ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 14
งานเขียนดีเด่น
ชนฐิตา ไกรศรีกุล : เรื่อง
อุษา แก้วธิวัง : ภาพ

หาเช้า (เพื่อ) กินค่ำ : วิถีมุสลิมสวนพลูในเดือนรอมฎอน

โต๊ะอาหารที่ไม่แบ่งชนชั้น – บรรยากาศหลังการรับประทานของว่างก่อนที่จะถึงเวลาเข้าสู่พิธีละหมาด จะมีการพูดคุยแบ่งปันเรื่องราวซึ่งกันและกัน และในบางวันมีชาวมุสลิมต่างประเทศที่เดินทางมาประเทศไทย เข้ามารับประทานอาหารและร่วมพิธีละหมาดพร้อมกันด้วย

สิบโมงเช้า

ชุมชนมัสยิดสวนพลูตั้งอยู่บนถนนเทอดไทริมทางรถไฟสายวงเวียนใหญ่-มหาชัย ที่เรียกกันว่า “สวนพลู” เนื่องจากสมัยนั้นวัฒนธรรมกินหมากฟันดำกำลังเป็นที่นิยม ทำให้ชาวบ้านคลองบางหลวงเปลี่ยนที่ดินริมคลองเกือบทั้งหมดเป็นสวนพลูปลูกส่งขายทั้งในและนอกประเทศ แต่สวนพลูก็มีอันต้องล้มเลิกไปหลังจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นออกนโยบายรัฐนิยมให้ห้ามกินหมาก ชุมชนแห่งนี้จึงเปลี่ยนเป็นฟันขาว และเปลี่ยนของขึ้นชื่อจากใบพลูมาเป็นอาหารคาวหวานหลากหลายเมนู

แต่แม้จะอยู่ท่ามกลางอาหารไทย จีน มุสลิม ที่หลายคนขนานชื่อว่าคึกคักไม่แพ้เยาวราช ชาวมุสลิมแถบมัสยิดสวนพลูก็ยังถือศีลอดกันเป็นปรกติ เวลา 10 โมงที่ร้านขนมจึงยังเงียบเหงา ไม่มีลูกค้าเข้าร้านมากนัก

ร้านบ้านขนมบดินป้าเล็กเป็นหนึ่งในครอบครัวที่สืบทอดสูตร “ขนมบดิน” ขนมมุสลิมชื่อแปลกที่ถือกำเนิดจากชุมชนสวนพลูแท้ๆ เนื้อขนมสีทองนวลแน่น รสหวานน้อย แต่มันนำด้วยเนยกี โรยหน้าด้วยลูกเกดและผลไม้เชื่อมสีเขียวๆ แดงๆ ตัดเป็นชิ้นใส่กล่องวางขายอยู่ริมถนน ที่ทำเสร็จแล้วบางส่วนมีทั้งกล่องเล็กกล่องใหญ่ ที่ยังเป็นก้อนแป้งฟูเต็มถาดก็มีวางอยู่บนโต๊ะ รอเข้าเตาอบในรอบถัดไป

ร้านขนมตั้งอยู่ริมถนนซอยเล็กๆ มีป้าเล็ก หรือ ยุพิน น้อยปลา วัย 73 ปี เป็นเจ้าของ ป้าเล่าว่าขายขนมบดินมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ จนตอนนี้ย่างเข้ารุ่นที่ 3 แล้ว มีพี่บี ลูกสาวเข้ามาช่วยดูแลอาหารอื่นๆ ทั้งแกงกรุหม่าไก่หอมกลิ่นเครื่องเทศ กินกับแป้งโรตีหนานุ่มสองแผ่นพูนๆ ต่างข้าว หรือมะตะบะไส้ไก่ ไส้เนื้อ และไส้หวานไว้กินล้างปากแทนขนม

“ขนมบดินมีมาตั้งนานแล้ว ตอนนั้นญาติทำเค้กอยู่แถวสีลม แล้วกลับมาดัดแปลงสูตร จากเนยเค้กก็ใช้เนยกีของมุสลิม เมื่อก่อนก็ทำแค่ช่วงเทศกาลนะ จนมาเริ่มทำขายปรกติก็ตอนหลัง ตอนนี้ถ้าช่วงเทศกาลก็ทำเป็นพันๆ ถาด” ป้าเล็กสวมชุดยาว คลุมผมด้วยผ้าฮิญาบเล่าพลางยิ้มเขิน “เดี๋ยววันที่ 15 มิถุนาฯ นี้ออกรอมฎอนก็ขายได้เยอะ”

ขนมบดินชุมชนสวนพลูมีเรื่องราวมาตั้งแต่รุ่นแรก จนตอนนี้กลายเป็นขนมขึ้นชื่อที่มีคนเอาสูตรไปดัดแปลงมากมาย ป้าเล็กบอกว่าเคยซื้อขนมบดินจากที่อื่นมาชิมด้วยความอยากรู้ แต่ก็ไม่ถูกปากเพราะรสชาติไม่เหมือนทำเอง

“บางที่เขาเอาชื่อขนมไป แต่เราชิมแล้วไม่ใช่ เราห้ามคนอื่นที่ค้าขายไม่ได้ แต่คนชิมเขาจะรู้เอง บางคนขับรถจากมีนบุรีเพื่อจะมาซื้อเลยนะ ทั้งที่เขาบอกว่าแถวๆ บ้านเขาก็มี”

ใกล้เที่ยงมีลูกค้าที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมเข้ามาซื้ออาหารบ้างประปราย สมกับที่ป้าเล็กโฆษณาไว้ว่าขนมนี้กินได้ทุกคน แต่บรรยากาศรวมยังคงนิ่ง ความวุ่นวายจึงมีเพียงคนในร้านทั้งสามรุ่น ตั้งแต่แม่ ป้าเล็ก และลูกสาว ช่วยกันเตรียมขนม เดี๋ยวเปิดเดี๋ยวปิดพัดลมกันวุ่นวายเพื่อจุดเตาอบ เดี๋ยวก็ขนถาดออกมาโรยหน้า ตัดใส่กล่อง เสียงนวดแป้งโรตี และเสียงมะตะบะไส้หวานทอดเนยร้อนๆ ดังฉ่า ผสมกับกลิ่นหอมนมเนย หอมเครื่องเทศจากแกงกรุหม่าหม้อใหญ่ลอยอบอวล สำหรับพ่อค้าแม่ค้าชาวมุสลิมช่วงเช้าจึงเป็นช่วงเวลาหุงหา ทั้งขายให้กับนักท่องเที่ยวในตอนเช้า และทำบางส่วนเก็บไว้รอขายชาวมุสลิมด้วยกันในตอนเย็น

เกือบบ่าย 2 โมง

ศีลอดปีนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม คนต่างศาสนาอาจตีความว่าเป็นช่วงเวลา “ห้ามกินข้าว” ที่จริงแล้วศีลอดของชาวมุสลิมกินความกว้างถึงการ “ไม่เสพ” อาหาร เครื่องดื่ม การร่วมประเวณี รวมถึงต้องละหมาดและศึกษาคัมภีร์กุรอาน การไม่เสพจึงกินความไปถึงงดเว้นความคิด คำพูด หรือการปฏิบัติที่ไม่ดีด้วย

การถือศีลอดจะทำในเดือนรอมฎอน คือเดือนที่ 9 นับตามจันทรคติในปฏิทินฮิจเราะห์ ถือเป็นเดือนสำคัญเนื่องจากเป็นเดือนที่ชาวมุสลิมจะถือศีลอดหรือที่เรียกว่า “ถือบวช” ตลอดทั้งเดือน วันที่เริ่มต้นถือศีลจะคลาดกันประมาณ 10 วันในแต่ละปี ขึ้นอยู่กับดวงจันทร์ของปีนั้นๆ ชาวมุสลิมจึงต้องรอฟังประกาศจากจุฬาราชมนตรีว่าปีไหนเริ่มเมื่อใดและเสร็จสิ้นเมื่อใด

ศีลอดมีทั้งข้อบังคับคือ เด็กหญิงชายจะเริ่มถือศีลอดครั้งแรกเมื่อฝันเปียกหรือมีประจำเดือน อันเป็นสัญญาณว่าร่างกายเข้าสู่วัยหนุ่มสาวและทำไปจนตลอดชีวิต และมีข้อยกเว้นในบางกรณี เช่นหากเป็นผู้ที่จำเป็นต้องใช้แรงงาน มีประจำเดือน ป่วย ก็ไม่จำเป็นต้องถือศีลในวันนั้น แต่ให้เลื่อนไปทำในวันที่ร่างกายพร้อมแทน การถือศีลอดจึงไม่ใช่ความอดอยาก เป็นเพียงการไม่กินตอนเช้า แล้วย้ายไปกินตอนค่ำแทน ระหว่างที่ถือศีลอดร่างกายจะปรับตัวโดยสลายไกลโคเจนที่สะสมไว้ในตับและกล้ามเนื้อออกมาเป็นกลูโคสเพื่อให้ได้พลังงาน ต่อมหมวกไตจะหลั่งเอพิเนฟรินที่ทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานน้อยลง ส่วนต่อมใต้สมองจะหลั่งฮอร์โมนยับยั้งการสูญเสียน้ำทำให้ปัสสาวะน้อยลง แพทย์หลายคนยืนยันตรงกันว่าการอดอาหารในเดือนรอมฎอนหากปฏิบัติอย่างถูกต้องตามหลักแล้วจะส่งผลดีต่อสุขภาพด้วยซ้ำ เพราะเมื่อเผาผลาญน้ำตาลกลูโคสจนหมด ร่างกายก็จะเผาผลาญไขมันเป็นพลังงานต่อ ทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดลดลง

ชาวชุมชนมัสยิดสวนพลูที่นับถือศาสนาอิสลามจะเริ่มถือศีลอดตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้น แล้วจึงละศีลได้ตอนพระอาทิตย์ตก การค้าขายอาหารทำได้ปรกติ แม้จะเห็นบางร้านปิดช่วงกลางวันเพื่อรอขายตอนกลางคืน แต่อีกหลายร้านเช่นร้านบ้านขนมบดินก็ยังเปิดขายตั้งแต่เช้าเพื่อให้ชาวไทยพุทธและชาวไทยเชื้อสายจีนซื้อไว้เป็นอาหารเที่ยง และให้คนมุสลิมบางคนซื้อเตรียมไว้สำหรับมื้อเย็นหลังละศีล หรือถ้าใครที่ไม่ได้เตรียมไว้ส่วนตัวก็สามารถมากินจากสำรับรวมที่มัสยิดสวนพลูจัดไว้ให้ก็ได้

“สำรับของมัสยิดจะเลี้ยงข้าวและผลไม้ ถ้าหากเป็นวันสิ้นสุดเดือนรอมฎอนเราจะจัดจานสวยๆ เป็นพิเศษ ผู้คนจะแต่งตัวสวยๆ งานเฉลิมฉลองแบบนี้มีแค่ปีละสองครั้ง อีกครั้งคือพิธีฮัจญ์”

ป้าสุพร วิทยุ อายุ 80 ปี ภรรยาอดีตคุณพระวิทยุฯ เล่าถึงบรรยากาศในเดือนถือศีลอด ป้าสุพรเป็นคนเก่าแก่ในชุมชนมัสยิดสวนพลูที่เห็นชุมชนแห่งนี้มาตั้งแต่สมัยยังต้องถางป่าเพื่อเอาที่ดินทำกิน จนมีทั้งชาวจีนและมุสลิมเข้ามาจับจอง

นอกจากถือศีล ศาสนาบัญญัติให้ทุกคนต้องทำทานโดยการซื้อข้าวคนละ 1 กันตัง หรือประมาณ 2.8 กิโลกรัม รวบรวมไว้ที่มัสยิดเพื่อรอแจกคนจนเมื่อสิ้นเดือนรอมฎอน อาบังผิวคล้ำที่ขายข้าวยิ้มฟันขาวอธิบายว่า แม้แต่เด็กเล็กๆ พ่อแม่ก็จะต้องซื้อข้าวและบริจาคให้ในนามของเด็ก คนที่ไม่ต้องบริจาคอะไรเลยก็ต้องจนถึงขั้นไม่มีจะกินเท่านั้น การซื้อข้าวบริจาคนี้อาจทดแทนการถือศีลอดได้

ตั้งแต่ตี 5 จนถึงตอนนี้ ชาวมุสลิมที่มัสยิดสวนพลูถือศีลอดราว 8 ชั่วโมง ภายในมัสยิดยังคงมีคนทำงานแข็งขัน รวมถึงบังพ่อค้าขายถุงข้าวหน้ามัสยิดสำหรับผู้ต้องการความสะดวกในการบริจาคทานด้วย

ห้าโมงครึ่ง (อีกประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนละศีลอด)

“มีโรตีจิ้มแกงมั้ยป้า”
“มีจ้ะบัง”
“งั้นเดี๋ยวไปบอกลูกค้าให้”

ลูกค้าร้านบ้านขนมบดินทยอยกันมาเยอะกว่าเมื่อเช้า เห็นนักท่องเที่ยวเริ่มบางตา สัดส่วนชาวมุสลิมที่เดินเข้ามาถามซื้อแกงกรุหม่าและขนมบดินมากขึ้น ทั้งที่ซื้อเก็บไว้รับประทานเองและที่เป็น “ดีลเลอร์” วินมอเตอร์ไซค์ที่รับซื้อข้าวจากร้านต่างๆ ไปส่งให้กับชาวมุสลิมที่รออยู่ตามบ้าน

เป็นเรื่องปรกติที่ชาวมุสลิมจะมาเลือกซื้ออาหารก่อนพระอาทิตย์ตกดินโดยไม่ผิดข้อห้ามทางศาสนา มีข้อแม้แค่ว่ากินได้เฉพาะอาหารฮาลาล และจะกินได้ก็ต่อเมื่อถึงเวลาค่ำแล้วเท่านั้น พี่บีปาดเหงื่อหลังจากส่งมะตะบะห่อใหญ่ให้ลูกค้าเสร็จ วันนี้อากาศอบอ้าว แถมไม่ได้จิบน้ำสักอึก แม้จะใจสู้แค่ไหนแต่แม่ค้าสาวคนสวยที่เปิดร้านตั้งแต่เช้าก็เริ่มจะออกอาการเพลียเหมือนกัน

“ถ้าละศีลอดแล้วเพิ่งมาซื้อก็ไม่ทัน ของหมด เนี่ยเดี๋ยวก็หมดเกลี้ยงแล้ว พ่อค้าแม่ค้าเขาจะได้ปิดร้าน ไม่ไหวแล้วเหมือนกัน”

ร้านขนมของพี่บีและป้าเล็กอยู่ติดกับมัสยิดสวนพลู พี่บีบอกว่าถ้าปิดร้าน ปิดบัญชี “หาเช้า” และละศีลที่บ้านเสร็จแล้วก็จะเดินไปร่วมละหมาดกับชาวบ้านที่นั่น

muslimsuanplu01

มุสลิม รถไฟ ตลาดพลู – ที่ตลาดสวนพลูยามเย็น คุณยายตั้งโต๊ะสแตนเลสยืนขายขนมซูยี ซึ่งทำมาจากเนยและนม รสชาติหวานมันเนื้อคล้ายโยเกิร์ต กับน้ำส้มสดคั้นบรรจุขวด อยู่ริมทางรางรถไฟวิ่งผ่าน ซึ่งอยู่ห่างจากมัสยิดสวนพลูไม่เกิน 500 เมตร

muslimsuanplu02

จับจ่ายยามเย็นรอพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า – ณ ร้านขายกับข้าว ที่ทุกเมนูปราศจากวัตถุดิบจากเนื้อหมู คุณป้ากำลังหยิบเงินทอนให้ลูกค้าที่มาซื้อกับข้าว เพื่อนำกลับบ้านรับประทานหลังจากที่ถือศีลอดมาตลอดทั้งวัน

muslimsuanplu05

พ่อครัวแห่งมัสยิตสวนพลู — คุณลุงสมศักดิ์ รับผิดชอบหน้าที่หัวหน้าพ่อครัว คิดเมนูอาหารทั้งของคาวและของหวานในแต่ละวันและเตรียมประกอบในช่วงบ่าย เพื่อให้คนมุสลิมที่ถือศีลอด มารับประทานก่อนเข้าละหมาดในช่วงเย็น ณ มัสยิตสวนพลู

หกโมงสิบห้านาที (อีกประมาณครึ่งชั่วโมงก่อนละศีลอด)

แม้ว่าลูกมือทั้ง 14 ชีวิตจะต่างคนต่างทำงานเงียบๆ แต่บรรยากาศ “ครัวสีขาว” ท้ายมัสยิดสวนพลูก็กำลังคึกคักได้ที่ราวกับมีชีวิต เนื่องจากเป็นนาทีทองสุดท้ายที่จะต้องต้ม แกง ทอด ผัด แล้วตักใส่จานวางรอให้เสร็จครบทุกโต๊ะก่อนสัญญาณอาซานจะดัง

ครัวสีขาวที่แสดงถึงความสะอาดบริสุทธิ์ของจิตใจชาวมุสลิมอยู่ได้ด้วยงบประมาณ 7,000 บาทจากผู้บริจาคในชุมชนราว 50 คน เงินจะถูกแบ่งสรรออกเป็นมื้อเย็นในแต่ละวันโดยลุงสมศักดิ์ ทรัพย์รุ่งโรจน์ อดีตข้าราชการกลาโหมที่เกษียณมาใช้ชีวิตบั้นปลายในฐานะกรรมการมัสยิดและหัวหน้าพ่อครัว เนื่องจากกุมทั้งเงินและชะตาท้องของชาวมุสลิมที่มารอละศีลกว่า 200 คนนี้เองลุงสมศักดิ์จึงมีฉายาในครัวว่า “บอส”

บอสสมศักดิ์มีหน้าที่ตัดสินใจเมนูคาวหวานในแต่ละวัน สำหรับวันนี้โต๊ะอาหารจะประดับด้วยไก่ตุ๋นมะนาวดองร้อนๆ ปลาทอดสามรส ผัดฉ่าเครื่องในไก่และไข่ปลา ตบท้ายด้วยหวานเย็นเย็นฉ่ำกับผลไม้สด และที่ขาดไม่ได้คืออินทผลัมอบแห้งสำหรับกินคู่กับน้ำหวานหรือนมเพื่อละศีล หรือการกินคำแรกหลังจากอดอาหารมาทั้งวัน

“วันนี้จะกินได้ตอน 6 โมง 45 แล้วก็จะกินเรื่อยๆ จนถึงประมาณตี 4 ครึ่ง ตี 5”

กลิ่นอาหารยิ่งเข้มข้นกว่าในร้านบ้านขนมบดินเมื่อตอนเช้าตอนนี้แม้แต่กลิ่นน้ำหวานยังส่งกลิ่นหอมชัด เสียงแกงจืดไก่เดือดปุดราวกับเสียงดนตรี

ในฐานะคนหน้าเตาที่ใกล้ชิดกับอาหาร “กินค่ำ” มากที่สุด บอสบอกว่าแทนที่คนจะคิดว่าเราน่าอิจฉา แต่กลิ่นไม่ได้ทำให้อิ่มหรือหายกระหาย ตรงข้ามยิ่งทำให้ลำบากกว่าคนอื่นเพราะไม่สามารถกินอะไรได้ และการยืนหน้าเตานานๆ ก็ร้อนมากทีเดียว แต่อย่างน้อยก็ทำให้บอสรู้สึกได้บุญมาก

“พ่อครัวชิมได้ ให้รู้รสอาหารอยู่ที่ลิ้น แต่ชิมเสร็จก็ต้องคายออก ห้ามกลืน” บอสหยุดตักผัดฉ่าชั่วครู่เพื่อขยับมือไม้อธิบายอย่างออกรส “ถ้าผมแอบไปกินน้ำในห้องน้ำก็ได้ ไม่มีใครเห็น แต่อยู่ที่ศรัทธา ยังไม่ถึงเวลาที่เราจะกิน อดก็อดด้วยกัน กินก็กินด้วยกัน”

หน้าครัวสีขาวมีโต๊ะสำหรับให้ชาวบ้านร่วมนำอาหารมาบริจาค ในวันนั้นมื้อค่ำของทุกคนมีกุ้งย่าง ห่อหมก และผลไม้สดอีกกองโต เก้าอี้ถูกจับจองไปกว่าครึ่งแล้ว แต่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ก็ยังคงนั่งลงพูดคุย ไม่มีใครแตะต้องอาหารควันฉุยตรงหน้า

muslimsuanplu03

ขนมบดินเจ้าหญิงแห่งมัสยิตสวนพลู – การเลือกซื้อขนมบดินเพื่อนำไปเป็นของฝากของคนทั่วไปหรือไว้รับประทานในช่วงระหว่างหมด แสงพระอาทิตย์ในยามเย็นถึงก่อนแสงรุ่งอรุณจะขึ้นในยามเช้าของชาวมุสลิมล้วนแต่เป็นอาหารเพื่อเพิ่มพลังในการทำกิจกรรมในแต่ละวัน

muslimsuanplu06

รอเวลาเข้านมัสการพระเจ้า – หลังจากทำภารกิจหน้าที่มาทั้งวัน ชาวมุสลิมต้องทำความสะอาดร่างกาย เริ่มทยอยมายังมัสยิต เมื่อถึงเวลาแล้วทุกโต๊ะจะเต็มไปด้วยชาวมุสลิมที่มาละหมาด

muslimsuanplu07

ณ มัสยิดสวนพลู เวลา 18.45 น. — มัสยิดสวนพลู เวลา 18.45 น. ในวันรอมฎอน เป็นเวลานัดพบของชาวมุสลิมที่ถือศีลอด เพื่อมารับประทานของว่างรองท้อง เช่นผลไม้ ของหวาน น้ำชา ก่อนจะเข้าสู่มัสยิตทำพิธีละหมาดในช่วงเย็น และรับประทานอาหารหนักเช่นข้าวและอาหารทั่วไปที่ปราศจากส่วนผสมของหมู หลังจากทำพิธีละหมาดเสร็จเรียบร้อยแล้ว

หกโมงสี่สิบห้า (ถึงเวลาละศีลอด)

พี่บีกับป้าเล็กช่วยกันปิดร้านเสร็จสักพักแล้ว เมื่อฟ้ามืดครอบครัวน้อยปลาแห่งร้านบ้านขนมบดินก็รู้ว่าพระอาทิตย์ตกดิน ต่างคนต่างรุมนั่งและยืนในมุมตัวเอง เอามือโบกพัดให้ตัวเองพลางพูดกันถึงความเหนื่อยยากของการทำงานในเช้าวันที่อบอ้าวนี้

เมื่อเสียงอาซานดังมาจากมัสยิดป้าเล็กก็ยิ้มขึ้นมา ชาวมุสลิมมีกฎว่าเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นห้ามกินอะไรเลยก็จริง แต่การละศีลต้องรีบทำโดยทันทีเพื่อไม่ให้กระทบกับสุขภาพมากเกินไป ทุกคนหยิบอินทผลัมแห้งขึ้นมาคนละเม็ดแล้วกินเป็นลำดับแรก ก่อนจะเริ่มชิมอาหารอย่างอื่น ทั้งเนื้อสะเต๊ะและโรตีที่เก็บเอาไว้ตั้งแต่เช้า กับข้าวที่นี่ไม่ร้อนเท่าที่มัสยิดเพราะรีบตั้งโต๊ะกันเองหลังปิดร้านเสร็จ แถมน้ำหวานสีแดงจืดหมดแล้วเพราะรินเตรียมไว้นาน แต่ไม่มีใครบ่น วงกินทั้ง 10 ชีวิตต่างเร่งรีบเติมพลังให้ตัวเองก่อนจะถึงเวลาเดินไปละหมาดต่อที่มัสยิด

ระหว่างที่กินมีคนมาซื้อโรตี น่าเสียดายที่เจ้าของร้านปิดร้านไปก่อนแล้ว

“ขอโทษครับ หมดแล้วครับป้า” ลุงที่เป็นญาติคนหนึ่งของป้าเล็กตะโกนตอบกลั้วหัวเราะมาจากวงข้าว .

เอกสารประกอบการเขียน

  • มุหัมมัดดาวูด อับดุลลอฮฺ. การถือศีลอดในทัศนะทางการแพทย์ (ออนไลน์). กันยายน 2550.
    สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2561. www.islamhouse.com
  • อาห์เมน คาวาจา.รอมฎอน: เกิดอะไรขึ้นกับร่างกาย เมื่อถือศีลอด? (ออนไลน์). พฤษภาคม 2561.
    สืบค้นเมื่อ 25 มิถุนายน 2561. https://www.bbc.com/thai/international-44140487

writer22ชนฐิตา ไกรศรีกุล
นักเรียนเขียนข่าวหลักสูตรควบการสื่อสารมวลชน-เศรษฐศาสตร์ แต่ชักจะตกหลุมรักปรัชญาและสังคมวิทยา สนใจงานเขียนสะท้อนประเด็นทางสังคมและการเมือง มีเป้าหมายระยะสั้นในช่วงนี้ว่าต้องอ่านหนังสือที่ซื้อมาตุนไว้ให้จบสักเล่มหนึ่ง

………

photographer22อุษา แก้วธิวัง
เพราะชีวิตมีความฝันเป็นเดิมพัน – สาค่ะ จากแม่ฮ่องสอนเมืองหุบเขา เดินทางเก็บเกี่ยวประสบการณ์ พร้อมบันทึกเรื่องราวธรรมชาติ ผู้คน ด้วยชัตเตอร์ความทรงจำเล็กๆ

ณ ค่ายสารคดี ดึงตัวตนลึกๆของเราที่แอบเก็บไว้ ให้เราแสดงมันออกมา แสดงผลงานความทรงจำให้เป็น world wide