตลอด ทำให้เราเป็นเราในแบบที่ดีขึ้น ค่ายนี้เป็นช่วงเวลาที่ได้ใกล้กับความฝันของตัวเองมากที่สุด”























22 กันยายน หลังจากน้องๆ ได้ออกเดินทาง เรียนรู้ ลงมือสรรค์สร้างจนออกมาเป็นชิ้นงาน ค่ายสารคดีก็ดำเนินมาจนถึงวันสุดท้าย
ไม่ว่าหลักสูตรตลอด 4 เดือนที่ผ่านมาจะเข้มข้นขนาดไหน แต่คงไม่อาจส่งต่อประสบการณ์การทำงานอันยาวนานของเหล่าครูให้กับน้องๆ ได้ทั้งหมด จึงเป็นที่มาของบทเรียนสุดท้ายในวันปิดค่าย บทเรียนว่าด้วย “สิ่งที่ค่ายยังไม่ได้สอน” ครูบางคนชวนน้องๆ ใช้คาบเรียนนี้เล่าประสบการณ์การทำงานของตัวเอง การไปทำงานจริงที่อาจจะล้มหน้าฟาดบ้างก็ไม่เป็นไร เก็บเกี่ยวมันไว้เป็นประสบการณ์ บางคนเล่าถึงจรรยาบรรณของสื่อที่เราทุกคนในฐานะเพื่อนร่วมวงการควรจะคำนึงถึง บางคนเน้นย้ำว่าสิ่งที่เราเรียนกันในค่ายนี้เป็นเพียงพื้นฐาน การเรียนรู้บทต่อไปคือการทำงานจริง และค้นหาเส้นทางของตัวเอง
“อย่าเชื่อในสิ่งที่ค่ายนี้สอนทั้งหมด อย่าเชื่อคอมเมนต์ทั้งหมด ออกไปพิสูจน์ด้วยตัวเอง รูปแบบและวิธีการเล่าเรื่องมีหลากหลายมากๆ หลังจากนี้เราเป็นเพื่อนร่วมอาชีพ ลืมความเป็นครูเป็นศิษย์ แลกเปลี่ยนกัน ไปออกแบบทักษะและวิธีใช้ของตัวเอง ลองไปเรียนรู้ศาสตร์อื่นๆ บ้าง พอเราเห็นกว้าง เราจะเห็นตัวเองชัด”
นอกเหนือจากบทเรียนสุดท้ายโดยครูค่าย น้องๆ ค่ายสารคดี ครั้งที่ 19 ยังได้รับฟังเรื่องเล่าจากวิทยากรพิเศษอีกสองท่าน



“ครูเติบโตมากับนวนิยาย ห่างไกลจากงานสารคดีมาก เคยคิดว่าสารคดีเป็นข้อเท็จจริงเฉยๆ จนได้อ่านงานชิ้นหนึ่ง เป็นเรื่องของผู้หญิงท้องที่ป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว สารคดีชิ้นนั้นส่งพลังบางอย่างกระแทกเราอย่างรุนแรง โดนความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้มันเสียบที่กลางใจ”
ชมัยภร บางคมบาง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เชื่อมั่นว่างานที่บันทึกสังคมนั้นทรงพลัง ชมัยภรจึงชวนเหล่านักสารคดีรุ่นใหม่มองความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องที่เรากำลังบันทึกและสังคมที่เราอยู่อาศัย งานสารคดีของเราทุกคนคือการบันทึกประวัติศาสตร์ของยุคสมัยนี้ให้คนในวันข้างหน้าได้รับรู้ ได้มองเห็น แน่นอนว่างานแต่ละประเภทมีหน้าที่แตกต่างกันไป หากใครจะไปเขียนนวนิยาย กวี เรื่องสั้น ก็ขอให้เขียนมันในฐานะการบันทึกความรู้สึกและเยียวยาจิตใจของผู้คน
“วันนี้เขียนสารคดี พรุ่งนี้จะเขียนอะไรไม่มีใครว่า ถ้าคุณทำงานสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง คุณจะค้นพบความรักในตัวเอง วันหนึ่งคุณจะพบคำตอบบางอย่างปรากฏขึ้นมา ค้นพบความมหัศจรรย์ของการเขียน”
“วันนี้มีนิทานเรื่องหนึ่งมาเล่า มีปลาหนุ่มสองตัวว่ายไปในน้ำที่สะอาดสดใส พอไปเจอปลาสูงวัย ปลาสูงวัยทักว่าวันนี้น้ำใสดีเนอะ ปลาสองตัวก็ว่ายไปต่อ แล้วคุยกันว่า เอ๊ะ น้ำนี่มันคืออะไร”
เพราะนกไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ เราอยู่ในมันจนสังเกตเห็นได้ยาก โตมร ศุขปรีชา นักเขียนรุ่นใหญ่ผู้ผลิตผลงานหลากหลายรูปแบบชวนทุกคนตั้งคำถามว่า “อยู่ดี ตายดี” ที่เป็นหัวข้อของค่ายในปีนี้ จริงๆแล้วมันคืออะไรกันแน่ สังคมที่ทุกคนอยู่ดีตายดีอาจเหมือนปลาที่อยู่ในน้ำใสจนไม่เคยตั้งคำถามถึงสังคมที่ตนเองอาศัย กลับกันหากสังคมเรา “อยู่ไม่ดี ตายไม่ดี” เป็นปลาที่อยู่ในน้ำขุ่นคลั่ก เราก็อาจวุ่นอยู่กับการพยายามดิ้นรนเอาชีวิตรอดจนไม่มีเรื่องแรงจะมาพยายามแก้ไขมัน
“งานที่เราสื่อสารไปสู่สังคมมีอยู่หลักๆ 3 เป้าหมาย To know คือให้ข้อมูลความรู้ To feel คือทำให้คนอ่านรู้สึกร่วมไปกับสิ่งที่เราเล่า อันสุดท้ายคือ to do หลังอ่านแล้ว เข้าใจแล้ว รู้สึกแล้ว เขาจะอยากลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง ให้กับโลก ให้กับสังคมที่เขาอยู่ ขอให้งานที่เราสรรค์สร้างได้ช่วยสร้างสรรค์สังคม ไม่มากก็น้อย”
ย้อนกลับไปในวันแรกๆ ของการเข้าค่าย สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ บก.บห. นิตยสารสารคดี เคยตั้งคำถามกับน้องๆ ผู้เข้าร่วมทุกคนว่า “สารคดีคืออะไร” แต่ละคนมีคำตอบที่หลากหลาย การเล่าเรื่องความจริงบ้าง การนำเสนอข้อเท็จจริงผ่านภาษาวรรณกรรมบ้าง หากวันนี้ได้ถามคำถามเดิมซ้ำอีกครั้ง คำตอบของน้องๆ จะเหมือนหรือต่างไปอย่างไรนะ
“หวังว่าในวันนี้มันจะอยู่ในเนื้อในตัว อยู่ในประสบการณ์ มันอาจกลั่นเป็นคำพูดยาก แต่ประสบการณ์ทั้งหมดอยู่ในตัวทุกคน หวังว่าทุกคนจะมีคำตอบของตัวเอง”
Once สารคดี always สารคดี
ขอขอบคุณทุกคนที่ร่วมเดินทางกันมาตลอด 4 เดือน สุดท้ายนี้ ขอแสดงความยินดีกับน้องๆ เจ้าของผลงานดีเด่นทุกคน













รางวัลงานเขียนสารคดีดีเด่น
- อันดับ 1 ปกาเกอะญอห้วยหินลาดใน : เรียงร้อยชีวิตด้วยบทธา ความตายและผืนป่าไม่แยกจากกัน โดย กฤษณา หรนจันทร์
- อันดับ 2 THE STORIES OF RARE DISEASE กล่องสุ่มใบนี้ชื่อว่า ‘โรคหายาก’ โดย วรพร รุ่งวัฒนโสภณ
- อันดับ 3 จุด เส้น สี ช่วยจิตให้ดีในพื้นที่สีแดงด้วยศิลปะ โดย ณิชากร คงบำเพ็ญ
รางวัลชุดภาพสารคดีดีเด่น
- อันดับ 1 จุด เส้น สี ช่วยจิตให้ดีในพื้นที่สีแดงด้วยศิลปะ โดย ณิชมน นิตยโกศล
- อันดับ 2 ปกาเกอะญอห้วยหินลาดใน : เรียงร้อยชีวิตด้วยบทธา ความตายและผืนป่าไม่แยกจากกัน โดย สิรินธร เผ่าพงษ์ไทย
- อันดับ 3 แสงสว่างท่ามกลางความมืดของโรงเรียนบ้านท่าตาฝั่ง : ชีวิตและการหมุนของโลก โดย ธัญศิษฐ์ อิงคยุทธวิทยา
รางวัลวิดีโอสารคดีดีเด่น
- อันดับ 1 Reborn life โดย พิรพัฒน์ เพชรขาว และ ขวัญหทัย ม่วงมงคล
- อันดับ 2 อยู่ไม่ดี สู้จนตายดี โดย ปวิช การุณวิเชียร และ พนิดา ช่างทอง
- อันดับ 3 How is food become medicine ? โดย มูนา อัลรุไดนี และ นัฐชา อุดรเสถียร

สนับสนุนโดย
- วิริยะประกันภัย
- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
- มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์
- Nikon
- STM
- Saramonic
- กลุ่มธุรกิจ tcp
กิจกรรมโดย
Sarakadee Magazine