ชื่อจริงและชื่อเล่น (๗)
ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
ถ้าลองดูจากวรรณคดี เช่น ขุนช้างขุนแผน ซึ่งคงแต่งขึ้นราวสมัยอยุธยาตอนปลายต่อสมัยต้นกรุงเทพฯ เล่าเรื่องที่มาของชื่อตัวละครหลักคือ “ขุนช้าง” และ ”ขุนแผน” ไว้ว่า ขณะนางเทพทองผู้เป็นมารดาของขุนช้างเริ่มตั้งครรภ์ คืนหนึ่งฝันไปว่ามีนกตะกรุมหัวล้านตัวใหญ่คาบช้างเน่ามาวางให้ถึงที่นอน แล้วเมื่อคลอดลูกออกมาก็พอดีกับที่มีผู้นำช้างเผือกมาถวายสมเด็จพระพันวษากษัตริย์อยุธยา ปู่ย่าตายาย “จึงให้นามตามเหตุทั้งปวงมา หลานรักของข้าชื่อขุนช้าง”
ส่วนขุนแผนนั้น ไม่ได้ชื่อขุนแผนมาแต่กำเนิด ชื่อขุนแผน (ย่อจากขุนแผนแสนสะท้าน) เป็นราชทินนามที่ได้รับภายหลังเมื่อถวายตัวรับราชการ แต่ชื่อจริงตั้งแต่เมื่อยังเล็กๆ ที่ผู้ใหญ่ตั้งให้คือ “พลายแก้ว” ซึ่งมีที่มาว่า
“พ่อแม่ปรึกษากับย่ายาย จะชื่อหลานชายอย่างไรปู่ ฝ่ายตาตะแกเป็นหมอดู คิดคูณเลขอยู่ให้หลานชาย ปีขาลวันอังคารเดือนห้า ตกฟากเวลาสามชั้นฉาย กรุงจีนเอาแก้วอันแพรวพราย มาถวายพระเจ้ากรุงอยุธยา ให้ใส่ปลายยอดพระเจดีย์ใหญ่ สร้างไว้แต่เมื่อครั้งเมืองหงสา เรียกวัดเจ้าพระยาไทยแต่ไรมา ให้ชื่อว่าพลายแก้วผู้แววไว” |
ความฝันอย่างที่ว่านางเทพทองฝันเห็นนกตะกรุมคาบช้างเน่ามาให้นั้น คนไทยโบราณเรียกว่า “ฝันเข้าท้อง” คือความฝันของมารดาก่อนที่จะรู้ว่าตนเองตั้งครรภ์ เชื่อถือว่าเป็นเหมือนคำทำนายชะตาชีวิตของเด็กที่กำลังจะเกิด เมื่อมาประจวบเหมาะกับเรื่องที่ว่ามีช้างเผือกเข้ามาสู่พระบรมโพธิสมภารของพระเจ้าแผ่นดิน ถือเป็นนิมิตหมายอันดี ปู่ย่าตายายจึงตั้งชื่อให้แก่ลูกของนางเทพทองกับขุนศรีวิชัยว่า “ขุนช้าง”
ส่วนพลายแก้ว ลูกชายขุนไกรกับนางทองประศรี กลอนให้รายละเอียดเพิ่มเติมขึ้นไปอีกว่าผู้ใหญ่สองฝ่ายปรึกษาหารือกันแล้วผูกดวงโหราศาสตร์ให้ตามเวลาตกฟาก (เรียกตามเวลาที่คลอดออกมาแล้ว “ตก” ลงบน “ฟาก” คือไม้ไผ่สาน ที่รองรับ) ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมือง คือพระเจ้ากรุงจีนถวายลูกแก้วมาเป็นเครื่องมงคลบรรณาการแก่สมเด็จพระพันวษา จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ ยอดพระมหาเจดีย์วัดเจ้าพระยาไทย (บางท่านเชื่อว่าหมายถึงวัดใหญ่ไชยมงคล นอกเกาะเมืองอยุธยา) จึงเป็นนิมิตหมายให้ได้ชื่อ “พลายแก้ว”
ธรรมเนียมการเรียกขานชื่อด้วยเหตุสำคัญขณะตกฟากแบบขุนช้าง/พลายแก้วทำนองนี้ มีตัวอย่างจากประวัติ่ชีวิตของบุคคลจริงด้วย เช่นสมเด็จฯ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๕ ผู้ทรงเป็นต้นทางของนาม “โรงพยาบาลศิริราช” เมื่อคืนวันประสูติคือ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๔๒๘ เกิดฝนดาวตก แลเห็นได้ชัดเจนทั่วทั้งพระนคร บรรดาชาววังจึงออกพระนามกันโดยลำลองว่า “ทูลกระหม่อมดาวร่วง”
ดาวตกครั้งนั้นยังมีบันทึกไว้ในจดหมายเหตุรายวันส่วนพระองค์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ว่า “ตามเสด็จสมเด็จแม่ไปดูดาวตก เรายังไม่เคยเห็นเลย ตกมากจริง ๆ ลางทีก็เห็นย้อยลงมายาวคล้ายดอกไม้เพลิง…”