งานเขียนเพื่อการเปลี่ยนแปลง

วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


writeforchange01

ช่วงวันหยุดยาวปลายเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๑ คนหนุ่มสาวกลุ่มเล็กๆ ๒๐ กว่าคน ไม่คิดไปเที่ยวเล่นที่ไหน แต่นัดกันมาทำกิจกรรมสร้างสรรค์ ๓ วันต่อเนื่อง

พวกเขาขอให้ผมมาร่วมชุมนุมด้วย ผมตอบรับด้วยยินดี

จะไม่ยินดีได้อย่างไร ในเมื่อสิ่งที่พวกเขาชวนกันทำนั้น มีเป้าหมายกว้างไกลไปถึงการเปลี่ยนแปลงสังคม

เริ่มจากหนุ่มสาว ๔-๕ คน ที่เป็นแกนนำกลุ่ม SAPJA เคยผ่านโครงการ “คนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลง” ของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม มาก่อน เขาอยากส่งต่อสิ่งที่เคยได้รับให้กับเยาวชนในท้องถิ่นด้วย จึงเปิดรับเยาวชนทั่วอีสานมาเข้ารับการอบรมการผลิตงานสื่อสารทางสังคม

มีเยาวชนจากหนองคาย อุดรฯ สกลนคร กาฬสินธุ์ นครพนม ร้อยเอ็ด มารวมตัวกันที่แก่งเลิงจาน มหาสารคาม ซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน เพื่อร่วมกันเรียนรู้เป็น “นักสื่อสารสิทธิมนุษยชนประชาธิปไตยรุ่นใหม่ภาคอีสาน”

เป็นโครงการระยะยาว ๔ ครั้ง ในครั้งนี้เป็นการเรียนรู้เครื่องมือการสื่อสาร ๒ แขนงคือ วิดีโอ และงานเขียน

พวกเขาชวนผมมาร่วมแบ่งปันแนวคิดและเทคนิคการสื่อสารผ่านงานเขียน

writeforchange02

คุยกันเรื่องงานเขียนกับคนรุ่นใหม่ เราเริ่มกันตั้งแต่ทำความรู้จักกับโลกของนักเขียนในความรับรู้ของแต่ละคน เยาวชนกลุ่มงานเขียนสมาชิกรวม ๑๔ คน ช่วยกันระดมรายชื่อนักเขียนที่เขารู้จักมาได้ ๑๙ คน ซึ่งผมมีข้อสังเกตส่วนตัวว่า ๔ คนในจำนวนนั้น เป็นนักเขียนท้องถิ่นที่ผมเพิ่งมีโอกาสได้รู้จักนามเป็นครั้งแรก นี้ถือเป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ของผมด้วย และถือเป็นรูปธรรมของคำว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างแท้จริง ในแง่ที่ผมก็ได้เรียนรู้จากพวกเขาด้วย

เข้าสู่โลกการเขียนในแง่เครื่องมือสื่อสารเรื่องราว ความรู้ ความคิด ข้อเท็จจริง เริ่มจากชี้ช่องให้รู้จักโครงสร้างงานเขียน ๔ ส่วน ซึ่งสามารถต่อยอดมาจากเรียงความ บทความ จากที่แต่ละคนมักเคยเขียนกันมาแล้วทั้งนั้น เมื่อมาผลิตเป็นงานเขียนเรื่องเล่าแบบสารคดี ก็เพียงแต่ให้ใส่ใจให้มี “ชื่อเรื่อง” “เปิดเรื่อง” “ปิดเรื่อง” นอกเหนือไปจากการทำ “ตัวเรื่อง” ให้ดีที่สุด ซึ่งส่วนหลังสุดนี้มีรายละเอียดหลายด้านที่ต้องค่อยๆ แกะรอยกันไปในช่วง ๑ วันของการเรียนรู้เรื่องนี้

ข้อถัดมาว่ากันด้วยเรื่อง “ข้อมูล” ซึ่งถือเป็นแขนข้างหนึ่ง หรือครึ่งหนึ่งของงานสารคดี ที่จะมาผสานกับ “วิธีการเล่าเรื่อง” ซึ่งจะว่ากันต่อไป

ข้อมูล ๓ กลุ่ม ได้แก่ ค้นคว้า สัมผัส สัมภาษณ์

ข้อมูลค้นคว้า หาได้ง่ายในยุคนี้ เพียงแค่คีย์คำที่ต้องการในอินเตอร์เน็ต ก็ได้รู้เรื่องที่ต้องการในเบื้องต้น แต่การค้นคว้าจากหนังสือ เอกสาร ก็ยังเป็นเรื่องจำเป็นมาก-ในการอ้างอิงที่เป็นทางการ

ส่วนข้อมูล ๒ กลุ่มหลัง ต้องไปหาเอาในพื้นที่ ในช่วงอบรมเราไม่มีเวลาพาลงพื้นที่ ผมใช้วิธีให้พวกเขา “สัมผัส” แหล่งข้อมูลผ่านภาพถ่าย ซึ่งปรากฏว่าพวกเขาทำได้ดีเกินคาด

พวกเขาเขียนถึงแหล่งข้อมูลได้อย่างเห็นภาพ ให้รายะเอียดจากการสังเกต ลักษณะทางกายภาพ บุคลิก เสื้อผ้า การแต่งกายและแต่งหน้า เครื่องประดับ ฉาก สภาพแวดล้อม บรรยากาศ อย่างที่คนอ่านสามารถเห็นภาพตามได้ ดังนี้

แสงแดดส่องจ้า มองขึ้นบนท้องฟ้าสีสดใส ทอดไกลสุดตา ลมพัดโบกใบมะพร้าวริมหาดขาวอยู่ตลอดเวลา บนเม็ดทรายขาวมีฝีเท้านุ่มทิ้งน้ำหนักตัวลงอย่างไม่ยั้ง เหลือบมองขึ้นจากเม็ดทรายที่เรียงรายอย่างสวยงาม ขึ้นอีกนิดเห็นโคนขาขาวเนียนสองข้างพร้อมผ้าปิดบิกินีท่อนล่างสีแดง หน้าท้องอวบอั๋น เธอกำลังท้าวเอว พร้อมส่งยิ้มมาให้ผมเล็กน้อย เธอใส่บราสีดำ มีลูกไม้สดใส มีโบว์สีแดงผูกอยู่กลางบรา เนื้อในบราล้นทะลักออกมาทำให้ผมอดหยุดมองไม่ได้ เธอชอบใส่หมวกสีขาว รอยยิ้มที่ยิ้มมากระชากใจผมไปโดยไม่รู้ตัว

มองไปบนทรายด้านขวา มีสาวอีกคนที่ยืนคุยกับผู้ที่กระชากใจผมในตอนแรก เธอมักจะใส่กำไลสีขาวบนแขนข้างซ้ายประจำ บิกินีสีขาวแม้เนื้อจะไม่ล้นทะลักแต่ยิ่งมองยิ่งมีเสน่ห์ หุ่นเธอผอมเรียว ผิวคล้ำ ผมยาวสีดำ พร้อมผ้าผูกท่อนล่างด้วยผ้าสีเหลืองปนขาว

เธอช่างมีเสน่ห์ แม้จะพูดจาคนละภาษากับผม

อีกชิ้นเขียนถึงหญิงสาวที่อยู่บนดาดฟ้าตึกสูงกลางเมืองว่า

เธอสวยเหมือนหงส์ที่บินอยู่ท่ามกลางตึกสูงใจกลางเมือง ณ ตอนนี้เธอสวยเด่นกว่าใครๆ เสื้อผ้าสีแดงที่เธอสวมใส่ เผยให้เห็นเรือนร่างที่ขาวผ่องของเธอ กับปทุมถันคู่นั้นที่แนบชิดติดกันแน่น ทำให้ผมรู้สึกหัวใจพองโตเหมือนลูกโป่งที่พร้อมจะล่องลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า

อีกชิ้นเขียนถึงผู้ชายคนหนึ่งว่า

คนที่ทำความผิดต้องเจอกับเขา ชายร่างใหญ่ถือกระบองเป็นอาวุธ ที่เขาอยู่มีรั้วกำแพงและท้องฟ้า ซึ่งชายร่างใหญ่น่าเกรงขามที่ทำหน้าที่ดูแลควบคุมคนจำนวนมากหน้าหลายตาในพื้นที่ไม่กี่ไร่ แต่อบอวลไปด้วยกลิ่นเหม็นสาบในคนจำนวนร้อยพัน

เยาวชนนักเขียนบางคนลงลึกไปถึงอาชีพ สถานที่ นิสัยใจคอ สิ่งที่แหล่งข้อมูลทำอยู่ในขณะนั้น จากการสังเกตการณ์จากภาพถ่าย

เป็นคนที่มีบุคลิกสุภาพเรียบร้อยค่อนไปในทางธรรมะ ดูมีภูมิฐานคล้ายนักธุรกิจหรือนักการเมือง ดูสุขุม มีลักษณะรูปร่างที่สมส่วน หน้าผากกว้าง ใส่แว่น มีแก้ม ดูเป็นคนที่เลื่อมใสในธรรม เหมือนกำลังทำบางอย่างคล้ายการนั่งให้สัมภาษณ์ ซึ่งภาพพื้นหลังประกอบด้วยพระพุทธรูปและโต๊ะหมู่บูชา ดูไม่ใช่ที่วัด แต่อาจเป็นที่บ้านของเขา

และพวกเขาทุกคนล้วนเขียนเล่าออกมาแบบอิงตามโครงสร้างงานเขียน จึงถือเป็นการได้ฝึกทั้งเรื่องการใช้โครงสร้างและการบรรยายลักษณะตัวละครและฉากไปพร้อมในคราวเดียวกัน

writeforchange03

ในส่วนของตัวเรื่องเราใช้วิธีแกะรอย หรือเลาะตะเข็บจากตัวอย่างงานเขียนที่มีจุดเด่นในด้านต่างๆ

ตามหลักที่ว่าการเรียนรู้ที่ดีไม่ใช่แค่ฟังคำบอกเล่า แต่ต้องผ่านประสบการณ์มีส่วนร่วมให้ซึมซาบอยู่ในเนื้อในตัวของผู้เรียนเอง ผมจึงเลี่ยงการบรรยาย แต่ใช้วิธีสร้างเงื่อนไขให้เขาได้พบคำตอบและซึมซับเอาด้วยตัวเอง

ผมประทับใจคำกล่าวที่ว่า เวลาดูหนัง ๒ ชั่วโมงเราไม่ได้จดอะไร แต่จำเรื่องราวและเล่าถึงสิ่งที่เราประทับใจได้

การเรียนรู้เรื่องการเขียนก็ควรเป็นเช่นนั้น จดจำวิธีการต่างๆ ไว้ในใจ และนำออกมาใช้เป็นเครื่องมือในการเล่าได้ในทุกเรื่องเมื่อถึงเวลา

การอบรมวันถัดจากนี้จะเป็นการลงมือฝึกปฏิบัติการเขียน พวกเขาเข้าใจและประทับใจการเรียนรู้ในวันนี้มากน้อยแค่ไหน จะรู้ได้จากผลงานของเขา และเป็นผลงานที่เขาจะได้ถือกลับบ้านด้วย

และนัดต่อไปของการอบรมจะเป็นการลงพื้นที่ฝึกปฏิบัติการเขียนตามประเด็น ในพื้นที่ที่มีประเด็นเรื่อสิทธิมนุษยชน

เยาวชนคนรุ่นใหม่ในท้องถิ่นอีสานกลุ่มนี้จะใช้งานเขียนเพื่อการสื่อสารและสร้างเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยเพียงใด จะรู้ได้จากงานเขียนชิ้นนั้น

แต่การที่เขาได้รู้จักและเรียนรู้เรื่องการเขียนในวันนี้ ถือเป็นก้าวแรกของการสร้างความเปลี่ยนแปลงในตัวเขาเองแล้ว

เพราะการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ใดๆ ในโลก ล้วนเริ่มมาจากความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ในตัวปัจเจกบุคคลทั้งสิ้น


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา