ชื่อจริงและชื่อเล่น (๕)

ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


pnk bw

หัสนิยายชุด “พล-นิกร-กิมหงวน” ถือเป็น “จดหมายเหตุ” สังคมไทยที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ข้อมูลยุคทศวรรษ ๒๔๗๐-๒๕๐๐ จำนวนมากที่อาจหาไม่ได้ในที่อื่นใด ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมือง ถูก ป. อินทรปาลิต บันทึกเอาไว้ในนั้น ผ่านเรื่องราวที่ดูเผินๆ เหมือนเป็นแค่หนังสืออ่านเล่นตลกๆ

เรื่องเล็กๆ อย่างหนึ่งที่ขอหยิบมาเป็นตัวอย่างคือ เมื่อใดก็ตามที่ “อาเสี่ยกิมหงวน” หรือ “สงวน ไทยแท้” มหาเศรษฐีหนุ่มลูกจีน ร่างผอมสูง เกิดรู้สึก “หมั่นไส้” พระยาปัจจนึกพินาศขึ้นมา สรรพนามที่ใช้เรียกขานจะเปลี่ยนจาก “คุณอา” ที่พูดติดปากในยามปกติ เป็น “เจ้าคุณ” ทันที

ทั้งที่มิได้เป็นการหยามหมิ่น หรือลบหลู่อะไรเลย แต่พอได้ยินอย่างนั้น ท่านเจ้าคุณผู้อัตคัดเกศาก็ต้อง “เป็นฟืนเป็นไฟ” ขึ้นมา (ภาษาสมัยนี้ก็ต้องบอกว่า “หัวร้อน”)

สาเหตุเพราะการกระทำเช่นนั้นเท่ากับว่าอาเสี่ยซึ่งปกติท่านก็เอ็นดูเหมือนลูกเหมือนหลานคนหนึ่ง กลับเห็นท่านเจ้าคุณเป็น “คนอื่น” ถึงขนาดไม่ยอม “นับญาติ” กันอีกต่อไป

ธรรมเนียมการ “นับญาติ” โดยมิต้องเป็นญาติกันจริงๆ แบบนี้ เป็น “วัฒนธรรมหมู่บ้าน” ของไทย ที่ตกค้างมาจนถึงยุคที่สังคมไทยเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ “สังคมเมือง” สมัยใหม่

ในอดีต ชุมชนคนไทยมักเป็นการตั้งถิ่นฐานทางฝ่ายภรรยา คือผู้ชาย “แต่งเข้า” หรือที่ศัพท์วิชาการสังคมวิทยา-มานุษยวิทยาภาษาฝรั่งเรียกว่า matrilocal residence หรือ matrilocality ได้แก่การที่หลังจากแต่งงานแล้ว เจ้าบ่าวย้ายเข้าไปอยู่บ้านเจ้าสาว โดยอาจอยู่ในบ้านเดียวกับพ่อตาแม่ยายไปก่อนสักระยะหนึ่ง แล้วจึงค่อยขยับขยายมาปลูกบ้านของตัวเองในบริเวณใกล้เคียง เมื่อเป็นดังนั้น เด็กๆ รุ่นลูกที่เกิดมาจึงเติบโตขึ้นท่ามกลางวงศาคณาญาติข้างแม่ อันเต็มไปด้วย “ยาย-ตา” “ป้า-ลุง” และ “น้าๆ”

จนถึงสมัยหลังๆ ก็ยังคงเหลือร่องรอยนี้ตกค้างอยู่บ้าง เช่นคนไทยมักเรียกคนแก่ๆ ว่า “ตา/ยาย” มากกว่า “ปู่/ย่า” รวมถึงเรียกคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จัก แต่เดาเอาว่าอายุคงน้อยกว่าพ่อกว่าแม่ ว่า “น้า” ซึ่งถือเป็นคำเรียกเชิงยกย่องด้วยซ้ำ

ย้อนกลับมาที่พล-นิกร-กิมหงวนอีกที

ส่วนการที่กิมหงวนเรียกท่านเจ้าคุณว่า “คุณอา” คงเป็นเพราะพระยาปัจจนึกฯ เป็นบิดาของประไพและประภา คือเป็น “พ่อตา” ของเพื่อนสนิท ดังนั้นที่ผ่านมา กิมหงวนจึงนับเอาเจ้าคุณท่านเป็นเหมือนญาติข้างพ่อด้วย แต่เมื่อไม่ยอมเรียกอย่างนั้นแล้ว จึง “เป็นเรื่อง” อย่างที่เขียนเล่าไว้แต่ต้นนั่นเอง

หลายสิบปีต่อมา เดี๋ยวนี้การไปเรียกคนแปลกหน้าด้วยคำเรียกญาติ เช่น “คุณลุง/คุณป้า” ตามอย่างวัฒนธรรมหมู่บ้านแต่เดิม หรือแม้กระทั่งการไปเรียกใครว่า “พี่” กลับดูเป็นการละลาบละล้วงเสียแล้ว โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นกลาง ซึ่งหมกมุ่นกับเรื่อง “ชนชั้น” เป็นพิเศษ

พนักงานขาย (ซึ่งชนชั้นกลางหยามหมิ่นว่าเป็นคน “อีกชั้นหนึ่ง”) จึงถูกสอนให้เรียกผู้ที่มาจับจ่ายใช้สอยว่า “คุณลูกค้า” แทน

หรือในห้างสรรพสินค้าบางแห่งที่ต้องการความโก้หร่านยิ่งขึ้นไปอีก ถึงกับให้พนักงานใช้สรรพนามแทนลูกค้าว่า “คุณผู้หญิง/คุณผู้ชาย”

ฟังแล้วน่าขนลุกพิกล!

pnk bw


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี