งานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 14
งานภาพดีเด่น
อิสรากรณ์ ผู้กฤตยาคามี :เรื่อง
ธนกาญจน์ ชุ่มจิตต์ : ภาพ

โขนวัยจิ๋ว : เบื้องหลังเด็กเล่นโขน

เสียงวงปี่พาทย์ดังกังวานเด่นด้วยระนาดเอกตามเครื่องกระทบรัวเป็นจังหวะ ประกอบเสียงพากย์บทอันเป็นเอกลักษณ์

“บัดนั้น พระรามร้อนรุ่มกลุ้มใจ เจ้ายักษ์ทศพักตร์บังอาจนักเอาคนรักของเราไป”

นักแสดงวัยจิ๋วต่างออกมาวาดลีลาอันสง่างามและอ่อนช้อยตามบทโขนของตน

khonkid01

หัวโขนที่ทำขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของครูชูชีพ ขุนอาจ เริ่มแรกจากการลองผิดลองถูกและใช้วิชาความรู้ที่มีและฝีมืองานช่างที่สั่งสมมานานจากการทำฉากประกอบภาพยนตร์ เพียงเพื่อหวังให้คนรุ่นต่อไปได้สืบทอดศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของไทย

khonkid02

ทุกๆ วันเสาร์-อาทิตย์เด็กๆ จะมาเรียนโขน ครูชูชีพ ขุนอาจ รับสอนโขนให้เด็กตั้งแต่อายุ 5 ขวบขึ้นไป ผู้ใหญ่ที่สนใจจริงๆ ก็สามารถมาเรียนได้

khonkid03

ผ้านุ่งสีแดงหมายถึงความเฉลียวฉลาด ตั้งใจ และแม่นยำ และเป็นสีภาคหนึ่งขององค์พระพิฆเนศกายสีแดง เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ เปรียบเสมือนให้เด็กได้วิชาความรู้มาประดับตน ถ้าผ้านุ่งที่ผู้สวมใส่เป็นสีกรักหมายถึงความเป็นครูผู้สำเร็จวิชาและพร้อมจะถ่ายทอดขั้นต้นจะเรียกว่าประสิทธิ์ประสาทด้วยผ้าแดง เสื้อขาวหมายถึงทางธรรม แสดงถึงความสะอาดและพร้อมที่จะรับความรู้มาแต่งเติมสีให้กับตน

ประสิทธิ์ประสาทด้วยผ้าแดง

โอ๊ย…เจ็บ… โอยย

เสียงโอดครวญของเด็กๆ ที่สวมใส่เสื้อขาวนุ่งผ้าแดง นั่งเรียงแถวฝึกตน เป็นความอ่อนช้อยที่แลกมาด้วยความเจ็บปวดยากเกินกว่าใครจะเข้าใจ
กดลงไปอีก ย่อลงไป พยายามอีก! เสียงเข้มของ ชูชีพ ขุนอาจ ครูผู้สอนโขนให้กับเด็กหลากหลายวัย

โขนเป็นศิลปวัฒนธรรมร่วมหลายประเทศ ในไทยมีทั้งที่เชื่อว่ารับวัฒนธรรมโขนมาจากหนังใหญ่ของขอมที่มีหลักฐานเป็นภาพสลักการกวนเกษียรสมุทรที่นครวัดซึ่งเป็นต้นแบบให้ราชสำนักไทย มีการละเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ในพิธีอินทราภิเษก และบ้างเชื่อว่ารับวัฒนธรรมรามายณะจากอินเดีย ซึ่งสลักรูปไว้ที่ปราสาทหินพิมาย (อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา)

“โขนมาจากวัฒนธรรมขอม โขนตรงหัวเรือก็ใช่ จึงเรียกครอบโขนเรือเหมือนกันกับการแสดงโขน” ครูสอนโขนวัย 62 ปีเล่าที่มา

ครูชูชีพเป็นหลานของ สาคร ยังเขียวสด ผู้ก่อตั้งคณะการแสดงหุ่นละครเล็กโจหลุยส์ จึงคุ้นเคยกับศิลปะนาฏกรรมตั้งแต่อายุ 14 ปี แสดงได้ทั้งโขน ลิเก รวมถึงละคร จนปัจจุบันได้มาก่อตั้งศูนย์ศิลปวัฒนธรรม ภายในมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เพื่อสืบสานวัฒนธรรมโขนและช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสให้มีวิชาชีพติดตัว

“เริ่มถ่ายทอดความรู้ครั้งแรกปี 2542 คนแรกพ่อแม่อยู่ในเรือนจำมาขอเงินเราใช้ ขอไปขอมาเราก็สอนโขนให้ ไปแสดง คนชอบดูการแสดงก็ให้เงินเด็กเลยไปชวนเพื่อนมาเรียนโขนเพิ่มอีก เริ่มจากตอนนั้นรุ่นแรกรวมกันได้เกือบ 40 คน บางคนอยู่กินกับเราเลยจนกระทั่งโตก็ออกกันไป แต่ยังติดต่อเสมอ”

ครูยังเล่าให้ฟังอีกว่าในปัจจุบันเด็กที่เข้ามาเรียนรู้โขนเป็นพ่อแม่ที่พามาทั้งหมดเนื่องจากอยากให้ลูกศึกษาศิลปวัฒนธรรมไทยและเผื่อมีโอกาสได้นำไปประกอบอาชีพในอนาคต ซึ่งครูไม่เคยเก็บเงินค่าสอนสักบาท

ภาพครูและเด็กสวมใส่ชุดในการเรียนการสอนโขนแทบไม่ต่างกันเลยิ จะต่างกันก็เพียงเฉดสีเท่านั้น นักเรียนนุ่งผ้าสีแดงสด ส่วนครูนุ่งผ้าสีกรัก (สีแดงเข้ม) ชวนให้สนใจในความหมาย

“ฟังนะลูก ผ้าแดงหมายถึงความเฉลียวฉลาด ตั้งใจ และแม่นยำ เป็นสีภาคหนึ่งขององค์พระพิฆเนศกายสีแดง ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ เปรียบเสมือนให้เด็กได้วิชาความรู้มาประดับตน ส่วนสีกรักหมายถึงความเป็นครูผู้สำเร็จวิชาและพร้อมจะถ่ายทอด ถ้าขั้นต้นจะเรียกกันว่าประสิทธิ์ประสาทด้วยผ้าแดง ส่วนเสื้อขาวในทางธรรมหมายถึงความสะอาดและพร้อมที่จะรับความรู้มาแต่งเติมสีให้กับตน” ครูอธิบายพลางสอนท่วงท่าโขนให้กับเด็กๆ ทำและร้องไปพร้อมกัน

khonkid04

ท่าดัดตัว เตรียมความพร้อมของร่างกายก่อนการเรียนโขน

khonkid05

ลิงสู้ยักษ์

khonkid06

ท่าต่อตัวในฉากยกรบระหว่างศึกพระรามรบยักษ์ ต้องใช้แรงกายและทักษะจากการอดทนฝึกฝนจนชำนาญ

ยืด-ยก-กระทบ-จัดท่า

“ถ้าจะดูโขนให้เป็นก็ต้องเล่นโขนได้” ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยฝากถ้อยอักษรเอาไว้เมื่อยามก่อตั้งโขนธรรมศาสตร์ขึ้นในประเทศไทย
มาทั้งทีถ้าไม่ลองเล่นดูก็เหมือนพลาด

ครูให้เริ่มทำท่าลิงเหมือนน้องๆ เท้าชิด ยกลอย และย่อเข่ากางขาออก มือข้างหนึ่งทำท่าจีบนิ้วส่วนอีกข้างหงายออก ความยากคือการอดทนต่ออาการเมื่อยและเจ็บเท้าเป็นอย่างมาก

ไม่นานครูก็เริ่มให้น้องขยับโดยการนับเป็นจังหวะควบคู่กับการออกเสียง

“ตบขาขวา ยกขาซ้าย กระทบ ยกเท้าขวา ตุ้มมะตุ้มมะ ตุ้มตุ้ม”

ดูเหมือนจะง่าย พอได้ลองเองจึงรู้ว่าเข้าใจยาก อย่างจังหวะที่ต้องยกเท้าขวา มือต้องหงาย อีกส่วนค้างนิ้วจีบ เมื่อวางเท้าลงมือต้องกางออก ความมึนเข้าผสมโรงความเมื่อยที่ค้างคาอยู่เริ่มออกอาการฝืนธรรมชาติ ในที่สุดจึงตัดสินใจขอยืนดูน้องๆ ซ้อมกันดีกว่า

ครูเล่าเสริมว่า ในความเป็นจริงสำหรับน้องๆ เริ่มเข้าเรียนใหม่จะต้องเรียนเป็นอย่างแรกคือการถองสะเอวหรือกระทุ้งศอก โดยผู้ฝึกจะต้องนั่งพับเพียบ ใช้ข้อศอกขวา-ซ้ายกระทุ้งที่สะเอว ขณะกระทุ้งข้อศอกขวาศีรษะต้องเอนไปทางซ้าย หากเป็นขวาก็สลับกันทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เพื่อแยกส่วนประสาทสัมผัสเสียก่อน

ต่อมาคือการยืดตัว ยืดนิ้ว ยืดขา เพื่อให้ร่างกายได้คุ้นชินกับท่าทางที่ชดช้อยของการเรียนโขน โดยครูได้สาธิตท่าที่ใช้ในการซ้อมยืดคือท่าถีบเหลี่ยม ซึ่งเป็นท่าทางที่เด็กๆ จะต้องยืนกางขาออกสองข้างในลักษณะตั้งท่าโขน พร้อมกับมือเท้าสะเอว และครูผู้สอนจะใช้ผ้าโอบรอบเอวและดึงส่วนสะโพกมาข้างหน้าพร้อมกับใช้ขาถีบไปยังต้นขาของเด็กให้ยืดออก ซึ่งเด็กๆ จะต้องต้านแรงของผ้าพร้อมกับต้องยกขาขวา-ซ้ายสลับตามจังหวะที่ร้องว่า ตุ้มมะตุ้มมะ ตุ้มตุ้ม

สีหน้าและเสียงโอดโอยคือเบื้องหลังของความสวยงามที่แลกมาด้วยความอดทน

ความอดทนเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น้องๆ ต้องผ่านไปให้ได้ แน่นอนว่าความท้อความเหนื่อยจะเข้ามาเป็นอุปสรรคและบททดสอบ

“เราต้องคอยให้กำลังใจ เวลาไปแสดงงานที่ต่างจังหวัดก็จะถือโอกาสพาเที่ยวด้วยเลย หรือบางโอกาสเราก็เลี้ยงอาหารมื้อพิเศษที่เด็กๆ ชอบ เพราะในวัยวุฒิของเด็กจะให้มีสมาธิทั้งวันก็คงยาก ต้องแบ่งเวลาที่พอดี ช่วงไหนพักก็เล่นเต็มที่ แต่ช่วงไหนเรียนก็ต้องเต็มที่เช่นกัน”

ในขณะที่ครูกำลังอธิบายภาพตรงหน้า น้องๆ กำลังซ้อมท่าลอยสูง ตอนยกรบ พระรามรบทศกัณฐ์ ซึ่งท่านี้ใช้ทั้งหมด 11 คนในการแสดง ประกอบด้วยยักษ์ 4 ตน ลิง 4 ตัว พระลักษมณ์ พระราม และทศกัณฐ์

ความยากของท่านี้คือการต่อตัวขึ้นไปพร้อมกันสี่คน ตามด้วยฉากเด่น พระรามรบทศกัณฐ์ ที่คู่นักแสดงเป็นทศกัณฐ์ต้องแข็งแรงมากเนื่องจากต้องให้พระรามอยู่ข้างบนแล้วยังต้องขยับเท้าและเดินไปด้วยเพื่อให้ผู้ชมเห็นได้รอบด้าน ความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ต้องคำนึง ดังนั้นการซ้อมบทนี้จึงต้องระมัดระวังอย่างที่สุด

ภาพที่ได้เห็นสง่างามและลุ้นมาก สุดท้ายการแสดงผ่านไปได้ด้วยดี ไม่น่าเชื่อว่าเด็กๆ ที่แสดงโขนสามารถทำได้ถึงขนาดนี้

แต่ละท่า มีน้ำหนัก การเน้น การย้ำ การวางท่า ช่องว่างระหว่างตัวแสดง แต่ละท่าที่เกิดจากแขนขา สัดส่วน และพลังของการฝึกซ้อมอย่างหนักจนแม่นยำ จึงเกิดเป็นภาพที่งดงามทางศิลปะและสร้างความประทับใจแก่ผู้ชม

khonkid07

ส่วนใหญ่จะใช้การเปิดเทปในการสอนและแสดงโขนของนักเรียน แต่เสียงบรรเลงระนาดของครูชูชีพ ขุนอาจ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการสอน

khonkid08

ครูชูชีพ ขุนอาจ สอนโขนมาแล้ว 14 ปี รุ่นแรกๆ จะรับสอนเด็กที่ขาดโอกาสโดยไม่คิดค่าสอน และจะพาเด็กๆ เหล่านี้ไปแสดงตามงานต่างๆ เพื่อให้พวกเขามีรายได้

khonkid09

เด็กแต่ละคนเปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์ที่หว่านเพื่อหวังจะให้เติบโตและกระจายเมล็ดพันธุ์ต่อๆ ไป เป็นความหวังที่จะได้ช่วยเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมโขนให้กระจายออกไปอย่างกว้างขวาง

khonkid10

“เคยมีคนชวนไปอยู่ต่างประเทศไปเล่นโขนให้ฝรั่งดู ถ้าตอนนั้นคิดตัดช่องน้อยแต่พอตัว ป่านนี้คงสบายไปแล้ว แต่ที่ยอมลำบากตรงนี้เพราะสบายใจมากกว่า”

หลังม่านแสดงโขน

“การแสดงโขนต้องใช้ท่าทางที่ละเอียด ซึ่งยากในการสอน แต่เด็กส่วนใหญ่ที่มาจะชื่นชอบอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ทำให้การสอนไปได้เร็ว” ปัฐมาวดี ขอปะกลาง ภรรยาครูชูชีพ เด็กๆ มักเรียกว่าแม่กุ้ง ที่ร่วมเป็นครูสอนโขนอีกท่าน

“เด็กเค้ามาต่างคนต่างพื้นที่ เราก็ต้องสอนเหมือนกันหมดไม่ว่าจะอายุเท่าไร เดี๋ยวใครทำได้เด็กๆ ก็จะแนะนำกันเอง ช่วยเหลือกัน” แม่กุ้งเล่าให้ฟังถึงการช่วยเหลือกันของเด็กๆ ในขณะซ้อม

ตรงนี้ตรงกับภาพที่เราเห็น คือน้องๆ ช่วยเหลือกันตลอด ใครจำท่าทางได้ก็จะคอยช่วยเหลือน้องที่เล็กกว่าหรือเพื่อนๆ ที่ท่าทางยังไม่ค่อยได้ หรือแม้แต่ตอนผูกผ้าแดงก่อนเริ่มเรียน น้องๆ ก็ช่วยกันผูกช่วยกันมัด

จารุพัฒน์ ทาทุบแป้น เด็กชายอายุ 11 ขวบ ที่ได้เล่นเป็นตัวลิงเล่าให้ฟังว่า “ตอนแรกๆ ยังไม่ค่อยรู้จักวัฒนธรรมพวกนี้ แต่พอเริ่มได้มาเรียนเริ่มเข้าใจและชอบครับ ครูให้พวกเรารู้จักกัน รักกัน ให้อภัยกัน รู้จักความเป็นพี่เป็นน้อง เหมือนพี่ๆ เค้าทำได้ก็จะคอยช่วยสอนตลอด ยากที่สุดคือการต่อตัวเพราะต้องใช้ความแม่นยำและความพอดี”

อีกทั้งนักแสดงลิงวัยจิ๋วยังบอกอีกว่า วัฒนธรรมไทยเป็นสิ่งสำคัญอยากจะรักษาเอาไว้ ที่สำคัญคือมีความฝันอยากเป็นครูโขน เด็กชายมาเรียนโขนพร้อมกับพี่สาว จุฑาทิพย์ ทาทุบแป้น นักเรียนชั้น ป.6 ซึ่งดูจะเป็นพี่ใหญ่ในบรรดาเด็กๆ ที่มาเรียนโขน

“หนูมีความฝันอยากเป็นครูสอนรำค่ะ อยากเข้าโรงเรียนนาฏศิลป์ เวลาขึ้นเวทีตื่นเต้นมากๆ เลยค่ะและภูมิใจมากๆ ด้วย ส่วนตัวที่แสดงหนูชอบพระรามที่สุดค่ะ เพราะมีท่าทางที่นุ่มนวลและอ่อนโยน” พี่ใหญ่เล่าด้วยน้ำเสียงที่สดใส

เธอยังเล่าให้ฟังว่าชอบท่าทางของพระราม ดูเท่และสง่างาม แต่เธอมักได้เล่นเป็นยักษ์เนื่องจากเธอตัวสูงกว่าน้องๆ ที่มาฝึก และปรกติเธอจะทำการบ้านให้เสร็จตั้งแต่ที่โรงเรียนเพื่อเวลามาซ้อมจะได้ซ้อมอย่างเต็มที่ เป็นการแบ่งเวลาที่ลงตัว

ปริญญา พนาวาส หนึ่งในผู้ปกครองที่มารอรับเด็กๆ เล่าให้ฟังว่า เริ่มจากเห็นเพื่อนมาเล่นโขนเลยขออนุญาตมาเรียนด้วย ปรากฏว่าชอบและสนใจ ยิ่งเป็นวัฒนธรรมไทยก็ยิ่งสนับสนุนเข้าไปใหญ่

“เมื่อก่อนมาส่งไม่เคยดูซ้อมพอเรามาดูจริง ตกใจว่าเค้าทำได้ขนาดนี้เลย พอออกงานก็ตกใจอีกว่าเป็นงานใหญ่ๆ แทบทั้งสิ้น แน่นอนว่าในมุมพ่อแม่เราก็ภูมิใจ ผู้ปกครองหลายคนมักมองว่าถ้าเรียนไปจะเอาไปทำอะไร ไปประกอบอาชีพอะไร ไม่ได้มองว่าน้องๆ เค้ามีใจรัก อยากเรียนจริงๆ เรื่องเวลาเราก็ต้องจัดสรรให้น้องๆ ระหว่างการเรียนและการซ้อมก็ต้องพอดีกัน ไม่มากไปหรือน้อยไป สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนในตัวน้องๆ หลังจากมาเรียนคือน้องเค้านิ่งขึ้น มีสมาธิ อดทน เรื่องมารยาทความกล้าแสดงออกเพราะเมื่อก่อนเป็นคนไม่กล้าแสดงออกเลย ตรงนี้น้องเค้าอาจจะยังไม่รู้ตัว แต่ทั้งหมดก็สามารถซึมซับผ่านการเรียนโขนได้”

ตัวเขาเชื่อว่าวัฒนธรรมในบ้านเราส่วนใหญ่หากไม่มีผู้สืบทอดมักจะหายหรือค่อยๆ เลือนหายไป ดังนั้นหากเป็นไปได้ก็อยากให้หลายคนหันมาสนใจและใส่ใจวัฒนธรรมในบ้านเรากันมากขึ้น

ได้ฟังมาทั้งหมดจึงย้อนกลับไปถามครูชูชีพว่า “ได้อะไรจากการสอนโขนบ้าง”

“ส่วนตัวผมสิ่งที่ได้สำคัญที่สุดคือความสุข ดีกว่าทุกอย่าง แน่นอนว่าเด็กนำความภาคภูมิใจมาให้กับเรา ความภาคภูมิใจสูงสุดที่ได้ทำคือ นำโขนครูชูชีพถวายการแสดงหน้าพระพักตร์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้รับรางวัลครูไทยของแผ่นดิน ประจำปี 2559

“แต่ทั้งหมดที่ผมทำ คือได้หว่านเมล็ดวัฒนธรรมลงไปในเด็กๆ รอให้วันหนึ่งเมล็ดเหล่านั้นจะผลิดอก ออกใบ ออกผล และเพื่อขยายต่อไปรุ่นสู่รุ่น เพื่อสืบสานวัฒนธรรมให้คงอยู่”

การแสดงสิ้นสุดลง นักแสดงต่างถอดหัวโขน กลายมาเป็นเพียงเด็กธรรมดาคนหนึ่งที่ต้องการวิ่งเล่นและเรียนรู้อย่างเด็กธรรมดาทั่วไป แต่ด้วยความรัก ความตั้งใจ จึงเลือกที่จะเดินในถนนสายวัฒนธรรมนี้เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์โขนให้คงอยู่ วัฒนธรรมจะอยู่ต่อไปหรือไม่ ส่วนหนึ่งมาจากพวกเราทุกคนจะให้ความสนใจมากแค่ไหน ดั่งคำของคึกฤทธิ์ว่า “โขนจะอยู่ได้ก็ด้วยคนดูโขน”

อ้างอิง

  • นิธิ เอียวศรีวงศ์. โขน, คาราบาว, น้ำเน่า และหนังไทย. ศิลปวัฒนธรรม, หน้า 83-98.
  • วิมลศรี อุปรมัย. โขน นาฏกรรมและการละคร. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า 185-220
  • สุจิตต์ วงษ์เทศ. โขน เป็นวัฒนธรรมร่วมของอาเซียน ไม่เป็นของใครฝ่ายเดียว หรือพวกเดียว. มติชนออนไลน์.

ขอขอบคุณ

  • คุณชูชีพ ขุนอาจ
  • คุณปัฐมาวดี ขอปะกลาง
  • คุณปริญญา พนาวาส
  • ด.ช.จารุพัฒน์ ทาทุบแป้น
  • ด.ญ.จุฑาทิพย์ ทาทุบแป้น
  • ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี

writer09อิสรากรณ์ ผู้กฤตยาคามี
นักเขียนฝึกหัดผู้หลงรักในการอ่าน หลงใหลน้องหมาเป็นที่สุด เดินทางจากใต้ขึ้นไปเรียนถึงเชียงใหม่แต่มาใช้ชีวิตที่กรุงเทพเมืองฟ้าทุกวันนี้

………….

photographer09ธนกาญจน์ ชุ่มจิตต์
ชื่อเล่นโปงครับ ฝึกถ่ายภาพได้ปีครึ่ง รักธรรมชาติชอบเดินป่า ถ่ายภาพแมลง ชอบมองท้องฟ้าดูก้อนเมฆ ดูพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก ตั้งใจจะทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกข้าวด้วย