ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 14
งานเขียนดีเด่น
ชยานนท์ ไชยศรีษะเกตุ : เรื่อง
ทิวัตถ์ อำนวยปรีชากุล : ภาพ

windkite08

สายลมพัดเอื่อยช่วงต้นปีเป็นบรรยากาศที่ให้ความรู้สึกเบาสบาย ท้องนภาถูกแต่งแต้มด้วยปุยเมฆขาวบางเบา เสียงเจื้อยแจ้วของเด็กน้อยหัวเราะและสนุกสนานกับสิ่งที่โฉบเฉี่ยวบนท้องฟ้า นั่นไม่ใช่สิ่งมีชีวิต สิ่งนั้นทำจากไม้ไผ่และกระดาษสา สายลมโอบอุ้มพามันขึ้นไปให้โบยบิน… “ว่าว”

ว่าวเป็นผลผลิตจากภูมิปัญญาของมนุษย์ ความคิดสร้างสรรค์ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อความบันเทิง หรือเพื่อประโยชน์ด้านอื่นในประวัติศาสตร์ เป็นสิ่งที่ทุกคนคุ้นเคยและสนุกกับการละเล่น บางคนจริงจังถึงขั้นลงแข่งขัน ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดว่าวสร้างความสุขให้กับผู้เล่น รวมถึง “เขา” ผู้ที่รักและมีความสุขทุกครั้งยามเห็นสิ่งนี้ลอยโฉบเฉี่ยวบนท้องนภา

windkite01

สายลมพัดหวน : จุดเริ่มต้นของความผูกพัน

บังดี้ ร้อยตรีรุ่งโรจน์ ภู่ไหมทอง อดีตทหารวัย 60 ปีที่เกษียณตัวเองออกมาใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายในชุมชนมุสลิมสวนพลู ใครเล่าจะรู้ว่าชายสูงวัย ร่างท้วม ผิวเข้มคนนี้ จะเป็นถึงแชมป์ว่าวจุฬา-ปักเป้าแห่งประเทศไทย เขาเริ่มเล่นว่าวมาตั้งแต่จำความได้ เริ่มประกอบว่าวเองจากความสนใจ และเรียนรู้จากผู้เป็นบิดาที่ชี้นำ คอยสั่งสอนทั้งการใช้ชีวิต การแข่งขัน รวมไปถึงการทำในสิ่งที่ตัวเองรัก เขาได้เรียนรู้ว่าจะสามารถหาความสุขในชีวิตได้จากอะไรตั้งแต่ว่าวตัวแรกของเขาโบยบินสู่ท้องนภา

“เดินได้ก็เล่นแล้ว เล่นว่าวเด็กๆ อย่างว่าวอีลุ้ม ไปไหนก็ติดว่าวไป ไปเที่ยวก็ติดว่าวไป เมื่อก่อนไม่มีอะไรเล่นดูพ่อเขาทำก็ลองหัดทำเอง เริ่มจากว่าวอีลุ้มก่อน” เขาเล่าถึงจุดเริ่มต้นความสนใจว่าวครั้งเยาว์วัย

พ่อของเขาประกอบอาชีพช่างไม้อยู่แถววัดใหญ่ศรีสุพรรณ บ้านหลังเก่าที่อาศัยในวัยเด็ก โดยมีเพื่อนบ้านสอนวิธีการประกอบว่าวจุฬาและวิธีเล่นให้กับพ่อของเขา นั่นเป็นจุดพลิกผันในชีวิตครอบครัวเรื่อยมาเพราะว่าวกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแม้ปัจจุบันเขาได้ก้าวสู่วัยเกษียณ

“ทีแรกพ่อก็ไม่ได้สอนพอเราทำ เราสงสัยก็มาถามเขา อย่างนี้ทำยังไง อยากรู้อะไรเราก็ถาม” เขาเริ่มหัดทำว่าวอีลุ้มเล่นเองในตอนเด็ก ว่าวอีลุ้มมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน มีไม้ไผ่เป็นโครงสองส่วนคืออกและปีก ส่วนอกจะสั้นกว่าส่วนปีกเล็กน้อย ลักษณะโดยรวมคล้ายว่าวปักเป้า

ท้องสนามหลวงเป็นสถานที่ให้ว่าวได้โผบิน และโลกใบใหม่ที่กว้างใหญ่ของเด็กชายดี้เริ่มขึ้นที่นั่น

“ปิดเทอมก็จะไปนั่งดูว่าวที่สนามหลวง” เขาพูดเจือหัวเราะ “หน้าว่าว 3 เดือนไปทุกวัน พ่อจะจูงไป วันไหนไม่ได้ไปนี่ร้องไห้เลยนะ ไปดูเพราะชอบปักเป้า มันไล่ครอบ มันสวยงาม ใช้คนน้อย เลยชอบและมาหัดเล่น” ใบหน้าเปื้อนยิ้มยามเอื้อนเอ่ยถึงอดีตที่หอมหวานในวัยเด็ก

“ว่าวปักเป้าตัวเล็ก เบา คล่องแคล่วว่องไว เพียงใช้ปลายนิ้วกระตุกมันก็จะไปอย่างที่เราต้องการ มันจะพลิ้วสวยและไวกว่าจุฬา” ฉันสัมผัสได้ถึงความสุขที่แผ่ซ่านออกมายามเขาเล่าเหมือนตัวเองกำลังย้อนกลับไปในวัยเด็กที่วิ่งเล่นว่าวกับคุณตาตามท้องนา

ฉันสงสัยว่าทำไมต้องเป็นว่าว ทำไมไม่เป็นกีฬาอย่างอื่นที่เด็กผู้ชายเขานิยมเล่นกัน เช่น มวยหรือตะกร้อ “จริงๆ ก็ชอบเล่นกีฬานะ แต่รู้สึกว่ากีฬาอย่างอื่นเล่นไม่ได้ดีเท่าว่าว เล่นอันนี้แล้วได้ดี มันเหมือนมีพรสวรรค์” เขากล่าวด้วยความภูมิใจ

ฉันได้แต่ถามตัวเองว่า คนที่เขารู้ตัวว่าเขาชอบอะไร ทำอะไรแล้วมีความสุข เขาค้นพบมันได้ยังไง สิ่งนั้นเหมือนเป็นการเติมเต็มคุณค่าของตัวเอง (self-esteem) เห็นได้จากความภาคภูมิใจในตัวเองของเขา บังดี้มีความสุขทุกครั้งเมื่อพูดถึงการแข่งขัน พูดถึงความสนุกของการเล่นว่าว และพร้อมที่จะถ่ายทอดมันออกมาให้ทุกคนได้รู้ถึงความภาคภูมิใจนั้นว่าฉันชอบเล่นว่าวและรักมันมากแค่ไหน

windkite02

สายลมเคลื่อนผ่าน : เชื่อมต่อความผูกพันให้เป็นรูปร่าง

แสงแดดยามบ่ายสาดส่องกระทบผิวจนแสบไหม้ อดนึกโกรธพระอาทิตย์ไม่ได้ทำไมถึงขยันสาดแสงไม่รู้หน่าย ท่ามกลางบรรยากาศวุ่นวายบนท้องถนนเทอดไทฉันเดินลัดเลาะเข้ามาภายในซอยเทอดไท 9 ที่นี่เป็นที่ตั้งของชุมชนมุสลิมสวนพลู ชุมชนที่ชาวมุสลิมอาศัยมาแต่เดิม รถจักรยานยนต์แล่นขวักไขว่ ผู้คนเดินพลุกพล่านแม้เป็นซอยขนาดเล็ก เสียงหวูดรถไฟสายวงเวียนใหญ่-มหาชัยบรรเลงขับกล่อมสร้างบรรยากาศให้แตกต่างจากชุมชนมุสลิมอื่น ฉันมาที่นี่เพื่อมาบ้านหลังหนึ่ง บ้านที่มีความสำคัญและเรื่องราวน่าสนใจ บ้านหลังนี้เป็นที่อยู่ของแชมป์ว่าวจุฬา-ปักเป้าแห่งประเทศไทย

บ้านของบังดี้ซ่อนตัวอยู่ท้ายซอย ภายในรั้วบ้านเป็นพื้นที่สงบต่างจากบรรยากาศภายนอก มีแปลงผักสวนครัวขนาดย่อมไว้เก็บผลผลิตโดยไม่ต้องจับจ่าย ด้านหลังมีบ่อน้ำขนาดเล็กเป็นที่อยู่ของฝูงปลาน้ำจืดแหวกว่าย ตัวบ้านเป็นบ้านสองชั้นที่มีการตกแต่งในรูปแบบที่เรียบง่าย ชั้นบนเป็นไม้ ชั้นล่างเปิดโล่งเป็นใต้ถุนฉาบพื้นด้วยซีเมนต์ สายลมเอื่อยพัดโบกตลอดเวลาให้เย็นกาย ทุกมุมของบ้านมีเศษไม้ วัสดุ และโครงว่าวจุฬา-ปักเป้าวางไว้ เป็นความเรียบง่ายและธรรมดา แต่แฝงตัวตนของเจ้าบ้านอย่างชัดเจน

เจ้าของบ้านตอนนี้กำลังนั่งเหลาไม้ไผ่สีสุก ไผ่พื้นบ้านที่นิยมปลูกตามหัวไร่ปลายนาเพื่อทำโครงว่าวปักเป้าให้ฉันดู

“ต้องใช้ไม้ไผ่สีสุกเท่านั้นเพราะเหนียว ทน ไม่หักง่าย” บทสนทนาของเราเริ่มต้นด้วยการอธิบายขั้นตอนพลางสาธิตให้เห็นถึงกระบวนการทำ

ว่าวปักเป้ามีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนขนาดไม่ใหญ่นักจึงเคลื่อนไหวไปมาได้รวดเร็วเมื่ออยู่บนอากาศพลิ้วไหวอย่างมีจริตให้ชวนมอง ผูกคอซุงที่บริเวณอกกับเชือกป่านในการบังคับ (ซุงเป็นสายป่านสองสายที่ผูกติดกับไม้อกว่าวสองจุดเป็นรูปสามเหลี่ยมเพื่อนำมาต่อกับสายว่าวอีกทีหนึ่ง สายซุงช่วยประคองตัวว่าวให้ต้านลม ไม่เสียการทรงตัว) ที่มุมล่างของตัวว่าวจะมีหางยาวถ่วงน้ำหนักเพื่อให้ว่าวทรงตัวได้ดี มีห่วงป่านติดใต้คอซุงลงมาเรียกว่าเหนียง เป็นอาวุธสำคัญไว้คล้องตัวว่าวจุฬาในการแข่งขัน

“โครงว่าวประกอบด้วยไม้อกคือโครงแนวตั้ง ไม้ปีกคือโครงแนวขวาง” หนุ่มใหญ่อธิบายทุกขั้นตอนการทำด้วยท่าทางที่ชำนาญแสดงให้เห็นถึงประสบการณ์การประกอบว่าวมาอย่างช่ำชอง ทั้งสีหน้าเปี่ยมสุขและแววตามุ่งมั่นสะท้อนให้เห็นว่าเขารักและมีความสุขกับสิ่งนี้มากขนาดไหน

อุปกรณ์ที่เขาใช้เป็นสิ่งไม่คุ้นตาสำหรับคนไม่ถนัดงานช่างอย่างฉัน มีรอกจุฬา รอกปักเป้า มีดตัด มีดตอก มีดกรีด บุ้ง ตะไบ กาว สังเกตเห็นก้อนสีเหลืองนวลลักษณะคล้ายน้ำตาลปี๊บวางอยู่ด้วย อดสงสัยไม่ได้ว่านั่นใช่น้ำตาลปี๊บหรือไม่ และฉันไม่ได้ตาฝาดไปจริงๆ

ขั้นตอนการเหลาไม้ไผ่เพื่อประกอบโครงว่าวต้องมีการเผาไฟในส่วนที่ไม้คดเพื่อให้เนื้อไม้อ่อนตัวลงและดัดง่าย เขาใช้น้ำตาลปี๊บมาทาที่ไม้ก่อนนำไปเผาไฟให้น้ำตาลปี๊บเดือดพอร้อน จะช่วยให้เนื้อไม้อ่อนตัวเร็วขึ้น จากนั้นดัดด้วยบุ้งจนได้ขนาดตามต้องการ สำหรับบังดี้ลักษณะของไม้ที่ใช้ได้ต้องมีลักษณะหัวโต กลางใหญ่ ปลายเรียวลงไป ขนาดอกไม่เกิน 34.5 เซนติเมตร และส่วนความยาวปีกแล้วแต่ความชอบ

การทำว่าวปักเป้าจะต้องทำอย่างพิถีพิถัน มีความประณีตเรียบร้อยเพื่อให้ได้คุณภาพที่ดี ลอยขึ้นสูง เคลื่อนไหวฉับไว และมีความงดงาม ฉันอดทึ่งไม่ได้เมื่อเห็นวิธีการชั่งน้ำหนักไม้ส่วนที่ใช้ทำปีกของตัวว่าว เขาจับด้ามมีดที่ใช้หั่นไม้ในตอนแรกชูขึ้นมาในระดับสายตา จากนั้นนำไม้ส่วนที่ใช้ทำปีกวางลงไป น้ำหนักของไม้ต้องเท่ากัน ไม่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง ความแม่นยำคือสิ่งสำคัญในขั้นตอนการทำ หากพลาดนั่นหมายความว่าคุณภาพ ความสมดุลของตัวว่าวและประสิทธิภาพในตอนแข่งขันอาจลดลง

อดีตนายทหารที่เกษียณตัวเองออกมาทำในสิ่งที่ตัวเองรักและผูกพัน เป็นการสร้างความสุขในความเรียบง่ายที่คนเพิ่งเริ่มต้นวัยทำงานอย่างฉันนึกอิจฉา

“ว่าวไม่ใช่อาชีพหลักของครอบครัว แต่เป็นงานอดิเรกและเป็นสิ่งที่รัก” เขาพูดพลางใช้เชือกป่านมัดกับส่วนประกอบอื่นเพื่อขึ้นโครง อุปกรณ์ที่ใช้มีกระดาษสา เชือกป่าน และกาวแป้งเปียก เมื่อใช้เชือกป่านผูกโครงประกอบขึ้นเป็นตัวว่าวเสร็จควรติดกระดาษในตอนเช้าเพื่อป้องกันการขยายตัวของกระดาษ

ฉันแอบคิดมาตลอดว่าผู้ใหญ่หลายคนที่ทำในสิ่งที่เขาทำมาเป็นระยะเวลานานเกือบทั้งชีวิตของเขา เช่น คุณตากับคุณยายของฉันทำสวนมะนาวมาตลอด คุณครูที่สอนเด็กจนเกษียณ หรืออย่างบังดี้ที่เล่นว่าวมาตั้งแต่จำความได้ พวกเขาไม่เบื่อกับความจำเจบ้างหรือ ฉันสัมผัสได้ถึงความสุขแผ่ซ่านออกมาในระหว่างที่เล่าและกำลังทำของบังดี้ ในแววตามีความมุ่งมั่น จริงจัง และรอยยิ้มเปื้อนหน้าเสมอ แม้ว่าจะเป็นความจำเจ แต่นั่นเป็นสิ่งที่ทำแล้วมีความสุข ฉันยังคงต้องหาคำตอบกับสิ่งนี้ด้วยชีวิตของฉันเองอีกนาน

การเริ่มต้นเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องใช้ความละเอียด รอบคอบ และพิถีพิถันในทุกองค์ประกอบขั้นตอนการทำ “โครงว่าวไม่ดีต่อให้ออกมาสวยแค่ไหนมันก็คือไม่ดี”

สายลมเคลื่อนผ่านตัวฉันไปในขณะที่กำลังเพลิดเพลินกับการดูเจ้าของบ้านประกอบความผูกพันให้เป็นรูปร่าง กว่าจะเป็นว่าวปักเป้าที่โฉบเฉี่ยวบนท้องนภายามเหมันต์ หรือเกี้ยวล้อว่าวจุฬาในสนามแข่ง ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

windkite03

windkite04

สายลมโอบอุ้ม : หอบความผูกพันสู่ห้วงนภา

เมื่อถึงฤดูร้อนบริเวณท้องสนามหลวงจะถูกแต่งแต้มด้วยรอยยิ้มและสีสันจากการมาเยือนของลมร้อน ว่าวน้อยใหญ่ต่างโบยบินขึ้นสู่ท้องฟ้า การแข่งขันว่าวจุฬา-ปักเป้าได้รับความสนใจจากกลุ่มคนที่เดินทางมายังพื้นที่ให้เห็นถึงความก้อร่อก้อติกของว่าวทั้งสองชนิดบนท้องฟ้า สร้างความเบิกบานใจและความสำราญให้กับผู้คน

บทบาทของว่าวในประวัติศาสตร์ไทยมีมาตั้งแต่สมัยใด ไม่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร หากพิจารณาตามหลักฐานที่ปรากฏ ทั้งจิตรกรรมฝาผนังและพงศาวดาร พบว่าในสมัยสุโขทัย มีพงศาวดารเหนือกล่าวถึงพระร่วงว่าโปรดทรงว่าว และในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์เล่าถึงพระราชพิธีบุษยาภิเษกในเดือนยี่ว่า “เป็นนักขัตฤกษ์ที่นางสนมกำนัลได้ดูการชักว่าวหง่าวซึ่งมีเสียงไพเราะเสนาะโสตยิ่ง”

เรื่อยมาจนกระทั่งสมัยอยุธยา ความนิยมเล่นว่าวของประชาชนเป็นที่แพร่หลายจนมีกฎมณเฑียรบาลห้ามเล่นว่าวข้ามพระราชวัง หากละเมิดมีโทษถึงตัดมือ และยังพบในจดหมายเหตุลาลูแบร์ว่า “ว่าวของสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามปรากฏในท้องฟ้าทุกคืน ตลอดระยะเวลา 2 เดือนของฤดูหนาว และทรงแต่งตั้งขุนนางให้คอยผลัดเปลี่ยนเวรกันถือสายป่านไว้”

ในสมัยพระเพทราชา ว่าวมิได้ใช้เฉพาะเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น มีการใช้ว่าวในการสงคราม คือตอนที่พระยายมราช (สังข์) เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชมาเป็นกบฏ พระเพทราชาส่งกองทัพไปปราบตีเมืองไม่สำเร็จ ในครั้งที่ 2 แม่ทัพอยุธยาคิดอุบายเผาเมือง อุบายหนึ่งในนั้นคือใช้หม้อดินบรรจุดินดำ ผูกสายป่านว่าวจุฬาล่ามชนวน ชักข้ามกำแพงเมืองเข้าไป แล้วจุดชนวนไหม้ไปถึงหม้อดินดำเกิดระเบิดตกไปไหม้บ้านเมือง ราษฎรระส่ำระสายจึงเข้าตีเมืองได้สำเร็จ

การเล่นว่าวในสมัยรัตนโกสินทร์ยังคงเป็นการละเล่นและกีฬาที่นิยมกันอยู่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ พระอนุชาธิราช ทรงโปรดการเล่นว่าวอย่างยิ่ง มีคำกล่าวคล้องจองกันว่า “วังหลวงทรงจุฬา วังหน้าทรงปักเป้า” การเล่นว่าวนิยมอย่างแพร่หลายมากขึ้นในรัชสมัยพระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนับสนุนกีฬาไทยชนิดนี้ มีการประกวดและแข่งขันว่าวจุฬา-ปักเป้า มีกติกาการแข่งขันเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้การแข่งขันยุติธรรมและสนุกสนานยิ่งขึ้น

สถานที่เล่นว่าวในกรุงเทพฯ ที่เป็นที่รู้จักกันดีมาจนถึงปัจจุบันคือสนามหลวง

ในปี 2527 กรุงเทพมหานครได้จัดงาน “งานประเพณีว่าวไทย 2527” ณ บริเวณท้องสนามหลวง โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธีเปิด นอกจากการแสดงกีฬาไทยประเภทต่าง ๆ จุดสำคัญคือการประกวดว่าวภาพ และการแข่งขันว่าวจุฬา-ปักเป้า ตลอดจนมีนิทรรศการว่าวในสมัยรัชกาลที่ 5 ให้ประชาชนได้ชื่นชม

“ไปดูสนามหลวงตั้งแต่ยังไม่ได้ลงแข่ง ปิดเทอมก็จะไปนั่งดูว่าวที่สนามหลวง” สำหรับบังดี้ที่ชื่นชอบกีฬาชนิดนี้เป็นชีวิตจิตใจ แม้ว่าตัวเองจะไม่ได้เล่นเป็นงานประจำก็ตาม แต่ความรักที่มีต่องานอดิเรกในกีฬาชนิดนี้ส่งผลให้ผลงานของเขาเข้าตาผู้ใหญ่จนได้ลงสนามประลอง

“ทีแรกก็เล่นพนันกับคนแถวนี้ก่อน ยังไม่มีคนมาชวน มีคนมาชวนตอนปี 2517 หาสปอนเซอร์ให้ ได้เงินมา 3,000 บาท ก็เยอะอยู่นะในสมัยนั้น” นั่นคือจุดเริ่มต้นของการลงสังเวียนการประลองโดยมีสายลมเป็นตัวดำเนินการประลอง เขาเริ่มแข่งว่าวด้วยตัวเองหลังจากที่พ่อของเขาลาจากโลกใบนี้ไป แต่เดิมเขาเป็นคนติดสอยห้อยตามพ่อเขาไปทุกครั้ง เป็นการเดินด้วยตัวเองในเส้นทางที่เขาภาคภูมิใจ

ว่าวพนันเป็นกีฬากลางแจ้งที่นิยมเล่นกันช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน ผู้เล่นจำเป็นต้องมีสายตาเฉียบคม ไหวพริบ และการตัดสินใจเฉียบขาด ชนิดว่าวที่ใช้แข่งมีสองประเภทคือว่าวจุฬาและว่าวปักเป้า เมื่อว่าวทั้งสองทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าจะมีการบังคับทิศทางต่อสู้กันอย่างสวยงาม ถ้วยรางวัลจะแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ ถ้วยรางวัลประเภทว่าวจุฬา และถ้วยรางวัลประเภทว่าวปักเป้า โดยใช้วิธีนับแต้มสะสม

“ปี 2528-2530 ไปอยู่ชายแดนแถวอรัญประเทศ เป็นทหารอาชีพเลยไม่ได้เล่นว่าว” เขากล่าว” รับราชการทหารถึงปี 2553 ลาออกมาเพราะพ่อป่วย แต่ตอนทำงานอยู่กองทัพภาคที่ 1 เล่นว่าวทุกปีถ้าไม่ติดราชการ แต่บางปีขอออกมาแข่งไม่ได้เพราะไม่มีใบขออนุญาต”

อดีตนายทหารชี้ให้ฉันดูถ้วยรางวัลที่เคยได้รับมา รางวัลที่ภาคภูมิใจที่สุดของเขาคือ รางวัลถ้วยพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เขาและพ่อของเขาเป็นเจ้าประจำสนามแข่ง มีการแข่งขันที่ใดเป็นต้องพากันไปลงสนามที่นั่น

“เมื่อก่อนไม่มีสปอนเซอร์ก็เล่น ขอให้ได้เล่น ได้แข่ง อยากแข่ง”

ความกระหายในการแข่งขันยังคงหลงเหลือแม้ปัจจุบันความนิยมในการเล่นกีฬาชนิดนี้น้อยลงทุกที อาจด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนา ที่ดินส่วนใหญ่ถูกดัดแปลงให้เป็นห้างสรรพสินค้าและคอนโด พื้นที่ลานกว้างที่ใช้สำหรับการเล่นว่าวมีน้อยลงบวกกับเด็กสมัยใหม่ให้ความสนใจกับเทคโนโลยีมากขึ้น มีกีฬาให้เลือกประกอบกิจกรรมหลากหลายประเภท บทบาทของกีฬาชนิดนี้ในสังคมไทยจึงอยู่เฉพาะกลุ่มคนที่สนใจเล็กๆ เท่านั้น

“เดี๋ยวนี้คนเล่นน้อยลง รุ่นเดิมก็ล้มหายตายจากกันไปเยอะ”

คำพูดและน้ำเสียงธรรมดา แต่ความหมายพาสะดุดใจ พร้อมกับตั้งคำถามขึ้นมาในใจว่ากีฬาชนิดนี้จะเลือนหายไปตามกาลเวลาเหมือนกับอย่างอื่นหรือไม่ แอบหวังให้สายลมโอบอุ้มให้มันโลดแล่นบนท้องฟ้าเหมือนในภาพอดีต

windkite05 e1531382094295

windkite06 e1531382120332

สายลมนิ่งงัน : ความผูกพันยังคงมีอยู่ตลอดไป

บ้านเมืองมีชุมชนแออัด สิ่งก่อสร้างตึกรามและสายไฟเป็นสิ่งกีดขวา

การเล่นว่าวและการแข่งขันว่าวอยู่ในตัว จะหาสถานที่โล่งเป็นบริเวณกว้างที่สามารถชุมนุมเล่นว่าวยาก เด็กสมัยใหม่จึงไม่ค่อยนิยมเล่นว่าวเหมือนในอดีต ทั้งยังมีตัวเลือกให้เขาทำกิจกรรมมากมาย “เดี๋ยวนี้ว่าวไม่ได้มีแต่ผู้ชายเล่นนะ ผู้หญิงเขาก็เล่น มีคนหนึ่งเล่นเก่งมาก ทำว่าวเองด้วย” เขาพูดด้วยน้ำเสียงทึ่ง ไม่เพียงแต่เขา ฉันก็เช่นกัน

“เดี๋ยวนี้ว่าวไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ อยากรู้อะไรก็ไปหาดูในนั้นได้เลย”

ใจหนึ่งแอบดีใจที่มีการรักษามรดกภูมิปัญญานี้ไว้ให้ลูกหลานในอนาคตได้ชื่นชม อีกใจอดใจหายไม่ได้ที่สิ่งนี้จะเลือนรางและจางหายไปจากวิถีชีวิต แปรเปลี่ยนไปอยู่ในความทรงจำ

“เด็กๆ ยังมีคนสนใจอยู่ เขาอยากรู้อะไรก็ตั้งใจสอน พร้อมให้ความรู้เต็มที่”

ชายที่ใช้ชีวิตกับสิ่งที่รักและผูกพัน เชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ และมันก็ออกมาดี ทิ้งท้ายกับฉัน

สายลมนิ่งงันเหมือนความรู้สึกว่าวอาจกลับมานิยมอีกครั้งในอนาคต สิ่งหนึ่งที่ฉันได้เรียนรู้จากชายคนนี้คือ ทำในสิ่งที่รัก มุ่งมั่นในสิ่งที่ทำ สามารถสร้างความสุขให้กับตัวเองโดยที่ไม่ต้องไขว่คว้า แม้ฉันจะไม่อภิรมย์ในการเล่นว่าวเช่นคนอื่น แต่การได้มองรอยยิ้มและความสุขของคนเล่น ความสวยงามบนท้องฟ้า ก็เป็นสิ่งที่ฉันชื่นชอบและอดไม่ได้ที่จะยิ้มตาม

สายลมยังคงโอบอุ้มความรัก ความผูกพันให้โบยบิน และยังคงขับเคลื่อนชีวิตต่อไป

เกร็ดความรู้ที่น่าสนใจ

1) ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนับสนุนการแข่งขันว่าว โปรดเกล้าฯ ให้จัดแข่งขันหน้าพระที่นั่ง ในขณะแข่งขันมีแตรวงทหารและพิณพาทย์บรรเลง โดยในขณะต่อสู้ทำเพลงเชิดฉิ่ง ถ้าปักเป้าตายจุฬารอดไปได้ทำเพลงเหาะ ถ้าจุฬาตกปักเป้ารอดทำเพลงโอด ถ้าจุฬาวิ่งรอกทำเพลงกราวรำ หากปักเป้าหรือจุฬาตัวใดชนะจะพระราชทานพวงมาลัยหรือถ้วยทองในบางครั้งให้เป็นเกียรติ มีพระราชวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาร่วมแข่งขันเป็นจำนวนมาก ประชาชนมาชมการแข่งขันล้นหลามเหมือนมีงานใหญ่

2) มีสำนวนไทยมากมายที่เกิดขึ้นจากกีฬาว่าว เช่น ว่าวติดลม สุดสายป่าน วิ่งรอก ลมเสีย เข้าปิ้ง

3) ลมว่าวเป็นลมประจำถิ่นในประเทศไทย เกิดขึ้นในต้นฤดูหนาวราวเดือนพฤศจิกายน เรียกลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ มีทิศทางลมค่อนข้างแน่นอน คำว่า “ว่าว” ในภาษามอญแปลว่า “หนาว” ดังนั้นคำว่าลมว่าวจึงหมายถึงลมหนาว ในเดือนมีนาคมเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่เรียกกันว่า “ลมตะเภา” หรือ “ลมสำเภา” ฤดูนี้ชาวไทยส่วนใหญ่เสร็จจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร มีเวลาว่างมักชอบไปรับอากาศบริสุทธิ์ตามที่โล่งในเวลาเย็น ช่วงนี้เด็กๆ นิยมเล่นว่าว พลอยให้คนเรียกลมตะเภานี้ว่าลมว่าวด้วยเช่นกัน

ที่มา

  • ชัชชัย โกมารทัต. กีฬาพื้นเมืองไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. สำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์, 2549.
  • ปรีดี หงษ์สต้น. การเมืองเรื่องชักว่าว : การให้ความหมายใหม่ต่อการเล่นว่าวพนันในสมัยรัชกาลที่ 5. ศิลปวัฒนธรรม 31, 6 (เมษายน 2553) : 144-155.
  • พระภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร). ตำนานว่าวพนัน: ตำราผูกว่าว วิธีชักว่าว และการเล่นว่าวต่อสู้กันในอากาศ. สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช, 2520.
  • มณเฑียร พัวไพบูลย์. 2527. พัฒนาการของกีฬาว่าวไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
    ยุพิน ธชาศรี. ว่าวไทย. สำนักพิมพ์สุวีริยาสาส์น, 2526.
  • รุ่งโรจน์ ภู่ไหมทอง. สัมภาษณ์. 3 และ 9 มิถุนายน 2561.
  • สมบัติ จำปาเงิน. กีฬาไทย. สำนักพิมพ์สุวีริยาสาส์น, 2549.
  • สมปราชญ์ อัมมะพันธุ์. กีฬาพื้นเมืองภาคใต้. สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2548.
  • สิทธิโชค วิเชียร. 2557. ว่าวกับวิถีชีวิตพื้นบ้าน. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  • สุริยา สมุทคุปติ์. ผ้าขาวม้า ย่าม ว่าว : ความเรียงว่าด้วยร่างกาย อัตลักษณ์ และพื้นที่ในวัฒนธรรมไทย. สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, 2543.
  • แสงจันทร์ ไตรเกษม. ว่าวไทย. กรมศิลปากร, 2529.
  • อารีรัตน์ พุฒิรุ่งโรจน์. 2556. แนวทางการส่งเสริมการอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาว่าวไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยศิลปากร.

photo chayanontชยานนท์ ไชยศรีษะเกตุ
“เจมหมี” แปลว่า น่ารัก แต่ไม่ค่อยคึกคักเวลาลงเล่น ชอบนั่งรถเมล์ ชอบนั่งรถไฟ และชอบของฟรี จบปริญญาตรีประวัติศาสตร์ และกำลังเรียนปริญญาโท อุทยาน นันทนาการ และการท่องเที่ยว เรียนจบจะกลับไปนอนหายใจถี่ ๆ ท่ามกลางสวนมะนาวที่สุโขทัย ให้ยายและแม่บ่นเช้าสายบ่ายค่ำ

………………..

photographer23ทิวัตถ์ อำนวยปรีชากุล
ผมเป็นคนที่ชอบศึกษาเรื่องของศาสนาและปรัชญา เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผมมองเห็นมุมมองที่หลากหลายของชีวิตมากขึ้น เข้าใจธรรมชาติมากขึ้น ผมจึงอยากที่จะถ่ายทอดทั้งความสวยงาม ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติและมุมมองแง่คิดในชีวิตผ่านออกมาในรูปแบบของภาพถ่าย