cave 1 e1536048635335

ภาพ : Thai Navy Seal

ปฏิบัติการช่วยเด็ก ๆ และโค้ชทีมหมูป่าฯ ที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย กลายเป็นข่าวดังระดับโลกในช่วง ๒-๓ สัปดาห์

นิตยสาร สารคดี ฉบับนี้พยายามสรุปประมวลเหตุการณ์มานำเสนอให้ผู้อ่านได้ย้อนรำลึกเท่าที่จะทำได้ครับ

แต่ต้องยอมรับว่าการบันทึกเหตุการณ์ให้ถูกต้อง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์นั้นยากมากเลยทีเดียว

ข้อจำกัดคือความสับสนของข่าวสารทั้งหมดที่เผยแพร่ออกมาตั้งแต่วันแรก จนไม่รู้ว่ามีความถูกต้องมากน้อยแค่ไหน และหลาย ๆ ประเด็นและรายละเอียดไม่ได้ถูกเปิดเผยโดยตรงจากผู้เกี่ยวข้องหรือผู้รู้จริง

ยกตัวอย่างแค่ต้นเรื่องว่าเด็กเข้าถ้ำไปทำไม ซึ่งเคยมีข่าวเล่าไปต่าง ๆ นานา ถ้าภายหลังไม่มีงานแถลงข่าวบอกเล่าจากปากโค้ชเอกและเด็กเอง ก็คงไม่มีใครรู้ว่าพวกเขาวางแผนจะไปเที่ยวถ้ำกันล่วงหน้าเป็นอาทิตย์แล้ว หรือกรณีทีมนักดำน้ำอังกฤษบางคนเพิ่งยอมให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวต่างประเทศในช่วงหลัง ก็ค่อย ๆ ทำให้เราเข้าใจว่ามีการค้นพบและช่วยเหลือเด็กอย่างไรชัดเจนขึ้นบ้าง  ไม่นับภาพไดอะแกรมการดำน้ำพาเด็กออกจากถ้ำที่หลายสำนักข่าววาดภาพอย่างสวยงาม แต่ภายหลังก็พบว่าไม่ตรงกับวิธีการช่วยเหลือตามที่เป็นจริง

เชื่อว่ายังมีผู้คนและการดำเนินการทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลัง และข้อเท็จจริงอีกมากที่ไม่ได้ปรากฏในข่าว

การบันทึกปฏิบัติการช่วยเหลือทีมหมูป่าฯ ให้ถูกต้องและครบถ้วนจึงเป็นเรื่องท้าทายมากเพราะต้องรวบรวมข้อเท็จจริงจากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ทุก ๆ แง่มุมมาปะติดปะต่อกัน หากต้องการบันทึกเป็นกรณีศึกษาในอนาคต

สำหรับนิตยสาร สารคดี ยอมรับกับผู้อ่านตรง ๆ ครับว่า เราอยู่ห่างไกลจากแหล่งข้อมูลชั้น ๑ มาก และรายละเอียดที่นำเสนอในฉบับนี้ก็น่าจะมีข้อผิดพลาดพอสมควรถ้ามีผู้รู้ตรวจสอบกันอย่างจริงจัง

ประเด็นหนึ่งที่เหตุการณ์ถ้ำหลวงสะท้อนให้เห็นชัด คือ การนำเสนอข่าวของคนไทยไม่ค่อยสนใจหรือให้ความสำคัญกับความรู้เกี่ยวกับถ้ำในเชิงวิทยาศาสตร์

ถ้ำและโพรงถ้ำเกิดจากอะไร ธารน้ำไหลในถ้ำมาจากไหน สภาพอากาศในถ้ำเป็นอย่างไร วิธีการสำรวจถ้ำที่ปลอดภัยควรทำอย่างไร

ในทางตรงข้ามเรากลับชอบประเด็นแนวลึกลับหรือปาฏิหาริย์เสียมากกว่า

ตอนพบทีมหมูป่าฯ ครั้งแรก พาดหัวข่าวส่วนใหญ่บอกว่าเป็น “ปาฏิหาริย์” เพราะนักดำน้ำวางเชือกหมดเส้นพอดี ถ้าเชือกสั้นกว่านั้นก็ไม่จะพบ หรือยาวกว่านั้นก็จะเลยไป  ภายหลังนักดำน้ำชาวอังกฤษออกมาอธิบายด้วยสีหน้านิ่ง ๆ ว่า การพบเด็กไม่ใช่เรื่องของโชคช่วย ทุกครั้งที่เขาดำน้ำเจอบริเวณโพรงถ้ำที่มีอากาศเหนือผิวน้ำ เขาจะโผล่ขึ้นจากน้ำและตะโกนถาม ซึ่งเป็นวิธีการปฏิบัติปรกติในการค้นหา

การพบทีมหมูป่าฯ จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เชือกหมด หรือปาฏิหาริย์

ยิ่งกว่านั้นเขายังอธิบายว่า ตอนนั้นเขาได้กลิ่นคนจึงรู้ว่ามีเด็กอยู่ ก่อนจะเห็นตัวและได้ยินเสียงเด็กเสียอีก

ข้อเท็จจริงของปฏิบัติการที่ถ้ำหลวงจึงอาจมีอีกหลายส่วนหลบอยู่ในความมืดของถ้ำ จนกว่าจะมีคนมาส่องไฟสว่าง ๆ

ผู้อ่านติดตามข่าวและเรื่องราวต่าง ๆ แล้วก็ต้องฟังหูไว้หูนะขอรับ แม้แต่ในนิตยสาร สารคดีฉบับนี้ก็ตาม

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสาร สารคดี
suwatasa@gmail.com