เก็บตก
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี


salween proposed01

แม่น้ำสาละวินช่วงพรมแดนไทย-พม่า ฝั่งขวาคือจังหวัดแม่ฮ่องสอน

เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๑ เว็บไซด์ burmariversnetwork.org ของเครือข่ายแม่น้ำพม่า (Burma Rivers Network) ออกแถลงการณ์ “รัฐบาลพม่าต้องเรียนรู้จากกรณีเขื่อนวิบัติในลาว” (The Burmese government must learn from the dam disaster in Laos) เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าเร่งตรวจสอบความปลอดภัยของเขื่อนที่มีอยู่ และพิจารณาระงับโครงการสร้างเขื่อนใหม่

แถลงการณ์ดังกล่าวถูกร่างขึ้นภายหลังเหตุการณ์เขื่อนดินย่อยกั้นช่องเขาส่วน D (saddle dam D) ขนาดสันเขื่อนกว้าง ๘ เมตร ยาว ๗๗๐ เมตร สูง ๑๖ เมตร เสริมการกั้นน้ำรอบอ่างเก็บน้ำเซน้ำน้อยในโครงการเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย เมืองปากซอง แขวงจำปาศักดิ์ ทางตอนใต้ของลาวแตก เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินสูงมากเป็นประวัติการณ์ โดยมวลน้ำที่ไหลออกจากเขื่อนคาดว่ามากถึงราว ๕,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์สูงนับสิบเมตรซัดถล่มบ้านเรือน แปลงเกษตร ในหลายหมู่บ้าน อาทิ บ้านท่าบก หินลาด สมอใต้ ท่าแสงจัน ท่าหินใต้ ท่าบก ท่าม่วง ของแขวงอัตตะปือ ผ่านมา ๑ สัปดาห์คาดว่ามีผู้เสียชีวิตไม่น้อยกว่าสิบคน สูญหายหลายร้อยคน ประชาชนลาวประมาณ ๗,๐๐๐ คน ต้องสิ้นเนื้อประดาตัว เนื่องจากบ้านถูกน้ำท่วม ที่ทำกินได้รับความเสียหาย บ้านหลายหลังถูกกระแสน้ำพัดพาไปจนจำไม่ได้ว่าตัวบ้านเคยตั้งอยู่ตำแหน่งใด

นอกจากหมู่บ้านในแขวงอัตตะปือของลาวที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก จากการที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนตั้งอยู่บนภูเขา ต้นทางของแม่น้ำที่เซเปียนที่ไหลลงมาบรรจบกับแม่น้ำเซกอง ซึ่งไหลไปออกแม่น้ำโขงในประเทศกัมพูชา ทำให้ชาวกัมพูชาที่อาศัยอยู่ตามแนวแม่น้ำเซกองไหลผ่านอยู่ในพื้นที่รับน้ำจากเหตุการณ์เขื่อนวิบัติ มีรายงานว่าชาวบ้านในเขตสตึงเตร็งของกัมพูชานับหมื่นคนต้องอพยพไปอยู่ที่ปลอดภัย

salween proposed02

แถลงการณ์เครือข่ายแม่น้ำพม่า (Burma Rivers Network) เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าเรียนรู้ความผิดพลาดจากกรณีเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยในลาวแตก

salween proposed03

แผนที่แสดงโครงการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน จะเห็นว่าเขื่อนฮัตจีตั้งอยู่ทางใต้ของพรมแดนไทย-พม่า ก่อนแม่น้ำสาละวินไหลลงสู่ทะเลอันดามัน (ภาพ : เครือข่ายสาละวินวอชต์)

salween proposed04

กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ไทยใหญ่ คะเรนนี รวมตัวบริเวณหาดทรายริมแม่น้ำสาละวิน หน้าค่ายผู้ลี้ภัยสงครามอิตุท่า รัฐกะเหรี่ยง ฝั่งตรงข้ามอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เรียกร้องสันติภาพและขอให้หยุดโครงการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๑ ตรงกับวันหยุดเขื่อนโลก (ภาพ : เพียรพร ดีเทศ)

แถลงการณ์ของเครือข่ายแม่น้ำพม่าแสดงความเสียในอย่างสุดซึ้งต่อความสูญเสียทั้งหมดที่เกิดขึ้นในลาว ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าดำเนินการตรวจสอบความปลอดภัยของเขื่อนต่างๆ ในประเทศ และพิจารณาระงับโครงการการสร้างเขื่อนใหม่

แถลงการณ์ระบุว่า ทุกวันนี้ในพม่ามีเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่จำนวน ๒๖ แห่ง และมีอีก ๕๐ แห่งอยู่ในแผนที่จะก่อสร้าง เขื่อนส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นเพื่อผลิตไฟฟ้าส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ยกตัวอย่างโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำฮัตจีที่จะขายไฟฟ้าให้ไทย เป็น ๑ ใน ๔ เขื่อนตามโครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน ร่วมกับอีก ๓ เขื่อน คือ เขื่อนท่าซาง/มายตง เขื่อนตากวิน และเขื่อนเว่ยจี โดยโครงการเขื่อนฮัตจีมีบริษัทต่างชาติเกี่ยวข้องกับการลงทุน คือ บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชันแนล จำกัด อันเป็นบริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท Sino-hydro Corporation limited ซึ่งเป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจของจีน

โครงการเขื่อนฮัตจีมีแนวโน้มว่าจะสร้างกั้นแม่น้ำสาละวินที่เมืองพะอัน รัฐกะเหรี่ยง ห่างจากชายแดนไทยที่อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอนไปทางท้ายน้ำสาละวินประมาณ ๔๗ กิโลเมตร มีกำลังผลิตติดตั้งประมาณ ๑,๓๖๐ เมกะวัตต์ ขายให้ไทยประมาณ ๑,๑๙๐ เมกะวัตต์ ลำเลียงกระแสไฟฟ้าผ่านสายส่งเข้ามาทางอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก แล้วส่งต่อไปยังสถานีไฟฟ้าแรงสูงพิษณุโลกที่อยู่ห่างออกไปประมาณ ๓๐๐ กิโลเมตร

พื้นที่ตั้งเขื่อนฮัตจีเต็มไปด้วยทรัพยากรป่าไม้ที่เป็นพรรณไม้หายาก อาทิ ต้นสักในป่าสักผืนใหญ่ แตกต่างจากป่าสักในเมืองไทยที่เป็นหย่อมๆ กระจัดกระจายไม่ต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีภูมพฤกษ์แบบอินเบอร์ม่า (Indo-Burmese province) ประกอบด้วยสังคมป่าไม้หลายรูปแบบ เช่น ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าผสมผลัดใบ ป่าริมน้ำ ป่าผาหินและยอดเขาหินปูน เป็นต้น มีความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ป่าหายาก อาทิ กวางผา เลียงผา กระทิง เสือโคร่ง เสือดาว ฯลฯ นอกจากเขื่อนจะถูกสร้างบนแม่น้ำสาละวินแล้ว บริเวณที่ตั้งเขื่อนและอ่างเก็บน้ำยังกระทบส่วนที่เป็นลำน้ำสาขาอย่างแม่น้ำเมยซึ่งเป็นแหล่งวางไข่ของปลา

นอกจากผลกระทบในทางนิเวศวิทยา ประเด็นสำคัญที่ทางเครือข่ายแม่น้ำพม่าห่วงกังวลอย่างมากคือที่ตั้งโครงการเขื่อนฮัตจีอยู่ในพื้นที่ขัดแย้งระหว่างกองกำลังรัฐบาลพม่ากับกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือเคเอ็นยู (KNU) มีรายงานว่าชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอหรือชาวกะเหรี่ยงรอบอ่างเก็บน้ำมีความเสี่ยงต่อการถูกคุกคามโดยกองทัพพม่าอย่างน้อย ๔๑ หมู่บ้าน ซึ่งอาจส่งผลให้มีการอพยพหนีภัยสงครามข้ามมาฝั่งไทย
การสร้างเขื่อนฮัตจีเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจึงอาจส่งผลกระทบให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงตามมา เช่นเดียวกับเขื่อนอื่นๆ ในพม่าที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์

ที่ผ่านมามีการคัดค้านการสร้างเขื่อนในพื้นที่ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์มาโดยตลอด เนื่องจากเล็งเห็นถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นตามมา ยิ่งเกิดเหตุการณ์เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยในลาวแตกก็ยิ่งตอกย้ำให้ชาวบ้านรู้สึกขวัญผวา จนเป็นที่มาของแถลงการณ์ “รัฐบาลพม่าต้องเรียนรู้จากกรณีเขื่อนวิบัติในลาว” ของเครือข่ายแม่น้ำพม่า ที่มีเนื้อหาตอนท้ายของแถลงการณ์ ถอดข้อความของ มิ อา ช่าย ชาวพม่าเชื้อสายมอญคนหนึ่งด้วยความห่วงกังวลว่า “เหตุการณ์เขื่อนวิบัติในลาวต้องปลุกให้รัฐบาลพม่าตื่นรู้ เริ่มดำเนินการตรวจสอบความปลอดภัยของเขื่อนทุกแห่งที่มีอยู่ และพิจารณาระงับโครงการสร้างเขื่อนใหม่”

อย่างน้อยๆ ก็จนกว่าไฟแห่งความความขัดแย้งจะมอดไหม้และเกิดประชาธิปไตยในพม่า

  • ขอขอบคุณ คุณเพียรพร ดีเทศ

tei

ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

อีกภาคหนึ่งของ “เจ้าชายหัวตะเข้” นักเขียนสารคดีที่เรียนจบมาด้านวิทยาศาสตร์ สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม และกีฬาเป็นพิเศษ