เรายกวัดมาไว้ในห้าง…

ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


ห้างสรรพสินค้า เรายกวัดมาไว้ในห้าง...

ใกล้เทศกาลสงกรานต์อย่างนี้ เมื่อผ่านไปหน้าห้างสรรพสินค้าก็เห็นมีการตั้งโต๊ะหมู่บูชา นำพระพุทธรูปมาประดิษฐานให้คนสรงน้ำกันเนื่องในเทศกาล และเมื่อก้าวเท้าเข้าไปข้างในห้าง หน้าร้านอาหารบางแห่งก็ยังตั้งพระพุทธรูปหน้าร้านของตัวให้คนมาสรงน้ำอีกต่างหากก็มี

ธรรมเนียมนี้คลับคล้ายว่าน่าจะเกิดใหม่เมื่อไม่เกิน ๒๐ ปีมานี้เอง เพราะก่อนหน้านี้จำไม่ได้ว่าเคยเห็น

นอกจากนำเอาพระพุทธรูปมาให้คนสรงน้ำแล้ว ในหน้าเทศกาลหรือวันสำคัญทางศาสนาวันอื่นๆ ทางห้างก็มักอำนวยความสะดวกให้แก่พุทธศาสนิกชนในทำนองเดียวกันนี้ด้วย ที่เคยเห็นก็เช่นในช่วงก่อนวันเข้าพรรษา มีปะรำประดิษฐานพระพุทธรูป พร้อมทั้งติดตั้งเตาหลอมแผ่นเทียน พร้อมกับมีกระบอกแม่พิมพ์เทียนพรรษาตั้งเรียงเป็นแถว ให้คนที่ผ่านไปมาหรือมาพักรอรถเมล์หน้าห้าง ได้มีโอกาสร่วมงานบุญเข้าพรรษา แบบ one stop service ด้วยการตักน้ำเทียนที่หลอมเหลวแล้วเติมลงไปในแม่พิมพ์นั้น แล้วหยอดตู้บริจาคทำบุญตามจิตศรัทธา รวมทั้งยังเคยเห็นตามตึกสำนักงานบางแห่งในย่านธุรกิจ ก็ตั้งโต๊ะหมู่บูชาพร้อมประดิษฐานพระพุทธรูป ให้คนมาบริจาค “ปัจจัย” ทำบุญถวายหลอดไฟ อนุโลมตามอย่างการถวายเทียนพรรษา แต่ปรับเปลี่ยนมาเป็นหลอดไฟให้ได้ประโยชน์สมสมัยแทน

อย่างที่เคยกล่าวถึงมาแล้วว่า แต่โบราณถือกันว่าเรื่องพระเรื่องเจ้า เช่นพระพุทธรูปนั้น เป็นเสมือนตัวแทนของพระพุทธองค์ เป็นสิ่งสะอาดบริสุทธิ์ จึงไม่นิยมนำมาประดิษฐานไว้ในบ้านเรือนฆราวาส หรือหากเป็นวังเป็นทำเนียบของท่านผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ ก็ต้องสร้างเรือนที่ประดิษฐานแยกมาต่างหากเป็น “หอพระ” คติเรื่องนี้ในเมืองไทยอาจเลือนๆ กันไปหมดแล้ว แต่ในวัฒนธรรมพุทธศาสนาประเทศอื่นๆ ยังถือปฏิบัติเคร่งครัด เช่นที่มีผู้เล่าว่ามิตรสหายชาวศรีลังกาตกใจแทบสิ้นสติ เมื่อทราบว่าคนไทยทั้งชายหญิงนิยมนำเอา “พระเครื่อง” คือเหรียญรูปพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธรูปองค์เล็กๆ มาแขวนคอ ให้ห้อยติดอยู่กับร่างกายอันเป็นสิ่งสกปรกแปดเปื้อนในคติพุทธศาสนา

02 bagan

หรือในพม่า จนถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังเคร่งครัดกับธรรมเนียมที่ต้องถอดรองเท้าทันทีเมื่อย่างก้าวเข้าเขตอาราม แม้ว่าจากประตูวัดเข้าไปถึงศาสนสถานภายในจะเป็นระยะทางยาวไกลหรือแดดร้อนสักเท่าใดก็ตาม แม้แต่ต่อให้เป็นโบราณสถาน มิได้เป็นวัดที่มีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษาแล้ว แต่ก็ยังต้องให้ถอดรองเท้าเสมอ เพื่อแสดงความนอบน้อมต่อพระพุทธองค์ ซึ่งมีรูปแทนคือพระพุทธปฏิมาที่ประดิษฐานอยู่ภายใน

แต่ที่ว่ามาอย่างนี้มิได้มุ่งหมายจะตำหนิติเตียนสิ่งที่ทำกันในเมืองไทยปัจจุบัน ตรงกันข้าม ประเด็นเหล่านี้ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยได้อย่างชัดเจน และวัฒนธรรมทั้งหลายก็ล้วนเคลื่อนเปลี่ยนไปตามกระแสสังคมที่แปรผันนั้นเอง

ในอดีต วัดอาจถือเป็นสถาบันหลักของสังคม กิจกรรมต่างๆ ล้วนเกิดขึ้นที่นั่น ตั้งแต่เป็นสนามเด็กเล่น เป็นโรงเรียน เป็นที่ตั้งตลาดนัด เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา พระสงฆ์เองก็มีสถานะเป็นที่ยกย่องของสังคม เป็นผู้มีความรู้ทั้งทางโลกทางธรรม ฯลฯ

ก็ในเมื่อทุกวันนี้ ห้างสรรพสินค้าอาจนับเนื่องได้ว่าเป็นศูนย์กลางของสังคมเศรษฐกิจของคนเมืองแทนที่วัดไปแล้ว ดังนั้นการจะผนวกรวมเอาพิธีกรรมอันเคยเป็นของวัดเข้าไปด้วย เช่นการสรงน้ำพระพุทธรูป หรือการหล่อเทียนพรรษา ก็จึงนับว่าเป็นเรื่องสามัญตามธรรมดา

เพราะถึงอย่างไร สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะหล่อเทียนได้จริงหรือไม่ก็ตาม พิธีกรรมเหล่านี้ก็ต้องกลับไป “จบ” ที่วัด หรือต้องนำเอาปัจจับกลับไปถวายพระสงฆ์ถวายวัดอยู่ดี