อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ – จะเป็น “สื่อใหม่” ต้องแก้ปัญหาที่สื่อเก่าแก้ ไม่ได้
สุเจน กรรพฤทธิ์ : สัมภาษณ์

ประเวช ตันตราภิรมย์ : ถ่ายภาพ

อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ

ตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ คนไทยเริ่มเห็นข่าว “นิตยสารปิดตัว” ถี่ขึ้นเรื่อยๆ จนเหตุการณ์นี้เริ่มกลายเป็นเรื่องที่ไม่แปลกประหลาด และจนถึงตอนนี้เชื่อว่าคนจำนวนมากทราบแล้วว่า “ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์” ทั้งระบบกำลังอยู่ในช่วง “ขาลง” ในแบบที่คนในวงการสื่อสิ่งพิมพ์เองก็ไม่ปฏิเสธ

อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยอิสระ ได้นำเสนองานวิจัยของเขาเรื่อง Re-defining Thailand’s New Media : Challenges in the Changing Political Regime โดยการนิยาม “สื่อใหม่” ว่าควรมีลักษณะเช่นไร

งานของเขาน่าสนใจเพราะจับความเปลี่ยนแปลงที่สื่อสารมวลชนทุกรายต้อง “ออนไลน์” อย่างเลี่ยงไม่ได้ และทำตัวเองเป็น “สื่อใหม่” ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่สร้างข้อจำกัดและท้าทายจำนวนมาก

โดยพื้นฐานอรรคณัฐไม่ได้เป็นแค่นักวิชาการ เขาเป็นนักธุรกิจที่ทำธุรกิจสมัยใหม่หลายแขนง เช่น เป็นเจ้าของที่พักหลายแห่งบนแพลตฟอร์ม Airbnb ธุรกิจสื่อสารการตลาด รวมถึงธุรกิจจัดนิทรรศการและการประชุม  ในอีกมิติเขาศึกษามาทั้งสายวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) จบปริญญาโทจากโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (หลักสูตรนานาชาติ) และปัจจุบันศึกษาระดับปริญญาเอกที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ที่สำคัญเขาไม่ใช่คนแปลกหน้าในวงการสื่อสารมวลชนเพราะเป็นหนึ่งในบอร์ด “ศูนย์ข้อมูล & ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ)” มีบทความตีพิมพ์ในสื่อต่าง ๆ อยู่บ่อยครั้ง

สารคดี ชวนอรรคณัฐมาวิเคราะห์สถานการณ์ของวงการสื่อและนิตยสารไทยโดยภาพรวม และอนาคตของสื่อควรจะเดินไปข้างหน้าและปรับตัวอย่างไร

อยากให้คุณเล่าถึงงานวิจัยที่กำลังทำ
งานวิจัยชิ้นนี้ชื่อ Re-defining Thailand’s New Media : Challenges in the Changing Political Regime เริ่มทำในปี ๒๕๕๘ ได้ทุนจากแหล่งทุนเยอรมัน เก็บข้อมูลจากสื่อทางเลือกหลาย ๆ สื่อในเมืองไทย

ผมทำงานวิจัยชิ้นนี้ยังไม่เสร็จดีนัก ประเด็นสำคัญคือพยายามหาลักษณะทั่วไปที่ “สื่อใหม่” ควรจะเป็น ผมเสนอนิยาม “สื่อใหม่” ว่าควรแก้ไขข้อบกพร่องของสื่อเก่าด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เอื้อให้ทำได้ง่ายขึ้นในปัจจุบันโดยเข้าไปศึกษาสำนักข่าวที่เป็นกรณีน่าสนใจเก้าราย  สำนักข่าวเหล่านี้จะเรียกตัวเองว่า สื่ออิสระ สื่อออนไลน์ สื่อทางเลือก เช่น Thai Publica  TCIJ  Wartani  ประชาไท เป็นต้น ผมถามคำถามเรื่องแหล่งทุน โมเดลธุรกิจที่เขาใช้ ขั้นตอนการทำงานว่ามีโต๊ะข่าว มีการกำหนดหัวข้อหรือไม่ บทบาทบรรณาธิการคืออะไร

ผมพบว่าองค์กรเหล่านี้ให้อิสระกับคนผลิตเนื้อหาพอสมควร พบแค่บางแห่งที่บรรณาธิการมอบประเด็นและเซนเซอร์เนื้อหาบางส่วน แต่ในภาพรวมสื่อเหล่านี้มีลักษณะร่วมกันสามอย่าง ซึ่งน่าจะเป็นคำนิยามของ “สื่อใหม่” ที่ดี คือ หนึ่ง ลดทอนความเป็นสถาบัน ทั้งในแง่วัฒนธรรมองค์กร และโครงสร้างการควบคุมและเซนเซอร์ตัวเอง  สอง เป็นอิสระจากแหล่งทุน แก้การตกอยู่ใต้อิทธิพลของโฆษณาโดยหาโมเดลทางธุรกิจอื่น ๆ มาสนับสนุน  และสาม ลดทอนความเป็นมืออาชีพ ในแง่ของการเป็นวิชาชีพที่ต้องเรียนจบมาจากสาขาสื่อสารมวลชน

สำนักข่าวที่คุณเข้าไปศึกษาสามารถทำในลักษณะทั้งสามอย่างได้
สื่อที่ผมได้เข้าไปเก็บข้อมูลกำลังพยายามทำสามเรื่องนี้ ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม แต่ก็มีลักษณะที่ขัดแย้งในตัวด้วย เช่น ประเด็นการเป็นอิสระจากแหล่งทุน สำนักข่าวรายหนึ่งไม่รับโฆษณาจากองค์กรขนาดใหญ่ แต่ก็รับเงินทุนจากแหล่งทุนต่างชาติ ก็เกิดคำครหาว่าแหล่งทุนนั้นย่อมมีวาระของตนเอง หากต้องทำข่าวบางเรื่องพวกเขาจะทำได้หรือไม่ สำนักข่าวอีกแห่งหนึ่งมีภาพลักษณ์ด้านการตรวจสอบทุจริต แต่เมื่อค้นในหน้าเว็บไซต์จะพบข่าวผู้บริหารองค์กรเอกชนขนาดใหญ่แห่งหนึ่งไปทำบุญที่วัดในจังหวัดเชียงราย ซึ่งเรารู้ว่านี่ไม่น่าจะเป็นข่าวจึงเป็นคำถามที่ตอบลำบาก  ถึงแม้การทำข่าวอื่นทั่วไปจะมีความเป็นมืออาชีพก็ตาม แต่หาก
มีกรณีที่องค์กรเอกชนนั้นตกเป็นข่าวสื่อนั้นจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่จริง ๆ ได้หรือไม่

สำนักข่าวทางเลือกอีกแห่งพยายามสร้างกิจกรรม แต่บางกิจกรรมกลับส่งเสริมความเป็นสถาบันของสำนักข่าว ซึ่งเรื่องนี้จะย้อนกลับมาทำลายตัวเองเพราะความมีตัวมีตนจะผลักดันให้สื่อเรียกร้องประเด็นที่ตัวเองได้รับผลกระทบเป็นหลัก เช่นเราจะเห็นว่ามีคนจำนวนมากในสังคมโดนคุกคามจากอำนาจ สื่อหลายสำนักนิ่งเฉย แต่พออำนาจนั้นสร้างผลกระทบต่อองค์กรสื่อ สื่อจึงออกมาเรียกร้องเสรีภาพสื่อ เรื่องนี้สะท้อนความเป็นสถาบันที่ต้องรักษาผลประโยชน์ตนเองเป็นหลัก  หรือสำนักข่าวอีกแห่งหนึ่งพยายามเป็นสื่ออิสระ แต่ในที่สุดก็เอาตัวเองผูกกับสถาบันการศึกษาเพื่อทำให้ตนเป็นสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือ  ความย้อนแย้งคือ
ถ้าจะอิสระก็ไม่ควรเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษา

ในภาพรวมจะเห็นลักษณะสามอย่างของสื่อใหม่นี้มีดีกรีแตกต่างกันไป แน่นอนว่าถ้าคุณเป็นองค์กรจะปฏิบัติได้ยากมาก ที่พอจะทำได้ใกล้เคียงคือสำนักข่าวแบบข้าทำคนเดียว

ในความหมายของคุณ สื่อใหม่ไม่ใช่สื่อบนแพลตฟอร์มใหม่
เวลาคนส่วนมากพูดถึง “สื่อใหม่” มักหมายถึง “ตัวกลาง” (media) หรือ “แพลตฟอร์ม” (platform) ที่เปลี่ยนไปจากเดิม แต่ถ้าในอนาคตมี “แพลตฟอร์ม” ใหม่มาอีก เราจะเรียกแพลตฟอร์มในปัจจุบันว่าอะไร

ผมจึงคิดว่าความ “ใหม่” ควรเป็นการแก้ปัญหาที่สื่อเก่ายังแก้ไม่ได้

ในอุดมคติแล้วผมคิดว่าสื่อต้องเป็นอิสระจากแหล่งทุน โมเดลธุรกิจต้องโปร่งใส  คุณอาจกระจายการหารายได้ผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ตกอยู่ใต้อิทธิพลของทุน

หากเพียงแค่เปลี่ยนแพลตฟอร์มนำเสนอ แต่โมเดลธุรกิจยังเหมือนเดิม ผมไม่เรียกว่าสื่อใหม่

โซเชียลมีเดียซึ่งเป็นแพลตฟอร์มใหม่กำลังทำให้โมเดลธุรกิจของสื่อเปลี่ยนไปอย่างไร
โลกยุคก่อนหน้านี้การเปลี่ยนแปลงมีอัตราเร่งช้า ช่วงเปลี่ยนจากสื่อสิ่งพิมพ์มาสู่สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ ใช้เวลายาวนานพอสมควร แต่ตอนนี้เร็วกว่ามาก มันเปลี่ยนวัฒนธรรมการบริโภคสื่อทั้งหมด ทำให้คนยุคใหม่เติบโตมากับวัฒนธรรมสื่อแบบมองเห็น (visual) และส่งผลกระทบโดยตรงกับโมเดลธุรกิจของสื่อ

ต้องเข้าใจก่อนว่าโมเดลธุรกิจของสื่อไม่ได้มีรายได้หลักจากการขายเนื้อหาโดยตรงมานานแล้ว แต่คือการเปลี่ยน ผู้อ่าน ผู้ดู เรียกโดยรวมว่า “ผู้รับสาร” (audience) มาเป็นสินค้าอีกที เอาจำนวนผู้รับสารไปขายลูกค้าซึ่งก็คือธุรกิจที่ต้องการสร้างการรับรู้ผ่านการทำโฆษณา

แนวคิดการทำธุรกิจสื่อของไทยมีลักษณะอนุรักษนิยมเกินไป ไม่คุ้นกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ขณะที่องค์กรสื่อขนาดใหญ่อย่าง The New York Times จะมีฝ่ายดูแลธุรกิจอีกฝ่ายก็ทำข่าวไป แต่ผู้บริหารจะดูแลให้เกิดความสมดุลในความเป็นจริงคนทำธุรกิจสื่อ ไม่เฉพาะนิตยสาร ต้องเข้าใจโลกธุรกิจให้มาก เพราะธุรกิจสื่อเป็นธุรกิจพิเศษที่ต้องตกลงกับลูกค้า คือต้องเข้าใจว่าแต่ละธุรกิจของลูกค้ามีธรรมชาติอย่างไร ต้องการอะไร มีความเฉพาะเจาะจงอย่างไร
และธุรกิจสื่อจะช่วยให้ธุรกิจของลูกค้าบรรลุจุดประสงค์ได้อย่างไร ซึ่งมีอะไรมากกว่าการขายพื้นที่โฆษณา

ในแง่นิตยสารมีโครงสร้างรายได้หลักจริง ๆ มาจากการขายโฆษณาในหน้านิตยสาร ตอนนี้คนย้ายจากการอ่านนิตยสารมาอ่านเนื้อหาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ นิตยสารจึงไม่ดึงดูดคนลงโฆษณาอีก ตลาดนิตยสารกลายเป็นตลาดเล็กกว่าเดิม เป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม รายได้จากโฆษณาจึงไปหาสื่อที่เข้าถึงคนจำนวนมากกว่าบนแพลตฟอร์มออนไลน์

ดังนั้นเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน ภูมิทัศน์ของสื่อเปลี่ยน วัฒนธรรมการบริโภคสื่อก็เปลี่ยนตาม วิถีชีวิตคนในสังคมก็เปลี่ยนไป ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นวัฏจักรเดียวกันนี้มาตลอด

ทุกวันนี้คนทำสื่อกระโดดมาสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจ อาจเพราะสร้างความ ’ต่าง’ จากคนอื่นไม่ได้  ตอนนี้มีสำนักข่าวที่ทำเนื้อหาสองสามรายซึ่งถ้าเอาโลโก้สีออก คนอ่านแทบไม่รู้เลยว่าเนื้อหานี้มาจากสำนักใด

บนแพลตฟอร์มใหม่ สื่อก็ไม่ใช่คนคุมคอนเทนต์อีกต่อไป
เมื่อก่อนสื่อเป็นคนคุมประตู (gate keeper) ข่าวสาร เป็นผู้มีอิทธิพล (influencer) ต่อผู้อ่าน ตอนนี้บทบาทนี้หายไปแล้ว ไม่มีใครคุมประตู ทุกคนสร้างเนื้อหาเผยแพร่ได้เอง  ดังนั้นสื่อที่จะยังคงความเป็นผู้มีอิทธิพลต่อผู้อ่านก็ต้องหาคุณค่าหลักของตนเองที่ต่างจากคนอื่น ต้องรู้ว่าตลาดของตัวเองอยู่ที่ไหน ใครต้องการคุณค่าเหล่านี้ แล้วหาทางเชื่อมต่อเพื่อส่งมอบคุณค่าให้พวกเขา ถ้าผู้อ่านยินดีจ่ายคุณจะอยู่ได้  อาจทำแบบสำรวจง่าย ๆ ในเว็บเพจให้คนดูช่วยคลิกตอบคำถามแล้วเก็บสถิติเพื่อให้ทราบถึงกลุ่มลูกค้า

สำหรับนิตยสารต้องหา “ความเฉพาะ” (niche) ของตัวเองให้มากขึ้น เมื่อคุณเฉพาะทาง คุณก็เป็นผู้มีอิทธิพลกับกลุ่มคนเฉพาะกลุ่มเฉพาะเรื่อง ต่างกับสำนักข่าวที่ต้องเข้าถึงคนจำนวนมาก แต่สื่อบางสำนักก็ต้องการทั้ง “ความเฉพาะ” และ “ความเป็นตลาด”  ถ้าเอาทั้งสองอย่างคุณก็ต้องหาให้ได้ว่าจะทิ้งน้ำหนักทางไหน อาจเลือกเนื้อหาที่คาดว่าจะตลาดขึ้นเฟซบุ๊กให้อ่านฟรี ของที่เฉพาะก็เก็บไว้ขาย ต้องดึงคนมาดูให้ได้ เพราะวันนี้ผู้ชมคือทรัพย์สิน แหล่งทุนที่จะลงโฆษณานอกจากดูคนตาม (follower) ยังดูการโต้ตอบ (engage) ด้วยว่าคนสนใจแค่ไหน

ยกตัวอย่างสื่อที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น The Cloud ผมคิดว่าเขาชัดเจนว่าวางตำแหน่งตัวเองเป็นแมกกาซีนออนไลน์ มีคอลัมนิสต์ ตัดต้นทุนจากการพิมพ์ไป แต่ถามว่า The Cloud ได้ตลาดคนชอบอ่านหนังสือกระดาษแบบเดิมหรือเปล่า ผมคิดว่าไม่ แต่เขาไม่สนใจเพราะเขาชัดเจนว่าตลาดคือคนอ่านรุ่นใหม่ที่โตมากับวัฒนธรรมสื่อแบบใหม่

หรือยกตัวอย่าง สารคดี ผมต้องการเนื้อหาจาก สารคดีที่ลึกกว่าข่าวปรกติ เพราะทุกวันนี้คนทำข่าวบ้านเราติดกับดักเรื่องความเร็ว หวือหวา ตรงนี้คือช่องว่าง ไม่ใช่ทุกคนที่อยากอ่านข่าวที่เร็ว  ในต่างประเทศมี slow media ไม่รายงานสถานการณ์ แต่รายงาน “ปรากฏการณ์”  ขุดลึกว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง มีผลกระทบอะไรบ้าง

โมเดลแบบนี้จริง ๆ มีมานานแล้ว สมัยหนึ่งคือเคเบิลทีวีที่มาแข่งกับฟรีทีวี CNN เกิดจากยุคนี้ คนต้องการความ niche มากกว่าติดตามข่าวสารจากฟรีทีวีซึ่ง mass

ที่สำคัญคือต้องเป็น niche ให้ได้ เพราะจะมีผู้เล่นน้อยรายลง หาคนซื้อเฉพาะกลุ่มแล้วอยู่ให้ได้ด้วยคนกลุ่มนั้น เปลี่ยนโมเดลธุรกิจจากเดิมที่หาโฆษณาอย่างเดียว ส่วนการเป็นผู้มีอิทธิพลก็สำคัญ เช่น ถ้าผมขายกล้องถ่ายรูปสำหรับมืออาชีพและรู้ว่าคนใช้กล้องประเภทนี้น่าจะอ่านนิตยสารคุณ ผมก็วิ่งมาหาคุณเพื่อซื้อพื้นที่โฆษณา ลักษณะนี้คุณจะต่างจากสื่อ mass ที่จะได้โฆษณาจากกล้องถ่ายรูปสำหรับคนทั่วไป

ทุกวันนี้คนทำสื่อกระโดดมาสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจ อาจเพราะสร้างความ “ต่าง” จากคนอื่นไม่ได้  ตอนนี้มีสำนักข่าวที่ทำเนื้อหาสองสามรายซึ่งถ้าเอาโลโก้สีออก คนอ่านแทบไม่รู้เลยว่าเนื้อหานี้มาจากสำนักใด

ปัญหาอีกอย่างคือแพลตฟอร์มใหม่มักนำเสนอคอนเทนต์ฟรี
วัฒนธรรมการอ่านบนแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตบ้านเรา คือคนคาดหวังว่าจะได้ของฟรี แต่ในต่างประเทศยกตัวอย่าง Nikkei Asian Review ฉบับออนไลน์ เขาให้คนอ่านฟรี สามบทความต่อเดือน ถ้าจะอ่านมากกว่านั้นคุณต้องจ่าย และมีคนยอมจ่าย  เขารู้ว่าคุณค่าของเขาคืออะไร ต้องเสนอกับคนกลุ่มไหน ตอนนี้เป็นสงครามเนื้อหา ซึ่งผู้บริโภคจะได้ประโยชน์  บ้านเราอาจจะยากสักหน่อยเพราะคนไทยคาดหวังแล้วว่าต้องฟรี เราเคยชินกับฟรีทีวี ไม่ค่อยจ่ายเงินติดตามแบบต่างประเทศซึ่งมี pay per view มานานแล้ว

แล้ว “สื่อใหม่” ในนิยามของคุณจะอยู่รอดได้หรือ
ผมรู้ดีว่าข้อเสนอของผมมีข้อจำกัดมาก อุดมคติมาก กรณีที่ผมเสนอ สื่อต้องไม่สะสมทุน ไม่เป็นทุนนิยม คือไม่ทำกำไรแล้วไล่ซื้อสื่อหัวอื่น ไม่ใช่หน้าที่ของสื่อ นั่นเป็นโมเดลธุรกิจของนักลงทุน  ขอแค่เลี้ยงองค์กรให้ได้ มีกำไรก็แบ่งปันให้คนทำงาน

ถามว่าหน้าที่และอุดมการณ์ของสื่อมวลชนคืออะไร คือการสะสมทุนสร้างความมั่งคั่งใช่หรือไม่

มีผู้พยายามทำสามเรื่องนี้แล้วก็เจออุปสรรค เช่น สำนักข่าวแห่งหนึ่งแหล่งทุนมีจำกัด ค่าตอบแทนคนทำงานน้อย จึงต้องหลับตาข้างหนึ่งให้คนทำงานใช้เวลางานไปทำงานอย่างอื่น หรือนำเงินทุนที่ได้จากแหล่งทุนเป็นรายโครงการมาสำรองเป็นเงินสวัสดิการ  น่าเห็นใจ แต่ถามว่าถูกต้องไหม ผมว่าไม่ถูก เพราะหากต้องทำหน้าที่รายงานข่าวเรื่องความโปร่งใส คนทำหน้าที่ก็ต้องโปร่งใสด้วย

บทบาทของบรรณาธิการในสื่อใหม่
ถ้าจะเป็นสื่อใหม่ต้องให้อิสระกับนักเขียน ต้องไม่มีสายการบังคับบัญชาแบบเก่า ไม่อย่างนั้นก็เป็นแค่ “สื่อเก่า” ใน “แพลตฟอร์มใหม่”

กฎเกณฑ์เหล่านี้ผมได้จากงานศึกษาองค์กรสื่อในต่างประเทศ ถ้าจะมุ่งสู่สังคมที่มีเสรีภาพและเคารพความหลากหลาย บก. ไม่ควรคุมว่านักเขียนจะเขียนแนวทางไหน บก. มีหน้าที่แค่ตรวจคำผิด ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล หารือกับฝ่ายกฎหมายหากเนื้อหามีความสุ่มเสี่ยง เป็นเกราะกำบังให้คนทำงานโดยรวม คือให้อิสระคนทำเนื้อหาให้ทำงานได้เต็มที่

อันที่จริงเราควบคุมความคิดคนอ่านไม่ได้อยู่แล้วเพราะการตีความเป็นสิทธิของคนอ่าน

สังคมไทยไม่ค่อยเคารพทรัพย์สินทางปัญญา นี่เป็นวัฒนธรรมการบริโภคสื่อที่มีปัญหา คนส่วนมากมองว่าไม่ใช่ปัญหา แต่จริง ๆ คือปัญหาที่ส่งผลต่อวัฒนธรรมการบริโภคสื่อ

กรณีสื่อบางเจ้าทำงานมักง่าย และ “ข่าวปลอม” (fake news) ในสื่อยุคใหม่
เรื่องการทำงานมักง่าย ถ้าหมายถึงการเอาข่าวหรือบทความคนอื่นมาแปล ตัดปะ ผู้บริโภคสื่อหลายคนอาจชอบเพราะเขาอ่านภาษาอังกฤษไม่คล่อง ผมเชื่อว่ามีประโยชน์ แต่บางคนก็รู้สึกหงุดหงิดเพราะเห็นชัดว่าทำงานไม่ละเอียด บางกรณียังเป็นปัญหาจริยธรรม เช่นเอาของคนอื่นมาทั้งดุ้น มีกรณีสถานกงสุลประเทศหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ทำวิดีโอยาว ๔ นาที สำนักข่าวแห่งหนึ่งเอามาตัดเหลือ ๓ นาทีกว่าแล้วใส่โลโก้ตัวเองใหญ่เบ้อเร่อราวกับผลิตเอง แต่ให้เครดิตขอบคุณคนทำตัวเล็กนิดเดียว แบบนี้มักง่ายและแย่มาก

สังคมไทยไม่ค่อยเคารพทรัพย์สินทางปัญญา นี่เป็นวัฒนธรรมการบริโภคสื่อที่มีปัญหา คนส่วนมากมองว่าไม่ใช่ปัญหา แต่จริง ๆ คือปัญหาที่ส่งผลต่อวัฒนธรรมการบริโภคสื่อเนื่องจากต้องการผู้ติดตามเยอะ ๆ คุณก็ไปเอาเนื้อหาคนอื่นมาฟรี ๆ ไม่ลงทุน ไม่ให้เกียรติแล้วยังคาดหวังจะสร้างรายได้จากการกระทำแบบนี้อีก ย้อนแย้งมาก

โมเดลธุรกิจสื่อแบบนี้คือเปลี่ยนผู้ติดตามเป็นสินค้าแบบไม่ลงทุน ไม่นับการพาดหัวที่ชวนให้เข้าไปอ่าน เราจะเห็นพวกข่าวปลอมเยอะมาก

นี่เป็นเหตุผลที่คุณเคยเสนอว่าทุกฝ่ายต้องหันมา “รู้เท่าทันสื่อ” (media literacy) ใช่ไหม แต่จะเป็นไปได้หรือในสังคมที่เกิดวิกฤตการเมืองมาร่วมทศวรรษ
ต้องใช้เวลา ในสหรัฐฯ หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี ๒๕๕๙ (ค.ศ. ๒๐๑๖) มีปัญหาเรื่องนี้มาก เขาให้เงินมหาวิทยาลัยทำวิจัยเรื่องนี้ ทำกิจกรรมกับชุมชนโรงเรียนประถมฯ โรงเรียนมัธยมฯ ให้ความรู้ว่าเวลาอ่านข่าวจะรู้ได้อย่างไรว่านี่คือข่าวปลอม มีองค์กรพัฒนาเอกชนและหน่วยงานที่เปิดเว็บไซต์ให้กรอกคำสำคัญ (keywords) เกี่ยวกับข่าว เช่นถ้ายกกรณีในประเทศไทย “กระเป๋าภริยานายกฯ” “นาฬิกาบิ๊กป้อม” ใส่ลงไปแล้วข้อมูลก็จะขึ้นว่าข่าวนี้เก่าไหม ภาพที่ใส่ลงไปภาพจริงไหม เป็นตัวช่วยให้คนกรองข่าวสาร แต่จะไม่แก้ปัญหาด้วยการเซนเซอร์หรือปิดสำนักข่าว

ผมมองว่าประเทศไทยไม่ควรมี พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ แต่ควรทำให้คนไทยรู้เท่าทันสื่อ ให้เสรีภาพรับข่าวสารได้เต็มที่ จะกล่าวหาใครก็ต้องรับผิดชอบโดยมีวัฒนธรรมการตรวจสอบกำกับ การมีกฎหมายคอมพิวเตอร์เป็นการแก้ที่ปลายทางและไม่ยั่งยืน เรามีกฎหมายหมิ่นประมาทที่เป็นกฎหมายอาญาอยู่แล้ว ควรบังคับใช้กฎหมายนี้ให้เต็มที่และปรับปรุงให้ทันสมัย ไม่ใช่ใช้กฎหมายคอมพิวเตอร์ ถ้าข้อมูลที่มีการเผยแพร่ไม่จริงก็ฟ้องหมิ่นประมาท แต่ถ้าผู้เสียหายไม่ฟ้องก็เท่ากับไม่รักษาสิทธิของตัวเอง

ระดับเสรีภาพของสังคมจะส่งผลต่อการทำงานของสื่อใหม่หรือไม่
ตอนนี้มีการเซนเซอร์ตัวเอง เพราะกฎหมายที่โทษแรง กฎหมายคอมพิวเตอร์จะกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้สังคมไทยไปไม่ถึงสังคมประชาธิปไตยแม้จะมี “สื่อใหม่” เพราะไม่สร้างบรรยากาศให้เราโต้แย้งด้วยเหตุผล เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันบนความแตกต่าง  ผมสงสัยว่ารัฐจะโฆษณาชวนเชื่ออย่างไรในโลกที่มีเฟซบุ๊กไลฟ์เพราะยากที่จะกระจายข่าวบางอย่างโดยไม่ถูกตรวจสอบ การเกิดอาหรับสปริง (Arab Spring) เมื่อ ค.ศ. ๒๐๑๑ เฟซบุ๊กมีบทบาทมาก โซเชียลมีเดียขับเคลื่อนคนได้มหาศาล

ผมคิดว่ายังมีหวังเพราะเทคโนโลยีเป็นแกนกลางของการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม สมัยมีหนังสือพิมพ์เรามีวัฒนธรรมเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ พอมีวิทยุเราก็มีวัฒนธรรมฟังวิทยุ  ยุคนี้เรามีโซเชียลมีเดีย โซเชียลมีเดียก็จะสร้างวัฒนธรรมเกี่ยวเนื่องเช่นกัน  ทุกวันนี้ผมเชื่อว่าคนร้อยละ ๙๐ ตื่นเช้ามาต้องดูข่าวบนจอโทรศัพท์ เพราะฉะนั้นถ้าทำให้ดีก็จะเอื้อให้เกิดความเข้าใจเรื่องการมีส่วนร่วมในการรับรู้ข่าวสาร เป็นโอกาสที่สื่อจะแสดงคุณค่าพื้นฐานของสื่อ กล้านำเสนออย่างตรงไปตรงมา เป็นคุณค่าที่ทุกคนทั้ง mass และ niche ต้องการ  วันหนึ่งมันอาจแปรเป็นต้นทุนในอนาคต ถ้าไม่ทำสื่อมวลชนก็เป็นแค่อาชีพเลี้ยงปากท้อง ไม่ได้เป็น “ฐานันดรที่ ๔” แบบที่เอ่ยอ้าง เป็นแค่กลไกในโลกทุนนิยม

ผมอยากให้ดูภาพยนตร์เรื่อง The Post เมื่อถึงเวลาคุณจะชั่งน้ำหนักว่าควรทำสิ่งที่อาจส่งผลร้ายกับธุรกิจ ไม่ก่อมูลค่าในตอนนี้ แต่ต้องทำเพื่อจะเปลี่ยนสังคม และได้รับอะไรบางอย่างกลับมาในระยะยาว

จำเป็นต้องมีการควบคุมกันเองแบบสื่อยุคเก่าหรือไม่
ไม่จำเป็นต้องมีอะไรมากำกับควบคุม แค่เราทำให้สังคมไทยรู้เท่าทันสื่อให้ได้  ถ้าสังคมมีวุฒิภาวะในการบริโภคสื่อ จะเกิดการกรองสื่อที่ไม่ดีออกไปเองโดยอัตโนมัติ คือคนก็จะไม่เลือกเชื่อสื่อนั้น

หนทางรอดของสื่ออาจต้องกระจายการใช้แพลตฟอร์มให้หลากหลาย ต้องเรียนรู้ตลอดเวลาและต้องทัน นี่คือความต่างจากการทำธุรกิจสมัยก่อนที่สภาพแวดล้อมไม่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วขนาดนี้

อิทธิพลของเจ้าของแพลตฟอร์มที่มีต่อสื่อยุคใหม่
ทุกสำนักต้องพึ่งพาแพลตฟอร์ม ซึ่งไม่มีใครมีอำนาจควบคุมแพลตฟอร์มได้ เมื่อแพลตฟอร์มอย่างเฟซบุ๊กลุกขึ้นมาปรับระบบอัลกอริทึมให้คนมองเห็นหรือไม่เห็นแค่ไหนการฟีดการแจ้งเตือนเกี่ยวกับข่าวลดลง ยอดคนอ่านน้อยลง ย่อมส่งผลต่อธุรกิจ เพราะคนอ่านคือสินค้าที่จะเอาไปขาย กลายเป็นว่าสื่อต้องจ่ายเงินให้เฟซบุ๊กเพื่อให้คนเห็นเนื้อหาของตัวเองมากขึ้น พูดง่าย ๆ คือการซื้อโฆษณาเพื่อที่ตัวเองจะมีโอกาสขายโฆษณา เป็นความย้อนแย้งที่เจ็บปวด

โมเดลทางธุรกิจแบบนี้เสี่ยงมากเพราะธุรกิจของคุณขึ้นกับคนอื่น ไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย คนที่กินรวบคือเจ้าของแพลตฟอร์มที่เปลี่ยนตัวเองไปเรื่อย ๆ หาโมเดลที่ทำให้คนจ่ายเงินเพื่อเพิ่มผู้รับสาร

หนทางรอดของสื่ออาจต้องกระจายการใช้แพลตฟอร์มให้หลากหลาย ต้องเรียนรู้ตลอดเวลาและต้องทัน นี่คือความต่างจากการทำธุรกิจสมัยก่อนที่สภาพแวดล้อมไม่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วขนาดนี้

มีสื่อที่ปรับตัวไม่ทัน เช่น Little Things มีคนติดตาม ๑๒ ล้านราย ก่อนปิดเขาจ้างคนประมาณ ๑๐๐ คน เมื่อเฟซบุ๊กเปลี่ยนอัลกอริทึมปรากฏว่ารายได้หายไปร้อยละ ๙๐ ก็ต้องปิด  สื่อบางรายเริ่มทำแพลตฟอร์มตัวเอง เช่นทำแอปฯ ของสำนักข่าวเพื่อแจ้งเตือนผู้รับสารโดยตรงเมื่อมีเนื้อหาใหม่ แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมเท่าเฟซบุ๊ก

ในภาพรวมสถานการณ์ของสื่อจึงยังไม่แน่นอนเพราะมีพลวัตมากและสื่อไม่สามารถควบคุมทุกปัจจัยที่จะส่งผลกับการอยู่รอดของตัวเองได้ทั้งหมด

หลักสูตรการเรียนนิเทศศาสตร์หรือวารสารศาสตร์ยังจำเป็นในยุคใหม่หรือไม่
ผมไม่ทราบรายละเอียดหลักสูตรนิเทศศาสตร์ในตอนนี้มากนัก แต่ส่วนมากอาจไม่ได้แตะความเป็น “สื่อมวลชน” ไปให้ความสำคัญกับเทคนิค แต่ไม่ได้ศึกษาสื่อในฐานะเครื่องมือเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและสังคมสักเท่าไร

จริง ๆ เรียนจบอะไรก็ทำงานสื่อได้เพราะเรียนรู้เทคนิคได้ คณะนิเทศศาสตร์และวารสารศาสตร์ควรสอนพื้นฐานการเป็นสื่อให้กับนักศึกษาทุกคนในมหาวิทยาลัย สอนว่าทำอย่างไรจึงจะสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ที่จริงควรเป็นวิชาพื้นฐานของทุกคณะในมหาวิทยาลัยในโลกยุคนี้ด้วยซ้ำ

ส่วนโครงสร้างเดิมที่แยกสาขาสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ ผมคิดว่าตอนนี้เส้นแบ่งเลือนรางมาก คนทำสื่อควรจะต้องเป็นหลายอย่างเพราะภูมิทัศน์เปลี่ยนแปลงไปหมด จะถ่ายภาพอย่างเดียวก็ไม่ได้ คุณต้องเขียนได้ด้วย ตัดต่อคลิปได้ด้วย อย่างบนเฟซบุ๊กแพลตฟอร์มเดียวมีทุกอย่าง ทั้งข้อความ เสียง วิดีโอ งานสื่อมวลชนยุคนี้ซับซ้อนกว่าเดิมมาก