ทีมบ้านนอกสบายดี Family
เรื่อง : ว่าที่ ร.ต.สุรวุฒิ เพ็งป่าแต้ว
ภาพ : ด.ญ.รมย์ธีรา เพ็งป่าแต้ว (ใบบัว)

สายเลือดกีฬา...แต่งสุขเติมฝันให้กันทุกสนาม

“เฮ้ !!” เสียงเชียร์สนั่นก้องสนาม เมื่อครั้งทีมฟุตบอลชุมชนเล็กๆ คว้าแชมป์ฟุตซอลระดับภาคเหนือตอนล่างในปี ๒๕๖๒ ทุกคนดีใจกระโดดโลดเต้น รวมถึงผู้ชายวัยกลางคนอย่างผม ที่ดีใจจนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ แสดงอากัปกิริยาอะไรบ้างแทบไม่รู้ตัว

นี่คือแชมป์ที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตของโค้ชสมัครเล่นอย่างผม

“ถ้าเอ็งเป็นผู้ชายคงเป็นนักฟุตบอลให้พ่อเอ็งไปแล้ว” เสียงจากย่าของ “ใบบัว” ลูกสาวคนโตของผู้เป็นโค้ชที่กำลังดีใจอยู่กลางสนามฟุตซอล รายการ SDN Futsal No L Cup 2019 ที่จังหวัดพิษณุโลก ราวกับหนังเรื่องหนึ่งของทีมกีฬาเล็กๆ บ้านๆ ที่พากันไปแข่งขันจนได้แชมป์ ตัวเธอเองก็เก็บไปคิดแล้วหาโอกาสถามพ่อว่า

“พ่อไม่ทำทีมฟุตบอลหญิงบ้างเหรอ?”

“ว่าไงนะลูก อยากเล่นบอลเหรอ?” แล้วเราก็เริ่มคุยกันจริงจัง

“ทำไมหนูอยากเป็นนักกีฬาล่ะ?” ผมถามเธอเพื่อค้นหาคำตอบที่แท้จริงลึกๆ ในใจลูกสาว

“ก็เห็นพ่อมีความสุข ได้ออกไปเล่นบอล ไปแข่งบอลแทบทุกวัน ดูสนุกดี อยากไปแบบนั้นบ้าง แต่…พ่อทำแค่ทีมฟุตบอลชาย หนูเป็นผู้หญิงคงไม่ได้ไปแข่งกับเขา ถ้าพ่อไม่ทำทีมฟุตบอลหญิงให้” เสียงตอบส่ออาการน้อยใจเล็กๆ

“ได้สิ ถ้าหนูหาเพื่อนผู้หญิงมาจนครบทีม พ่อก็จะส่งทีมฟุตบอลหญิงให้” คำตอบเชิงท้าทายของพ่อ ทั้งที่ในใจแอบสงสารลูกสาวซึ่งอายุไม่ห่างจากนักกีฬาชุดที่ได้แชมป์นัก

ทุกครั้งที่ผมออกไปสอนฟุตบอลเด็กในชุมชน เธอจะอ้อนขอตามไป แต่ด้วยความเป็นห่วงเพราะเธอเป็นผู้หญิง จะไปสนามบอลที่มีแต่ผู้ชายก็ดูไม่ค่อยเหมาะสมนักในความคิดของคนเป็นพ่อ หรือนี่คืออาการ “หวงลูกสาว” ก็ไม่ค่อยแน่ใจ เลยพยายามบ่ายเบี่ยง หาเหตุผลต่างๆ นานา แต่อีกใจหนึ่งก็คิดว่า “ถ้าหนูเป็นลูกชาย พ่อคงพาหนูไปซ้อมไปแข่งด้วยแล้วล่ะ”

เฮ้อ! ได้แต่ถอนใจแล้วออกรถไปสอนฟุตบอลเด็กๆ ในชุมชน เป็นวิถีประจำวัน เป็นภาพชินตาของครอบครัวและคนในชุมชน

นึกถึงตอนที่รู้ว่าภรรยาท้องลูกคนนี้ ผมตื่นเต้นมาก ความหวังคืออยากได้ลูกชาย เพราะฝันเล็กๆ คือ อยากสอนลูกเตะฟุตบอล กีฬาที่ผมชอบ คลั่งไคล้ ถึงขั้น “บ้า” เลยก็ได้

แต่ความจริงไม่ว่าลูกจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย พ่อแม่ก็รักสุดหัวใจอยู่ดี

keera02
keera03
keera04

จนวันหนึ่งเพื่อนรุ่นพี่จะย้ายไปอยู่ต่างประเทศ ต้องสะสางของใช้ต่างๆ ในบ้าน ซึ่งมีกล้องถ่ายรูปอยู่สองกล้องแม้ค่อนข้างเก่า แต่ก็ยังใช้ได้ดี

วันไปรับของ “ใบบัว” ไปด้วย เธอออกอาการดีใจเมื่อจะได้กล้องมาใช้

ผมเห็นรอยยิ้มเปี่ยมสุข มีความหวังบางอย่าง ก่อนเธอจะหันมาพูดกับผม

“หนูรู้แล้วว่าจะไปสนามบอลกับพ่อได้ยังไง หนูจะเป็นช่างภาพคอยถ่ายภาพนักฟุตบอลให้พ่อ”

ผมอมยิ้ม บอกเธอว่า “เอาสิ พ่อกำลังต้องการช่างภาพอยู่พอดี” ในใจปลื้มปริ่ม เพราะความคิดอยากติดสอยห้อยตามพ่อเป็นสิ่งที่เธอคงรอคอยโอกาสมาตลอด

จากวันนั้นเธอดูมีความสุขกับการถือกล้องขึ้นรถแทบทุกครั้งที่ผมพานักกีฬาไปแข่งขันในรายการต่างๆ

หลังจบการแข่งขันแต่ละวันเธอจะรีบลงรูปในกลุ่มไลน์ที่มีทีมงานและนักกีฬารอคอยรูปของเธอ เพื่อลงสื่อโซเชียลต่างๆ ตามประสาวัยรุ่น

เธอจะอวดทุกครั้งที่ได้รับคำชมจากภาพที่เธอถ่าย “มีพี่นักกีฬาพ่อชมว่าถ่ายรูปสวยด้วยล่ะ”

ผมแอบยินดีและสอนเทคนิคการถ่ายภาพที่ผมเคยเรียนวิชาถ่ายภาพจากที่เรียนจบสายนิเทศศาสตร์ แม้จะคืนวิชาให้ครูไปเยอะแล้วก็ตาม

เธอได้เรียนรู้มากขึ้นทุกวัน สนุกกับการถ่ายภาพแอ็กชันและอารมณ์ต่างๆ ของนักกีฬาระหว่างแข่งขัน

keera05
keera06

แล้ววันหนึ่งเราก็มีโอกาสนั่งคุยกันจริงจัง

“เวลาถ่ายภาพ หนูเห็นอะไร รู้สึกอย่างไรบ้าง?” ผมถามเธอเพื่อตั้งใจจะอธิบายสิ่งที่ผมทำมาตลอดหลายปี

“หนูเห็นความสุข ความสนุกในเกมแข่งขัน แม้ทีมเราแพ้ พ่อก็พยายามสอนนักกีฬาให้มีความสุข รู้แพ้ รู้ชนะ มีน้ำใจนักกีฬา ซึ่งทีมอื่นไม่เห็นเป็นแบบทีมเราเลย” เธอตอบตามความเข้าใจ

“แล้วหนูเห็นพ่อ เข้าใจสิ่งที่พ่อทำยังไงบ้าง?” เธอนิ่งไปสักพัก แล้วบอกว่า

“เออ…หนูก็งง บางทีเห็นพ่อทำหลายๆ อย่างให้นักกีฬาเยอะมาก จนบางครั้งหนูก็สงสัยว่าพ่อทำไปทำไม ทำแล้วได้อะไร?”

ผมมองหน้าเธอ หัวเราะก่อนตอบ

“ฮ่าๆๆ อืม นั่นสิ พ่อเองก็เคยงงๆ ตัวเองเหมือนที่หนูสงสัยนั่นแหละ”

“เวลาหนูถ่ายภาพหนูมีความสุขไหม?”

“มีความสุขนะ ได้อยู่กับตัวเอง เห็นสิ่งต่างๆ ที่พวกนักบอลแสดงออก ราวกับหนูได้เก็บเรื่องราวของพวกเขา”

“พ่อน่ะมีความสุขทุกครั้งที่อยู่กับกีฬาฟุตบอล ไม่ว่าซ้อมหรือแข่ง ได้สอนทักษะให้เด็กๆ ในชุมชนที่ไม่ค่อยมีโอกาสเหมือนเด็กๆ ในตัวเมือง หรือเด็กที่ครอบครัวเขาพร้อม เห็นแววตามุ่งมั่น สนุกที่ได้ลงแข่ง ไม่ว่าแพ้หรือชนะ จนวันนี้พวกเขาเข้าใจแล้วว่าสิ่งที่พ่ออยากให้ทีมกีฬาบ้านๆ อย่างเราเป็นยังไง อยากให้เป็นแรงบันดาลใจแก่เด็กๆ ที่ขาดโอกาสได้กล้าลุกขึ้นมาทำตามความฝัน

“ฟังดูโคตรยิ่งใหญ่เลย จะเป็นจริงรึเปล่าไม่รู้ แต่พ่อลงมือทำแล้ว ลึกๆ อีกเรื่องคือพ่ออยากเติมเต็มความฝันตัวเอง ตอนพ่อเด็กๆ เต็มที่ก็กีฬาสี กีฬา อบต. ปีหนึ่งแข่งขันกันที คำว่าชนะแทบไม่รู้จัก เมื่อมีโอกาสเลยมาทำทีมเองนี่ไง”

ผมมองหน้าเธอและบอกว่า “ถ้าหนูเป็นผู้ชายป่านนี้พ่อปั้นหนูลงแข่งได้แล้ว”

“ไม่เป็นไรพ่อ หนูแข่งให้พ่อไม่ได้ก็คอยเก็บภาพ เป็นทีมงาน แค่หนูได้ไปดูพี่ๆ เขาแข่ง หนูโอเคแล้ว”

สายเลือดนักกีฬาคงส่งต่อมายังลูกสาวของผมไม่น้อย

“ตอนนี้พ่อก็มี ‘ต้นกล้า’ ลูกชายสุดที่รักพ่อไง ปั้นเลย เดี๋ยวหนูจะรอถ่ายรูปน้องเวลาลงแข่งในสนาม”

บทสนทนานี้ทำให้หัวใจผมพองโต เพราะกังวลว่าเธอจะคิดมาก น้อยใจที่ไม่ได้เกิดเป็นลูกชาย ไม่ได้เล่นฟุตบอลตามที่พ่อคาดหวัง แต่สิ่งที่ได้ยิน ได้เห็นสีหน้าแววตา เธอค่อนข้างเข้าใจในสิ่งที่ผมทำ

………………..

keera07
keera09

แม้ผมจะค่อนข้างบ้ากีฬาฟุตบอล แต่ไม่ใช่ทุกคนในบ้านจะชอบด้วย มีเพียงย่ากับ “ใบบัว” ที่สนุก และไปเชียร์อย่างออกรสชาติทุกครั้งที่มีโอกาส ที่สำคัญภรรยาผมไม่ชอบกีฬาเลย ตั้งแต่เริ่มคบหากันแล้ว แต่ ก็อยู่กันมาจนลูกสาม

ปีนี้ลูกชายคนสุดท้องวัย ๖ ขวบเศษ เห็นพ่อทำทีมฟุตบอลมาตั้งแต่เกิด เดินมาบอกว่าอยากเตะบอล ผมยิ้มแก้มปริ ตั้งใจหาข้อมูลสโมสรที่จะฝึกทักษะฟุตบอลเด็กอย่างจริงจัง ปรึกษาภรรยาแต่เขากลัวลูกบาดเจ็บ เป็นอันตรายตามประสาหัวอกแม่ แม้ผมและ “ใบบัว” จะพยายามโน้มน้าวด้วยเหตุผลใดๆ ก็ยังไม่ค่อยเห็นด้วย

แต่เพราะผมอดทนรอคอยมาหลายปี จึงตัดสินใจส่งลูกชายคนเล็กเข้าอะคาเดมีฟุตบอลในจังหวัด วางแผนกับลูกสาวคนโตว่าใครจะคอยเฝ้าดูเวลาน้องซ้อมหลังเลิกเรียน คอยไปรับไปส่ง ปรากฏว่าช่วงเย็นวันก่อนไปสนามซ้อมของสโมสร แม่ที่คัดค้านมาตลอด ซื้อชุด รองเท้า ถุงเท้า อุปกรณ์มาให้ครบเซ็ต

ผมกับใบบัวมองหน้ากัน “อ้าว ไหนแม่บอกไม่อยากให้น้องเล่นฟุตบอลไง” ตามมาด้วยเสียงหัวเราะและรอยยิ้มของทุกคนในบ้าน ก่อนจะเริ่มอาหารมื้อเย็น

จากวันนั้นเราแทบจะเป็นครอบครัวกีฬาเต็มตัว ผมยังคงเป็นโค้ชทำทีมฟุตบอลเช่นเคย โดยมีแผนระยะยาวคือรอวัน “ต้นกล้า” ลูกชายคนเล็กได้ลงสนามแข่งขันอย่างเป็นทางการ

ส่วน“ใบบัว” จะคอยเก็บภาพแห่งความสุขผ่านกล้องถ่ายรูป แม้เธอจะไม่ได้เป็นนักกีฬาตามฝันของพ่อ

เวลามีรายการแข่งขัน เธอยังเป็นผู้ช่วยผู้จัดการทีม ดูแลเรื่องเอกสาร หลักฐานนักกีฬา น้ำ เครื่องดื่ม อาหารต่างๆ แทนผม

วันนี้เราไม่ต้องแอบคุยกันแค่สองคน เพราะทุกคนในบ้านต่างอยากฟัง เรื่องราว ผลการแข่งขันในแทบทุกวันหยุดเสาร์-อาทิตย์

ภาพในฝันคือได้เห็นลูกชายคนเล็กเป็นนักฟุตบอลอาชีพ และทุกคนในครอบครัวซื้อตั๋วไปชมเกมการแข่งขันอย่างเป็นทางการ จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ไม่มีใครทราบได้ แต่วันนี้เราต่างทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดีที่สุดและ สนุกไปกับมัน

โดยเฉพาะผมกับลูกสาวคนโตที่มีความสุขทุกครั้งกับการทำสิ่งที่เรารักด้วยกันเสมอ

กิจกรรมดีๆ ของ “ค่ายนักเล่าความสุข” ปี 3 ร่วมสร้างสรรค์เรื่องเล่าความสุข และสังคมที่มีความสุข

  • มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์
  • นิตยสารสารคดี
  • เพจความสุขประเทศไทย
  • สสส.