397cover

ผมโตมากับนิตยสาร

จำได้ว่าตอนเด็ก ๆ ซื้อการ์ตูน หนูจ๋า ตุ๊กตา เบบี้ มาอ่าน  พอทีวีมีหนังฮีโร่ยอดมนุษย์ นักสู้นักกีฬา และการ์ตูนญี่ปุ่น ก็มีแมกกาซีนติดตามดาราญี่ปุ่นออกมาให้ตาลุกวาว ตามด้วย ชัยพฤกษ์การ์ตูน ชัยพฤกษ์ ชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์ ถือเป็นนิตยสารที่กระตุ้นให้สนใจเรื่องราวความรู้รอบตัว ทั้งวิทยาศาสตร์ สังคม บุคคล ประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ

โตขึ้นมาหน่อยก็มาตามโปสเตอร์ดาราฝรั่งและหนังฮอลลีวูดจาก สตาร์พิคส์  ทีมฟุตบอลและนักฟุตบอลในสตาร์ซอคเก้อร์ พร้อมกับอ่านเรื่องลึกลับ ๆ พวกมนุษย์ต่างดาว มัมมี่ พีระมิด จาก ต่วย’ตูน ฉบับพิเศษ

สมัยก่อนแหล่งขายหนังสือนิตยสารเก่าอยู่ตรงศาลพระแม่ธรณีบีบมวยผม สนามหลวง (ก่อนจะย้ายไปสวนจตุจักร  ส่วนตอนนี้คงแทบไม่เหลือแล้ว) จำได้ว่าถ้าเดินเข้าไปในซุ้มขายหนังสือก็จะมีคนเข้ามาถาม “โป๊ไหมพี่ ๆ” เสียทุกครั้ง คนถามไม่อาย แต่คนฟังอายแทน ต้องเดินเลี่ยงไปทางอื่น

ผมมารู้จัก National Geographic ที่นี่ ซื้อเล่มเก่า ๆ มาอ่าน ภาษาอังกฤษไม่ได้แข็งมาก อาศัยดูภาพถ่ายเป็นหลัก ด้วยความอยากรู้ว่าบนโลกใบนี้มีสิ่งมหัศจรรย์อะไรอยู่ที่ไหน และยังมีนิตยสาร Life รูปเล่มไซซ์ใหญ่ มีภาพข่าวขาวดำน่าตื่นตาตื่นใจ ไม่นับ Time และ Newsweek ที่จะซื้อเก็บฉบับที่มีภาพข่าวเหตุการณ์สำคัญระดับโลก

ลลนา ถือเป็นแมกกาซีนแฟชั่นเล่มแรกที่มาสนใจตอนวัยรุ่น  ภาพถ่ายแฟชั่นสาวเท่กับกลอนเปล่าใต้ภาพดูมีเสน่ห์เหลือหลาย ไม่นับภาพวาดประกอบของ “น้านน” และ “น้าแพ็ท” ส่วนอ่านอะไรบ้างก็จำไม่ได้เสียแล้ว น่าจะมีคอลัมน์ของ “ฮิวเมอริสต์” เป็นหนึ่งในนั้น

ส่วนแนววิทยาศาสตร์ที่ชอบเป็นทุนเดิม ตอนนั้นมีพาเหรดออกมาหลายปก โดยเฉพาะ มิติที่ 4 ที่เน้นเรื่องสั้นไซไฟ และปกภาพวาดเหนือโลกให้สมองเฟื่องฟูด้วยจินตนาการ จนต้องซื้อเก็บเพราะชอบภาพ กับ รู้รอบตัว และ อัปเดต ที่มีคอลัมน์ “คุยกับชัยคุปต์” ให้พลิกอ่านหาความรู้ก่อนเรื่องอื่น

พอรู้จัก โลกหนังสือ ของ บก. สุชาติ สวัสดิ์ศรี หรือ “สิงห์ สนามหลวง” ก็ได้เปิดประตูโลกวรรณกรรมคลาสสิกและวรรณกรรมตะวันตก หาอ่านวรรณกรรมแปลซึ่งทำให้เราได้ใคร่ครวญถึงความหมายของชีวิต  จาก โลกหนังสือ มาเป็น ถนนหนังสือ ก็ยังตามซื้อ  ส่วน ฟ้าเมืองไทย ของครูอาจินต์ ปัญจพรรค์ ก็คอยหยิบมาสนุกสนานกับเรื่องราวชีวิตของผู้คนหลากหลาย

การรอคอยว่านิตยสารเล่มนั้นเล่มนี้จะวางแผงแล้วหรือยังทุกต้นเดือน ในยุคที่ชีวิตไม่เร่งรีบ ถือเป็นความรู้สึกดี ๆ ในความสัมพันธ์ซ่อนเร้นระหว่างผู้อ่านที่ไม่เคยพบเจอกับผู้ทำ

นิตยสารสวยมากอีกเล่มที่จำได้ดีชื่อ เฟอร์นิเจอร์ ออกแบบรูปเล่มและกราฟิกอย่างล้ำ และนิตยสารผู้ชายอย่าง หนุ่มสาว ที่สมัยนั้นจะกระมิดกระเมี้ยนซื้อกันมาอ่าน (ดู) กับกลุ่มเพื่อน มีงานแนวสารคดีเข้มข้นให้อ่านและรู้จักก็จากเล่มนี้

ในที่สุดก็มาเจอนิตยสารที่ทำให้ชีวิตต้องผูกพันกันจากวัยหนุ่มมาจนถึงวัยเลยหนุ่มมานิดหนึ่ง นั่นคือนิตยสารสารคดี

จากปีที่ ๑ ถึงขึ้นปีที่ ๓๔ และ ๓๙๗ ฉบับ

คิดถึง ขอบคุณ แมกกาซีนทุกเล่มที่มอบความสุขให้ทุกรอบ ๓๐ วัน และทุกรายนามผู้เป็นเบื้องหลังหน้ากระดาษ

ในห้วงอัสดงของสื่อสิ่งพิมพ์ ถ้ายังพอมีคนอ่านคิดถึง สารคดี อยู่บ้าง… เราคงได้พบ สารคดี ฉบับต่อไปกันทุกเดือนครับ

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสาร สารคดี
suwatasa@gmail.com
#สมัครสมาชิกวันนี้ต่อชีวิตนิตยสารไปยาวๆ