ชื่อจริงและชื่อเล่น (๓)
ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
คนไทยมีคำเรียกพระมหากษัตริย์อย่างไม่เป็นทางการคำหนึ่งคือ “ในหลวง” ที่มาดั้งเดิมย่อมเนื่องด้วยประเพณีเลี่ยงการออกพระนามหรือพระปรมาภิไธยดังกล่าวมาแล้ว จึงเรียกว่า (พระองค์ท่านที่ประทับอยู่) ใน (วัง) หลวง คือหมายเอาที่ประทับในพระบรมมหาราชวัง หรือ”วังหลวง” เหมือนอย่างคำเรียกพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ หรือพระที่นั่งสุริยามรินทร์
ธรรมเนียมปฏิบัติที่จะต้องสรรหาคำอื่นมาเรียกแทนนามรัชกาลคงมีมาช้านานแล้ว แต่กรณีที่น่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะเป็น “ประวัติศาสตร์ใกล้ตัว” คือสิ่งที่เกิดขึ้นในแผ่นดินรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ในพระนิพนธ์ “ตำนานพระพุทธรูปสำคัญ” ตอนหนึ่งว่า
“…ในสมัยนั้นมีเหตุเกิดขึ้นอย่าง ๑ ด้วยเมื่อในรัชกาลที่ ๒ คนทั้งหลายเมื่อกล่าวถึงรัชกาลที่ ๑ มักเรียกว่า แผ่นดินสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงหรือแผ่นดินก่อน ครั้นมาถึงรัชกาลที่ ๒ มีรัชกาลที่เป็นอดีตขึ้นเป็น ๒ รัชกาล จึงเกิดเรียกรัชกาลที่ ๑ ว่า “แผ่นดินต้น” เรียกรัชกาลที่ ๒ ว่า “แผ่นดินกลาง” พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่พอพระราชหฤทัย ทรงพระราชดำริว่า ถ้ารัชกาลที่ ๑ เป็นแผ่นดินต้น รัชกาลที่ ๒ เป็นแผ่นดินกลาง รัชกาลที่ ๓ ก็จะต้องเป็นแผ่นดินปลาย เป็นอัปมงคล จึงโปรดให้ประกาศให้เรียกนามอดีตรัชกาล ตามนามพระพุทธปฏิมากร ๒ พระองค์นี้ คือเรียกรัชกาลที่ ๑ ว่า “แผ่นดินพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” เรียกรัชกาลที่ ๒ ว่า “แผ่นดินพระพุทธเลิศหล้านภาลัย”…”
สรุปให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ เพื่อป้องกันไม่ให้ขุนนางข้าราชการและชาวบ้านใครต่อใคร เรียกแผ่นดินรัชกาลที่ ๑ (พระอัยกา-ปู่) ว่าแผ่นดินต้น และเรียกสมัยรัชกาลที่ ๒ (พระราชบิดา-พ่อ) ว่าแผ่นดินกลาง ซึ่งย่อมหมายความว่ารัชสมัยของพระองค์เองเป็น “แผ่นดินปลาย” คือรัชกาลสุดท้าย ฟังดูไม่เป็นมงคลนัก รัชกาลที่ ๓ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ออกนามอดีตรัชกาลที่ล่วงไปแล้วนั้น ตามพระนามพระพุทธรูปทรงเครื่องที่ทรงสร้างอุทิศถวายพระราชกุศลแด่พระบุรพกษัตริย์ทั้งสองพระองค์
จากนั้นพอขึ้นรัชสมัยแผ่นดินที่ ๔ ก็เกิดมีแผ่นดินที่ล่วงมาแล้วถึง ๓ รัชสมัย รัชกาลที่ ๔ ทรงมีพระราชดำริว่าสมควรต้องมีพระนามสำหรับใช้เรียกได้ทั้งในรัชสมัยที่ล่วงผ่านไปแล้วและที่ยังเสวยราชย์อยู่ ณ ปัจจุบัน จึงโปรดเกล้าฯ ให้ออกพระนามแผ่นดินแรกว่า “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” แผ่นดินที่ ๒ เป็น “พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย” และแผ่นดินที่ ๓ เฉลิมพระนามขึ้นตามพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าทับ” เป็น “พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว”
ส่วนแผ่นดินของพระองค์ก็ให้ออกพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับแต่นั้นมา
ดังนั้นขณะเมื่อยังมีพระชนม์ชีพอยู่ รัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ จึงไม่เคยทรงทราบว่ารัชกาลของพระองค์จะมีพระนามแบบที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ และด้วยเหตุนี้เอง รัชกาลที่ ๑ กับรัชกาลที่ ๒ จึงเป็นพระมหากษัตริย์เพียงสองพระองค์ในสมัยรัตนโกสินทร์ ที่ขึ้นต้นพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระพุทธ…” สืบเนื่องมาแต่พระนามพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างพระจักรพรรดิสองพระองค์ อันประดิษฐานอยู่เบื้องซ้ายและเบื้องขวาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระแก้วมรกต ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้นเอง