ศรัณย์ ทองปาน : รายงาน

กลับสู่ “บ้านเชียง” : เปิดประเด็นใหม่จากของโบราณ

ดร.จอยซ์ ไวท์ ในระหว่างการบรรยายที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (ภาพ : ศรัณย์ ทองปาน/นิตยสารสารคดี)

ปลายปี ๒๕๖๑ นี้ รายงานการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ตอนที่ ๒ เล่มเอ และบี ว่าด้วยการศึกษาวัตถุโลหะจากบ้านเชียงและแหล่งใกล้เคียง โดยมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย คงตีพิมพ์ออกมาเสร็จเรียบร้อย

ที่น่าทึ่งคือนี่เป็นรายงานการศึกษาโบราณวัตถุจากฤดูกาลขุดค้นปี ๒๕๑๗-๒๕๑๘ (ค.ศ. ๑๙๗๔-๗๕) หรือเมื่อ ๔๐ กว่าปีที่ผ่านมา

“การขุดค้นเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง คิดเป็นแค่ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือคือการศึกษาวิจัยทางโบราณคดี…”

ดร.จอยซ์ ไวท์ (Dr. Joyce C. White) ผู้อำนวยการสถาบันโบราณคดีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Institute of Southeast Asian Archaeology-ISEAA) มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ผู้เขียนและบรรณาธิการร่วมของหนังสือ อธิบาย

ดร.จอยซ์ เป็นนักโบราณคดีที่รู้จักแหล่งมรดกโลกบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี อย่างทะลุปรุโปร่งที่สุดคนหนึ่งในโลก ตั้งแต่เมื่อยังเป็นนักศึกษาปริญญาโท เธออยู่ในทีมนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ที่เข้ามาทำการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงร่วมกับกรมศิลปากรของไทยในช่วงปี ๒๕๑๗-๒๕๑๘ และหลังจากนั้น ประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็กลายเป็นเหมือน “บ้าน” อีกแห่งหนึ่งที่เธอแวะเวียนมาทำการศึกษาค้นคว้าด้านโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ในปีนี้ เธอเดินทางมาเมืองไทยอีกครั้งหนึ่งช่วงปลายเดือนกันยายน ๒๕๖๑ ด้วยเรื่องของ “บ้านเชียง” อีกครั้งหนึ่ง ในวาระเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ ครบ ๑๘๕ ปี

banchiang02

หุ่นจำลองแสดงการบันทึกหลักฐานในหลุมขุดค้นที่บ้านเชียง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง (ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช/นิตยสารสารคดี)

banchiang03

หลุมขุดค้นที่วัดโพธิ์ศรีใน บ้านเชียง (ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช/นิตยสารสารคดี)

พูดถึง “บ้านเชียง” คนทั่วไปอาจพอคุ้นหูกับชื่อ คุ้นตากับหม้อเขียนสีลวดลายสีแดง แหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ในจังหวัดอุดรธานีแห่งนี้ ปัจจุบันมีสถานะเป็นแหล่ง “มรดกโลก” ดร.วิชชุ เวชชาชีวะ รองอธิบดี กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ เล่าว่าการเลือกแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง มาจัดเป็นกิจกรรมหนึ่งเนื่องในวาระสำคัญนี้ ก็เพราะที่นี่คือกรณีตัวอย่างของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ในมิติที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ หรือเป็นเรื่องของ “คน” กับ “คน”

การ “ค้นพบ” แหล่งโบราณคดีแห่งนี้เองยังเกี่ยวข้องกับคนอเมริกันโดยตรง เพราะแม้ว่าชาวบ้านในชุมชนเคยพบเห็นโบราณวัตถุในหมู่บ้านมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย เริ่มมีครูในท้องถิ่นนำภาชนะดินเผาลายเขียนสีมาเก็บรักษาไว้ที่โรงเรียน รวมถึงกรมศิลปากรเองก็รับรู้ถึงการมีอยู่ของแหล่งโบราณคดีที่นี่ แต่บุคคลแรกที่ทำให้บ้านเชียงเป็นที่รู้จักในระดับโลก คือสตีเฟน ยัง (Stephen B. Young) บุตรชายของอดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ซึ่งเดินทางมาเก็บข้อมูลที่บ้านเชียงเพื่อทำวิทยานิพนธ์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เรื่องเล่าที่เป็นตำนานกล่าวว่า สตีเฟนเดินสะดุดรากต้นนุ่น หกล้มลงไปกับพื้น จึงสังเกตเห็นเศษภาชนะดินเผาลายเขียนสีปรากฏอยู่ตามผิวดิน เขาเลือกเก็บตัวอย่างกลับมาให้อาจารย์ชิน อยู่ดี ภัณฑารักษ์ของกรมศิลปากรตรวจสอบ รวมถึงมีการส่งต่อไปหาค่าอายุที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย จนนำมาสู่ความโด่งดังของแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ในเวลาต่อมา และการขุดค้นในโครงการความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ ดังกล่าว

ดร.จอยซ์ กลับมาเมืองไทยในปีนี้ พร้อมกับการนำเสนอประเด็นความสำคัญของบ้านเชียงที่มีต่อโลกสมัยใหม่ ดังที่เสนอในการบรรยายพิเศษ “บทเรียนจากบ้านเชียงสำหรับการแก้ปัญหาระดับโลก” ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๑ ว่าตามความเห็นของเธอ ยุคสำริดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย อันมีบ้านเชียงเป็นกรณีศึกษาสำคัญ มีลักษณะพิเศษที่ไม่ค่อยปรากฏในที่อื่นๆ ของโลก นั่นคือในหลายอารยธรรม การเปลี่ยนเทคโนโลยีเข้าสู่สมัยสำริด เมื่อสามารถผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ด้วยโลหะผสมระหว่างทองแดงกับดีบุกได้ มักมาพร้อมกับหน่ออ่อนของ “รัฐ” เช่นการควบคุม การรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง และการใช้ความรุนแรงทางกายภาพ ดังพบโครงกระดูกที่มีร่องรอยการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตด้วยอาวุธมากมาย แต่ลักษณะทำนองนั้นไม่ปรากฏในอีสานเลย

ยิ่งกว่านั้น จากหลักฐานที่พบ การผลิตเครื่องโลหะยุคสำริดของประเทศไทยยังมีลักษณะ “ไม่รวมศูนย์” (decentralized) อย่างมาก ต่างกับแหล่งยุคโลหะในที่อื่นของโลกซึ่งมักมีศูนย์กลางขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่ผลิต แล้วแลกเปลี่ยนแพร่กระจายสินค้านั้นไปยังชุมชนอื่นๆ แต่สภาวะในอีสานยุคก่อนประวัติศาสตร์นั้น กลับพบว่าแต่ละชุมชนเลือกผลิตเครื่องสำริดในรูปแบบตามความนิยมของตนเอง เช่นหัวขวาน หรือกำไล เพื่อตลาดเฉพาะท้องถิ่น

“นี่จึงเป็นเหมือนกับโอทอป (OTOP-One Tambon, One Product) ยุคก่อนประวัติศาสตร์” เธอสรุป

คุณูปการจากการศึกษาทางโบราณคดีที่บ้านเชียง ตามความเห็นของ ดร.จอยซ์ คือทำให้สังคมสมัยใหม่ตระหนักว่า ถึงจะมีความเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่นการค้นพบ “สำริด” มนุษย์ยังสามารถอยู่อย่างสงบสุขได้นับพันปี โดยไม่ต้องมีชุมชนใดหรือใครที่ไหน พยายามครอบงำแผ่อำนาจครอบงำเหนือชุมชนอื่นหรือคนอื่นๆ

ด้านเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการต่างประเทศยอมรับว่า แม้งานโบราณคดีอาจมิได้เป็นภารกิจโดยตรง แต่สิ่งที่ทางกระทรวงฯ สามารถให้การสนับสนุนได้ในกรณีนี้ คือการกระชับและขยายความร่วมมือภาคประชาชน รวมถึงการต่อยอดการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงให้ลึกซึ้งขึ้น เช่นการนำอาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง กรมศิลปากร เดินทางไปพบปะหารือกับผู้เชี่ยวชาญของสถาบันโบราณคดีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ช่วงต้นปี ๒๕๖๑ นำมาซึ่งการจัดสัมมนาทางวิชาการเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และผลวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง ในวันที่ ๒๐-๒๑ กันยายน ๒๕๖๑

โครงการความร่วมมือด้านโบราณคดีไทย-สหรัฐฯ เริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่เมื่อหลายสิบปีก่อนในยุคสงครามเวียดนาม แม้ว่าที่ผ่านมาเมื่อ “สงครามเย็น” ยุติลง ทำให้งบประมาณสนับสนุนลดน้อยลงตามลำดับ งานจึงไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร แต่ทั้งสองฝ่ายต่างยังคงมุ่งมั่นกระทำภารกิจของตนต่อไปตามกำลัง เช่นที่ เบญจพร สารพรม หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง เล่าความคืบหน้าว่าในปีหน้าจะมีการก่อสร้างและจัดตั้งศูนย์วิจัยโบราณคดีบ้านเชียงขึ้นในพิพิธภัณฑ์ เพื่อเป็นศูนย์วิจัยด้านโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ และเก็บรักษาโครงกระดูกจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ซึ่งเพิ่งส่งกลับคืนมายังประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้ ภายหลังนำไปศึกษาวิจัยในต่างประเทศมาหลายสิบปี เช่นเดียวกับที่ ดร.จอยซ์ ไวท์ ระบุว่ารายงานการขุดค้นด้านโลหวิทยาฉบับสมบูรณ์ เล่มเอและบี ซึ่งมีกำหนดตีพิมพ์เสร็จในปลายปีนี้ เป็นเพียงสองเล่มแรกของตอนที่ ๒ เท่านั้น และยังมีอีกสองเล่มที่ต้องดำเนินการต่อไป รวมถึงยังมีประเด็นใหม่ๆ ให้ศึกษาวิจัยกันกันได้อีกมากมายไม่รู้จักจบจักสิ้น